เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ดนตรีและการพัฒนาสมอง


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ยิ่งรัก (บุญดำ) ช่วยบุญ

ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: https://www.freepik.com/free-photo/littl...&track=ais
อ่านแล้ว 12,820 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 12/07/2566
อ่านล่าสุด 1 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

ดนตรีเป็นศาสตร์และศิลป์อย่างหนึ่งที่ใช้เสียงในการถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกไปยังผู้ฟัง โดยเสียงที่เกิดขึ้นนั้นอาจมาจากเสียงที่เราเปล่งออกมาให้เกิดเป็นท่วงทำนองเพลงหรือเกิดจากเครื่องบรรเลงที่ทำให้เกิดเสียงสูงต่ำประกอบกันเป็นเสียงเพลง การเล่นดนตรีนอกจากจะทำให้ร่างกายและจิตใจของเรารู้สึกผ่อนคลายแล้วนั้น ยังส่งผลต่อการทำงานของสมองในทุกช่วงวัยอีกด้วย 

ในขณะที่เราเล่นดนตรีนั้นจะต้องอาศัยการทำงานของสมองหลายส่วน ทั้งส่วนที่ควบคุมการได้ยิน การมองเห็น การเคลื่อนไหว และสมองที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการคิดขั้นสูง ยกตัวอย่างเช่น การเล่นเปียโนในวงดนตรี ผู้เล่นต้องทำการเคลื่อนไหวนิ้วมือทั้งสองข้างลงบนแป้นเปียโนให้ประสานสัมพันธ์กันตามโน้ตเพลง รวมถึงต้องถ่ายทอดอารมณ์ไปยังผู้เล่นดนตรีอื่นและผู้ฟัง ซึ่งการแสดงออกดังกล่าวจะส่งผลต่อการทำงานของสมอง ดังนี้

1. การเล่นดนตรีช่วยให้สมองเกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างตลอดเวลา (neuroplasticity)

ดังคำกล่าวของ Hebbian ที่ว่า “neuron that fire together, wire together – เซลล์ประสาทที่ทำงานร่วมกัน จะมีความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้นไปด้วยกัน” ซึ่งในการฝึกฝนเล่นดนตรีซ้ำ ๆ เป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งของการเชื่อมต่อวงจรประสาทในสมองอย่างหนึ่ง โดยเราต้องอาศัยการทำงานของสมองหลายส่วน ได้แก่

  • การอ่านโน้ตเพลงและตีความตัวโน้ตอาศัยการทำงานของสมองส่วนท้ายทอย (occipital lobe)
  • การฟังและวิเคราะห์เสียงอาศัยการทำงานของสมองส่วนขมับ (temporal lobe)
  • การเคลื่อนไหวนิ้วมือและวางแผนการเคลื่อนไหวอาศัยการทำงานของสมองส่วนหน้า (frontal lobe)
  • การรวบรวมข้อมูลประสาทสัมผัสทั้งหมดที่เข้ามาอาศัยการทำงานของสมองส่วนกลีบข้างกระหม่อม (parietal lobe)
  • การวางแผนการเคลื่อนไหวและเรียนรู้การเคลื่อนไหวอาศัยการทำงานของสมองส่วนเบซัล แกงเกลีย (basal ganglia) ทำให้เราสามารถเคลื่อนไหวมือได้อย่างอัตโนมัติ
  • การเคลื่อนไหวมือทั้ง 2 ข้างให้ประสานสัมพันธ์กันและเรียนรู้การเคลื่อนไหว อาศัยการทำงานของสมองส่วนซีรีเบลลัม (cerebellum)

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าการเล่นดนตรีส่งผลให้ให้สมองเกิด neuroplasticity ในทุกส่วน

2. การเล่นดนตรีช่วยเพิ่มความสามารถในการรู้คิด (cognitive ability) 

ในการเล่นดนตรีนั้นเราจะต้องจดจำตัวโน้ต มีใจจดจ่อกับดนตรีที่เรากำลังเล่น และมีการสื่ออารมณ์ของเพลงออกไปอย่างเหมาะสม การแสดงออกดังกล่าวเป็นเพิ่มความสามารถของสมองส่วนหน้าสุด (prefrontal cortex) ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความจำขณะทำงาน การจดจ่อกับสิ่งที่กำลังกระทำ การยับยั้งกิจกรรมที่ไม่เหมาะสม การคิดเชิงตรรกะ การแก้ปัญหาและวิเคราะห์โครงสร้างเพลง เพิ่มความสามารถของสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (hippocampus) ในการสร้างความจำระยะยาว ทำให้เราจดจำโน้ตเพลงได้ และเพิ่มความสามารถของสมองส่วนลิมบิค (limbic system) ในการถ่ายทอดอารมณ์ให้เหมาะกับเพลงที่เรากำลังเล่นอยู่ในขณะนั้น จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ส่งผลให้งานวิจัยพบว่านักดนตรีจะมีความสามารถของทักษะการรู้คิดที่ดีกว่าคนทั่วไป และในเด็กที่มีการฝึกฝนดนตรีนั้นจะมีความสามารถด้านภาษา และคณิตศาสตร์ที่ดีกว่าเด็กทั่วไป

3. การเล่นดนตรีช่วยพัฒนาทักษะการบริหารจัดการของสมอง (executive function; EF) 

ผลการวิจัยพบว่าเด็กที่เล่นดนตรีนั้นจะมีทักษะด้าน EF ที่ดีกว่าเด็กทั่วไป โดยทักษะ EF นั้นเป็นความสามารถของสมองส่วนหน้าสุดที่ใช้ในการบริหารจัดการชีวิต ครอบคลุมถึงการวางแผน ควบคุมอารมณ์และความรู้สึก การแก้ปัญหา ความจำขณะทำงาน และความยืดหยุ่นทางความคิด จากการศึกษาดังกล่าวสามารถสรุปได้ว่า การเล่นดนตรีช่วยในการพัฒนาทักษะ EF ในช่วงต้นของการเจริญเติบโต เนื่องจากขณะที่เราเล่นดนตรีนั้น สมองส่วนหน้าสุดจะต้องทำงานเพื่อใช้ในการจดจำตัวโน้ตที่กำลังเล่นรวมถึงเนื้อเพลงที่เพิ่งเล่นจบไปก่อนหน้า และในช่วงฝึกฝนการเล่นเพลงต่าง ๆ นั้น สมองส่วนหน้าสุดต้องทำงานเพื่อช่วยวิเคราะห์โครงสร้างของเพลง วางแผนการเล่น รวมถึงแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นขณะเล่นดนตรี

ซึ่งนอกจากประโยชน์ต่อสมองทั้ง 3 ข้อข้างต้นแล้วนั้น การเล่นดนตรียังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะความจำเสื่อม เพิ่มทักษะการเคลื่อนไหวละเอียด (การเคลื่อนไหวของนิ้วมือ) ในผู้ใหญ่ ผู้สูงวัย รวมถึงผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง เพิ่มความสามารถด้านการฟังในผู้สูงวัย ส่งผลให้ผู้สูงวัยฟังเสียงและแยกแยะเสียงได้ชัดเจนมากขึ้น และเพิ่มความสามารถในการจดจ่อของผู้สูงวัยได้ดี กล่าวโดยสรุปก็คือ การเล่นดนตรีนั้นก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสมองในทุกช่วงวัย และยังช่วยส่งเสริมการสูงวัยอย่างมีคุณภาพได้อีกด้วย 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Hyde KL, Lerch J, Norton A, Forgeard M, Winner E, Evans AC, et al. Musical training shapes structural brain development. J Neurosci. 2009;29(10):3019-25.
  2. Miendlarzewska EA, Trost WJ. How musical training affects cognitive development: rhythm, reward and other modulating variables. Front Neurosci. 2013;7:279.
  3. Olszewska AM, Gaca M, Herman AM, Jednoróg K, Marchewka A. How Musical Training Shapes the Adult Brain: Predispositions and Neuroplasticity. Front Neurosci. 2021;15:630829.
  4. Rodriguez-Gomez DA, Talero-Gutiérrez C. Effects of music training in executive function performance in children: A systematic review. Front Psychol. 2022;13.
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


1 วินาทีที่แล้ว
1 นาทีที่แล้ว
1 นาทีที่แล้ว
ยาคุมกำเนิดชนิดฉีด 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้