Loading…

ต้อหิน

ต้อหิน
อาจารย์ ดร.ภก.วสุ ศุภรัตนสิทธิ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
6,665 ครั้ง เมื่อ 1 วันที่แล้ว
2021-05-18

ต้อหิน เป็นสาเหตุอันดับที่ 2 ของการสูญเสียการมองเห็น รองจากต้อกระจกในระดับโลก องค์การอนามัยโลกประมาณว่า 7.7 ล้านคนทั่วโลก มีปัญหาต้อหินที่รุนแรงปานกลางจนถึงขั้นประสบปัญหาตาบอด
ต้อหิน เป็นกลุ่มโรคมีความผิดปกติของขั้วประสาทตา ส่วนใหญ่เกิดจากไหลเวียนน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาที่ผิดปกติ ทำให้ความดันลูกตาสูงขึ้น จนมีการทำลายไปที่ขั้วประสาทตา ส่งผลให้เกิดการสูญเสียลานสายตาแบบถาวร ในบางกรณีต้อหินสามารถเกิดในผู้ที่มีความดันลูกตาปกติได้ การวินิจฉัยจึงไม่ได้มีเพียงการตรวจวัดความดันตาเท่านั้น ยังต้องมีการตรวจอื่น ๆ เช่น ลานสายตา ความหนาของกระจกตา การตรวจขั้วประสาทตา และการตรวจพิเศษของจักษุแพทย์ร่วมด้วย

ภาพจาก : https://marvel-b1-cdn.bc0a.com/f00000000038905/www.aao.org/full/image.axd?id=ae6b7efb-c013-40b0-8c7b-fe8232bebc11&t=636789918580000000
อาการของต้อหินขึ้นอยู่กับประเภทของต้อหินโดยทั่วไปแบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ดังนี้
  1. ต้อหินมุมเปิด การดำเนินของโรคจะค่อยเป็นค่อยไป มักสังเกตอาการได้ยากในระยะแรก และไม่พบอาการผิดปกติทางสายตารูปแบบอื่นนอกจากตามัว ซึ่งอาการตามัวของต้อหินชนิดนี้ จะมัวจากลานสายรอบนอก และมัวเข้าในเรื่อย ๆ ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์เมื่อลานสายตาแคบลงจนกระทบชีวิตประจำวัน เช่น เดินชนสิ่งของด้านข้างบ่อย ๆ เป็นต้น
  2. ต้อหินมุมปิด การดำเนินของโรคจะฉับพลันและมีอาการปวดตา ตาแดง ตามัวลงอย่างฉับพลัน บางรายมีอาการปวดศีรษะ และคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย
      ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดต้อหินมีดังนี้
      • ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
      • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นต้อหิน
      • เชื้อชาติเอเชีย หรือกลุ่มละติน
      • ผู้ที่มีสายตาสั้นมาก ๆ หรือสายตายาวมาก ๆ
      • ผู้ที่มีความดันลูกตาสูงจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ใช้ยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน
      • ผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่นร่วมด้วย เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง
      แนวทางการรักษาสามารถแบ่งได้ 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้
      การรักษาโดยใช้ยา ยาที่ใช้จะหวังผลให้ลดความดันลูกตา ซึ่งรูปแบบยารับประทานจะเป็นยาในกลุ่ม carbonic anhydrase inhibitors เช่น acetazolamide มักใช้ลดความดันลูกตาในผู้ป่วยต้อหินมุมปิด ทำให้ลดความดันตาได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นยังมีรูปแบบยาหยอดตา เช่น ยากลุ่ม prostaglandin analogues, beta blockers, alpha-adrenergic agonists และ parasympathomimetics เป็นต้น
      การรักษาโดยไม่ใช้ยา ปัจจุบันสามารถรักษาผู้ป่วยโดยการใช้เลเซอร์ และการผ่าตัดเพื่อเพิ่มช่องทางการระบายน้ำออกจากลูกตาได้ อย่างไรก็ตามการผ่าตัดมักใช้ในกรณีที่ไม่สามารถควบคุมความดันตาโดยใช้ยาหยอดตาและเลเซอร์แล้ว
      สุดท้ายนี้หากมีปัญหาทางสายตา และกระทบการใช้ชีวิตประจำวัน รวมไปถึงการใช้ยาทุกครั้งควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ หรือเภสัชกร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับท่านเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการใช้ยา และอย่าลืมว่า “มีปัญหาเรื่องยา ปรึกษาเภสัชกรนะครับ”
แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. American Academy of Ophthalmology. 2019. 2019-2020 BCSC: Basic and Clinical Science Course. American Academy of Ophthalmology.
  2. Chumley, Heidi S. 2019. “Glaucoma.” In The Color Atlas and Synopsis of Family Medicine, 3e, eds. Richard P Usatine, Mindy A Smith, Jr. Mayeaux E.J., and Heidi S Chumley. New York, NY: McGraw-Hill Education.
  3. Henderer, Jeffrey D, and Christopher J Rapuano. 2017. “Ocular Pharmacology.” In Goodman & Gilman's: The Pharmacological Basis of Therapeutics, 13e, eds. Laurence L Brunton, Randa Hilal-Dandan, and Björn C Knollmann. New York, NY: McGraw-Hill Education.
  4. Horton, Jonathan C. 2018. “Disorders of the Eye.” In Harrison's Principles of Internal Medicine, 20e, eds. J Larry Jameson et al. New York, NY: McGraw-Hill Education.
  5. National Institute for Health and Care Excellence (UK). 2017. Glaucoma: diagnosis and management. London: National Institute for Health and Care Excellence.
  6. Shaarawy, Tarek M, Mark B Sherwood, Roger A Hitchings, and Jonathan G Crowston. 2014. Glaucoma E-Book. Elsevier Health Sciences.
  7. World Health Organization. 2021. “Blindness and vision impairment” https://www.who.int/en/news-room/fact-sheets/detail/blindness-and-visual-impairment (5 May 2021).

บทความที่ถูกอ่านล่าสุด

ออกกำลังกายอย่างไรดี ? 1 วินาทีที่แล้ว
ภาชนะเก็บยา..ที่ถูกต้องตามตำรายา 2 วินาทีที่แล้ว
รอบรู้เรื่องธาตุกัมมันตรังสี 2 วินาทีที่แล้ว
สมุนไพรกับโรคไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ 9 วินาทีที่แล้ว
แกงขี้เหล็ก อาหารที่ถูกลืม 11 วินาทีที่แล้ว
วิธีปฏิบัติตัวเบื้องต้นเพื่อป้องกันผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 13 วินาทีที่แล้ว
ผู้บริโภคกับการตรวจสอบคุณภาพ 16 วินาทีที่แล้ว
Sleep Apnea : ง่วง นอนกรน นอนไม่อิ่ม 16 วินาทีที่แล้ว
คำถาม-คำตอบเกี่ยวกับการใช้กัญชา 17 วินาทีที่แล้ว
ผักหวานกินได้ทุกชนิด จริงหรือ ? 18 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด

เกี่ยวกับคณะเภสัชศาสตร์

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
คณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์
Copyright © 2021 - 2024
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล