เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ว่านชักมดลูก


รองศาสตราจารย์ พร้อมจิต ศรลัมพ์ สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 312,044 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 08/04/2555
อ่านล่าสุด 8 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

ว่านชักมดลูก เป็นพืชที่มีลำต้นเป็นหัวอยู่ใต้ดิน อยู่ในวงศ์ขิง กลุ่มเดียวกับขมิ้นชัน การสุ่มซื้อว่านชักมดลูกในตลาดสมุนไพร พบว่าเป็นเหง้าที่มีลักษณะต่างกันอยู่ กลุ่มที่พบมากจะเรียกกันว่า ว่านชักมดลูกตัวเมีย (Curcuma comosa) และ ว่านชักมดลูกตัวผู้ (Curcuma latifolia

ว่านชักมดลูกตัวเมีย ขอเรียกสั้น ๆ ในบทความนี้ว่า ว่านตัวเมีย ลักษณะหัวกลมรีตามแนวตั้ง แขนงสั้น

 
ว่านชักมดลูกตัวผู้ (Curcuma latifolia) หรือว่านตัวผู้ มีลักษณะต่างไปเล็กน้อย คือหัวใต้ดินจะกลมแป้นกว่า แขนงข้างจะยาวกว่า แต่บางครั้งแขนงข้างถูกตัดออกไป หรือหักไป ทำให้จำแนกไม่ชัดเจนนัก ผู้ไม่คุ้นเคยอาจจำแนกไม่ได้ และมักมีปัญหาในการซื้อขาย 
 
หากผ่าดูเนื้อในเปรียบเทียบกัน ว่านตัวเมีย จะมีสีขาวนวล วงในมีสีชมพูเรื่อ ๆ ทิ้งไว้สีชมพูจะเข้มขึ้น ส่วนเนื้อในว่านตัวผู้มีสีคล้ายกัน แต่วงในออกสีเขียวแกมเทาอ่อน ๆ ทิ้งไว้จะออกสีชมพูเข้มขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน แต่หากผู้ซื้อไม่มีตัวอย่างเทียบเคียงจะจำแนกยาก 
จากการสำรวจและตรวจสอบพันธุกรรมดีเอ็นเอ ระบุว่าว่านชักมดลูกมีความหลากหลายของชนิดพันธุ์มากกว่า 2 ชนิด แต่ที่มีการวิจัยตรวจสอบคุณภาพชัดเจน มีเพียงสองชนิดข้างต้น 

อนึ่ง พบว่าพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินโดนีเซีย ไม่พบปลูกในประเทศไทย และมีลักษณะคล้ายว่านชักมดลูกของไทย รวมทั้งมีสรรพคุณคล้ายกัน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Curcuma xanthorrhiza มีการวิจัยในต่างประเทศค่อนข้างมาก ทำให้มีผู้เข้าใจผิดว่าเป็นผลวิจัยของว่านชักมดลูกของเรา พบว่ามีสารสำคัญคนละกลุ่มกัน ส่วนว่านชักมดลูกของเรามีการวิจัยอย่างเป็นระบบในสัตว์ทดลองโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวไทยล้วน 

สรรพคุณตามตำรายาไทย ใช้เหง้าว่านชักมดลูกรักษาอาการของสตรี เช่นประจำเดือนมาไม่ปกติ ปวดท้องระหว่างมีประจำเดือน ตกขาว ขับน้ำคาวปลา แก้ธาตุพิการอาหารไม่ย่อย ริดสีดวงทวาร และไส้เลื่อน 

จากสรรพคุณดังกล่าว นักวิจัยตีความว่า ว่านชักมดลูกน่าจะมีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศหญิงคือเอสโตรเจน จึงนำมาสู่งานวิจัยเพื่อพิสูจน์ ในการทดลองฤทธิ์คล้ายเอสโตรเจน สัตว์ทดลองใช้หนูแรตตัวเมียที่ตัดรังไข่ออกไป โดยมีกลุ่ม 1 หนูปกติ กลุ่ม 2 หนูตัดรังไข่ กลุ่ม 3 หนูตัดรังไข่ได้รับเอสโตรเจน กลุ่ม 4 หนูตัดรังไข่ได้รับว่านตัวเมีย และกลุ่ม 5 หนูตัดรังไข่ได้รับว่านตัวผู้ พบว่าว่านตัวเมียแสดงฤทธิ์ดังกล่าวจริง โดยทำให้มดลูกหนูทดลองโตใกล้เคียงกับกลุ่ม 1 และ 3 สารออกฤทธิ์เป็นกลุ่มไดแอริลเฮปตานอยด์ ซึ่งมีโครงสร้างไม่หมือนเอสโตรเจน เราเรียกสารสำคัญของว่านตัวเมีย ว่าเป็นกลุ่มไฟโตเอสโตรเจน แปลว่าเป็นสารที่ได้จากพืชในธรรมชาติที่ออกฤทธิ์คล้ายเอสโตรเจนนั่นเอง ส่วนกลุ่ม 2 และ 5 มดลูกหนูทดลองเล็กลงอย่างชัดเจน แสดงว่าว่านตัวผู้ไม่มีฤทธิ์ดังกล่าวเลย จึงไม่นำมาทดลองต่อไป ดังนั้นการเลือกวัตถุดิบว่านชักมดลูกที่ถูกต้องเพื่อใช้ทำยาแผนไทยจึงมีความสำคัญต่อสรรพคุณที่ต้องการ 

วงการแพทย์ยอมรับว่า สารกลุ่มไฟโตเอสโตรเจนมีศักยภาพสำหรับรักษาสุขภาพของสตรีวัยทอง การลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนในสตรีวัยทอง ทำให้เกิดอาการร้อนวูบวามและแสบร้อนผิวหนัง หงุดหงิด ไขมันในเลือดสูง ผนังหลอดเลือดขาดความยืดหยุ่น และที่สำคัญคือกระดูกพรุน ไฟโตเอสโตรเจนมีฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่นและต้านการอักเสบ ซึ่งเป็นสาเหตุของความเสื่อมและความผิดปกติของเซลล์ในร่างกาย และพัฒนาเป็นโรคเรื้อรัง รวมทั้งโรคมะเร็งของอวัยวะต่าง ๆ 

จากผลการวิจัยในสัตว์ทดลองและหลอดทดลองของนักวิจัยไทยพิสูจน์ว่า ว่านตัวเมียและสารกลุ่มไดแอริลเฮปตานอยด์ มีฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่นเทียบเท่าไวตามินซี มีฤทธิ์ต้านการอักเสบซึ่งเป็นผลดีกับโรคในระบบประสาท นอกจากนั้นยังช่วยรักษาและซ่อมแซมระบบหลอดเลือดและหัวใจด้วย 

พบสารชื่อโฟราซิโตฟีโนนในว่านชักมดลูกที่แสดงฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งน้ำดี และเสริมให้มีการหลั่งกรดน้ำดีมากขึ้น จึงลดการเกิดนิ่วในถุงน้ำดี สำหรับความเป็นพิษ มีการทดลองพิษเฉียบพลันและกึ่งเฉียบพลันในสัตว์ทดลอง พบว่าสารประกอบข้างต้นมีความเป็นพิษต่ำ น่าจะปลอดภัยถ้าจะพัฒนาเป็นยา 

สารสกัดด้วยเอทิลอะซิเตทช่วยให้การลำเลียงไขมันออกจากเนื้อเยื่อต่างๆ เข้าไปในตับและเสริมให้เกิดการขับโคเลสเตดรอลและกรดน้ำดีสู่ทางเดินอาหารและออกจากร่างกายพร้อมอุจจาระ ว่านชักมดลูกทำให้หลอดเลือดแข็งแรงขึ้นโดยต้านออกซิเดชั่นที่เกิดขึ้นที่ผนังหลอดเลือดแดง การทดลองในหนูที่ตัดรังไข่เลียนแบบสตรีวัยทอง และให้กินผงว่านชักมดลูก และ สารสกัดด้วยเฮกเซน พบว่าสามารถป้องกันอาการเยื่อบุผนังหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจขาดความยืดหยุ่น ทั้งยังแสดงฤทธิ์ต้านการอักเสบด้วย 

พบทั้งฤทธิ์ป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุนที่ทดลองในหนูที่ถูกตัดรังไข่ และกินสารสกัดว่านตัวเมียติดต่อกัน 5 สัปดาห์ พบว่าสามารถป้องกันการสูญเสียแคลเซียม รัษาระดับความหนาแน่นของมวลกระดูกได้เช่นเดียวกับกลุ่มหนูที่กินเอสโตรเจน และดีกว่าเอสโตรเจนตรงที่ทำให้ขนาดมดลูกของหนูทดลองโตขึ้นน้อยกว่า 

มีข้อมูลว่าสมุนไพรหลายชนิดทำให้ตับอักเสบ จึงนำว่านตัวเมียมาทดสอบในประเด็นนี้ พบว่าว่านตัวเมียแสดงฤทธิ์ปกป้องเซลล์ตับจากสารพิษคาร์บอนเตตร้าคลอไรด์ได้โดยกระตุ้นกลไกการล้างพิษและลดการสร้างสารเคมีที่เป็นพิษในร่างกาย 
เมื่อให้หนูขาวกินสารสกัดแอลกอฮอล์ของว่านตัวเมียล่วงหน้า 4 วัน ก่อนฉีดสารทำลายไตชื่อ ซิสพลาติน หลังจากนั้น 5 วัน ฆ่าหนูเก็บเลือดไปตรวจหาระดับ BUN และพลาสมาเครอาทินิน พร้อมกับตรวจสภาพเซลล์ไตในกล้องจุลทรรศน์ และตรวจหาระดับเอนซามย์ที่แสดงถึงการทำลายเซลล์ไตพบว่า สารสกัดว่านตัวเมียทำให้ระดับของค่าต่าง ๆ ที่ระบุข้างต้นลดลงเป็นปกติเมื่อเปรียบเทียบกับหนูขาวกลุ่มควบคุมที่ถูกฉีดสารพิษเท่านั้น สารออกฤทธิ์เป็นสารกลุ่มไดแอริลเฮปตานอยด์ ผ่านกลไกต้านออกซิเดชั่น เฉพาะการวิจัยฤทธิ์ปกป้องตับและไตเท่านั้น ที่ทำการทดลองในหนูตัวผู้ 

จอประสาทตาเสื่อมเป็นโรคของคนวัยทอง พบในผู้สูงอายุ (50 ขึ้นไป) ทำให้สูญเสียการมองเห็น สารต้านอนุมูลอิสระเป็นกระบวนการธรรมชาติที่จะป้องกันเซลล์เรตินาของตาจากการถูกทำลายโดยสภาพเครียดจากอนุมูลอิสระ และถ้าอยู่ในสภาพนี้ต่อเนื่อง จะเกิดความเสียหายต่อสารสีในเซลล์เรตินา ทำให้จอประสาทตาเสื่อม ในหลอดทดลอง สารกลุ่มไดแอริลเฮปตานอยด์ชนิดหนึ่งที่แยกได้จากว่านตัวเมียป้องกันเซลล์เรตินาจากความเสียหายดังกล่าวได้ด้วยกระบวน การต้านออกซิเดชั่น 

สำหรับโรคสมองเสื่อม ทดสอบการเรียนรู้และความจำของหนูวิสต้าที่ตัดรังไข่ เปรียบเทียบผลของสารสกัดเฮกเซนของว่านตัวเมียกับเอสโตรเจน ทดสอบทุกระยะเวลา 30 วัน สรุปผลว่า เมื่อทดสอบถึงวันที่ 67 หนูที่ตัดรังไข่ความจำเสื่อมลงอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเทียบกับหนูปกติ กลุ่มที่กินสารสกัดว่านตัวเมียและกลุ่มที่ฉีด estrogen ยังมีความจำดีใกล้เคียงกัน สารสกัดในขนาดสูงประสิทธิผลยิ่งดีขึ้น 

สารประกอบจากว่านตัวเมียฆ่าเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว (P388 leukemic cell) โดยการทำลายดีเอ็นเของเซลล์มะเร็ง 
ว่านชักมดลูกตัวเมียเป็นสมุนไพรไทยที่มีศักยภาพสูงที่จะผลิตเป็นยาสำหรับสตรีวัยทอง เพราะสามารถป้องกันและรักษาครอบคลุมอาการที่สำคัญได้หมด ที่น่าสนใจคือผงว่านตัวเมียแสดงผลการทดลองดีพอ ๆ กับสารสกัด ทำให้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ได้ง่ายและไม่ต้องลงทุนมากอย่างไรก็ตามเป็นการทดลองในสัตว์ทดลอง ซึ่งเป็นกระบวนการเบื้องต้น จากนี้ควรมีการทดสอบความเป็นพิษระยะยาว จัดทำแนวทางตรวจสอบคุณภาพให้ชัดเจนและแม่นยำ พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดีและทดสอบในมนุษย์ ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการ ในเร็ววันนี้ น่าจะมีผลิตภัณฑ์ว่านชักมดลูกตัวเมียสำหรับสตรีวัยทอง ที่สำเร็จด้วยฝีมือนักวิทยาศาสตร์ชาวไทย

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ว่านชักมดลูก 1 วินาทีที่แล้ว
2 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้