Loading…

เกิร์ด (GERD) - โรคกรดไหลย้อน

เกิร์ด (GERD) - โรคกรดไหลย้อน

รองศาสตราจารย์ ดร. สุจิตรา ทองประดิษฐ์โชติ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

568,928 ครั้ง เมื่อ 33 นาทีที่แล้ว
2011-03-21

ปัจจุบันนี้ที่แผนกอายุรศาสตร์ของโรงพยาบาลต่าง ๆ มีผู้ป่วยเป็น “เกิร์ด”(GERD) หรือ โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease)จำนวนมาก ซึ่งหลายคนยังมีความสงสัยและไม่เข้าใจว่า โรคกรดไหลย้อนนั้น หมายถึงอะไร เกิดได้อย่างไร มีอันตรายต่อร่างกายมากน้อยเพียงใด และการดูแลรักษารวมทั้งการปฏิบัติตนควรทำอย่างไร บทความนี้เขียนเพื่อตอบคำถามต่าง ๆดังกล่าว เพื่อให้ผู้อ่านรักษาตนให้หลุดพ้นความทุกข์ทรมานจากโรคกรดไหลย้อน

 

“เกิร์ด”หรือ โรคกรดไหลย้อน หมายถึงอะไร ?

โรคกรดไหลย้อน หมายถึง ภาวะที่มีน้ำย่อยในกระเพาะอาหารซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรด ไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร ส่งผลให้มีอาการระคายบริเวณลำคอ และแสบอกหรือจุกเสียดบริเวณใต้ลิ้นปี่ รวมทั้งมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อร่วมด้วย คล้าย ๆ กับอาการของโรคกระเพาะอาหาร ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าเป็นโรคกระเพาะอาหาร และไปซื้อยาลดกรด (antacids) ที่มีจำหน่ายตามท้องตลาดมารับประทานเพื่อบรรเทาอาการอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งเป็นการรักษาที่ไม่ตรงจุด จึงพบว่ามีผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยโรคกรดไหลย้อนเพิ่มสูงขึ้น

 

โรคกรดไหลย้อนมีสาเหตุมาจากอะไร?

ในภาวะปกติ ร่างกายมีกลไกการป้องกันการไหลย้อนของน้ำย่อยจากกระเพาะอาหารขึ้นไปในหลอดอาหาร โดยการทำงานของหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง (Lower esophageal sphincter, LES) ซึ่งหูรูดนี้จะคลายตัวขณะที่มีการกลืนอาหาร เพื่อให้อาหารผ่านลงสู่กระเพาะอาหาร และหดตัวปิดทันทีเพื่อไม่ให้อาหารและกรดจากกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหาร เมื่อประสิทธิภาพในการทำงานของกลไกการควบคุมนี้เสื่อมลงหรือบกพร่อง จึงเกิดโรคกรดไหลย้อน ซึ่งอาจเกิดเป็นครั้งคราว เป็นพัก ๆ หรือเกิดตลอดเวลา

  • สาเหตุหลักของโรคนี้เกี่ยวข้องกับความผิดปกติในการทำหน้าที่ของหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง เช่น มีการคลายตัวของหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างโดยที่ไม่มีการกลืน หรือความดันของหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างลดลง ไม่สามารถต้านแรงดันในช่องท้องและการบีบตัวของกระเพาะอาหารได้

ส่วนสาเหตุที่ทำให้หูรูดดังกล่าวทำงานผิดปกติยังไม่ทราบแน่ชัด โรคนี้พบได้บ่อยในบุคคลทุกเพศทุกวัย หูรูดอาจเสื่อมตามอายุ หูรูดยังเจริญไม่เต็มที่ในเด็กทารก หรืออาจมีความผิดปกติที่เป็นมาแต่กำเนิด นอกจากนี้อาจพบในสตรีมีครรภ์ด้วยเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกายมีผลต่อการทำงานของหูรูดหลอดอาหาร

  • พบว่าโรคนี้มีความสัมพันธ์กับความอ้วน โรคเบาหวาน และโรคไส้เลื่อนกะบังลม (hiatal hernia)ซึ่งมีกระเพาะอาหารบางส่วนไหลเลื่อนเข้าไปอยู่ในช่องอก ทำให้มีโอกาสเกิดการไหลย้อนของกรดจากกระเพาะอาหารเพิ่มมากขึ้น
  • ปัจจัยอื่น ๆที่ส่งเสริมให้เกิดโรคกรดไหลย้อน อาทิ พฤติกรรมการบริโภค และการปฏิบัติตน ได้แก่ การรับประทานอาหารอาหารรสจัด/รสเผ็ดอาหารประเภทไขมันสูง อาหารทอด ชา กาแฟ น้ำอัดลม การดื่มสุรา สูบบุหรี่ การนอนหรือเอนกายทันทีหลังรับประทานอาหาร ความเครียด ตลอดจนการสวมเสื้อผ้าคับและรัดเข็มขัดแน่น เป็นต้น

นอกจากนี้ การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาขยายหลอดลม ยาลดความดันกลุ่มปิดกั้นเบตาและกลุ่มต้านแคลเซียม ยาต้านคอลิเนอร์จิก ตลอดจนฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน เป็นต้นจะมีผลกระตุ้นการคลายตัวของหูรูดหรือมีการหลั่งกรดมากขึ้น

 

อาการของโรคกรดไหลย้อน

  • มีอาการแสบอกหรือจุกเสียดบริเวณใต้ลิ้นปี่ คล้ายอาหารไม่ย่อย เรอบ่อย และอาจมีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วย
  • บางรายพบว่ามีภาวะเรอเปรี้ยว คือมีกรดซึ่งเป็นน้ำรสเปรี้ยวหรือน้ำดีซึ่งมีรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปากหรือคอ หรือหายใจมีกลิ่น
  • บางรายอาจพบอาการผิดปกติของโรคหู คอ จมูก เช่น ไอเรื้อรัง เสียงแหบเรื้อรัง หรืออาการหอบหืดเป็นมากขึ้น เป็นต้นเนื่องจากมีการไหลย้อนของน้ำย่อยไประคายที่คอหอย กล่องเสียง และหลอดลม

 

การรักษาโรคกรดไหลย้อน ทำอย่างไร ?

(1) การรักษาที่สำคัญอยู่ที่ผู้ป่วยเอง คือควรปฏิบัติตน ดังนี้

-พฤติกรรมการบริโภค

  • ไม่ควรรับประทานอาหารแต่ละมื้อในปริมาณมากเกินไป ควรรับประทานบ่อยครั้งๆละน้อย
  • หลีกเลี่ยงอาหารประเภททอด อาหารไขมันสูง อาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด/เผ็ดจัด
  • หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำชา กาแฟ น้ำอัดลม
  • หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา และการสูบบุหรี่

-พฤติกรรมการดำเนินชีวิต

  • ไม่ควรนอนหรือเอนกายทันทีหลังจากรับประทานอาหาร ควรเว้นอย่างน้อย 3ชั่วโมง
  • รักษาน้ำหนักตัวให้พอเหมาะ ไม่อ้วนเกินไป
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • พักผ่อนพอเพียงและรักษาตนไม่ให้เครียด
  • สวมใส่เสื้อผ้าหลวมสบายตัว ไม่รัดเข็มขัดแน่น

(2) การรักษาด้วยยา

กรณีที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น จำเป็นต้องใช้ยาร่วมด้วย ควรรับประทานยาตามกำหนดอย่างเคร่งครัด และถ้ามีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

  • ปัจจุบันยาที่ได้ผลดีที่สุด คือ ยาลดกรดในกลุ่มยับยั้งโปรตอนปั๊ม (Proton pump inhibitors) เช่น โอเมพราโซล (omeprazole)ขนาด 20 มิลลิกรัม วันละ 1-2 ครั้ง ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงมากในการป้องกันอาการของโรคกรดไหลย้อน โดยให้รับประทานยาติดต่อกันเป็นเวลา 6 - 8สัปดาห์ หรืออาจต้องใช้ยาเป็นระยะเวลานานหลายเดือนขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละราย เช่นกรณีที่เป็นมากหรือมีอาการมานาน ซึ่งอาจจะมีการปรับการรับประทานยาเป็นระยะ ๆ ตามอาการที่มี หรือรับประทานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน
  • บางกรณีอาจใช้ยาเพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารร่วมด้วย เช่น เมโทโคลพราไมด์ (metoclo-pramide) ขนาด 10 มิลลิกรัม 1 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง ซึ่งยานี้ควรรับประทานก่อนอาหารประมาณ 30 นาที

(3) การรักษาโดยการผ่าตัด

ในรายที่ใช้ยาไม่ได้ผลหรือมีภาวะแทรกซ้อน อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดซ่อมแซมหูรูด

 

ภาวะแทรกซ้อนของโรคกรดไหลย้อน เป็นอย่างไร?

แม้ว่าโรคกรดไหลย้อน ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่เป็นโรคที่ทำให้ผู้ป่วยมีความทุกข์ทรมาน รวมทั้งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและประสิทธิภาพในการทำงาน ดังนั้นกรณีที่ท่านมีอาการของโรคนี้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคต่อไป โปรดให้ความสนใจเพราะถ้าละเลยไม่ยอมรักษา เมื่อเป็นเรื้อรัง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้แก่

  • หลอดอาหารอักเสบ ซึ่งจะมีอาการเจ็บหน้าอกขณะกลืนอาหาร
  • แผลหลอดอาหาร อาจมีเลือดออกในระบบทางเดินอาหารส่วนบน เช่น อาเจียนเป็นเลือด หรือมีถ่ายดำ
  • หลอดอาหารตีบตัน พบว่ามีอาการกลืนอาหารลำบาก อาเจียนบ่อย
  • เกิดการเปลี่ยนแปลงเซลล์ของเยื่อบุหลอดอาหาร ถ้าเป็นรุนแรงอาจเกิดมะเร็งของหลอดอาหาร ซึ่งจะมีอาการเจ็บขณะกลืนอาหาร กลืนลำบาก อาเจียนบ่อย และน้ำหนักลด

 

“เพื่อสุขภาพ ปรับพฤติกรรม ใช้ยาถูกต้อง ป้องกันโรคกรดไหลย้อน”

 

ขอให้ผู้อ่านทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรง

 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา

บทความที่ถูกอ่านล่าสุด

ผักผลไม้..ที่ควรระวังในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 4 วินาทีที่แล้ว
วิธีปฏิบัติตัวเบื้องต้นเพื่อป้องกันผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 7 วินาทีที่แล้ว
การนอน .. เพื่อชะลอวัยและเพื่อสุขภาพ 1 นาทีที่แล้ว
มะเร็งตับ รู้เร็ว วินิจฉัยเร็ว รักษาหายได้ 1 นาทีที่แล้ว
ผลไม่พึงประสงค์ของวัคซีนโควิด-19 และการเฝ้าระวัง 1 นาทีที่แล้ว
ยารักษาโรคเท้าเหม็นจากเชื้อแบคทีเรีย 1 นาทีที่แล้ว
ปัสสาวะเปลี่ยนสีหลังกินยา 1 นาทีที่แล้ว
สบู่ดำ..พืชพลังงานที่เพิ่มคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ 1 นาทีที่แล้ว
กาแฟ…ระวังในโรคใด? 1 นาทีที่แล้ว
วิตามินและแร่ธาตุ 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด

เกี่ยวกับคณะเภสัชศาสตร์
คลังความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
คณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์
Copyright © 2021 - 2024
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
การใช้และการจัดการคุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา