Loading…

ข้อมูลเปรียบเทียบวัคซีนโควิด-19 ชนิดที่องค์การอนามัยโลกรับรอง

ข้อมูลเปรียบเทียบวัคซีนโควิด-19 ชนิดที่องค์การอนามัยโลกรับรอง

รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์ หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

55,231 ครั้ง เมื่อ 5 นาทีที่แล้ว
2021-08-12


โควิด-19 (COVID-19) เป็นโรคติดเชื้อที่ทางเดินหายใจ เกิดจากโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ คือ “2019-nCoV (2019 novel coronavirus)” หรือ “SARS-CoV-2” เริ่มเกิดการระบาดที่เมืองอู่ฮั่นในประเทศจีน (Wuhan, China) เมื่อเดือนธันวาคมปี พ.ศ. 2562 (ค.ศ. 2019) ปัจจุบันยังคงมีการระบาดอย่างกว้างขวางในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย อีกทั้งยังพบการกลายพันธุ์อย่างรวดเร็วของไวรัสที่ก่อโรค ผู้ป่วยโควิด-19 มีอาการเกิดขึ้นได้หลายอย่าง เช่น มีไข้ ไอ หายใจลำบาก ปวดศีรษะ ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ จมูกไม่ได้กลิ่น เจ็บคอ ปอดอักเสบ อ่อนล้า คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องเดินรุนแรง หรือบางรายอาจไม่แสดงอาการใด กรณีที่ผู้ป่วยไม่แสดงอาการใดอาจทำให้ตัวผู้ป่วยเองรวมถึงคนรอบข้างขาดความระมัดระวังและอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โรคมีการระบาดรุนแรงขึ้น อาการของโรคเกิดภายใน 2-14 วันหลังจากได้รับเชื้อ SARS-CoV-2 มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากเนื่องจากการหายใจล้มเหลวและอาการแทรกซ้อนอื่น การคิดค้นยาเพื่อกำจัดไวรัสที่เป็นต้นเหตุและการพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันโรคดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง กรณีวัคซีนได้เริ่มมีการพัฒนาตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี พ.ศ. 2563 การพัฒนาเป็นไปอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ได้วัคซีนมาใช้โดยเร็ว ขณะนี้มีวัคซีนโควิด-19 ออกใช้แล้วในประเทศต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 18 ผลิตภัณฑ์ (ข้อมูลวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2564) มีทั้งชนิดที่ได้รับอนุมัติทะเบียนอย่างสมบูรณ์ (full authorization) และชนิดที่ได้รับอนุมัติให้ใช้กรณีฉุกเฉิน (emergency use authorization) ซึ่งการอนุมัติวัคซีนในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน ในจำนวนวัคซีนเหล่านี้มีเพียงไม่กี่ชนิดที่อยู่ในรายการที่องค์การอนามัยโลกรับรองให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน (WHO's Emergency Use Listing) ซึ่งจะกล่าวถึงในบทความนี้ ข้อมูลที่เกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนโควิด-19 ทั้งหลายรวมถึงวัคซีนที่องค์การอนามัยโลกรับรองเพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉินนั้นขณะนี้ข้อมูลยังไม่สมบูรณ์ การศึกษาทางคลินิกยังคงดำเนินอยู่ ด้วยเหตุนี้ข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนจึงมีการปรับปรุงเป็นระยะ ๆ 
วัคซีนโควิด-19 ที่กล่าวถึงในบทความนี้ 
วัคซีนโควิด-19 ที่องค์การอนามัยโลกรับรองให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินซึ่งจะกล่าวถึงในบทความนี้มี 6 ผลิตภัณฑ์ดังนี้

  1. วัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer–BioNTech COVID-19 vaccine) ชื่อสามัญ: tozinameran, ชื่ออื่น: mRNA BNT162b2 vaccine และชื่อการค้า: Comirnaty
  2. วัคซีนแอสทราเซเนกา (Oxford–AstraZeneca COVID-19 vaccine) ชื่อรหัส: AZD1222, ชื่ออื่น: ChAdOx1-S, ChAdOx1 nCoV-19 และชื่อการค้า: Covishield และ Vaxzevria
  3. วัคซีนแจนเซน (Janssen COVID-19 vaccine) หรือวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (Johnson & Johnson COVID-19 vaccine) ชื่อรหัส: JNJ-78436735, ชื่ออื่น: Ad26.COV2.S, Ad26COVS1 และชื่อการค้า: Janssen COVID-19 vaccine
  4. วัคซีนโมเดอร์นา (Moderna COVID-19 vaccine) ชื่อสามัญ: elasomeran, ชื่อรหัส: mRNA-1273 และชื่อการค้า: Spikevax
  5. วัคซีนซิโนฟาร์ม (Sinopharm COVID-19 vaccine) ชื่ออื่น: BBIBP-CorV, BIBP vaccine และชื่อการค้า: Sinopharm/BIBP COVID-19 vaccine
  6. วัคซีนซิโนแวค (Sinovac COVID-19 vaccine) ชื่ออื่น: PiCoVacc และชื่อการค้า: CoronaVac

ผู้ใดควรได้รับการฉีดวัคซีนก่อน 
ภายใต้สถานการณ์เร่งด่วนอันเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 และปริมาณวัคซีนโควิด-19 มีจำกัด องค์การอนามัยโลกมีข้อแนะนำให้บุคคลที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 หรือมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่รุนแรงได้มีโอกาสฉีดวัคซีนก่อนดังนี้ (รวบรวมข้อมูลมาจากเอกสารที่เป็นคำแนะนำการใช้วัคซีนแต่ละผลิตภัณฑ์ภายใต้การใช้ในกรณีฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก ตามข้อมูลที่มีอยู่ในขณะที่เรียบเรียงบทความ ซึ่งรายชื่อโรคที่ระบุในเอกสารสำหรับวัคซีนแต่ละผลิตภัณฑ์มีความแตกต่างกันเล็กน้อย)

  1. ผู้ที่ควรได้รับการฉีดวัคซีนเป็นอันดับแรก ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์รวมถึงผู้ที่ทำงานใกล้ชิดผู้ป่วยซึ่งมีความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโควิด-19 และผู้สูงอายุซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโควิด-19 ที่รุนแรงหากเกิดการติดเชื้อ
  2. ผู้ป่วยด้วยโรคเหล่านี้ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโควิด-19 ที่รุนแรงหากมีการติดเชื้อเกิดขึ้น ได้แก่ โรคปอดเรื้อรัง โรคหัวใจซึ่งมีอาการ โรคอ้วนรุนแรง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคตับ โรคติดเชื้อเอชไอวี (human immunodeficiency virus หรือ HIV) ทั้งนี้ควรมีการให้ข้อมูลและให้คำปรึกษากับผู้ป่วยเหล่านี้ ทั้งเรื่องอันตรายของโควิด-19 และผลไม่พึงประสงค์ของวัคซีน
  3. กลุ่มเสี่ยงอื่น ๆ ที่มีโอกาสติดเชื้อซึ่งต้องเร่งฉีดวัคซีนเช่นกัน หากอยู่ในสถานการณ์ที่ปริมาณวัคซีนมีจำกัด ควรรีบฉีดเข็มแรกให้ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยงนี้ให้ได้มากที่สุดก่อน ดังนั้นผู้ที่ได้ฉีดเข็มแรกไปแล้วอาจรอฉีดเข็มที่สองให้นานออกไปแต่ยังอยู่ในช่วงกำหนดระยะห่างของวัคซีนชนิดที่ฉีดเข็มแรกไปแล้ว
  4. ภายใต้สถานการณ์ที่ปริมาณวัคซีนมีจำกัด หากกลุ่มเสี่ยงเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายแล้วซึ่งคาดว่าภูมิต้านทานยังคงมีอยู่นานถึง 6 เดือน อาจชะลอการฉีดวัคซีนออกไปได้นาน 6 เดือน

แพลตฟอร์มที่ใช้ผลิตวัคซีน 
แพลตฟอร์ม (platform) ในที่นี้หมายถึงโครงสร้างพื้นฐานของวัคซีนที่เกิดจากกรรมวิธีหรือเทคโนโลยีที่ใช้ผลิตวัคซีน ซึ่งวัคซีนจำนวน 6 ผลิตภัณฑ์ที่กล่าวถึงข้างต้นนั้นมีแพลตฟอร์มที่เป็นเอ็มอาร์เอ็นเอ (messenger ribonucleic acid หรือ mRNA) จำนวน 2 ผลิตภัณฑ์ คือวัคซีนไฟเซอร์และวัคซีนโมเดอร์นา แพลตฟอร์มที่มีอะดีโนไวรัสเป็นพาหะ (adenovirus vector) จำนวน 2 ผลิตภัณฑ์ คือวัคซีนแอสทราเซเนกาและวัคซีนแจนเซน และแพลตฟอร์มที่ใช้เชื้อตาย (inactivated SARS-CoV-2) จำนวน 2 ผลิตภัณฑ์ คือวัคซีนซิโนฟาร์มและวัคซีนซิโนแวค 
ลักษณะทางเภสัชกรรม 
วัคซีนทั้งหมดมีลักษณะเป็นยาแขวนตะกอน (suspension) ยกเว้นวัคซีนแอสทราเซเนกาที่มีชื่อการค้า Covishield มีลักษณะเป็นยาน้ำใสหรือออกเหลือบเล็กน้อย (clear to slightly opaque solution) ผลิตภัณฑ์ที่มีวัคซีนบรรจุในขวดยาสำหรับการใช้ฉีดหลายครั้ง (multiple-dose vial) หรือ 1 ขวดฉีดได้หลายคน ได้แก่ วัคซีนไฟเซอร์ วัคซีนโมเดอร์นา วัคซีนแอสทราเซเนกา และวัคซีนแจนเซน ส่วนวัคซีนซิโนฟาร์มและวัคซีนซิโนแวคบรรจุในขวดยาสำหรับการฉีดให้ 1 คน (single-dose vial) ซึ่งซิโนฟาร์มยังมีชนิดบรรจุในกระบอกฉีดยาแบบพร้อมใช้ (auto-disable prefilled syringe) สำหรับการฉีดให้ 1 คนอีกด้วย คาดว่าในภายหน้าอาจมีผลิตภัณฑ์ที่บรรจุวัคซีนในขวดยาหรือกระบอกฉีดยาสำหรับการฉีดให้ 1 คนออกใช้มากขึ้น 
การเก็บรักษา 
วัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอทั้งวัคซีนไฟเซอร์และวัคซีนโมเดอร์นาต้องเก็บในสภาพแช่แข็งและเก็บพ้นแสง โดยวัคซีนไฟเซอร์เก็บที่อุณหภูมิ -80oC ถึง -60oC ได้นาน 6 เดือน และวัคซีนโมเดอร์นาเก็บที่อุณหภูมิ -50oC ถึง -15oC ได้นาน 6 เดือน ส่วนวัคซีนที่เหลือ ได้แก่ วัคซีนแอสทราเซเนกา วัคซีนแจนเซน วัคซีนซิโนฟาร์มและวัคซีนซิโนแวค เก็บที่อุณหภูมิ 2o-8oC (ห้ามแช่แข็ง) และเก็บพ้นแสง ซึ่งวัคซีนแอสทราเซเนกาและวัคซีนแจนเซนเก็บได้นาน 6 เดือน ส่วนวัคซีนซิโนฟาร์มเก็บได้นาน 24 เดือน (ที่ขวดมีสติกเกอร์ซึ่งเปลี่ยนสีได้เมื่อถูกความร้อน ช่วยให้รู้ว่าวัคซีนอยู่ในสภาพเดิมหรือไม่) และวัคซีนซิโนแวคเก็บได้นาน 12 เดือน ทั้งนี้ให้ตรวจสอบดูวันหมดอายุที่ระบุไว้บนขวดหรือกระบอกฉีดยาที่บรรจุวัคซีนด้วย 
ข้อควรคำนึงเกี่ยวกับวัคซีนที่ต้องเก็บในสภาพแช่แข็ง เนื่องจากอาจประสบปัญหาด้านการเก็บรักษา การควบคุมอุณหภูมิขณะขนส่งและความยุ่งยากในการเตรียมวัคซีนก่อนนำมาฉีด โดยเฉพาะวัคซีนไฟเซอร์ซึ่งต้องมีการเจือจางวัคซีนก่อนฉีด การนำวัคซีนออกจากตู้แช่แข็งจะทำให้อายุวัคซีนสั้นลง และวัคซีนที่หลอมแล้วห้ามนำกลับไปแช่แข็งอีก 
การให้วัคซีน 
วัคซีนทั้งหมดที่กล่าวถึงในที่นี้ให้โดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (มักฉีดที่ต้นแขน) ก่อนฉีดวัคซีนหากมีไข้หรือมีอุณหภูมิกายสูงกว่า 38.5oC ให้เลื่อนการฉีดวัคซีนไปก่อนจนกว่าอาการไข้จะหายไป วัคซีนไฟเซอร์ใช้กับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป (เดิมระบุไว้ที่อายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป ต่อมามีการศึกษาเพิ่มเติมในเด็กอายุ 12-15 ปี) ส่วนวัคซีนชนิดอื่นใช้กับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป วัคซีนทุกผลิตภัณฑ์ฉีด 2 เข็ม ยกเว้นวัคซีนแจนเซนฉีดเพียง 1 เข็ม (ตามข้อมูลในขณะนี้) วัคซีนไฟเซอร์เป็นชนิดเดียวที่ต้องเจือจางก่อนฉีดและเป็นวัคซีนชนิดเดียวที่ฉีดเพียง 0.3 มิลลิลิตร ส่วนวัคซีนอื่นฉีด 0.5 มิลลิลิตร (ดูรายละเอียดในตารางท้ายบทความ) 
การเว้นระยะห่างระหว่างเข็มแรกและเข็มที่สอง (ซึ่งเป็นเข็มกระตุ้นในกรณีที่ฉีด 2 เข็ม) กำหนดไว้แตกต่างกันดังนี้ วัคซีนไฟเซอร์เว้นห่างกัน 3 สัปดาห์ วัคซีนโมเดอร์นาเว้นห่างกัน 1 เดือน วัคซีนแอสทราเซเนกาเว้นห่างกัน 4-12 สัปดาห์ วัคซีนซิโนฟาร์มเว้นห่างกัน 3-4 สัปดาห์ และวัคซีนซิโนแวคเว้นห่างกัน 2-4 สัปดาห์ เกี่ยวกับการเว้นระยะห่างระหว่างเข็มแรกและเข็มที่สองนั้น ดังได้กล่าวแล้วข้างต้นว่าภายใต้สถานการณ์ที่ปริมาณวัคซีนมีจำกัดและต้องรีบฉีดเข็มแรกให้ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยงให้ได้มากที่สุดก่อน ดังนั้นผู้ที่ได้ฉีดเข็มแรกไปแล้วอาจรอฉีดเข็มที่สองให้นานออกไปแต่ยังอยู่ในช่วงกำหนดระยะห่างของวัคซีนชนิดที่ฉีดเข็มแรกไปแล้ว ซึ่งการเว้นระยะห่างระหว่างการฉีดเข็มแรกและเข็มที่สองให้นานขึ้น เช่นกรณีของวัคซีนแอสทราเซเนกาหากเว้นห่างกัน 8-12 สัปดาห์อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของวัคซีนได้ กรณีวัคซีนโมเดอร์นาหากมีความจำเป็นอาจเลื่อนฉีดเข็มที่สองไปจนถึง 42 วัน หรือหากประเทศใดประสบปัญหาเรื่องวัคซีนไม่เพียงพออาจเลื่อนไปได้นานถึง 12 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามสำหรับวัคซีนชนิดที่ต้องฉีด 2 เข็มประสิทธิภาพจะเกิดเต็มที่ต่อเมื่อได้ฉีดครบทั้ง 2 เข็ม 
ประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน 
ไม่มีการศึกษาที่เปรียบเทียบโดยตรงถึงประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีนโควิด-19 แต่ละชนิด การศึกษาถึงประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละชนิดทำในสถานการณ์ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ ความรุนแรงในการระบาดของโรค ช่วงเวลาที่ประเมินประสิทธิภาพหลังจากฉีดวัคซีน อีกทั้งการประเมินประสิทธิภาพอาจประเมินด้านการป้องกันไม่ให้มีอาการ หรือการป้องกันความรุนแรงของโรคซึ่งครอบคลุมถึงการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล เป็นต้น จากเอกสารที่เป็นคำแนะนำการใช้วัคซีนแต่ละผลิตภัณฑ์ภายใต้การใช้ในกรณีฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก (ตามข้อมูลที่มีอยู่ขณะนี้) ให้ข้อมูลถึงประสิทธิภาพของวัคซีนไฟเซอร์ว่าสามารถป้องกันไม่ให้มีอาการของโควิด-19 ได้ 95% ภายหลังฉีดเข็มที่สองได้ 7 วัน (เข็มแรกและเข็มที่สองฉีดห่างกัน 21 วัน), วัคซีนโมเดอร์นามีประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดโรคได้ 94.1% เมื่อติดตามผลที่ 9 สัปดาห์ (เป็นค่ากลาง) ภายหลังฉีดครบ 2 เข็ม, วัคซีนแอสทราเซเนกามีประสิทธิภาพในการป้องกันไม่ให้มีอาการของโควิด-19 ได้ 72% ภายหลังการฉีดครบ 2 เข็มซึ่งห่างกัน 4-12 สัปดาห์ และพบว่าการเว้นช่วงห่างระหว่างเข็มแรกและเข็มที่สองให้นานขึ้นมีแนวโน้มว่ามีประสิทธิภาพดีขึ้น, วัคซีนแจนเซนมีประสิทธิภาพในการป้องกันความรุนแรงของโรคได้ 76.7% ภายหลังฉีด 14 วัน (วัคซีนชนิดนี้ฉีดเพียงเข็มเดียว) และ 85.4% ภายหลังฉีด 28 วัน และทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้ 93.1% ภายหลังฉีด 14 วัน และได้ 100% ภายหลังฉีด 28 วัน, การฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มครบ 2 เข็มซึ่งฉีดห่างกัน 21 วันมีประสิทธิภาพในการป้องกันไม่ให้มีอาการของโควิด-19 ได้ 79% ตั้งแต่ฉีดเข็มที่สองได้ 14 วัน และป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้ 79%, ในการศึกษาทางคลินิกระยะที่ 3 ของวัคซีนซิโนแวคในประเทศบราซิลพบว่าการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มซึ่งฉีดห่างกัน 14 วันมีประสิทธิภาพในการป้องกันไม่ให้มีอาการของโควิด-19 ได้ 51% การป้องกันความรุนแรงของโรคได้ 100% และการป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้ 100% ซึ่งเห็นผลตั้งแต่ฉีดเข็มที่สองได้ 14 วัน 
ประสิทธิภาพต่อไวรัสกลายพันธุ์ 
ยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนถึงประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันไวรัสโควิด-19 ที่กลายพันธุ์ ประสิทธิภาพประเมินผลจากการฉีดวัคซีนในแหล่งที่มีการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ และผลการทดสอบวัคซีนในห้องปฏิบัติการ ซึ่งในเบื้องต้นคาดว่าวัคซีนไฟเซอร์มีประสิทธิภาพต่อเชื้อกลายพันธุ์ชนิดสายพันธุ์แอลฟา (Alpha: B.1.1.7) และสายพันธุ์เดลตา (Delta: B.1.617.2) โดยเฉพาะเมื่อได้ฉีดครบ 2 เข็ม กรณีวัคซีนโมเดอร์นาพบว่าประสิทธิภาพต่อเชื้อสายพันธุ์เบตา (Beta: B.1.351) ลดลง แต่ประสิทธิภาพต่อเชื้อสายพันธุ์อื่นได้รับผลกระทบน้อย ได้แก่ สายพันธุ์แกมมา (Gamma: P.1), สายพันธุ์แอลฟา และสายพันธุ์เอปซิลอน (Epsilon: B.1.429) ส่วนประสิทธิภาพต่อสายพันธุ์เดลตานั้นยังไม่อาจประเมินได้ ส่วนวัคซีนแอสทราเซเนกามีประสิทธิภาพค่อนข้างดีต่อเชื้อสายพันธุ์แอลฟาและสายพันธุ์เดลตา สำหรับวัคซีนแจนเซนผลการศึกษาทางคลินิกพบว่ามีประสิทธิภาพต่อสายพันธุ์เบตาและสายพันธุ์ P.2 (ก่อนหน้านี้เรียกว่าสายพันธุ์ Zeta ต่อมาไม่ได้รับความสนใจเนื่องจากไม่ใช่สายพันธุ์ที่ก่อการระบาดของโควิด-19) ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนฟาร์มต่อเชื้อกลายพันธุ์ กรณีวัคซีนซิโนแวคมีผลจากการศึกษา (observational study) ที่ประมาณการณ์ได้ว่าวัคซีนนี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันไม่ให้มีอาการของโควิด-19 จากเชื้อสายพันธุ์แกมมา (ซึ่งพบการระบาดราว 75% ของกลุ่มตัวอย่าง) ได้ 49.6% และจากเชื้อสายพันธุ์ P.2 ได้ 49.6% ภายหลังฉีดเข็มแรกและได้ 50.7% ภายหลังฉีดเข็มที่สองไปแล้ว 2 สัปดาห์ ขณะนี้ยังคงต้องมีการติดตามข้อมูลด้านประสิทธิภาพของวัคซีนชนิดต่าง ๆ ต่อเชื้อกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง 
ผลไม่พึงประสงค์ของวัคซีน 
ภายหลังการฉีดวัคซีนให้รอดูอาการไม่พึงประสงค์เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 นาที หากเกิดอาการที่รุนแรงจะได้เข้ารับการรักษาทันทีโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่เกิดการแพ้วัคซีน สำหรับอาการไม่พึงประสงค์โดยทั่วไปเกิดไม่รุนแรง เช่น ปวด บวม แดง คันและมีรอยช้ำบริเวณที่ฉีด ร่างกายอ่อนล้า ปวดศีรษะ ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ มีไข้ หนาวสั่น เป็นลม คลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกไม่สบาย ต่อมน้ำเหลืองโต ซึ่งอาการส่วนใหญ่เกิดจากปฏิกิริยาการตอบสนองของร่างกายที่มีต่อวัคซีน และเกิดได้ไม่ว่าจะฉีดวัคซีนชนิดใด อาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้อาการค่อย ๆ ทุเลาได้เอง สำหรับอาการปวดศีรษะ เป็นไข้ และปวดกล้ามเนื้อสามารถรับประทานยาพาราเซตามอลเพื่อช่วยบรรเทาอาการได้ ส่วนกรณีที่แพ้วัคซีนไม่ว่าจะแพ้ส่วนประกอบใด ๆ ในวัคซีน ซึ่งอาการเกิดขึ้นเร็วหลังฉีดและเกิดอย่างรุนแรง โดยมีผื่นขึ้น ลมพิษ ริมฝีปากและขอบตาบวม หายใจไม่ออก ความดันโลหิตต่ำ ต้องได้รับการรักษาโดยเร็ว ผู้ที่แพ้วัคซีนชนิดใดจะห้ามฉีดวัคซีนชนิดนั้นอีก นอกจากนี้หากเกิดความผิดปกติใด ๆ ในเวลาต่อมา เช่น เจ็บหน้าอก หายใจไม่สะดวก มือและเท้าไม่มีแรง อาเจียนรุนแรง หรืออาการผิดปกติอื่นที่เป็นรุนแรง ให้รีบไปโรงพยาบาลเพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษา ผลไม่พึงประสงค์ของวัคซีนไม่ได้จำกัดแค่ที่กล่าวถึงข้างต้น อาจพบผลไม่พึงประสงค์อย่างอื่นได้ 
สำหรับผลไม่พึงประสงค์บางอย่างซึ่งอาจสัมพันธ์กับแพลตฟอร์มของวัคซีนที่ใช้ (ขณะนี้หลักฐานยังไม่ชัดเจน) เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) และเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (pericarditis) โดยเฉพาะภายหลังได้รับวัคซีนเข็มที่สอง ความผิดปกตินี้เป็นปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันเช่นกัน ทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อดังกล่าวและมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจถี่ หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรงและทุเลาได้เอง แต่บางรายอาจมีอาการรุนแรงและต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล ความผิดปกติดังกล่าวพบได้ทั้งในผู้ที่ฉีดวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (วัคซีนไฟเซอร์และวัคซีนโมเดอร์นา) และวัคซีนชนิดที่มีอะดีโนไวรัสเป็นพาหะ (วัคซีนแอสทราเซเนกาและวัคซีนแจนเซน) แต่จากข้อมูลในขณะนี้พบในผู้ที่ฉีดวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอได้มากกว่าชนิดที่มีอะดีโนไวรัสเป็นพาหะ ส่วน ภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดร่วมกับมีเกล็ดเลือดต่ำ (thrombosis with thrombocytopenia syndrome หรือ TTS) นั้น ข้อมูลในขณะนี้พบในผู้ที่ฉีดวัคซีนชนิดที่มีอะดีโนไวรัสเป็นพาหะได้มากกว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ ผู้ที่เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดร่วมกับมีเกล็ดเลือดต่ำอาจมีอาการได้หลากหลาย ขึ้นกับว่ามีลิ่มเลือดไปอุดตันในหลอดเลือดที่อวัยวะใด เช่น ที่ปอด ทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก หายใจไม่สะดวก เหนื่อย, ที่หัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด มีอาการปวดเค้นอก หัวใจเต้นผิดจังหวะ, ที่สมอง ทำให้มีอาการปวดศีรษะรุนแรง ชัก สับสน ตาพร่า ร่างกายชาครึ่งซีก แขนและขาอ่อนแรง, ที่ขา ทำให้ขาบวม แดง และปวดขาข้างที่เกิดหลอดเลือดอุดตัน เป็นต้น หากเกิดความผิดปกติดังกล่าวรวมถึงความผิดปกติอื่น ๆ ที่เป็นรุนแรง ให้รีบไปโรงพยาบาลเพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาโดยเร็ว 
การฉีดวัคซีนให้กับผู้หญิงตั้งครรภ์และผู้หญิงที่ให้นมบุตร 
ผู้หญิงตั้งครรภ์มีความเสี่ยงต่อการเกิดโควิด-19 ที่รุนแรงได้มากกว่าผู้หญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ โดยเฉพาะช่วงไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 หรือผู้หญิงที่ตั้งครรภ์นั้นมีอายุมาก (อายุ 35 ปีหรือมากกว่านี้) หรือมีน้ำหนักตัวมาก หรือมีโรคอื่นร่วม เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนโควิด-19 ในผู้หญิงตั้งครรภ์และผู้หญิงที่ให้นมบุตรยังมีจำกัด ในด้านประสิทธิภาพคาดว่าวัคซีนทุกผลิตภัณฑ์สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้เช่นเดียวกับผู้หญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์และผู้หญิงที่ไม่ได้ให้นมบุตร ส่วนด้านความปลอดภัยนั้นยังไม่มีข้อมูลว่าผู้หญิงตั้งครรภ์และผู้หญิงที่ให้นมบุตรจะได้รับผลกระทบจากวัคซีนมากกว่าผู้หญิงทั่วไปหรือไม่ ส่วนผลต่อทารกนั้นวัคซีนทั้งหมดที่กล่าวถึงไม่ใช่วัคซีนชนิดเชื้อเป็น (กรณีที่มีอะดีโนไวรัสเป็นพาหะนั้นอนุภาคไวรัสที่นำมาใช้ไม่สามารถแบ่งตัวเพิ่มจำนวนได้) แต่เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยที่เพียงพอ ด้วยเหตุนี้การฉีดวัคซีนไม่ว่าชนิดใดให้กับผู้หญิงมีครรภ์ควรได้ผ่านการพิจารณาถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการฉีดวัคซีนว่ามีมากกว่าความเสี่ยงต่อผลเสียที่อาจเกิดขึ้นกับลูกในท้อง ส่วนผู้หญิงที่ให้นมบุตรยังไม่มีข้อมูลถึงผลกระทบของวัคซีนต่อลูกที่ดื่มนมแม่ อย่างไรก็ตามดังได้กล่าวข้างต้นแล้วว่าวัคซีนทั้งหมดที่กล่าวถึงไม่ใช่วัคซีนชนิดเชื้อเป็น ด้วยเหตุนี้ผู้หญิงที่ให้นมบุตรสามารถฉีดวัคซีนได้และสามารถให้นมบุตรต่อไปได้ 
วัคซีนป้องกันการแพร่เชื้อได้หรือไม่? 
ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าวัคซีนทั้ง 6 ชนิดที่กล่าวถึงจะป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 ได้หรือไม่ ด้วยเหตุนี้แม้ฉีดวัคซีนแล้วยังคงมีข้อแนะนำให้ใส่หน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ปิดปากและจมูกเมื่อไอหรือจามด้วยทิชชู ทิ้งทิชชูที่ใช้แล้วลงถังขยะที่ปิดมิดชิด ไม่อยู่ในสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก และให้อยู่ในสถานที่ซึ่งมีอากาศถ่ายเทดี 
 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Vaccines in use, last updated 3 August 2021. https://www.covid-19vaccinetracker.org/authorized-vaccines. Accessed: August 4, 2021.
  2. Fact sheet for healthcare providers administering vaccine (vaccination providers). Emergency use authorization (EUA) of the Pfizer-Biontech COVID-19 vaccine to prevent coronavirus disease 2019 (COVID-19), revised 25 June 2021. https://www.fda.gov/media/144413/download. Accessed: August 2, 2021.
  3. World Health Organization. Interim recommendations for use of the Pfizer–BioNTech COVID-19 vaccine, BNT162b2, under Emergency Use Listing, updated 15 June 2021. WHO reference number: WHO/2019-nCoV/vaccines/SAGE_recommendation//BNT162b2/2021.2. Accessed: August 2, 2021.
  4. Pfizer-BioNTech COVID-19 vaccine U.S. distribution fact sheet. https://www.pfizer.com/news/hot-topics/covid_19_vaccine_u_s_distribution_fact_sheet. Accessed: August 2, 2021.
  5. Fact sheet for healthcare providers administering vaccine (vaccination providers). Emergency use authorization (EUA) of the the Moderna COVID-19 vaccine to prevent coronavirus disease 2019 (COVID-19), revised 24 June 2021. https://www.fda.gov/media/144637/download. Accessed: August 2, 2021.
  6. World Health Organization. Interim recommendations for use of the Moderna mRNA-1273 vaccine against COVID-19, updated 25 June 2021. WHO reference number: WHO/2019-nCoV/vaccines/SAGE_recommendation/mRNA-1273/2021.2. Accessed: August 2, 2021.
  7. Moderna announces longer shelf life for its COVID-19 vaccine candidate at refrigerated temperatures. https://investors.modernatx.com/news-releases/news-release-details/moderna-announces-longer-shelf-life-its-covid-19-vaccine/. Accessed: August 2, 2021.
  8. Vaxzevria suspension for injection, revised 15 July 2021. .https://www.gov.uk/government/publications/regulatory-approval-of-covid-19-vaccine-astrazeneca/information-for-healthcare-professionals-on-covid-19-vaccine-astrazeneca Accessed: August 2, 2021.
  9. World Health Organization. Interim recommendations for use of the ChAdOx1-S [recombinant] vaccine against COVID-19 (AstraZeneca COVID-19 vaccine AZD1222 VaxzevriaTM, SII COVISHIELDTM), updated 30 July 2021. WHO reference number: WHO/2019-nCoV/vaccines/SAGE_recommendation/AZD1222/2021.3. Accessed: August 2, 2021.
  10. Global Advisory Committee on Vaccine Safety (GACVS) review of latest evidence of rare adverse blood coagulation events with AstraZeneca COVID-19 Vaccine (Vaxzevria and Covishield), 21 April 2021. https://www.who.int/news. Accessed: August 2, 2021.
  11. Fact sheet for healthcare providers administering vaccine (vaccination providers) emergency use authorization (EUA) of the Janssen COVID-19 vaccine to prevent coronavirus disease 2019 (COVID-19), revised 8 July 2021. https://www.fda.gov/media/146304/download. Accessed: August 2, 2021.
  12. World Health Organization. Interim recommendations for the use of the Janssen Ad26.COV2.S (COVID-19) vaccine, updated 15 June 2021. WHO reference number: WHO/2019-nCoV/vaccines/SAGE_recommendation/Ad26.COV2.S/2021.2. Accessed: August 2, 2021.
  13. COVID-19 Vaccine (Vero Cell), Inactivated (Sinopharm), version 24 May 2021. https://www.who.int/publications/m/item/sinopharm-vero-cell---inactivated-covid-19-vaccine. Accessed: August 2, 2021.
  14. The Sinopharm COVID-19 vaccine: What you need to know, 10 May 2021. https://www.who.int/news-room/feature-stories/detail/the-sinopharm-covid-19-vaccine-what-you-need-to-know. Accessed: August 2, 2021.
  15. Recommendation for an emergency use listing of COVID-19 vaccine (vero cell), inactivated submitted by Sinovac, version 28 June 2021. .https://extranet.who.int/pqweb/sites/default/files/documents/SINOVAC_TAG_PEG_REPORT_EUL-Final28june2021.pdf Accessed: August 2, 2021.
  16. The Sinovac COVID-19 vaccine: What you need to know, 2 June 2021. https://www.who.int/news-room/feature-stories/detail/the-sinovac-covid-19-vaccine-what-you-need-to-know. Accessed: August 2, 2021.
  17. Doshi P. Covid-19 vaccines: in the rush for regulatory approval, do we need more data? BMJ 2021. doi: 10.1136/bmj.n1244. Accessed: August 2, 2021.
  18. Research and analysis coronavirus vaccine - weekly summary of Yellow Card reporting updated 30 July 2021. https://www.gov.uk/government/publications/coronavirus-covid-19-vaccine-adverse-reactions/coronavirus-vaccine-summary-of-yellow-card-reporting. Accessed: August 2, 2021.
  19. Myocarditis and/or pericarditis following COVID-19 vaccines, updated 22 July 2021. https://www.alberta.ca/assets/documents/health-myocarditis-and-pericarditis-following-covid.pdf. Accessed: August 2, 2021.
  20. Sangli S, Virani A, Cheronis N, Vannatter B, Minich C, Noronha S, et al. Thrombosis with thrombocytopenia after the messenger RNA-1273 vaccine. Ann Intern Med 2021. doi: 10.7326/L21-0244. Accessed: August 2, 2021.

บทความที่ถูกอ่านล่าสุด

เลือดจาง โลหิตจาง กับยาฉีดอีพีโอ (EPO) 2 วินาทีที่แล้ว
การปฐมพยาบาลด้วยสมุนไพร: สมุนไพรสำหรับอาการภายนอก 8 วินาทีที่แล้ว
การทำสมาธิส่งผลดีต่อสมองอย่างไร? 10 วินาทีที่แล้ว
รางจืด สมุนไพรแก้พิษและล้างพิษ 14 วินาทีที่แล้ว
สารพิษจากเชื้อรา อันตรายที่มองไม่เห็น 14 วินาทีที่แล้ว
ข้อควรรู้เกี่ยวกับยาหยอดตาที่ไม่ควรมองข้าม 14 วินาทีที่แล้ว
ยายับยั้งการหลั่งกรด .… ผลเสียจากการใช้พร่ำเพรื่อ 15 วินาทีที่แล้ว
อันตรกิริยาระหว่างส้มโอกับยา (ตอนที่ 1) 21 วินาทีที่แล้ว
การดื่มกาแฟกับสุขภาพ 24 วินาทีที่แล้ว
สบู่ดำ..พืชพลังงานที่เพิ่มคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ 31 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด

เกี่ยวกับคณะเภสัชศาสตร์
คลังความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
คณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์
Copyright © 2021 - 2024
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
การใช้และการจัดการคุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา