Loading…

น้ำเกลือแร่สำหรับท้องเสีย: เลือกที่ใช่ ใช้ถูกต้อง

น้ำเกลือแร่สำหรับท้องเสีย: เลือกที่ใช่ ใช้ถูกต้อง

อาจารย์ ภก. ธีรัตถ์ เหลืองมั่นคง ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

288,636 ครั้ง เมื่อ 2 นาทีที่แล้ว
2020-11-02


เมื่อเกิดอาการท้องเสีย ร่างกายจะสูญเสียน้ำซึ่งประกอบไปด้วยเกลือแร่ที่จำเป็นในการทำงานของร่างกายไปพร้อมกับการถ่ายอุจจาระเป็นจำนวนมาก เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิต ผู้ที่ท้องเสียและมีสัญญาณของการขาดน้ำอย่างรุนแรงจำเป็นต้องได้รับสารน้ำผ่านทางหลอดเลือดดำ (ให้น้ำเกลือ) แต่หากอาการท้องเสียไม่รุนแรง การดื่ม “น้ำเกลือแร่สำหรับท้องเสีย” ก็มักจะเพียงพอสำหรับชดเชยน้ำและเกลือแร่ที่เสียไป ซึ่งการเลือกชนิดของน้ำเกลือแร่ที่เหมาะสม รวมทั้งวิธีการผสมและดื่มที่ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญซึ่งทุกคนควรรู้ 
 
ภาพจาก : https://static.siamsport.co.th/files/images/%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%81%E0%B8%A3%E0%B9%882.jpg 
การเลือกชนิดของน้ำเกลือแร่สำหรับท้องเสีย 
น้ำเกลือแร่สำหรับท้องเสียต้องมีสัดส่วนของเกลือแร่ต่าง ๆ ที่เหมาะสม โดยส่วนมากผู้ที่ท้องเสียต้องผสมน้ำเกลือแร่ด้วยตนเองจากผงเกลือแร่ซึ่งบรรจุอยู่ในซองสำเร็จรูปที่เรียกว่า “โออาร์เอส หรือ ORS (Oral Rehydration Salts)” ซึ่งจัดเป็นยาสามัญประจำบ้านและมีจำหน่ายทั่วไปที่ร้านยารวมทั้งร้านสะดวกซื้อ โดยโออาร์เอสที่ร้านสะดวกซื้ออาจถูกวางอยู่ในตำแหน่งใกล้เคียงกับผงเกลือแร่สำหรับผู้ที่เสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย ทำให้ผู้ใช้ยาเกิดความสับสนและเข้าใจว่าสามารถใช้แทนกันได้ แต่แท้จริงแล้วผงเกลือแร่ทั้งสองชนิดมีความแตกต่างกัน เนื่องจากผงเกลือแร่สำหรับผู้ที่เสียเหงื่อจากการออกกำลังกายมักมีปริมาณน้ำตาลสูงกว่าโออาร์เอส และอาจทำให้ผู้ที่ท้องเสียถ่ายเหลวมากกว่าเดิมก็เป็นได้ ดังนั้นผู้ที่ท้องเสียจึงควรดื่มน้ำเกลือแร่ที่ผสมจากโออาร์เอสเท่านั้น 
การผสมน้ำเกลือแร่สำหรับท้องเสีย 
โออาร์เอสสามารถผสมเป็นน้ำเกลือแร่สำหรับท้องเสียได้ตามขั้นตอนต่อไปนี้

  1. เตรียมน้ำเปล่าสำหรับดื่มที่สะอาดและมั่นใจได้ว่าไม่มีเชื้อโรคอื่นที่อาจปนเปื้อนจนทำให้อาการท้องเสียแย่ลง หากไม่สามารถหาน้ำดื่มสะอาดได้ อาจต้มน้ำและรอให้เย็นลงจนดื่มได้ก่อนจึงค่อยผสมกับโออาร์เอส ห้ามผสมโออาร์เอสกับเครื่องดื่มใด ๆ นอกจากน้ำเปล่า
  2. เทโออาร์เอสทั้งซองในน้ำดื่มสะอาดตามปริมาตรที่ระบุบนซอง โดยปริมาตรอาจเป็น 120, 150, 240, 250 หรือ 750 ซีซี (1 ซีซี เท่ากับ 1 มิลลิลิตร) ขึ้นกับยี่ห้อ หากผสมด้วยปริมาตรที่ผิดไปจากที่ระบุอาจทำให้ได้น้ำเกลือแร่ที่มีความเข้มข้นไม่เหมาะสม อย่างไรก็ตามปริมาตรที่ใช้ผสมอาจมากหรือน้อยไปจากที่ระบุได้บ้างหากไม่มีภาชนะในการตวง
  3. ผสมโออาร์เอสกับน้ำดื่มให้เข้ากันดีด้วยการคนหรือเขย่าจนสังเกตว่าไม่มีผงยาเหลืออยู่ อย่าลืมคำนึงถืงความสะอาดของน้ำดื่มและภาชนะต่าง ๆ ในขั้นตอนการผสม
  4. ควรผสมโออาร์เอสครั้งละซองและผสมใหม่เมื่อดื่มของเก่าหมด ไม่ควรเก็บน้ำเกลือแร่ที่ดื่มไม่หมดไว้เกิน 24 ชั่วโมง รวมทั้งควรเก็บรักษาน้ำเกลือแร่ที่ผสมแล้วในภาชนะที่ปิดสนิทเพื่อลดโอกาสในการปนเปื้อน

วิธีการดื่มน้ำเกลือแร่เมื่อท้องเสีย 
ผู้ที่ท้องเสียควรดื่มน้ำเกลือแร่ที่ผสมจากโออาร์เอสโดยใช้หลักการดังนี้

  1. ค่อย ๆ จิบ ไม่ดื่มรวดเดียว เนื่องจากการดื่มหมดในคราวเดียวอาจทำให้ลำไส้แปรปรวนและท้องเสียมากกว่าเดิม
  2. ให้จิบเรื่อย ๆ จนไม่รู้สึกกระหายน้ำ ความรู้สึกกระหายน้ำเป็นสัญญาณที่บอกได้คร่าว ๆ ว่าร่างกายมีภาวะขาดน้ำหรือไม่
  3. หากอาเจียน ไม่ควรดื่มต่อโดยทันทีเพราะอาจกระตุ้นให้อาเจียนซ้ำ ควรรอประมาณ 10 นาที จึงค่อยดื่มใหม่
  4. ให้หยุดดื่มน้ำเกลือแร่เมื่อหายจากอาการท้องเสีย โดยกลับมาดื่มน้ำเปล่าและรับประทานอาหารที่ถูกสุขอนามัยอย่างเพียงพอตามปกติ ไม่ควรรับประทานน้ำเกลือแร่เป็นระยะเวลานานหากไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์

ข้อควรรู้อื่น ๆ 
มีความเชื่อที่บอกต่อ ๆ กันมากมายเกี่ยวกับชนิด การผสม และการดื่มน้ำเกลือแร่สำหรับท้องเสีย ซึ่งข้อเท็จจริงมีดังนี้

  1. ผู้ที่ท้องเสียสามารถดื่มน้ำเกลือแร่สำหรับท้องเสียชนิดพร้อมดื่ม (ไม่ต้องผสมเอง) ซึ่งได้รับจากสถานพยาบาลหรือร้านยาได้ แต่ปัจจุบันยังไม่มีน้ำเกลือแร่สำหรับท้องเสียชนิดพร้อมดื่มจำหน่ายที่ร้านสะดวกซื้อ
  2. น้ำแร่ (mineral water) คือ น้ำดื่มสะอาดที่ได้รับการเติมแร่ธาตุบางชนิดลงไปในปริมาณน้อย ๆ ไม่ใช่น้ำเกลือแร่สำหรับท้องเสีย
  3. หากมีความจำเป็นและไม่สามารถจัดหาโออาร์เอสได้ อาจผสมน้ำเกลือแร่สำหรับท้องเสียเองโดยเติมน้ำตาลทราย 6 ช้อนชาและเกลือครึ่งช้อนชาในน้ำดื่มสะอาด 1 ลิตร (1,000 ซีซี) อย่างไรก็ตามปริมาณของเกลือแร่ที่ได้จะไม่เหมือนกับที่ผสมจากโออาร์เอส
  4. น้ำอัดลมเติมเกลือมีความคล้ายคลึงกับน้ำเกลือแร่สำหรับผู้ที่เสียเหงื่อจากการออกกำลังกายมากกว่าโออาร์เอส จึงไม่แนะนำสำหรับผู้ที่ท้องเสีย
แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Diarrhoeal disease [Internet]. [cited 2020 Oct 27]. Available from: https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/diarrhoeal-disease
  2. WHO | Oral rehydration salts [Internet]. WHO. World Health Organization; [cited 2020 Oct 27]. Available from: https://www.who.int/maternal_child_adolescent/documents/fch_cah_06_1/en/
  3. Diarrhoea, Diarrhea, Dehydration, Oral Rehydration, Mother and Child Nutrition, Water, Sanitation, Hygiene - Rehydration Project [Internet]. [cited 2020 Oct 27]. Available from: https://rehydrate.org/

บทความที่ถูกอ่านล่าสุด

ผลิตภัณฑ์สมุนไพรตอนที่ 2: มาตรฐานทางกายภาพของยาเม็ดสมุนไพร 7 วินาทีที่แล้ว
ยาทาภายนอกรักษาโรคเชื้อรา : ยารักษากลากและเกลื้อน 7 วินาทีที่แล้ว
เครื่องวัดความดันโลหิต 10 วินาทีที่แล้ว
อาหารหลากสี มีประโยชน์หลากหลาย (ตอนที่ 3): สารเคมีที่มีประโยชน์จากผักผลไม้ที่มีสีม่วงและสีน้ำเงิน 14 วินาทีที่แล้ว
ท้องผูกและการใช้ยาระบาย 16 วินาทีที่แล้ว
ความรู้เรื่องคลื่นรังสี ตอนที่ 2 17 วินาทีที่แล้ว
ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพร 22 วินาทีที่แล้ว
น้ำนมแม่ ประโยชน์อเนกอนันต์ 24 วินาทีที่แล้ว
หญ้าฝรั่น ... เครื่องเทศที่แพงที่สุดในโลก!!! 28 วินาทีที่แล้ว
โรคสมาธิสั้นในเด็ก: การรักษาด้วยยา 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด

เกี่ยวกับคณะเภสัชศาสตร์
คลังความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
คณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์
Copyright © 2021 - 2024
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
การใช้และการจัดการคุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา