Loading…

ขยับกาย สบายชีวี

ขยับกาย สบายชีวี
รองศาสตราจารย์ ดร. จิรภรณ์ อังวิทยาธร ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
10,534 ครั้ง เมื่อ 1 ช.ม.ที่แล้ว
2017-05-03
"Sitting Kills, Moving Heals” (นั่งมรณา เคลื่อนไหวรักษา)"
ปัจจุบัน การทำงานของคนส่วนใหญ่ เป็นการนั่งอยู่กับโต๊ะทำงาน หรือนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ๆ จนเกิดอาการที่เรียกว่า “office syndrome” คือมีอาการปวดหลัง ปวดคอ ปวดไหล่ เกิดการอักเสบที่ข้อมือและนิ้วจากการพิมพ์ที่คีย์บอร์ดและการคลิกเมาส์ เป็นที่น่าประหลาดใจ เมื่อมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า แม้ผู้ที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 5 ครั้งๆ ละ 1/2-1 ชั่วโมง แต่เวลาที่เหลือกลับนั่งอยู่นิ่งๆ ไม่ลุกเดินไปไหนหรือไม่ค่อยเคลื่อนไหว ขยับเขยื้อนร่างกายจะมีสุขภาพไม่ดีเท่าที่ควร ผู้อ่านคงเคยเห็นว่า หลายคนต้องขับรถออกจากบ้าน ไปออกกำลังกายตามสถานที่ออกกำลังกายที่มีราคาแพงๆ แต่พอกลับถึงบ้าน เพียงต้องการจะดื่มน้ำสักแก้ว ก็ต้องเรียกให้เด็กในบ้านไปนำน้ำมาให้ดื่ม

ภาพจาก : http://news.stanford.edu/news/2014/april/images/13763-walking_news.jpg
นักวิทยาศาสตร์ขององค์การนาซา (NASA) สหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาวิจัยสุขภาพของนักบินอวกาศก่อนบินสู่อวกาศและหลังกลับจากอวกาศ โดยทำการศึกษาต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายปี พบว่านักบินอวกาศที่อยู่ในอวกาศเป็นเวลานาน จะมีอาการเสื่อมของข้อ กระดูกและกล้ามเนื้อ เท่ากับคนไข้ที่นอนบนเตียงเป็นเวลานานๆ โดยไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหวของร่างกายส่วนต่างๆ อาการเสื่อมของกระดูกและกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นเมื่ออยู่บนพื้นโลก 1 ปี จะมีอาการเสื่อมเท่ากับอยู่ในอวกาศเพียง 1-4 สัปดาห์ ในสภาวะสูญญากาศนั้นร่างกายจะเกิดกระบวนการแก่ (aging) เร็วขึ้นถึง 10 เท่า เนื่องจากในสภาะที่ไร้แรงโน้มถ่วง อวัยวะต่าง ๆ จะไม่มีการเคลื่อนไหวที่ต้านกับแรงโน้มถ่วง ในกรณีของนักบินอวกาศ สภาวะทางร่างกายสามารถฟื้นฟูสู่ปกติได้ ถ้าได้รับการรักษาและปฏิบัติตนอย่างถูกวิธี เมื่อกลับคืนสู่พื้นโลก
งานวิจัยในวารสาร American Journal of Preventive Medicine ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะหาวิธีการบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการนั่งนานๆ โดยศึกษาในกลุ่มสตรีอายุ 37-78 ปี ประมาณ 13,000 คนในประเทศอังกฤษ ทำการศึกษาในระยะเวลาติดต่อกันนาน 20 ปี พบว่าสตรีที่ทำงานหรือทำกิจกรรมที่นั่งอยู่กับที่ มีอัตราเสี่ยงต่อการเสียชีวิต (ด้วยสาเหตุต่างๆ) สูงกว่าสตรีที่นั่งอยู่กับที่เหมือนกัน แต่มีการเคลื่อนไหวร่างกายหรือเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ ตลอดทั้งวัน
ดังที่ได้กล่าวมา จะเห็นได้ว่าการนั่งนานๆ เป็นสิ่งไม่ดีต่อร่างกาย แต่เดี๋ยวก่อน การยืนนาน ๆ ก็ไม่ดีเช่นเดียวกัน อาชีพบางอาชีพที่ต้องยืนเกือบตลอดเวลา เช่น พยาบาล ช่างทำผม พนักงานขายสินค้า ก็มีผลเสียต่อสุขภาพเหมือนกัน เช่น เส้นเลือดขอดตามน่อง ปวดหลัง ปวดเข่า ปวดที่เท้า หลอดเลือดตีบ เป็นต้น
วารสารของประเทศอังกฤษ The British Journal of Sports Medicine เผยแพร่ผลงานวิจัยที่แนะนำให้ยืน และทำกิจกรรมเบาๆ ยืดเส้นยืดสาย ยืดกล้ามเนื้อไปด้วย ประมาณวันละ 2-4 ชั่วโมง และผลการวิจัยขององค์การนาซา ที่พบว่าการยืนขึ้น 2 นาที 16 ครั้งต่อวัน กระจายไปตลอดวันทำงาน จะช่วยรักษาประสิทธิภาพของกระดูก และความหนาแน่นของกล้ามเนื้อ การยืนประมาณ 2 ชั่วโมงต่อวัน จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด ทั้งนี้การทำกิจกรรมที่เคลื่อนไหวร่างกายและเปลี่ยนอิริยาบถ สลับกับการนั่งทำงาน โดยทำสลับกันทั้งวัน จะให้ผลดีกว่าการเคลื่อนไหวร่างกายติดต่อกันครั้งเดียว
เราสามารถปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตประจำวัน หรือแม้กระทั่งการทำงาน ให้มีการเปลี่ยนอิริยาบถ หรือเคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การนัดพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูง หรือการพูดคุยเจรจาธุระกิจตามร้านอาหารหรือร้านกาแฟ อาจเปลี่ยนเป็นเดินไป พูดคุยกันไปตามสวนสาธารณะ หรือ สนามหน้าบ้านที่มีบริเวณมากพอ คุณพ่อคุณแม่ที่ต้องพาลูกไปเล่นหรือซ้อมกีฬา แทนที่จะนั่งเฝ้าดูลูกเล่นกีฬาเฉยๆ ก็อาจจะเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายตามไปด้วย เวลาขึ้นรถไฟฟ้าหรือรถโดยสารประจำทาง แทนที่จะต่อสู้หรือเล่นเก้าอี้ดนตรีเพื่อแย่งชิงที่นั่ง ก็เปลี่ยนมายืนแทน ในปัจจุบัน บริษัทหลายแห่งในต่างประเทศ พนักงานที่ต้องนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ ก็มีการเปลี่ยนเป็นโต๊ะที่ใช้ยืนทำงานแทน โต๊ะอาหารกลางวันในที่ทำงาน มีการเปลี่ยนเป็นโต๊ะที่ใช้ยืนรับประทาน เนื่องจากพนักงานนั่งทำงานมาหลายชั่วโมงแล้ว การเดินเร็วๆ หรือเดินรอบบริเวณอาคารหลังจากรับประทานอาหารกลางวัน แทนการกลับมานั่งทำงานหรือนั่งพูดคุยกัน กรณีที่บ้านและสถานที่ทำงานอยู่ไม่ไกลกันมาก ก็อาจหันมาเดินแทนการใช้รถ หากจำเป็นต้องขับรถมาทำงานก็อาจเลือกที่จอดรถให้ไกลขึ้น เพื่อให้มีเวลาเดินมายังที่ทำงานได้ยาวนานขึ้น การเดินขึ้นลงบันไดแทนการใช้ลิฟต์ก็เป็นการออกกำลังกายที่ดี การลุกขึ้นไปเปลี่ยนช่องหรือปิดทีวี แทนการใช้รีโมทคอนโทรล ฯลฯ
จะเห็นได้ว่าการเคลื่อนไหวร่างกาย เปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ ตลอดทั้งวัน สามารถทำได้ง่าย ๆ และทำได้ทุกวัน เพียงเท่านี้ เราก็สามารถดูแลสุขภาพร่างกายของเราได้โดยไม่ต้องลงทุนใด ๆ และในบางกรณีอาจช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ด้วย ทั้งนี้การออกกำลังเคลื่อนไหวร่างกายด้วยวิธีการต่าง ๆ เหล่านั้นต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของสภาพร่างกายของแต่ละบุคคลควบคู่กันไปด้วย
แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. http://articles.mercola.com/sites/articles/archive/2013/06/23/vernikos-sitting-kills.aspx.
  2. Reddy S. The Price We Pay for Sitting Too Much. Wall Street Journal, Sep. 28, 2015.
  3. Hagger-Johnson G, Gow AJ, Burley V, Greenwood D, Cade JE. Sitting time, fidgeting, and all-cause mortality in the UK women’s cohort study. Am J Prev Med 2016;50(2):154–160.
  4. Coenen P, Willenberg L, Parry S, Shi JW, Romero L, Blackwood DM, et al. Associations of occupational standing with musculoskeletal symptoms: a systematic review with meta-analysis. Br J Sports Med. DOI: 10.1136/bjsports-2016-096795

บทความที่ถูกอ่านล่าสุด

รอบรู้เรื่องธาตุกัมมันตรังสี 2 วินาทีที่แล้ว
ยารักษาโรคกระดูกพรุน...เหตุใดจึงกินหลังตื่นตอนเช้าโดยกลืนยาทั้งเม็ดพร้อมน้ำเปล่า? 20 วินาทีที่แล้ว
ยาปฏิชีวนะ..ระวัง..อย่าใช้พร่ำเพรื่อ 22 วินาทีที่แล้ว
ยาเลื่อนประจำเดือน .. ที่นี่มีคำตอบ 23 วินาทีที่แล้ว
ปัสสาวะเปลี่ยนสีหลังกินยา 24 วินาทีที่แล้ว
ยาดมมีอันตรายหรือไม่ 27 วินาทีที่แล้ว
ยาทาสเตียรอยด์สำหรับโรคผิวหนัง 28 วินาทีที่แล้ว
“นิโคติน” สารทดแทนช่วยเลิกบุหรี่ 33 วินาทีที่แล้ว
รู้เท่าทันการใช้ฮอร์โมนทดแทนในหญิงวัยหมดประจำเดือน 34 วินาทีที่แล้ว
ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง...ใช้อย่างไร 37 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด

เกี่ยวกับคณะเภสัชศาสตร์

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
คณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์
Copyright © 2021 - 2024
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล