เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว


รองศาสตราจารย์ ดร. ภญ.วิลาสินี หิรัญพานิช ซาโตะ

ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 1,525 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 12/09/2567
อ่านล่าสุด 1 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

ปัจจุบันยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทาน (oral contraceptive pills) แบ่งเป็น 2 ประเภทขึ้นตามชนิดของส่วนประกอบของฮอร์โมน ได้แก่ ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (combined hormonal contraceptives หรือ pills) ซึ่งประกอบด้วย ฮอร์โมนเพศหญิงสังเคราะห์ชนิดเอสโตรเจน (estrogen) และโปรเจสติน (progestin) และยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว (progestin-only pills หรือ minipills) ประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสตินเพียงอย่างเดียว ถึงแม้ว่ายาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมมักเป็นที่นิยมใช้มากกว่า อย่างไรก็ตาม ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวยังเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการคุมกำเนิดสำหรับสตรีให้นมบุตร หรือผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิกที่ผสมฮอร์โมนเอสโตรเจน

ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว ต่างจากยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมอย่างไร

ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว ประกอบด้วยฮอร์โมนสังเคราะห์ชนิดโปรเจสตินเพียงชนิดเดียวเท่านั้น ในขณะที่ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ประกอบด้วยฮอร์โมนเพศหญิงสังเคราะห์ชนิดเอสโตรเจนและโปรเจสติน ซึ่งในแง่ของประสิทธิภาพนั้น ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว ให้ประสิทธิภาพการคุมกำเนิดต่ำกว่ายาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม เนื่องจากมีส่วนประกอบของฮอร์โมนเพศที่คล้ายกับที่พบในร่างกายเพศหญิงตามธรรมชาติมากกว่าแบบยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว นอกจากนี้รูปแบบยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว ส่วนใหญ่ใน 1 แผง จะมีจำนวนเม็ดยา 28 เม็ด หรือ 24 เม็ด ในขณะที่ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม จะมีหลายรูปแบบ เช่น 21, 24 หรือ 28 เม็ด

กลไกการออกฤทธิ์ของยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว

การออกฤทธิ์คุมกำเนิดเหมือนกับยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมโดยมีกลไกหลักในการยับยั้งกระบวนการตกไข่ (ovulation)  ซึ่งยับยั้งการหลั่งฮอร์โมน Luteinizing Hormone (LH) เป็นหลัก และยังมีฤทธิ์อื่น เช่น ทำให้สารคัดหลั่งที่ปากมดลูกข้นเหนียว (thickening cervical mucus) ไม่เหมาะแก่การผ่านของอสุจิ (sperm) ทำให้ผนังมดลูกไม่เหมาะสมแก่การฝังตัวของตัวอ่อน และทำให้การเคลื่อนตัวของไข่ผ่านท่อนำไข่ช้าลง

 ใครควรใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว

เลือกใช้ในกรณีใช้เฉพาะในกรณีผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเอสโตรเจนไม่ได้ เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม หรือรังไข่ ผู้ที่มีประวัติหรือปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดอุดตัน (Deep venous thrombosis) ผู้ปวดศีรษะไมเกรนที่ไวต่อฮอร์โมนเอสโตรเจน เป็นต้น นอกจากนั้นยังพิจารณาใช้ในการคุมกำเนิดในหญิงที่กำลังให้นมบุตรซึ่งไม่ควรใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมที่มีเอสโตรเจนเป็นส่วนประกอบ เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนในตัวยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมมีผลในการยับยั้งฮอร์โมนโพรแลคติน (prolactin) ที่ทำหน้าที่กระตุ้นการผลิตน้ำนมในหญิงให้นมบุตร ขณะที่ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดเดี่ยวที่มีฮอร์โมนโพรเจสตินไม่มีผลต่อการกดการสร้างน้ำนม

 วิธีการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว

ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวที่มีฮอร์โมนโปรเจสติน ชนิด lynestrenol และ desogestrel  ใน 1 แผง จะมีฮอร์โมนทุกเม็ด จึงไม่มีช่วงที่ร่างกายเว้นจากฮอร์โมน (hormone-free interval) ผู้ใช้ยาจำเป็นต้องรับประทานยาทุกวัน วันละ 1 เม็ด โดยควรรับประทานในเวลาเดียวกันเพื่อให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายมีความสม่ำเสมอ สำหรับยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวที่มีฮอร์โมนโปรเจสติน ชนิด drospirenone สามารถรับประทานยาเม็ดที่มีฮอร์โมนจำนวน 24 วัน วันละ 1 เม็ด และรับประทานเม็ดที่ไม่มีฮอร์โมน 4 เม็ด โดยทุกชนิดแนะนำให้เริ่มรับประทานยาเม็ดแรกภายใน 1-5 วันที่มีเลือดประจำเดือน แล้วรับประทานตามลูกศรที่ระบุในแผงยา

 หากลืมรับประทานยา จะทำอย่างไร

การรับประทานยาคุมกำเนิดอย่างสม่ำเสมอและตรงเวลาเป็นสิ่งสำคัญที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการคุมกำเนิดโดยเฉพาะการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว ประสิทธิภาพการยับยั้งการตกไข่ต่ำกว่ายาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ดังนั้นฤทธิ์ในการคุมกำเนิดจึงขึ้นกับกลไกอื่น เช่น การทำให้ปากมดลูกข้นเหนียว เป็นต้น สำหรับยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวที่มีส่วนประกอบของยา lynestrenol, desogestrel และ drospirenone ห้ามลืมรับประทานยาหรือรับประทานยาล่าช้าได้ไม่เกิน 3, 12 และ 24 ชั่วโมง ตามลำดับ เพราะหากลืมรับประทานยานานกว่านั้นจะทำให้ประสิทธิภาพการคุมกำเนิดลดลง โดยในกรณีที่ลืมรับประทานตามเวลาที่กำหนด ต้องหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์หรือคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย

 อาการไม่พึงประสงค์ มีอะไรบ้าง

ผู้ที่ใช้ยามักพบปัญหาภาวะเลือดออกกะปริดกะปรอย (spotting) หรือมีเลือดออกระหว่างรอบเดือน (breakthrough bleeding) รอบประจำเดือนสั้นลง และปริมาณเลือดประจำเดือนลดลง  โดยพบอาการได้บ่อยโดยเฉพาะเมื่อลืมรับประทานยา โดยยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวที่มีส่วนประกอบของยา lynestrenol และdesogestrel ซึ่งเป็นฮอร์โมนโปรเจสตินรุ่นเก่าจะพบอาการไม่พึงประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับอาการคล้ายการกระตุ้นฮอร์โมนเพศชาย (androgen-like effect) เช่นทำให้สิว ผิวมัน หิวบ่อย อ้วน บวมน้ำ และขนดก เป็นต้น ขณะที่ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสตินชนิดใหม่ คือ drospirenone พบอาการไม่พึงประสงค์ได้ต่ำกว่าและยังมีฤทธิ์ช่วยลดการเกิดสิวและลดอาการบวมน้ำ อีกด้วย

ยาหรือสมุนไพรชนิดใดที่ควรหลีกเลี่ยงขณะทานยาคุมกำเนิด

ระหว่างรับประทานยาคุมกำเนิดแนะนำให้หลีกเลี่ยงยากหรือสมุนไพรที่มีฤทธิ์ในการเหนี่ยวนำหรือยับยั้งเอนไซม์ CYP450 ที่เป็นเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ในกระบวนการเมแทบอไลท์ฮอร์โมน เช่น rifampin, ketoconazole หรือสมุนไพรบางชนิด เช่น St. John's wort (เซนต์จอห์นเวิร์ต) ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรจากฝั่งยุโรปและอเมริกา มักพบในรูปแบบของอาหารเสริมและยาสมุนไพรที่ใช้บรรเทาอาการของโรคซึมเศร้า อาการนอนไม่หลับ ที่มีฤทธิ์ในการเหนี่ยวนำเอนไซม์ CYP450 เป็นต้น

 

การรับประทานยา ควรทานยาคุมกำเนิดในเวลาเดิมทุกวัน ควรงดการสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ เนื่องจากยาคุมกำเนิดมีฮอร์โมนที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคลิ่มเลือดอุดตันผู้ที่มีปัญหาสุขภาพดังต่อไปนี้ไม่ควรรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด ผู้ที่มีลิ่มเลือดอุดตันไม่ว่าจะที่ขาหรือปอด ผู้ป่วยมะเร็งมดลูกหรือมะเร็งเต้านม ผู้ที่ความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ดี ผู้ที่สูบบุหรี่จัด หรือปัญหาโรคตับ เป็นต้น ยาคุมกำเนิดอาจเป็นตัวช่วยเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ที่ให้ผลดี แต่ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ และค่อนข้างมีผลข้างเคียงมากกว่าการป้องกันด้วยวิธีอื่น ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย และป้องกันผลข้างเคียงที่อาจตามมาได้ การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรในการเลือกชนิดยาคุมกำเนิดให้เหมาะสมกับผู้ใช้เป็นรายบุคคล 

Photo by: www.freepik.com

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Brunton LL, Knollmann BC, editors. Goodman & Gilman’s the pharmacological basis of therapeutics. 14th ed. New York: McGraw-Hill Education; 2022.
  2. Katzung BG, Vanderah TW, editors. Basic and clinical pharmacology. 15th ed. Boston: McGraw-Hill Education; 2021.
  3. Rice C, Thompson J. Selecting and Monitoring Hormonal Contraceptives: An Overview of Available Products.US Pharm. 2006;6:62-70.    
  4. Progestin-Only Hormonal Birth Control: Pill and Injection. Cited on June 25, 2024.
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


1 วินาทีที่แล้ว
1 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้