น้ำวีทกราส … น้ำคั้นจากต้นอ่อนข้าวสาลี
กนกพร อะทะวงษา สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล |
|
232,276 ครั้ง เมื่อ 3 ช.ม.ที่แล้ว | |
2012-12-22 |
ในช่วงหลายปีมานี้หลายท่านคงคุ้นหูกับน้ำวีทกราส (Wheat grass juice) เครื่องดื่มสีเขียวเข้ม มีขายทั้งแบบคั้นสด ผงสำเร็จรูปชงน้ำดื่ม และแบบสารสกัดบรรจุแคปซูล หรืออัดเม็ดให้เลือกรับประทาน ซึ่งเจ้าน้ำวีทกราสที่กล่าวถึงกันนี้ก็คือ น้ำคั้นจากต้นอ่อนข้าวสาลีนั่นเอง จากการวิเคราะห์ปริมาณสารอาหารในต้นอ่อนข้าวสาลีพบว่า ประกอบด้วยคลอโรฟิลล์ถึงร้อยละ 70 นอกจากนั้นยังพบวิตามินเอ ซีและอี แร่ธาตุต่างๆ เช่น เหล็ก แคลเซียม แมกนีเซียม และกรดอะมิโนกว่า 17 ชนิด1
เนื่องจากน้ำคั้นจากต้นอ่อนข้าวสาลี อุดมไปด้วยคลอโรฟิลล์ ซึ่งเป็นสารมีสูตรโครงสร้างใกล้เคียงกับฮีม (heme) สารที่ร่างกายนำไปใช้ในการสร้างฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง จนได้ชื่อว่าเป็น “เลือดสีเขียว (Green Blood)”1 มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์การเพิ่มจำนวนเม็ดเลือดแดงของต้นอ่อนข้าวสาลีในผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจาง พบว่าการรับประทานน้ำคั้นจากต้นอ่อนข้าวสาลี วันละ 30 - 100 มล. หรือรับประทานสารสกัดจากต้นอ่อนข้าวสาลี วันละ 1,000 มก. ติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือนถึง 1 ปี ช่วยเพิ่มปริมาณฮีโมโกลบินในเลือด ลดปริมาณการให้เม็ดเลือดแดงเข้มข้น (Pack red cells) และลดจำนวนครั้งในการถ่ายเลือด (blood transfusion) ได้อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในเด็กที่มีภาวะโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย2 ในผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียชนิดเบต้า (beta-thalassemia)3 และในผู้ป่วย myelodysplastic syndrome (ผู้ป่วยมีความผิดปกติของไขกระดูก ทำให้จำนวนเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ และอาจก่อให้เกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาว)4
นอกจากนี้น้ำคั้นจากต้นอ่อนข้าวสาลียังป้องกันการเกิดภาวะโลหิตจาง ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการได้รับเคมีบำบัดได้ดี โดยพบว่าในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่รับประทานน้ำคั้นจากต้นอ่อนข้าวสาลี วันละ 60 มล. ตลอดระยะเวลาการได้รับเคมีบำบัด ทั้ง 3 รอบ ช่วยป้องการเกิดภาวะโลหิตจาง (anemia) ได้ดี มีผลเพิ่มปริมาณฮีโมโกลบินในเลือดอย่างมีนัยสำคัญ โดยไม่มีผลต่อการตอบสนองการได้รับการรักษาจากเคมีบำบัดของผู้ป่วย5 และการศึกษาในผู้ป่วยในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งที่อวัยวะต่างๆ ที่ดื่มน้ำคั้นจากต้นอ่อนข้าวสาลีวันละ 30 มล. ติดต่อกัน 6 เดือน พบว่าช่วยเพิ่มปริมาณฮีโมโกลบิน เกล็ดเลือด และเพิ่มภูมิต้านทานได้ดี ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น6
การศึกษาฤทธิ์อื่นที่น่าสนใจ เช่น ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในอาสาสมัครที่ได้รับสารก่ออนุมูลอิสระ BPA (biphenol-A) ผ่านทางสิ่งแวดล้อม เมื่อให้ดื่มน้ำคั้นจากต้นอ่อนข้าวสาลี วันละ 100 มล. ติดต่อกัน 2 สัปดาห์ พบว่าปริมาณสาร BPA ในปัสสาวะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยแนวโน้มการลดลงของ BPA สัมพันธ์กับระยะเวลาที่ดื่มคั้นจากต้นอ่อนข้าวสาลี7 และเมื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพระหว่างต้นอ่อนข้าวสาลีกับสาหร่ายสไปรูริน่า ซึ่งเป็นสาหร่ายที่อุดมไปด้วยคลอโรฟิลล์จากธรรมชาติเช่นเดียวกัน พบว่าการรับประทานแคปซูลต้นอ่อนข้าวสาลี ขนาด 500 มก. วันละ 2 ครั้ง นาน 30 วัน เพิ่มความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ ปริมาณวิตามินซี การทำงานของเอนไซม์ superoxide dismutase และลดปริมาณ malondialdehyde ในเลือดของอาสาสมัครได้ดีกว่าการรับประทานสาหร่ายสไปรูริน่า เมื่อรับประทานในขนาดที่เท่ากัน8
นอกจากนี้ยังพบว่าน้ำคั้นจากต้นอ่อนข้าวสาลีช่วยบรรเทาอาการของโรคลำไส้อักเสบได้ดี เมื่อให้ผู้ป่วยรับประทานวันละ 100 มล. ติดต่อกัน 1 เดือน ช่วยบรรเทาอาการโดยรวมของโรคให้ดีขึ้น ลดการเคลื่อนไหวของลำไส้และความถี่ของการถ่ายเป็นเลือดอย่างมีนัยสำคัญ9
จะเห็นได้ว่าน้ำคั้นจากต้นอ่อนข้าวสาลีมีประโยชน์หลากหลาย ทั้งในแง่ของการเพิ่มปริมาณเม็ดเลือดแดงในผุ้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจาง ป้องกันการเกิดอันตรายจากอนุมูลอิสระ และรักษาอาการลำไส้อักเสบ โดยไม่พบความเป็นพิษหรืออาการข้างเคียงใดๆ ในขนาดรับประทานวันละ 30-100 มล. หรือแคปซูลขนาด 1,000 มก. ในช่วงระยะเวลา 2 สัปดาห์ - 1 ปี แต่อย่างไรก็ตามควรระมัดระวังการใช้ในเด็กอ่อน หรือสตรีมีครรภ์ เนื่องจากยังไม่มีรายงานด้านความปลอดภัย อีกทั้งน้ำคั้นต้นอ่อนข้าวสาลีจะมีกลิ่นเหม็นเขียวคล้ายหญ้า จึงอาจกระตุ้นให้เกิดการคลื่นไส้อาเจียนในผู้ที่ไม่ชอบกลิ่นดังกล่าวได้
อาหารหลากสี มีประโยชน์หลากหลาย (ตอนที่ 3): สารเคมีที่มีประโยชน์จากผักผลไม้ที่มีสีม่วงและสีน้ำเงิน 1 วินาทีที่แล้ว | |
ยาที่ไม่ควรกินร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 7 วินาทีที่แล้ว | |
ผลิตภัณฑ์สมุนไพรตอนที่ 1: สนุกกับการผลิตยาเม็ดสมุนไพร 7 วินาทีที่แล้ว | |
กัญชากับการรักษาโรค 11 วินาทีที่แล้ว | |
สเตียรอยด์ผสมยาฆ่าเชื้อ...ใช้ในกรณีใด 15 วินาทีที่แล้ว | |
คันและยาบรรเทาอาการคัน 26 วินาทีที่แล้ว | |
ป้องกันการแพ้ยารุนแรงด้วยการตรวจยีน 27 วินาทีที่แล้ว | |
กลูโคซามีนซัลเฟต (glucosamine sulphate) กับโรคข้อเสื่อม (osteoarthristis) 1 นาทีที่แล้ว | |
ผลไม่พึงประสงค์ของวัคซีนโควิด-19 และการเฝ้าระวัง 1 นาทีที่แล้ว | |
เผลอลืมให้ยาสัตว์เลี้ยงไป...ควรทำอย่างไรดี 1 นาทีที่แล้ว |
|
HTML5 Bootstrap Font Awesome