Loading…

ยาทาสเตียรอยด์สำหรับโรคผิวหนัง

ยาทาสเตียรอยด์สำหรับโรคผิวหนัง

รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์ ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

703,119 ครั้ง เมื่อ 5 นาทีที่แล้ว
2018-08-01


ยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอกเป็นยาประเภทใด? 
ยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอก (topical steroids) ที่รู้จักกันทั่วไปนั้น เป็นยาในกลุ่มคอร์ติโค สเตียรอยด์ (corticosteroids) ยาเหล่านี้เป็นสารสังเคราะห์จำพวกกลูโคคอร์ติคอยด์ (glucocorticoids) มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันและฤทธิ์อื่นๆ เหมือนกับคอร์ติซอล (cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตส่วนเปลือกนอก ยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอกนี้มีบทบาทมากในการรักษาโรคผิวหนังที่มีอาการอักเสบและอาการคัน มีรูปแบบต่างๆ ให้เลือกใช้ เช่น ขี้ผึ้ง ครีม โลชั่น โดยยาในรูปแบบครีมใช้กันมากที่สุด 
 
ภาพจาก : http://st1.thehealthsite.com/wp-content/uploads/2017/08/Topical-steroids-655x353.jpg 
ยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอกมีอะไรบ้าง? 
ยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอกสำหรับรักษาโรคผิวหนังมีมากมาย ตัวอย่าง เช่น

  • Betamethasone dipropionate (ขี้ผึ้ง ครีม)
  • Betamethasone valerate (ครีม โลชัน)
  • Clobetasol propionate (ขี้ผึ้ง ครีม โลชัน)
  • Desoximetasone (ครีม)
  • Hydrocortisone acetate (ครีม)
  • Mometasone furoate (ครีม)
  • Prednisolone (ครีม)
  • Triamcinolone acetonide (ครีม โลชัน)

ยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอกมีความแตกต่างกันอย่างไร? 
ยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอกมีความแรงแตกต่างกัน ความแรงของยาประเมินจากการออกฤทธิ์ที่ทำให้หลอดเลือดบีบตัวร่วมกับผลที่ได้จากการศึกษาเปรียบเทียบความแรงในทางคลินิก ซึ่งความแรงขึ้นกับปัจจัยต่างๆ ได้แก่ ชนิดของตัวยาสำคัญ ชนิดของเกลือ (เอสเทอร์) ปริมาณยา และรูปแบบยา ตัวอย่างเช่น betamethasone มีความแรงมากกว่า hydrocortisone และ betamethasone ชนิดที่เป็นเกลือ dipropionate จะมีความแรงมากกว่าชนิดที่เป็นเกลือ valerate นอกจากนี้ยาในรูปแบบขี้ผึ้งจะช่วยปกคลุมผิวหนัง ลดการสูญเสียน้ำและเพิ่มการดูดซึมตัวยาสำคัญ แต่ยาประเภทขี้ผึ้งทำให้เหนอะหนะผิว ทาเป็นวงกระจายได้ยากและเป็นมันทำให้ล้างออกยาก ผู้ป่วยมักไม่ชอบ ในบรรดายาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอกตามที่ยกตัวอย่างข้างต้นนั้น hydrocortisone acetate จัดอยู่ในกลุ่มที่มีความแรงต่ำ ส่วนยาอื่นจัดอยู่ในกลุ่มที่มีความแรงปานกลางจนถึงความแรงสูง 
ยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอกแทรกซึมผ่านผิวหนังได้มากน้อยเพียงใด? 
โดยทั่วไปแล้วเพื่อผลการรักษาที่ดีตัวยาควรแทรกซึมผ่านผิวหนังชั้นสตราตัมคอร์เนียม (stratum corneum) ซึ่งเป็นหนังกำพร้าชั้นนอกสุดได้ในระดับความเข้มข้นที่ให้ผลในการรักษา แต่ไม่ต้องการให้ถูกดูดซึมเข้าสู่ระบบของร่างกายเพื่อลดอาการไม่พึงประสงค์ของยา โครงสร้างของผิวหนังมีผลต่อการแทรกซึมและการดูดซึมยา การดูดซึมยาผ่านผิวหนังแต่ละแห่งไม่เท่ากัน เช่น การดูดซึมผ่านฝ่ามือหรือฝ่าเท้า (0.1–0.8%) แขนช่วงแรกบริเวณระหว่างข้อศอกกับข้อมือ (1%) ใบหน้า (10%) หนังศีรษะและตามซอกพับ (ราว 4%) เปลือกตาและถุงอัณฑะ (40%) เป็นต้น ด้วยเหตุนี้บริเวณที่มีการดูดซึมดีควรใช้ยาที่มีความแรงต่ำและควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีความแรงสูงรวมถึงพวกที่มีความแรงรองลงมาหากต้องใช้เป็นเวลานาน ส่วนบริเวณฝ่ามือหรือฝ่าเท้าจะใช้ยาที่มีความแรงสูง อย่างไรก็ตาม หากรอยโรคมีบริเวณกว้างควรใช้ยาที่มีความแรงลดลง เพื่อลดปริมาณยาที่ถูกดูดซึมเข้าระบบของร่างกาย 
ยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอกใช้กับโรคผิวหนังชนิดใด? 
ยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอกนำมาใช้รักษาโรคผิวหนังที่มีอาการอักเสบและอาการคัน ตัวอย่างโรคหรือความผิดปกติที่ผิวหนังที่ให้การตอบสนองดีต่อยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอก เช่น โรคสะเก็ดเงิน (psoriasis) โรคผิวด่างขาว (vitiligo) โรคผิวหนังอักเสบออกผื่น (eczema) โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (atopic dermatitis) ซึ่งโรคผิวหนังที่ไวต่อยาจะใช้ยาชนิดที่มีความแรงต่ำ ส่วนพวกที่รักษายากจะใช้ยาชนิดที่มีความแรงสูงขึ้น สำหรับกรณีที่ใช้ยาไม่ได้ผลอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การวินิจฉัยโรคคลาดเคลื่อน การติดเชื้อแทรกซ้อน การใช้ยาไม่ถูกต้องรวมถึงการใช้ยาชนิดที่มีความแรงต่ำเกินไปหรือใช้ในขนาดน้อยเกิน ตลอดจนเกิดการแพ้ยาตรงบริเวณที่ทาจนอาจส่งผลให้โรคเป็นรุนแรงขึ้น 
อาการไม่พึงประสงค์ของยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอก 
แม้ว่ายาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอกจะค่อนข้างปลอดภัยและไม่ค่อยพบปัญหาเรื่องการเกิดความชินต่อยาเมื่อใช้เป็นเวลานาน อย่างไรก็ตาม อาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้หลายอย่างโดยเฉพาะเมื่อใช้ยาที่มีความแรงสูงและใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ส่วนใหญ่เป็นอาการที่เกิดเฉพาะที่ มีเป็นส่วนน้อยที่เกิดกับระบบภายในร่างกาย 
อาการที่เกิดเฉพาะที่ เช่น 

  • แพ้ยาตรงบริเวณที่สัมผัสยา อาจแพ้ต่อตัวยาสเตียรอยด์หรือสารอื่นในตำรับ
  • ทำให้แผลที่เป็นอยู่หายช้า
  • ยากดภูมิคุ้มกันได้ ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียและรา นอกจากนี้ยาอาจบดบังอาการติดเชื้อจนทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงในภายหลัง
  • ผิวหนังบริเวณที่ทายาบางลง มีเส้นเลือดฝอยขยาย ผิวแดง ร้อน มีริ้วลาย เหี่ยวลีบ ฟกช้ำง่าย อาจเกิดรอยแผลตรงเป็นบริเวณที่ทายา การทาบริเวณหน้าอาจเกิดผื่นแดงและตุ่มแดงคล้ายสิว นอกจากนี้อาจพบผิวด่างเนื่องจากการที่มีเม็ดสีน้อยลง

อาการที่เกิดกับระบบภายในร่างกาย พบไม่บ่อย อาจพบเมื่อใช้ยาชนิดที่มีความแรงสูงและทาเป็นบริเวณกว้างหรือทาบริเวณผิวหนังเปิด หรือมีการปิดทับบริเวณที่ทา หรือการใช้ในโรคผิวหนังที่เป็นรุนแรง (ซึ่งทำให้ต้องใช้ยาที่มีความแรงสูงและใช้เป็นเวลานาน) เป็นต้น อาการที่พบ เช่น เกิดกลุ่มอาการคุชชิง (Cushing’s syndrome) ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ภาวะกดการทำงานของต่อมหมวกไต 
ข้อแนะนำในการใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอก 
การใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอกมีข้อควรคำนึงในการใช้ยาดังนี้

  1. ก่อนใช้ยาต้องมั่นใจว่าผิวหนังบริเวณนั้นไม่เป็นโรคติดเชื้อ
  2. ไม่ใช้เพื่อรักษาโรคหน้าแดง (rosacea) ปากแตก สิว โรคผิวหนังที่มีการติดเชื้อ
  3. ใช้เฉพาะกับโรคผิวหนังอักเสบที่ตอบสนองดีต่อยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอก
  4. ไม่ควรใช้ชนิดที่มีความแรงสูงกับผิวหนังที่บาง เช่น ใบหน้า เปลือกตา ซอกพับ อวัยวะเพศ และผิวทารก รวมถึงบริเวณผิวหนังเปิด เช่น ผิวถลอก เนื่องจากผิวที่บริเวณดังกล่าวจะมีการดูดซึมยาได้มากขึ้น
  5. ควรหลีกเลี่ยงการทายาแบบมีสิ่งปิดทับ เนื่องจากการทาแบบนี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ที่มีความคุ้นเคยกับการให้ยาวิธีดังกล่าว
  6. ไม่ควรใช้ชนิดที่มีความแรงสูงต่อเนื่องเป็นเวลานาน
  7. ยาอาจกดการทำงานของต่อมหมวกไต หากใช้ชนิดที่มีความแรงสูงและใช้เป็นบริเวณกว้าง ดังนั้นจึงควรหยุดใช้ยาเป็นช่วงๆ โดยทั่วไปมักใช้ติดต่อกันไม่เกิน 2 สัปดาห์
  8. การใช้ยาที่มีความแรงสูงเป็นเวลานาน หากจะลดขนาดยาควรลดอย่างช้าๆ การลดขนาดยาเร็วเกินไปอาจทำให้โรคกำเริบ
  9. หลีกเลี่ยงการใช้ในสตรีมีครรภ์ หากจำเป็นต้องใช้ยาควรเลือกชนิดที่มีความแรงต่ำจนถึงความแรงปานกลางเท่านั้น และใช้เป็นเวลาสั้นๆ

การใช้ยาอย่างไม่ถูกต้อง 
มีการนำยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอกมาใช้อย่างไม่ถูกต้องกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากยาให้ประสิทธิผลในการทุเลาอาการได้ดีและเห็นผลเร็ว การนำมาใช้ไม่ตรงกับโรคที่เป็นอยู่จะทำให้ยาบัดบังอาการของโรค ทำให้โรคนั้นไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เป็นเหตุให้โรคลุกลามหรือเป็นมากขึ้นจนอาจเกิดอันตรายที่รุนแรงได้ จึงควรใช้ยาตามข้อแนะนำข้างต้น 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์. ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอก (topical corticosteroids) สำหรับรักษาโรคผิวหนัง. สารคลังข้อมูลยา 2557; 16(1):24-34.
  2. Carlos G, Uribe P, Fern?ndez-Pe?as P. Rational use of topical corticosteroids. Aust Prescr 2013; 36:158-61.
  3. Chabassol A, Green P. Topical corticosteroid therapy: what you need to know. Can J Diagn 2012; 29:61-3.
  4. Chi C-C, Wang S-H, Kirtschig G. Safety of topical corticosteroids in pregnancy. JAMA Dermatol 2016; 152:934-5.
  5. Kwatra G, Mukhopadhyay S. Topical corticosteroids: pharmacology. In: Lahiri K, editor. A Treatise on Topical Corticosteroids in Dermatology. Singapore: Springer Nature Pte Ltd, 2018:11-22.
เกี่ยวกับคณะเภสัชศาสตร์
คลังความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
คณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์
Copyright © 2021 - 2024
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
การใช้และการจัดการคุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา