Loading…

ควันธูป อันตรายใกล้ตัวที่มาพร้อมการทำบุญ

ควันธูป อันตรายใกล้ตัวที่มาพร้อมการทำบุญ

อ.ดร.ชัยวัฑฒน์ อ่อนศรี ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

11,354 ครั้ง เมื่อ 5 ช.ม.ที่แล้ว
2023-02-28

วัฒนธรรม และค่านิยมของสังคมไทยที่เป็นสังคมวิถีพุทธ นิยมเข้าวัดทำบุญ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีการจุดธูปเพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย แต่ทราบหรือไม่ว่าควันที่เกิดขึ้นจากการจุดธูป รวมถึงควันที่เกิดจากการจุดเครื่องหอมต่างๆ นั้นมีอันตรายแอบแฝงอยู่ไม่น้อยไปกว่าอันตรายจากควันที่เกิดจากการสูบบุหรี่ โดยเฉพาะกับกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ โรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด และโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบมากกว่าประชากรกลุ่มอื่น และกลุ่มคนที่ทำงานในวัด หรือศาลเจ้าที่มีการจุดธูปอยู่ตลอด เป็นอีกหนึ่งกลุ่มเสี่ยงที่พบระดับของสารเคมีอันตรายในร่างกายสูงกว่าคนทั่วไป ซึ่งอาจเป็นความเสี่ยงในการก่อโรคต่างๆ เช่น โรคทางระบบทางเดินหายใจ และโรคมะเร็งได้ต่อไป

ในธูปจะประกอบด้วย ผงไม้หอมบดละเอียด, น้ำมันหอมระเหย, สารยึดเกาะ และไม้ไผ่สำหรับด้ามจับ ดังนั้นเมื่อธูปถูกจุด จะก่อให้เกิดการเผาไหม้ และเกิดควันขึ้น องค์ประกอบที่พบมากในควันธูปจึงมักเป็นฝุ่นละอองทั้งขนาดเล็กและใหญ่ซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.5 – 10 ไมโครเมตร จากรายงานวิจัยพบว่าการเผาไหม้ธูป 1 กรัม จะก่อให้เกิดฝุ่นปริมาณมากกว่า 45 มิลลิกรัม ในขณะที่การเผาไหม้บุหรี่ในปริมาณเท่ากันจะก่อให้เกิดฝุ่นขึ้นเพียง 10 มิลลิกรัม ซึ่งฝุ่นละอองเหล่านี้จะก่อให้เกิดการระคายเคืองตา และระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งอาจก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้ได้ นอกจากนี้ฝุ่นละอองยังสามารถเป็นตัวดูดซับสารอินทรีย์ระเหยง่ายไว้บนพื้นผิว และนำสารเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายผ่านการสัมผัส หรือการหายใจได้อีกด้วย แก๊สพิษ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และแก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ก็เป็นผลิตภัณฑ์อีกชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการเผาไหม้ ที่อาจรบกวนระบบทางเดินหายใจ ส่งผลให้หายใจไม่สะดวก เวียนศีรษะ หากได้รับต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจส่งผลให้หมดสติได้ เนื่องจากขัดขวางกระบวนการขนส่งออกซิเจนในร่างกาย และยังมีสารอินทรีย์อันตรายอีก 3 ชนิดที่พบมากในควันธูปคือ เบนซีน (benzene), 1,3-บิวทาไดอีน (1,3-butadiene) และสารประกอบพอลีอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน เช่น เบนโซเอไพรีน (benzo[a]pyrene) สารเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสารเคมีอันตราย ที่มีส่วนก่อให้เกิดมะเร็งได้หลายชนิด เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเม็ดเลือด และมะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่าการสูดดมควันธูปต่อเนื่องกันเป็นเวลานานหลายปี อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้ความสามารถในการรับรู้ และจดจำในผู้สูงอายุด้อยลง รวมถึงการทำงานเชื่อมโยงกันภายในสมองมีประสิทธิภาพแย่ลงอีกด้วย

ดังนั้นการลดการจุดธูปในพื้นที่ปิด หรือเปิดให้พื้นที่ดังกล่าวมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก รวมถึงหมั่นทำความสะอาดบริเวณที่มีการจุดธูปเพื่อลดการสะสมของฝุ่นละอองที่เกิดขึ้น และลดขนาดของธูปที่ใช้งาน ก็จะมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของการก่อโรค และมีสุขภาพที่ดีได้ สำหรับผู้ที่แพ้ควันธูป และผู้ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการสูดดมควันธูปได้ เช่น ผู้ปฏิบัติงานในวัด หรือศาลเจ้า ควรสวมหน้ากากอนามัย เช่น หน้ากาก N95, หน้ากาก FFP1 หรือ หน้ากาก KN95 ตลอดเวลาเพื่อลดความเสี่ยงที่จะสูดดมควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าสู่ร่างกาย หรือหากสามารถเลี่ยงการจุดธูป เปลี่ยนเป็นการกราบไหว้เพื่อสักการบูชาก็จะเป็นการป้องกันความเสี่ยงได้อีกทางหนึ่ง

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Navasumrit P, Arayasiri M, Hiang OMT, Leechawengwongs M, Promvijit J, Choonvisase S, et al. Potential health effects of exposure to carcinogenic compounds in incense smoke in temple workers. Chem Biol Interact. 2008;173(1):19-31.
  2. Lin T-C, Krishnaswamy G, ChiDS. Incense smoke: clinical, structural and molecular effects on airway disease. Clin Mol Allergy. 2008;6:3.
  3. Wong A, Lou W, Ho K-f, Yiu BK-f, Lin S, Chu WC-w, et al. Indoor incense burning impacts cognitive functions and brain functional connectivity in community older adults. Sci Rep. 2020;10(1):7090.
  4. ศูนย์สื่อสารสาธารณะ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข [อินเทอร์เน็ต]. นนทบุรี; 2562 [เข้าถึงเมื่อ 1 มิ.ย. 2565]. เข้าถึงได้จาก: https://multimedia.anamai.moph.go.th/help-knowledgs/incense/
  5. กองโรคจากการประกอบอาชีพ และสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข [อินเทอร์เน็ต]. นนทบุรี; 2563 [เข้าถึงเมื่อ 1 มิ.ย. 2565]. เข้าถึงได้จาก: https://ddc.moph.go.th/uploads/publish/ 1002520200525043241.pdf

บทความที่ถูกอ่านล่าสุด

สมุนไพรป้องกันยุง 1 วินาทีที่แล้ว
น้ำมะพร้าวอ่อน......เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพจากธรรมชาติ 1 วินาทีที่แล้ว
ยาคุม 24+4: วิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสมกับผู้หญิงไทยยุคใหม่ 4 วินาทีที่แล้ว
เตรียมตัวให้พร้อม ….. ก่อนเข้าห้องผ่าตัด (ตอนที่ 1) 6 วินาทีที่แล้ว
ทุเรียน..ราชาแห่งผลไม้ 6 วินาทีที่แล้ว
การผสมยาปฏิชีวนะชนิดผงแห้งสำหรับรับประทาน 7 วินาทีที่แล้ว
โรคน้ำหนีบ (Decompression sickness) 10 วินาทีที่แล้ว
รับมือโรคหวัดอย่างไร ให้เหมาะสม 11 วินาทีที่แล้ว
จริงหรือไม่ วัดความดันโลหิตที่โรงพยาบาลสูงกว่าวัดที่บ้าน 11 วินาทีที่แล้ว
ยาพ่นจมูก…สำหรับโรคจมูกอักเสบ 14 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด

เกี่ยวกับคณะเภสัชศาสตร์
คลังความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
คณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์
Copyright © 2021 - 2024
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล