Eng |
อ.ดร.ชัยวัฑฒน์ อ่อนศรี ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
วัฒนธรรม และค่านิยมของสังคมไทยที่เป็นสังคมวิถีพุทธ นิยมเข้าวัดทำบุญ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีการจุดธูปเพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย แต่ทราบหรือไม่ว่าควันที่เกิดขึ้นจากการจุดธูป รวมถึงควันที่เกิดจากการจุดเครื่องหอมต่างๆ นั้นมีอันตรายแอบแฝงอยู่ไม่น้อยไปกว่าอันตรายจากควันที่เกิดจากการสูบบุหรี่ โดยเฉพาะกับกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ โรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด และโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบมากกว่าประชากรกลุ่มอื่น และกลุ่มคนที่ทำงานในวัด หรือศาลเจ้าที่มีการจุดธูปอยู่ตลอด เป็นอีกหนึ่งกลุ่มเสี่ยงที่พบระดับของสารเคมีอันตรายในร่างกายสูงกว่าคนทั่วไป ซึ่งอาจเป็นความเสี่ยงในการก่อโรคต่างๆ เช่น โรคทางระบบทางเดินหายใจ และโรคมะเร็งได้ต่อไป
ในธูปจะประกอบด้วย ผงไม้หอมบดละเอียด, น้ำมันหอมระเหย, สารยึดเกาะ และไม้ไผ่สำหรับด้ามจับ ดังนั้นเมื่อธูปถูกจุด จะก่อให้เกิดการเผาไหม้ และเกิดควันขึ้น องค์ประกอบที่พบมากในควันธูปจึงมักเป็นฝุ่นละอองทั้งขนาดเล็กและใหญ่ซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.5 – 10 ไมโครเมตร จากรายงานวิจัยพบว่าการเผาไหม้ธูป 1 กรัม จะก่อให้เกิดฝุ่นปริมาณมากกว่า 45 มิลลิกรัม ในขณะที่การเผาไหม้บุหรี่ในปริมาณเท่ากันจะก่อให้เกิดฝุ่นขึ้นเพียง 10 มิลลิกรัม ซึ่งฝุ่นละอองเหล่านี้จะก่อให้เกิดการระคายเคืองตา และระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งอาจก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้ได้ นอกจากนี้ฝุ่นละอองยังสามารถเป็นตัวดูดซับสารอินทรีย์ระเหยง่ายไว้บนพื้นผิว และนำสารเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายผ่านการสัมผัส หรือการหายใจได้อีกด้วย แก๊สพิษ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และแก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ก็เป็นผลิตภัณฑ์อีกชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการเผาไหม้ ที่อาจรบกวนระบบทางเดินหายใจ ส่งผลให้หายใจไม่สะดวก เวียนศีรษะ หากได้รับต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจส่งผลให้หมดสติได้ เนื่องจากขัดขวางกระบวนการขนส่งออกซิเจนในร่างกาย และยังมีสารอินทรีย์อันตรายอีก 3 ชนิดที่พบมากในควันธูปคือ เบนซีน (benzene), 1,3-บิวทาไดอีน (1,3-butadiene) และสารประกอบพอลีอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน เช่น เบนโซเอไพรีน (benzo[a]pyrene) สารเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสารเคมีอันตราย ที่มีส่วนก่อให้เกิดมะเร็งได้หลายชนิด เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเม็ดเลือด และมะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่าการสูดดมควันธูปต่อเนื่องกันเป็นเวลานานหลายปี อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้ความสามารถในการรับรู้ และจดจำในผู้สูงอายุด้อยลง รวมถึงการทำงานเชื่อมโยงกันภายในสมองมีประสิทธิภาพแย่ลงอีกด้วย
ดังนั้นการลดการจุดธูปในพื้นที่ปิด หรือเปิดให้พื้นที่ดังกล่าวมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก รวมถึงหมั่นทำความสะอาดบริเวณที่มีการจุดธูปเพื่อลดการสะสมของฝุ่นละอองที่เกิดขึ้น และลดขนาดของธูปที่ใช้งาน ก็จะมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของการก่อโรค และมีสุขภาพที่ดีได้ สำหรับผู้ที่แพ้ควันธูป และผู้ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการสูดดมควันธูปได้ เช่น ผู้ปฏิบัติงานในวัด หรือศาลเจ้า ควรสวมหน้ากากอนามัย เช่น หน้ากาก N95, หน้ากาก FFP1 หรือ หน้ากาก KN95 ตลอดเวลาเพื่อลดความเสี่ยงที่จะสูดดมควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าสู่ร่างกาย หรือหากสามารถเลี่ยงการจุดธูป เปลี่ยนเป็นการกราบไหว้เพื่อสักการบูชาก็จะเป็นการป้องกันความเสี่ยงได้อีกทางหนึ่ง