เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ฝากไข่ : ข้อควรรู้ของผู้หญิงยุคใหม่


ภญ. กชรัตน์ ชีวพฤกษ์ 

ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 2,276 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 04/07/2567
อ่านล่าสุด 1 วันที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

การฝากไข่หรือการแช่แข็งไข่ (Egg freezing or Oocyte Cryopreservation) คืออะไร

การฝากไข่หรือการแช่แข็งไข่ คือ กระบวนการนำเซลล์ไข่ที่สมบูรณ์ของผู้หญิงออกมาเก็บรักษานอกร่างกายที่อุณหภูมิเย็นจัด (ต่ำกว่า -196 องศาเซลเซียส) เพื่อคงสภาพเซลล์ไข่ไว้สำหรับการวางแผนมีบุตรในอนาคต โดยปกติการฝากไข่สามารถทำได้ทุกช่วงอายุ แต่เนื่องจากคุณภาพและจำนวนเซลล์ไข่ของผู้หญิงจะลดลงตามอายุที่มากขึ้น ดังนั้นช่วงอายุที่แนะนำให้ฝากไข่คือ 25-35 ปี เพราะเป็นช่วงอายุที่ยังสามารถผลิตจำนวนไข่ที่มีคุณภาพสูงได้ ทั้งนี้ยังขึ้นกับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคลอีกด้วย จำนวนไข่ที่แนะนำให้แช่แข็งโดยเฉลี่ย คือ 15-20 ใบ

การฝากไข่เหมาะกับใคร 

  • ผู้ที่วางแผนมีบุตรในอนาคตหรือวางแผนมีบุตรหลังอายุ 35 ปี 
  • ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของรังไข่ เช่น ถุงน้ำรังไข่ เนื้องอกรังไข่  
  • ผู้ที่มีความเสี่ยงหมดประจำเดือนเร็ว
  • ผู้ป่วยโรคที่ทำให้ระบบสืบพันธุ์เสื่อม เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเองหรือเอสแอลอี
  • ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาที่มีผลต่อเซลล์สืบพันธุ์ เช่น การฉายรังสี ยาเคมีบำบัด

ขั้นตอนของการฝากไข่มีอะไรบ้าง

1. การตรวจร่างกายเพื่อเตรียมความพร้อม 

โดยปกติจำเป็นต้องตรวจเลือดเพื่อดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ระดับฮอร์โมนที่บ่งบอกการทำงานของรังไข่ เช่น Estradiol (E2), Luteinizing Hormone (LH), Follicle Stimulating Hormone (FSH) และฮอร์โมนที่บ่งบอกปริมาณสำรองของไข่ที่เหลืออยู่ในรังไข่ (Anti-Mullerian Hormones; AMH) ตรวจหาโรคติดเชื้อ เช่น โรคไวรัสตับอักเสบบีและซี ซิฟิลิส โรคเอดส์ ตรวจหาโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของพันธุกรรม เช่น ธาลัสซีเมีย  และตรวจอัลตราซาวด์รังไข่

2. การกระตุ้นรังไข่

หลังจากที่ตรวจร่างกายเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะวางแผนกระตุ้นรังไข่โดย ใช้ยาดังต่อไปนี้

  1. ยาสำหรับกระตุ้นให้ไข่เจริญเติบโตหลายๆ ใบพร้อมกัน ยาสำหรับกระตุ้นไข่ที่ใช้ คือ ฮอร์โมน Gonadotropins ซึ่งอาจจะเป็น FSH เดี่ยวๆ หรือยาที่เป็นสูตรผสมระหว่าง FSH และ LH ซึ่งปริมาณและตัวยาที่จะได้รับแพทย์จะพิจารณาจากอายุและผลฮอร์โมนของคนไข้แต่ละราย โดยจะเริ่มให้ยานี้ในวันที่ 2 หรือ 3 ของการมีประจำเดือน
  2. ยาสำหรับป้องกันไข่ตก ในระหว่างที่ให้ยาสำหรับกระตุ้นไข่ แพทย์จะคอยติดตามขนาดของไข่ และเมื่อกระตุ้นไข่ไปแล้วประมาณ 5 วัน แพทย์จะยาในกลุ่ม GnRH antagonist ร่วมด้วยเพื่อป้องกันไม่ให้ไข่ตกก่อนที่จะถึงวันเก็บไข่ 
  3. ยาสำหรับกระตุ้นให้ไข่ตกพร้อมสำหรับการเก็บ เมื่อไข่ทั้งหมดโตได้ขนาดที่เหมาะสมตามต้องการ แพทย์จะให้ยากระตุ้นเพื่อให้ไข่ตกพร้อมสำหรับการเก็บ โดยจะต้องฉีด 1 ครั้งก่อนกำหนดเวลาที่จะเก็บไข่ 35-36 ชั่วโมง ตัวอย่างยาที่นิยมใช้ คือ human chorionic gonadotropin และ Triptorelin โดยสรุประยะเวลาตั้งแต่เริ่มฉีดยากระตุ้นไข่เข็มแรกไปจนถึงขั้นตอนการเก็บไข่เพื่อนำไปแช่แข็งจะใช้เวลาประมาณ 12-14 วัน 
  4. การเก็บไข่ แพทย์จะอัลตราซาวด์รังไข่เพื่อตรวจดูความพร้อมและตำแหน่งที่ไข่จะตก จากนั้นจะดูดเก็บไข่โดยใช้เข็มขนาดเล็กสอดเข้าไปทางช่องคลอดและดูดไข่ออกมาจากรังไข่ ซึ่งในขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณ 20 -30 นาที ตลอดกระบวนการนี้แพทย์จะให้ยาสลบแก่คนไข้ ดังนั้นคนไข้จะไม่รู้สึกถึงความเจ็บปวดในระหว่างการเก็บไข่ และหลังจากเก็บไข่เสร็จคนไข้ควรนอนพักเพื่อสังเกตอาการต่ออีก 1-2 ชั่วโมง
  5. การแช่แข็งและเก็บรักษาไข่ หลังจากเก็บไข่เรียบร้อยแล้ว ไข่จะถูกแช่แข็งด้วยเทคนิคการแช่แข็งแบบผลึกแก้ว (Vitrification)  ซึ่งเป็นกระบวนการลดอุณหภูมิอย่างรวดเร็ว จากนั้นจึงย้ายไปเก็บรักษาในไนโตรเจนเหลวอุณหภูมิ   -196 องศาเซลเซียส โดยไข่ยังคงคุณภาพเหมือนเดิม

ยาที่ควรระวังหรือหลีกเลี่ยงในระหว่างขั้นตอนการกระตุ้นไข่

ในระหว่างขั้นตอนของการกระตุ้นไข่คนไข้จะได้ยาในกลุ่ม Gonadotropins และ GnRH antagonist เพื่อรักษาระดับฮอร์โมน FSH และ LH ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของไข่ให้พร้อมสำหรับการเก็บ ดังนั้นจึงควรระวังหรือหลีกเลี่ยงยาบางประเภทที่มีผลต่อระดับของฮอร์โมนทั้งสองชนิดนี้ ดังนี้ 

  1. ยาในกลุ่ม corticosteroids เช่น prednisolone และ dexamethasone ที่มักจะใช้ในการควบคุมการตอบสนองรังไข่ แต่การใช้ยาในกลุ่มนี้ในปริมาณมากหรือเป็นระยะเวลานานอาจทำให้ระดับฮอร์โมน FSH และ LH ลดลง ส่งผลกระทบต่อกระบวนการฝากไข่ได้
  2. ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) และ/หรือโปรเจสเตอโรน (progesterone) เนื่องจากระดับเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ระดับและการทำงานของฮอร์โมน FSH และ LH ลดลง
  3. ยาในกลุ่ม antipsychotics เช่น risperidone และ haloperidol ยาในกลุ่มนี้สามารถส่งผลให้ระดับโปรแลคติน (prolactin) ในเลือดเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ต่อมใต้สมองหลั่งฮอร์โมน FSH และ LH ลดลง ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของไข่ได้
  4. ยาในกลุ่ม dopamine agonists เช่น bromocriptine และ cabergoline ยาในกลุ่มนี้สามารถส่งผลให้ระดับโปรแลคติน (prolactin) ในเลือดเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ต่อมใต้สมองหลั่งฮอร์โมน FSH และ LH ลดลง ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของไข่ได้

ดังนั้นหากคนไข้มีความจำเป็นที่จะต้องรับประทานยาใดๆ ในระหว่างกระบวนการการฝากไข่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อประเมินความเหมาะสมและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และหากมีความจำเป็นต้องใช้ยา ควรใช้ในปริมาณและระยะเวลาที่แพทย์แนะนำเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้

การฝากไข่มีความเสี่ยงหรือไม่

การใช้ฮอร์โมนระหว่างการกระตุ้นไข่ อาจทำให้เกิดภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นเกิน (Ovarian hyperstimulation syndrome : OHSS) ผลที่ตามมาทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น ท้องอืด ปวดท้อง คลื่นไส้ ปวดศีรษะ เป็นต้น และในขั้นตอนการเก็บไข่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ดูดไข่ออกมาอาจทำให้เกิดเลือดออก ส่งผลให้มีอาการปวดท้องน้อยประมาณ 1-2 วัน หรือมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อในช่องท้องได้

Image by prostooleh on Freepik

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Han E, Seifer DB. Oocyte Cryopreservation for Medical and Planned Indications: A Practical Guide and Overview. J Clin Med. 2023 May 18;12(10):3542. doi: 10.3390/jcm12103542. PMID: 37240648; PMCID: PMC10218997.
  2. Pai HD, Baid R, Palshetkar NP, Pai A, Pai RD, Palshetkar R. Oocyte Cryopreservation - Current Scenario and Future Perspectives: A Narrative Review. J Hum Reprod Sci. 2021 Oct-Dec;14(4):340-349. doi: 10.4103/jhrs.jhrs_173_21. Epub 2021 Dec 31. PMID: 35197678; PMCID: PMC8812387.
  3. Racca A, Drakopoulos P, Neves AR, Polyzos NP. Current Therapeutic Options for Controlled Ovarian Stimulation in Assisted Reproductive Technology. Drugs. 2020;80(10):973-994. doi:10.1007/s40265-020-01324-w
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


1 วินาทีที่แล้ว
สารบ่งชี้มะเร็ง (tumor markers) 6 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้