เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


การใช้ยาในหญิงมีครรภ์ : ข้อแนะนำเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายต่อทารกในครรภ์


รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์
หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://americanpregnancy.org/wp-content/uploads/2013/06/enmedication-and-pregnancyesmedicamentos-y-el-embarazo.jpg
อ่านแล้ว 161,959 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 26/07/2565
อ่านล่าสุด 20 นาทีที่แล้ว
https://tinyurl.com/26clacwy
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ https://tinyurl.com/26clacwy
 


มียาหลายอย่างที่ผ่านรกได้ บางอย่างอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ อันตรายอาจเกิดเพียงเล็กน้อยหรือเกิดรุนแรงจนปรากฏความพิการชัดเจนหลังคลอด ด้วยเหตุนี้การใช้ยาในหญิงมีครรภ์ต้องระมัดระวังอย่างมากตลอดช่วงที่ตั้งครรภ์ การที่ทารกในครรภ์มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องผลกระทบจากยาที่เป็นอันตรายต่อทารกจึงเกิดได้แตกต่างกันตามอายุครรภ์ ในบทความนี้ให้ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับพัฒนาการของทารกในครรภ์ตลอดช่วงอายุครรภ์, ความเสี่ยงต่ออันตรายของทารกที่ช่วงอายุครรภ์ต่าง ๆ, การศึกษาข้อมูลความเสี่ยงของยาต่อทารกในครรภ์จากเอกสารที่เป็นข้อมูลผลิตภัณฑ์ยา, ตัวอย่างยาที่หญิงมีครรภ์สามารถใช้ได้ ควรหลีกเลี่ยง หรือห้ามใช้ และข้อแนะนำเกี่ยวกับการใช้ยาในหญิงมีครรภ์เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายต่อทารกในครรภ์

พัฒนาการของทารกในครรภ์

ภายหลังการปฏิสนธิ (การปฏิสนธิ หมายถึงการที่ตัวอสุจิผสมกับไข่ซึ่งเป็นการเริ่มต้นของการตั้งครรภ์) ไข่ที่ผสมแล้วจะมีการแบ่งตัวเจริญขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมทั้งเคลื่อนตัวสู่ภายในมดลูกในช่วงเวลาที่มดลูกมีความพร้อมที่จะรับการฝังตัวของตัวอ่อนหรือเอ็มบริโอ (embryo) ซึ่งการฝังตัวเกิดสมบูรณ์ปลายสัปดาห์ที่ 2 หลังการปฏิสนธิ จากนั้นตัวอ่อนจะเจริญและมีการสร้างอวัยวะต่าง ๆ ทั้งอวัยวะภายนอกและอวัยวะภายใน ตั้งแต่ระบบประสาท, หัวใจ, แขน, ขา, หู, ตา, เพดานปาก, ฟัน, อวัยวะเพศภายนอก เป็นต้น (ดูรูป) โดยใช้เวลาตลอดช่วงไตรมาสที่ 1 (สามเดือนแรกของการตั้งครรภ์) ต่อจากนั้นอวัยวะที่สร้างแล้วจะมีพัฒนาการขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งขนาดและการทำหน้าที่ จนเป็นทารกที่มีความสมบูรณ์ทั้งลักษณะของอวัยวะและการทำหน้าที่ของอวัยวะ เพื่อพร้อมที่จะเจริญเติบโตและมีพัฒนาการต่อไปหลังการคลอด จะเห็นได้ว่าทุกช่วงอายุครรภ์มีความสำคัญต่อทารกในครรภ์ ด้วยเหตุนี้หากมีสิ่งใดที่รบกวนต่อพัฒนาการของตัวอ่อนและการเจริญของทารกในครรภ์ เช่น การสัมผัสยาผ่านทางมารดาจึงเสี่ยงต่ออันตรายที่จะเกิดกับทารกในครรภ์ในลักษณะที่แตกต่างกันตามอายุครรภ์



ความเสี่ยงต่ออันตรายของทารกที่ช่วงอายุครรภ์ต่าง ๆ

พัฒนาการของตัวอ่อนและการเจริญของทารกในครรภ์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเป็นทารกในครรภ์ที่สมบูรณ์ ทุกช่วงอายุครรภ์ล้วนมีความสำคัญ หากพิจารณาในด้านผลกระทบที่ทำให้ทารกเกิดความพิการอย่างรุนแรง (แถบสีส้มเข้มในรูป) จะเห็นได้ว่าไตรมาสที่ 1 (สามเดือนแรกหรือช่วงเริ่มตั้งครรภ์จนถึงอายุครรภ์ราว 12 สัปดาห์) มีความสำคัญมากเนื่องจากเป็นช่วงที่มีการสร้างอวัยวะต่าง ๆ ของทารกในครรภ์ ส่วนความพิการจะเกิดกับอวัยวะใดนั้นขึ้นกับชนิดของยาและปริมาณที่ได้รับ ส่วนผลกระทบที่เกิดช่วงไตรมาสที่ 2 (เดือนที่ 4-6 ของการตั้งครรภ์) แม้ว่าจะมีผลน้อยต่อการสร้างอวัยวะจนอาจไม่ปรากฏความพิการที่ชัดเจนแต่อาจกระทบต่อความสมบูรณ์และการทำหน้าที่ของอวัยวะที่สร้างแล้วนั้น (แถบสีส้มอ่อนในรูป) ส่วนผลกระทบที่เกิดช่วงไตรมาสที่ 3 หรือไตรมาสสุดท้าย (เดือนที่ 7-9 ของการตั้งครรภ์) อาจส่งผลต่อความสมบูรณ์ในการทำหน้าที่ของอวัยวะต่าง ๆ ของทารกในครรภ์ได้เช่นกัน นอกจากนี้อาจส่งผลกระทบถึงทารกภายหลังคลอดแล้ว ตลอดจนทำให้ทารกในครรภ์ผ่านการสัมผัสยาซึ่งยาบางอย่างตุ้นภูมิต้านทานและอาจส่งผลให้เกิดการแพ้ยาในภายหน้าแม้ตนเองเพิ่งได้รับยาเป็นครั้งแรก ด้วยเหตุนี้จึงมีคำแนะนำให้หลีกเลี่ยงหรือห้ามใช้ยาบางชนิดตลอดช่วงอายุครรภ์หรืออาจเจาะจงเฉพาะบางช่วงของอายุครรภ์เท่านั้น

การศึกษาข้อมูลความเสี่ยงของยาต่อทารกในครรภ์จากเอกสารที่เป็นข้อมูลผลิตภัณฑ์ยา

ความเสี่ยงของยาแต่ละชนิดที่จะเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์มีมากหรือน้อยแตกต่างกัน ในบางประเทศ เช่น ออสเตรเลียมีการจำแนกความเสี่ยงออกเป็นประเภทต่าง ๆ ด้วยตัวอักษรดังนี้ “Pregnancy Category” A, B, C, D และ X (จากความเสี่ยงน้อยที่สุดไปยังความเสี่ยงมากที่สุด) ซึ่งใน Pregnancy Category B ยังแบ่งเป็นกลุ่มย่อยออกเป็น B1, B2 และ B3 (จากความเสี่ยงน้อยไปยังความเสี่ยงมากตามผลการศึกษาในสัตว์ทดลองที่มาสนับสนุน) และมีการปรับปรุงการจัดประเภทความเสี่ยงของยาให้ทันสมัยเป็นระยะ ๆ สำหรับสหรัฐอเมริกาก่อนหน้านี้มีการจำแนกความเสี่ยงของยาออกเป็นประเภทต่าง ๆ ด้วยตัวอักษรเช่นเดียวกัน (แต่ไม่มีกลุ่มย่อย) และได้มีการใช้นานถึง 35 ปี (ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1979 ถึงปลายปี ค.ศ. 2014) ปัจจุบันไม่มีการจำแนกแบบดังกล่าวอีกต่อไป ด้วยเหตุผลที่ว่าบางครั้งข้อมูลที่ใช้ในการจำแนกประเภทแบบเดิมนั้นอาจไม่ชัดเจนหรือไม่สอดคล้องกับข้อมูลที่อาจมีการเพิ่มเติมภายหลัง ทำให้เกิดความยุ่งยากและความสับสนในการทำความเข้าใจและการให้คำแนะนำกับผู้ที่ใช้ยา จึงปรับปรุงคำเตือนเรื่องความเสี่ยงของยาที่มีต่อการตั้งครรภ์ในรูปแบบใหม่เป็นหัวข้อร่วมกับคำเตือนเรื่องการให้นมบุตร (Pregnancy and Lactation Labeling Rule - 2014) ด้วยข้อความที่มีรายละเอียดมากขึ้นและมีการปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัย โดยให้ใส่ข้อความดังกล่าวลงในเอกสารที่เป็นข้อมูลผลิตภัณฑ์ยา (product labeling หรือ product package insert ) เริ่มใช้กับยาที่ยื่นขออนุมัติทะเบียนหลังวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 2015 เป็นต้นไป ด้วยเหตุนี้หากเป็นเอกสารข้อมูลผลิตภัณฑ์ยาที่มาจากสหรัฐอเมริกาสามารถศึกษาข้อมูลความเสี่ยงของยาต่อทารกในครรภ์ได้จากหัวข้อ "การตั้งครรภ์ (pregnancy)"

ยาที่หญิงมีครรภ์สามารถใช้ได้ ควรหลีกเลี่ยง หรือห้ามใช้

มียาหลายอย่างที่ผ่านรกได้ซึ่งบางอย่างอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ ดังนั้นช่วงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาไม่ว่าชนิดใดแม้จะเป็นยาที่ถือว่าหญิงมีครรภ์สามารถใช้ได้ก็ตาม ให้พึงระลึกไว้เสมอว่าไม่มียาใดที่ปลอดภัย 100% สำหรับหญิงตั้งครรภ์ ด้วยเหตุนี้จึงควรใช้เฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นเมื่อประเมินแล้วว่าประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้ยามีสูงกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดผลเสียต่อทารกในครรภ์อย่างมาก โดยใช้ในขนาดต่ำสุดที่ให้ผลในการรักษาและใช้เป็นเวลาสั้นที่สุดเท่าที่จำเป็น ข้อมูลด้านความปลอดภัยของยามีการเปลี่ยนแปลงได้ตามหลักฐานทางวิชาการที่เพิ่มขึ้นเมื่อมีจำนวนผู้ที่ใช้ยามากขึ้น ดังนั้นคำแนะนำในการใช้ยาในหญิงมีครรภ์จึงมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับข้อมูลที่มีอยู่ สำหรับยาที่ระบุว่าใช้ได้นั้นจะเป็นยาในรูปแบบทั่วไปโดยไม่รวมถึงยาที่ทำในรูปแบบที่มีการดัดแปลง เช่น ทำเป็นชนิดที่ออกฤทธิ์นาน การที่ระบุว่าควรระมัดระวัง ควรหลีกเลี่ยง หรือห้ามใช้นั้นอาจพิจารณาทั้งผลเสียของยาต่อหญิงมีครรภ์เองและ/หรือผลเสียต่อทารกในครรภ์ นอกจากนี้การพิจารณาจัดระดับความเข้มงวดในการใช้ยาในหญิงมีครรภ์ของแต่ละประเทศหรือแต่ละแนวทางการใช้ยา (guideline) อาจแตกต่างกันได้เล็กน้อย และยาที่แนะนำให้หลีกเลี่ยงหรือห้ามใช้อาจมีข้อยกเว้นหากไม่มียาทางเลือกชนิดอื่น สำหรับยาที่กล่าวภายใต้หัวข้อนี้เป็นยาที่ประชาชนอาจเข้าถึงได้เองโดยไม่ได้เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล แยกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ดังข้างล่างนี้
1. ยาบรรเทาปวดและลดไข้ ยาที่หญิงมีครรภ์สามารถใช้ได้หากจำเป็น ได้แก่ พาราเซตามอล (paracetamol) ส่วนยาอื่นไม่ว่าจะเป็นแอสไพริน (aspirin) และยาในกลุ่มเอ็นเสด (มีกล่าวถึงในหัวข้อ ยาแก้ปวดข้อ-ข้ออักเสบกลุ่มเอ็นเสด) ชนิดที่มีฤทธิ์บรรเทาปวดและลดไข้ได้ เช่น ไอบูโพรเฟน (ibuprofen) ควรหลีกเลี่ยงการใช้ในไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 3 สำหรับแอสไพรินหากใช้ขนาดต่ำซึ่งมีฤทธิ์ต้านเกล็ดเลือดสามารถใช้ในหญิงมีครรภ์ได้ แต่ระวังว่าอาจทำให้เกิดภาวะเลือดออก (bleeding) ในมารดาภายหลังการคลอด

2. ยาต้านฮีสตามีน หมายถึงยาต้านฮีสตามีนที่ตัวรับชนิดเอช-1 (H1 antihistamines) ซึ่งเป็นยาที่ใช้ลดน้ำมูก (เฉพาะยาบางตัว), รักษาโรคภูมิแพ้ และบรรเทาอาการคัน ยาที่หญิงมีครรภ์สามารถใช้ได้หากจำเป็น ได้แก่ คลอร์เฟนิรามีน (chlorpheniramine), ไดเฟนไฮดรามีน (diphenhydramine) ยานี้มีฤทธิ์บรรเทาอาการไอและบรรเทาอาการคลื่นไส้-อาเจียนด้วย ทั้งนี้ให้ระวังหากใช้ในขนาดสูงจะมีฤทธิ์ทำให้มดลูกบีบตัวและยาผ่านรกได้ ส่วนยาอื่น เช่น ลอราทาดีน (loratadine) ควรใช้อย่างระมัดระวังเนื่องจากข้อมูลการใช้ในหญิงมีครรภ์มีจำกัดแม้ข้อมูลจากสัตว์ทดลองจะคาดว่ามีความเสี่ยงต่ำที่จะส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์, เซทิริซีน (cetirizine) ควรหลีกเลี่ยงการใช้ในไตรมาสที่ 1 ส่วนไตรมาสอื่นควรใช้อย่างระมัดระวังเนื่องจากข้อมูลการใช้ในหญิงมีครรภ์มีจำกัดแม้ข้อมูลจากสัตว์ทดลองจะคาดว่ามีความเสี่ยงต่ำที่จะส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์, เฟกโซเฟนาดีน (fexofenadine) ควรหลีกเลี่ยงเนื่องจากข้อมูลการใช้ในหญิงมีครรภ์มีจำกัด ส่วนข้อมูลจากสัตว์ทดลองคาดว่ายามีความเสี่ยงปานกลางที่จะส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์

3. ยาบรรเทาอาการไอ (ยาระงับไอ ยาขับเสมหะ และยาละลายเสมหะ) ยาเหล่านี้หญิงมีครรภ์สามารถใช้ได้หากจำเป็น โดยให้พิจารณาถึงประโยชน์ที่ได้รับว่ามีสูงกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบต่อทารกในครรภ์อย่างมาก ได้แก่ เดกซ์โทรเมทอร์แฟน (dextromethorphan), เอ็น-อะเซทิลซีสเทอีน (N-acetylcysteine), ไกวเฟเนซิน (guaifenesin) แต่ยานี้ควรหลีกเลี่ยงการใช้ในไตรมาสที่ 1, ไดเฟนไฮดรามีน (มีฤทธิ์ลดน้ำมูก ลดอาการคัน และรักษาโรคภูมิแพ้ด้วย) ยานี้ให้ระวังหากใช้ในขนาดสูงจะมีฤทธิ์ทำให้มดลูกบีบตัวและยานี้ผ่านรกได้ ส่วนแอมบรอกซอล (ambroxol) ควรหลีกเลี่ยงช่วงไตรมาสที่ 1 ส่วนไตรมาสอื่นควรใช้อย่างระมัดระวังและยานี้ผ่านรกได้ ยาทั้งหลายที่กล่าวมาหากเป็นชนิดยาน้ำที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์หญิงมีครรภ์ควรหลีกเลี่ยง

4. ยาบรรเทาอาการคัดจมูก เช่น ซูโดอีเฟดรีน (pseudoephedrine) ยานี้หญิงมีครรภ์ควรหลีกเลี่ยงช่วงไตรมาสที่ 1 ส่วนไตรมาสอื่นสามารถใช้ได้หากจำเป็น ส่วนยาทาที่ช่วยให้หายใจโล่งซึ่งมีส่วนผสมของเมนทอล (menthol) สามารถใช้ในหญิงมีครรภ์ได้

5. ยาบรรเทาอาการคลื่นไส้และอาเจียน ยาที่ใช้ในหญิงมีครรภ์ได้หากจำเป็น ได้แก่ ไดเฟนไฮดรามีน (มีฤทธิ์ลดน้ำมูก ลดอาการคัน รักษาโรคภูมิแพ้ และบรรเทาอาการไอด้วย) ทั้งนี้ให้ระวังหากใช้ในขนาดสูงจะมีฤทธิ์ทำให้มดลูกบีบตัวและยานี้ผ่านรกได้, ไพริดอกซีนหรือวิตามินบี 6 (pyridoxine หรือ vitamin B6), เมไคลซีน (meclizine), ไซไคลซีน (cyclizine) ส่วนยาอื่น เช่น เมโทโคลพราไมด์ (metoclopramide) ควรใช้อย่างระมัดระวังเนื่องจากข้อมูลการใช้ในหญิงมีครรภ์มีจำกัดแม้ข้อมูลจากสัตว์ทดลองจะคาดว่ามีความเสี่ยงต่ำที่จะส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ ส่วนดอมเพอริโดน (domperidone) ควรหลีกเลี่ยงเนื่องจากข้อมูลการใช้ในหญิงมีครรภ์มีจำกัดและยังไม่มีการศึกษาถึงผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจทารกในครรภ์

6. ยาบรรเทาอาการท้องเดิน เช่น โลเพอราไมด์ (loperamide) ควรหลีกเลี่ยงการใช้ในไตรมาสที่ 1 ส่วนไตรมาสอื่นควรใช้อย่างระมัดระวังและใช้เพียง 1 วัน (24 ชั่วโมง) เท่านั้น เนื่องจากข้อมูลการใช้ในหญิงมีครรภ์มีจำกัดแม้ข้อมูลจากสัตว์ทดลองจะคาดว่ามีความเสี่ยงต่ำที่จะส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ ส่วนสารละลายเกลือแร่สามารถใช้ได้ในหญิงมีครรภ์ โดยดื่มในปริมาณเพียงเพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำจากภาวะท้องเดิน

7. ยาบรรเทาอาการท้องผูก ยาระบายชนิดเพิ่มปริมาณอุจจาระ (bulk-forming laxatives) เป็นยาที่ใช้ในหญิงมีครรภ์ได้ เช่น ไฟเบอร์จากเมล็ดเทียนเกล็ดหอย (psyllium husk), เมทิลเซลลูโลส (methylcellulose) ส่วนยาระบายในกลุ่มอื่น เช่น โพลีเอทิลีนไกลคอลซึ่งเรียกโดยย่อว่าพีอีจี (polyethylene glycol หรือ PEG) ใช้ในหญิงมีครรภ์ได้เช่นกันแต่ควรใช้เป็นครั้งคราว, ด็อกคิวเสต (docusate sodium และ docusate calcium) ใช้ได้เช่นกันแต่ควรใช้อย่างระมัดระวังและใช้เป็นครั้งคราว ยาที่กล่าวข้างต้นถือว่าไม่ถูกดูดซึมเข้าระบบร่างกาย (แม้ว่ายาพีอีจีจะถูกดูดซึมได้เล็กน้อย) สำหรับยามะขามแขก (senna) และบิซาโคดิล (bisacodyl) ถูกดูดซึมเข้าระบบร่างกายได้บ้างในปริมาณที่ถือว่าไม่มากและไม่พบว่ายาทำให้เกิดผลเสียต่อทารกในครรภ์เมื่อมารดาใช้ยาเหล่านี้เป็นครั้งคราว อย่างไรก็ตามแม้ว่ายาที่กล่าวมาจะสามารถใช้ในหญิงมีครรภ์ได้ แต่การใช้ยาระบายบ่อยเกินไปไม่ว่ายาชนิดใดอาจส่งผลกระทบต่อสมดุลอิเล็กโทรไลต์ของทารกหลังคลอดได้ สำหรับยาระบายชนิดสวนทวารควรหลีกเลี่ยงเนื่องจากมีข้อมูลน้อย

8. ยารักษาโรคแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ที่เนื่องจากกรด ยาลดกรด (antacids) ที่มีตัวยาสำคัญเป็นสารประกอบอะลูมินัมซึ่งถือว่าไม่ถูกดูดซึมเข้าระบบร่างกาย สามารถใช้ในหญิงมีครรภ์ได้หากจำเป็น แต่ยานี้ทำให้มีอาการท้องผูก การใช้ตำรับยาสูตรผสมที่มีสารประกอบอะลูมินัมกับสารประกอบแมกนีเซียม (หากเป็นชนิดน้ำ ได้แก่ aluminum hydroxide/magnesium hydroxide) ไม่ทำให้เกิดอาการท้องผูก แต่แมกนีเซียมถูกดูดซึมได้บ้างจึงควรหลีกเลี่ยงในหญิงมีครรภ์ ด้วยเหตุนี้ยาที่มีสารประกอบแมกนีเซียมหญิงมีครรภ์จะใช้ต่อเมื่อได้พิจารณาแล้วว่าประโยชน์ที่ได้รับมีสูงกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบต่อทารกในครรภ์อย่างมาก ส่วนยายับยั้งการหลั่งกรด (antisecretory drugs) ในกลุ่มยาต้านฮีสตามีนที่ตัวรับชนิดเอช-2 (H2 antihistamines) ใช้ในหญิงมีครรภ์ได้หากจำเป็น เช่น ไซเมทิดีน (cimetidine), รานิทิดีน (ranitidine) ส่วนฟาโมทิดีน (famotidine) ควรใช้อย่างระมัดระวังเนื่องจากข้อมูลในหญิงมีครรภ์มีจำกัด สำหรับยากลุ่มยับยั้งการทำงานของโปรตอนปั๊ม (proton pump inhibitors หรือ PPIs) เช่น โอเมพราโซล (omeprazole), เอสโซเมพราโซล (esomeprazole), แลนโซพราโซล (lansoprazole), ราเบพราโซล (rabeprazole) ควรหลีกเลี่ยงเนื่องจากข้อมูลการใช้ในหญิงมีครรภ์มีจำกัด

9. ยาขับลม ตัวยาคือ ไซเมทิโคน (simethicone) ใช้ในหญิงมีครรภ์ได้ ยาไม่ถูกดูดซึมเข้าระบบร่างกาย

10. ยาวิตามิน ยาวิตามินหลายชนิดใช้ในหญิงมีครรภ์ได้ตามขนาดที่แนะนำ เช่น วิตามินบี 6, กรดโฟลิก (folic acid), วิตามินบี 12 (vitamin B12), วิตามินซี (vitamin C หรือ ascorbic acid), วิตามินอี (vitamin E) อย่างไรก็ตามหญิงมีครรภ์ไม่ควรซื้อยามาใช้เอง อีกทั้งไม่ควรรับประทานเกินขนาดที่แนะนำ สำหรับวิตามินบางชนิด เช่น วิตามินเอ ขนาดยาที่ใช้ได้มีช่วงแคบจึงควรหลีกเลี่ยง และวิตามินเอในขนาดสูงอาจทำให้ทารกในครรภ์พิการ (ผลิตภัณฑ์น้ำมันตับปลามีวิตามินเอในปริมาณสูง)

11. ยาต้านแบคทีเรีย ประชาชนมักเรียกว่า “ยาฆ่าเชื้อ” ยาที่ใช้ในหญิงมีครรภ์ได้หากจำเป็น (ในผู้ที่ไม่มีปัญหาเรื่องการแพ้ยา) เป็นยาในกลุ่มเซฟาโลสปอริน (cephalosporins) ตัวอย่างยาชนิดรับประทาน (ยาชนิดฉีดไม่ได้กล่าวถึงในที่นี้) เช่น เซฟาเลกซิน (cephalexin), เซฟิซีม (cefixime), เซฟดิเนียร์ (cefdinir) ยาในกลุ่มอื่นที่ใช้ในหญิงมีครรภ์ได้เช่นกันหากจำเป็น ตัวอย่างเช่น อิริโทรไมซิน (erythromycin), อะซิโทรไมซิน (azithromycin), อะม็อกซิซิลลิน (amoxicillin), แอมพิซิลิน (ampicillin) ส่วนเมโทรนิดาโซล (metronidazole) และคลาริโทรไมซิน (clarithromycin) ควรหลีกเลี่ยงตลอดช่วงที่ตั้งครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไตรมาสที่ 1

ยาต้านแบคทีเรียบางอย่างหญิงมีครรภ์ห้ามใช้หรือค่อนไปในทางห้ามใช้ (อาจใช้ได้ในกรณีที่ไม่มียาทางเลือกชนิดอื่น) เช่น ยากลุ่มฟลูออโรควิโนโลน (fluoroquinolones) ตัวอย่างได้แก่ ซิโพรฟล็อกซาซิน (ciprofloxacin) และโอฟล็อกซาซิน (ofloxacin) เนื่องจากยารบกวนการเจริญของกระดูกอ่อนที่ข้อต่อ หากเป็นนอร์ฟล็อกซาซิน (norfloxacin) แม้ไม่ห้ามใช้แต่มีข้อแนะนำให้หลีกเลี่ยง สำหรับยาในกลุ่มเตตราไซคลีน (tetracyclines) เช่น เตตราไซคลีน (tetracycline), ด็อกซีไซคลีน (doxycycline) ห้ามใช้โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 เนื่องจากยาสะสมที่ฟันและกระดูกที่กำลังงอก

12. ยาแก้ปวดข้อ-ข้ออักเสบกลุ่มเอ็นเสด ยากลุ่ม “เอ็นเสด” หรือยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (non-steroidal antiinflammatory drugs หรือ NSAIDs) คนทั่วไปมักเรียกว่า “ยาแก้ปวดข้อ” หรือ “ยาแก้ข้ออักเสบ” มียามากมายในกลุ่มนี้ เช่น แอสไพริน (aspirin หรือ acetyl salicylic acid), ไอบูโพรเฟน (ibuprofen), ไดโคลฟีแน็ก (diclofenac), นาพร็อกเซน (naproxen), ไพร็อกซิแคม (piroxicam), เมล็อกซิแคม (meloxicam), เซเลค็อกสิบ (celecoxib), เอทอริค็อกสิบ (etoricoxib) นอกเหนือจากการใช้เป็นยาแก้ปวดข้อ-ข้ออักเสบแล้วยาบางชนิดใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดและลดไข้ด้วย ในเอกสารที่เป็นข้อมูลผลิตภัณฑ์ยาเอ็นเสดพวกที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไซโคลออกซิจีเนส หรือ "ค็อกซ์" (cyclooxygenase หรือ COX) ได้ดีทั้งชนิดค็อกซ์-1 และค็อกซ์-2 เช่น แอสไพริน, ไอบูโพรเฟน, ไดโคลฟีแน็ก, นาพร็อกเซน, ไพร็อกซิแคม มีข้อแนะนำว่าควรหลีกเลี่ยงในหญิงมีครรภ์และห้ามใช้ในไตรมาสที่ 3 ส่วนในเอกสารที่เป็นข้อมูลผลิตภัณฑ์ยาเอ็นเสดพวกที่ออกฤทธิ์ยับยั้ง (หรือเลือกที่จะยับยั้ง) เฉพาะเอนไซม์ค็อก-2 เช่น เมล็อกซิแคม, เซเลค็อกสิบ, เอทอริค็อกสิบ ระบุว่าห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์ไม่ว่าไตรมาสใด ซึ่งการที่ยาในกลุ่มเอ็นเสดมีข้อแนะนำดังกล่าวข้างต้นเนื่องด้วยเหตุผลหลายอย่างร่วมกัน เช่นว่า ยารบกวนการฝังตัวของไข่ที่ผสมแล้ว, ยังไม่มีข้อมูลที่เพียงพอถึงความปลอดภัยในไตรมาสที่ 1, มีข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงของยากับอันตรายต่อไตทารกในครรภ์จนทำให้เกิดภาวะน้ำคร่ำน้อย (oligohydramnios) จึงมีข้อแนะนำให้หลีกเลี่ยงตั้งแต่สัปดาห์ที่ 20 เป็นต้นไป (ซึ่งเป็นข้อแนะนำใหม่สำหรับยาทั้งกลุ่ม), การใช้ยาที่อายุครรภ์ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 30 ขึ้นไปเสี่ยงต่อการเกิดผลเสียต่อเนื้อเยื่อหัวใจและการปิดก่อนกำหนดของหลอดเลือดดักตัสอาร์เทอริโอซัส (ductus arteriosus) เป็นต้น

13. ยาใช้ภายนอก โดยทั่วไปยาใช้ภายนอกสามารถใช้ในหญิงมีครรภ์ได้ โดยใช้ในช่วงเวลาสั้น ๆ ตามความจำเป็น ยาที่ใช้รักษาแผลติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น บาซิทราซิน (bacitracin), นีโอไมซิน (neomycin), โพลีมิกซินบี (polymyxin B) โดยใช้ได้ทั้งชนิดยาเดี่ยวหรือยาสูตรผสม ยาที่ใช้รักษารักษาโรคเชื้อรา เช่น ไมโคนาโซล (miconazole), อีโคนาโซล (econazole), นิสแททิน (nystatin) ส่วนยาสเตียรอยด์ชนิดทาภายนอกแม้จะใช้ได้แต่ควรเป็นยาที่มีความแรงต่ำ เช่น โฮโดรคอร์ติโซน (hydrocortisone) ชนิดยาครีม

14. ยาอื่น เช่น ยาผงถ่าน (activated charcoal) ใช้ดูดซับสารพิษในทางเดินอาหาร ใช้ในหญิงมีครรภ์ได้เนื่องจากยาไม่ถูกดูดซึมเข้าระบบร่างกาย สำหรับผลิตภัณฑ์ที่เรียกกันว่ายาบำรุงร่างกายทั้งหลายรวมถึงอาหารเสริมที่มีจำหน่ายทั่วไป ควรหลีกเลี่ยงเนื่องจากไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยที่เพียงพอเมื่อใช้ในหญิงมีครรภ์


ข้อแนะนำเกี่ยวกับการใช้ยาในหญิงมีครรภ์เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายต่อทารกในครรภ์
  1. หญิงมีครรภ์ควรให้ความสำคัญในการรักษาสุขภาพไม่ให้เจ็บป่วยเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ยา และพึงระลึกไว้เสมอว่าไม่มียาใดที่ปลอดภัย 100% สำหรับหญิงมีครรภ์ แม้จะเป็นยาที่ถือว่าหญิงมีครรภ์สามารถใช้ได้ก็ตาม
  2. ในกรณีที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง ควรใช้เฉพาะกรณีที่จำเป็นเมื่อพิจารณาแล้วว่าประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้ยามีสูงกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดผลเสียต่อทารกในครรภ์อย่างมาก โดยใช้ในขนาดต่ำสุดที่ให้ผลในการรักษาและใช้เป็นเวลาสั้นที่สุดเท่าที่จำเป็น
  3. ทุกช่วงอายุครรภ์มีความสำคัญต่อพัฒนาการของตัวอ่อนและการเจริญของทารกในครรภ์ โดยเฉพาะไตรมาสที่ 1 (สามเดือนแรกของการตั้งครรภ์) ซึ่งเป็นช่วงที่มีการสร้างอวัยวะต่าง ๆ ของทารกในครรภ์จึงเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงมากที่สุดต่อการทำให้ทารกเกิดความพิการอย่างรุนแรง จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาให้มากที่สุด
  4. ยาที่กล่าวถึงข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างยาที่ประชาชนเข้าถึงหรืออาจเข้าถึงได้เองโดยไม่ได้เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล มียาอีกมากที่ไม่ได้กล่าวถึงโดยเฉพาะยาที่ได้รับจากสถานพยาบาลหรือได้รับเมื่อเข้ารักษาภายใต้โครงการที่จัดขึ้นโดยเฉพาะ ในจำนวนนี้มียาหลายชนิดที่มีข้อห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์ เนื่องจากเป็นยาที่มีความเสี่ยงสูงต่อความพิการของทารกในครรภ์หรือมีผลรบกวนการทำหน้าที่ของอวัยวะทารกหลังคลอด เช่น กลุ่มยารักษาโรคมะเร็ง, กลุ่มยาฮอร์โมนเพศ, กลุ่มยากดภูมิคุ้มกัน, ไอโซเทรทิโนอิน (isotretinoin) ซึ่งเป็นยารักษาสิวชนิดรับประทาน, ยารักษาโรคทางจิตเวช, ยารักษาโรคลมชัก
  5. โดยทั่วไปการใช้ยาที่ไม่ถูกดูดซึมเข้าระบบร่างกายหรือถูกดูดซึมได้เล็กน้อยแต่ใช้เพียงชั่วคราว สามารถใช้ในหญิงมีครรภ์ได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ เช่น ยาระบายชนิดเพิ่มกากในทางเดินอาหาร, ยาระบายโพลีเอทิลีนไกลคอล, ยาผงถ่านดูดซับสารพิษในทางเดินอาหาร, ไซเมทิโคนที่ใช้เป็นยาขับลม สำหรับยาลดกรดสูตรผสมที่มีสารประกอบอะลูมินัมกับสารประกอบแมกนีเซียม แม้จัดเป็นยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะในทางเดินอาหารแต่แมกนีเซียมถูกดูดซึมเข้าระบบร่างกายได้บ้างและยาลดกรดจะใช้หลายสัปดาห์ ด้วยเหตุนี้ยาที่มีสารประกอบแมกนีเซียมจึงใช้ต่อเมื่อประโยชน์ที่มารดาได้รับมีสูงกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบต่อทารกในครรภ์อย่างมาก
  6. โดยทั่วไปยาใช้ภายนอกเป็นยาที่หญิงมีครรภ์สามารถใช้ได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงยาบางอย่างที่ถูกดูดซึมเข้าระบบร่างกายได้บ้าง เช่น ยาสเตียรอยด์ชนิดทาภายนอก โดยเฉพาะยาที่มีความแรงสูงหรือการทาเป็นบริเวณกว้างหรือการใช้ยาเป็นเวลานาน
  7. แม้ว่าวิตามินจะมีความสำคัญต่อหญิงมีครรภ์และบางชนิดแนะนำให้ใช้เสริมสำหรับหญิงมีครรภ์ อย่างไรก็ตามไม่ควรซื้อยาวิตามินมาใช้เอง อีกทั้งไม่ควรรับประทานเกินขนาดที่แนะนำ สำหรับวิตามินเอนั้นขนาดยาที่ใช้ได้มีช่วงแคบจึงควรหลีกเลี่ยง และวิตามินเอในขนาดสูงอาจทำให้ทารกในครรภ์พิการ
  8. ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยามีการเปลี่ยนแปลงตามหลักฐานทางวิชาการที่เพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้หากหญิงมีครรภ์มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยาว่าจะเป็นอันตรายต่อตนเองหรือต่อทารกในครรภ์หรือไม่ สามารถปรึกษาเภสัชกรได้
เอกสารอ้างอิง
  1. Drug safety during pregnancy and breast feeding, updated and reviewed: January 2022. https://www.imc.med.sa/pharmacy/therapeutics/PBF.pdf. Accessed: July 6, 2022.
  2. Medicine guidelines during pregnancy. https://my.clevelandclinic.org/health/drugs/4396-medicine-guidelines-during-pregnancy. Accessed: July 6, 2022.
  3. Carroll DG. Drugs in pregnancy. https://jfmo.cchs.ua.edu/files/2013/09/Drugs_Pregnancy.pdf. Accessed: July 6, 2022.
  4. Hill MA. Embryology--human abnormal development, modified: August 19, 2020. https://embryology.med.unsw.edu.au/embryology/index.php/Human_Abnormal_Development. Accessed: July 6, 2022.
  5. Leek JC, Arif H. Pregnancy medications, updated: May 3, 2022. In: StatPearls. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2022 Jan-. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK507858/. Accessed: July 6, 2022.
  6. USFDA. Pregnancy and lactation labeling (drugs) final rule (content current as of: May 3, 2021). .https://www.fda.gov/drugs/labeling-information-drug-products/pregnancy-and-lactation-labeling-drugs-final-rule Accessed: July 6, 2022.
  7. Mosley AT, Witte AP. Drugs in pregnancy, do the benefits outweigh the risks? US Pharmacist 2013; 38:43-6.
  8. ACOG Committee Opinion No. 743: Low-dose aspirin use during pregnancy. Obstet Gynecol 2018; 132:e44-52.
  9. Smith JA, Fox KA, MClark S. Nausea and vomiting of pregnancy: treatment and outcome -- UpToDate. Accessed: July 6, 2022.
  10. MPR (Medical Professionals Reference) publications. Drugs contraindicated in pregnancy, revised: May, 2022. https://www.empr.com/wp-content/uploads/sites/7/2022/05/Drugs-Contraindicated-in-Pregnancy-0522.pdf. Accessed: July 6, 2022.
  11. Anitha B, Malavika S, Kumar B, Ramesh Y. Current trends in drugs avoided in pregnancy. J Drug Deliv Ther 2018; 8:342-50.
  12. RxList - The Internet Drug Index for prescription drug information. https://www.rxlist.com/script/main/hp.asp


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


มะระขี้นก 10 วินาทีที่แล้ว
สมุนไพรแก้ไอ 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้