ยาต้านเกล็ดเลือด รู้ไว้...ปลอดภัยเมื่อใช้ยา
อาจารย์ ดร. ภก. สุรศักดิ์ วิชัยโย ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล |
|
91,556 ครั้ง เมื่อ 16 วินาทีที่แล้ว | |
2021-05-20 |
ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือหลอดเลือดสมองตีบ (เรียกว่า stroke) หลังจากที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแล้ว ส่วนใหญ่มักจะได้รับยาต้านเกล็ดเลือด หรือบางครั้งเรียกชื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจง่าย ๆ ว่า “ยาละลายลิ่มเลือด” 1-2 ชนิดมารับประทานต่อที่บ้าน โดยยากลุ่มนี้มีประโยชน์ช่วยป้องกันไม่ให้เกล็ดเลือดในหลอดเลือดเกาะกลุ่มกันจนขัดขวางทางไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ (ตามรูปด้านล่าง) โดยเฉพาะที่หัวใจและสมองซึ่งเคยขาดเลือดจากภาวะหลอดเลือดตีบมาก่อน บทความนี้ขอนำเสนอข้อมูลสำคัญบางส่วนของยาต้านเกล็ดเลือด เพื่อให้ผู้ป่วยและผู้ดูแลทราบเกี่ยวกับข้อควรปฏิบัติและข้อระวังต่าง ๆ ขณะใช้ยาเหล่านี้
ยาต้านเกล็ดเลือดมีอะไรบ้าง
ยาต้านเกล็ดเลือดชนิดรับประทานที่ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดตีบมักรู้จักกันดี คือ aspirin (รูปภาพ) ซึ่งเป็นยาที่ใช้มาอย่างยาวนานมากกว่า 100 ปี ยามีฤทธิ์ทั้งแก้ไข้ บรรเทาปวด และลดการอักเสบ แต่ปริมาณยาที่ใช้สำหรับต้านเกล็ดเลือดนั้นมักเป็นขนาดต่ำ ภาษาอังกฤษเรียกว่า “baby aspirin” โดยพบว่ายามีฤทธิ์แรง และออกฤทธิ์เร็วในการยับยั้งไม่ให้เกล็ดเลือดมาเกาะกลุ่มอุดตันหลอดเลือด
ปัจจุบันมียาต้านเกล็ดเลือดชนิดรับประทานที่ถูกพัฒนาขึ้นมาใหม่มากขึ้น และบางกรณียาเหล่านี้ถูกใช้แทน aspirin ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้ aspirin ได้ เช่น ผู้ป่วยบางคนไม่ค่อยตอบสนองต่อยาหรืออาจแพ้ aspirin หรือเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา ซึ่งจะกล่าวถึงรายละเอียดต่อไป ยาใหม่เหล่านี้มีฤทธิ์แรง และออกฤทธิ์เร็วเช่นกัน (ตามรูปด้านบน) แต่พบว่าทำให้เกิดแผลและเลือดออกในทางเดินอาหารได้น้อยกว่า aspirin อย่างไรก็ตาม ยังอาจพบการมีเลือดออกบริเวณอื่นได้บ้าง ซึ่งบางกรณีเกิดรุนแรงเท่ากับยา aspirin
หากลืมรับประทานยาต้านเกล็ดเลือด อันตรายหรือไม่ และทำอย่างไร
เนื่องจากยากลุ่มนี้มีความสำคัญในการป้องกันหลอดเลือดตีบซ้ำ ซึ่งหากยาออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ยากลุ่มนี้ (ยกเว้น ticagrelor) มักออกฤทธิ์ยาว เนื่องจากสามารถจับอยู่กับเกล็ดเลือดได้ตลอดอายุขัยของเกล็ดเลือด (ประมาณ 7-10 วัน) แต่ยังคงต้องรับประทานยาทุกวัน เนื่องจากร่างกายของเราสร้างเกล็ดเลือดใหม่ขึ้นมาทดแทนทุกวันประมาณร้อยละ 10-15 จึงต้องมีปริมาณยาอย่างเพียงพอที่จะยับยั้งการทำงานของเกล็ดเลือดเหล่านี้ในทุก ๆ วัน ซึ่งควรรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอและรับประทานยาในเวลาเดียวกันทุกวัน สำหรับกรณีลืมรับประทานยา ให้รีบรับประทานยาทันทีที่นึกได้ แต่หากเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับมื้อต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานยามื้อต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าหรือมากกว่าปกติ
อาการไม่พึงประสงค์จากยาต้านเกล็ดเลือด มีอะไรบ้าง
อาการไม่พึงประสงค์ หรือเรียกว่าอาการข้างเคียงที่พบจากยาต้านเกล็ดเลือด แบ่งออกเป็น
ทั้งนี้ หากผู้ที่กำลังรับประทานยาต้านเกล็ดเลือดแล้วเกิดอาการต่าง ๆ ดังที่กล่าวมา โดยเฉพาะอาการรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก ควรรีบปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อให้ได้รับคำแนะนำในการปฏิบัติตัวหรือการรักษาที่เหมาะสม นอกจากนี้ การผ่าตัดบางประเภท ทีมบุคลากรทางการแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยต้องหยุดยาต้านเกล็ดเลือดก่อนเข้ารับการผ่าตัด 3-7 วัน เพื่อป้องกันการเสียเลือดมากขณะผ่าตัด เนื่องจากผู้ที่กำลังใช้ยาเหล่านี้อาจทำให้เลือดหยุดไหลยากกว่าปกติ
ใครบ้างที่เสี่ยงเลือดออกได้ง่าย ขณะใช้ยาต้านเกล็ดเลือด
บุคคลเหล่านี้ จัดเป็นผู้มีความเสี่ยงในการเกิดเลือดออกได้ง่ายขณะใช้ยาต้านเกล็ดเลือด โดยเฉพาะผู้ที่ใส่ขดลวดขยายหลอดเลือด ซึ่งมักได้รับยาต้านเกล็ดเลือดร่วมกัน 2 ชนิด นานอย่างน้อย 6 เดือน ถึง 1 ปี
โดยทั่วไปแล้ว แพทย์จะตรวจหาปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้แล้วประเมินภาพรวมของความเสี่ยง (ไม่ใช่เพียงข้อใดข้อหนึ่ง) ก่อนสั่งจ่ายยาต้านเกล็ดเลือด นอกจากนี้ ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ง่าย ซึ่งสามารถนำมาสู่การมีเลือดออกในทางเดินอาหารรุนแรง แพทย์อาจสั่งจ่ายยายับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารร่วมด้วยเพื่อป้องกันการเกิดผลเสียดังกล่าว
ยา หรือสมุนไพรประเภทใดบ้างที่อาจรบวนการออกฤทธิ์ของยาต้านเกล็ดเลือด
เนื่องจากยา สมุนไพร และอาหารหลายชนิดมีฤทธิ์ทั้งต้านเกล็ดเลือด และต้านการแข็งตัวของเลือด นอกจากนี้ ยังอาจเกิดปฏิกิริยากับยาต้านเกล็ดเลือดโดยตรง (ยาตีกัน) ซึ่งส่งเสริมให้มีเลือดออกได้ง่าย (ตัวอย่างแสดงในตาราง) ในทางตรงกันข้าม ยาบางชนิดอาจลดฤทธิ์ของยาต้านเกล็ดเลือด ทำให้ไม่ได้ผลในการรักษา ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดอุดตันซ้ำได้ง่าย เช่น ยายับยั้งการหลั่งกรดบางชนิด เมื่อใช้ร่วมกับยา clopidogrel เป็นต้น และหลายครั้งพบว่าผู้ป่วยมักหาซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพมารับประทานเอง ดังนั้น หากกำลังใช้ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพใด ๆ ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ
จากข้อมูลของยาต้านเกล็ดเลือด ผู้อ่านคงเห็นได้ว่ายากลุ่มนี้มีส่วนสำคัญในการช่วยชีวิตผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดตีบ อย่างไรก็ตาม มีข้อควรระวังต่าง ๆ ที่ต้องตระหนัก (แต่ไม่ใช่ตระหนกตื่นกลัว) เมื่อใช้ยากลุ่มนี้ โดยเฉพาะการเกิดเลือดออกรุนแรง ซึ่งมีปัจจัยส่งเสริมหลายประการ ทั้งนี้ หากผู้ป่วยมีคำถามหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับยาต้านเกล็ดเลือด สามารถสอบถามข้อมูลเบื้องต้นจากเภสัชกรร้านยา ซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์ใกล้บ้านที่สามารถให้ข้อมูลด้านยาอย่างถูกต้อง รวมทั้งอาจช่วยส่งต่อผู้ป่วยเข้าสู่การรักษาที่เหมาะสม
วิธีปฏิบัติตัวเบื้องต้นเพื่อป้องกันผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 1 วินาทีที่แล้ว | |
ถั่วเหลือง .. ธัญพืชมีประโยชน์ 1 วินาทีที่แล้ว | |
ความเครียด และวิธีแก้ความเครียด 1 วินาทีที่แล้ว | |
การพัฒนาอนุภาคนาโนและระบบนำส่ง ตอนที่ 2 1 วินาทีที่แล้ว | |
ท้องผูกจากยา 7 วินาทีที่แล้ว | |
ความรู้ทั่วไปเรื่องยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน 10 วินาทีที่แล้ว | |
การนอน .. เพื่อชะลอวัยและเพื่อสุขภาพ 13 วินาทีที่แล้ว | |
โรคงูสวัดในผู้สูงอายุ : แนวทางรักษาและการดูแล 13 วินาทีที่แล้ว | |
ผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติก 17 วินาทีที่แล้ว | |
ยาแก้ปวดข้อ ข้ออักเสบ-กลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) 18 วินาทีที่แล้ว |
|
HTML5 Bootstrap Font Awesome