Eng |
จุติมา เสมอ (นักวิทยาศาสตร์) ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
การวิ่งเป็นการออกกำลังกายที่ดีและกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากจะช่วยเพิ่มสมรรถภาพของร่างกาย ลดความเครียด และเป็นกิจกรรมที่ทำได้ง่ายๆ ไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์พิเศษใด ๆ ไม่จำกัดเวลาและสถานที่ อย่างไรก็ตามการเริ่มต้นและสิ้นสุดการวิ่งอย่างถูกวิธีก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะความผิดพลาดที่เกิดขึ้นอาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ หลายคนอาจเคยได้ยินศัพท์ในทางการวิ่งเกี่ยวกับเรื่องการทำ stretching ก่อนและหลังวิ่ง แต่อาจยังมีความสับสนว่าการทำ stretching หรือการยืดเหยียด ทั้งก่อนวิ่งและหลังวิ่ง มีความสำคัญอย่างไรสำหรับนักวิ่ง
การยืดเหยียดนั้น เราทำเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ (flexibility) เพื่อให้ข้อต่อของร่างกายมีองศาการเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงที่ปกติ แต่ไม่เกินขีดความสามารถของความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อต่อนั้น
คือการยืดเหยียดแบบอยู่กับที่ เป็นการยืดกล้ามเนื้อค้างไว้ในท่าเดิม ซึ่งแบ่งย่อยได้อีก 2 แบบ ได้แก่ 1) การยืดเหยียดแบบ maintenance stretch การยืดเหยียดชนิดนี้จะใช้กับกล้ามเนื้อที่มีความยืดหยุ่นอยู่ในช่วงปกติ มักทำหลังจากการออกกำลังในช่วง recovery ร่างกาย โดยส่วนใหญ่จะยืดกล้ามเนื้อค้างไว้ 10-15 วินาที และ 2) การยืดเหยียดแบบ developmental stretch การยืดเหยียดชนิดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ มักทำหลังการออกกำลังกายเช่นเดียวกัน แต่จะทำในขณะที่ข้อต่อและกล้ามเนื้อยังอุ่นอยู่ (ช่วง cool down) ใช้ยืดเหยียดกล้ามเนื้อบริเวณที่ตึงและทำค้างไว้ 30 วินาที เมื่อรับรู้ว่ากล้ามเนื้อถูกยืดให้ยืดต่ออีกประมาณ 1-6 วินาที เช่น การทำท่า lower-back stretch, piriformis stretch, hip-flexor stretch เป็นต้น
เป็นการยืดเหยียดกล้ามเนื้อแบบมีการเคลื่อนไหวไปพร้อมกันด้วย มักจะทำในช่วง warm up ช่วยกระตุ้นกล้ามเนื้อเกิดการตื่นตัวและเพิ่มประสิทธิภาพการเคลื่อนไหวของร่างกาย การยืดแบบนี้กระตุ้นระบบไหลเวียนมาที่กล้ามเนื้อ ส่งผลให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น และอุณหภูมิร่างกายที่สูงขึ้นจะทำให้เกิดการยืดเหยียดกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นได้ดี เป็นการเตรียมความพร้อมให้กับกล้ามเนื้อก่อนการออกกำลังกาย ช่วยลดการบาดเจ็บ ท่าที่ใช้ในการเคลื่อนไหวแบบนี้ ได้แก่ ท่า air squat, worrier lunges, walking lunges, butt kicks, standing hip circles, legs swing, running high knees เป็นต้น
งานวิจัยหลายงานระบุว่า การทำ dynamic stretching ควบคู่ไปกับการอบอุ่นร่างกาย ที่เรียกว่า dynamic warm up ในช่วงก่อนออกกำลังกายจะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของร่างกายได้ดีมากกว่าการทำ static stretching (ซึ่งจะนิยมทำหลังจากออกกำลังกายในช่วง cool down) เนื่องจากการอบอุ่นร่างกายทำให้การเต้นของหัวใจ (heart rate) สูงขึ้นประมาณ 50 – 60 % ของอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด กระตุ้นการทำงานของปอดทำให้ระดับออกซิเจนก็จะเพิ่มขึ้น เส้นเลือดเกิดการขยายตัวเพิ่มการขนส่งออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เพิ่มการสร้างน้ำหล่อลื่นบริเวณข้อต่อ (synovial fluid) ส่งผลให้กระดูกอ่อนบริเวณข้อต่อ (cartilage) มีความยืดหยุ่นและทนทาน ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวสะดวก และลดการได้รับการบาดเจ็บเมื่อออกกำลังกาย
Static stretching มีความสำคัญมากสำหรับหลังการออกกำลังกาย เนื่องจากในขณะที่เราออกกำลังกาย กล้ามเนื้อจะมีการหดเกร็งอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการสะสมของของเสีย (กรดแลคติก) บริเวณรอบกล้ามเนื้อ ส่งผลให้เกิดอาการปวดล้าและตะคริวตามมาได้ การยืดเหยียดกล้ามเนื้อจะช่วยฟื้นฟูกล้ามเนื้อให้กลับมาอยู่ใกล้เคียงสภาพเดิมก่อนออกกำลังกาย และช่วยลดอาการปวดเมื่อยจากการตึงตัวของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น แต่อย่างไรก็ตามการยืดเหยียดกล้ามเนื้อเกินองศาการเคลื่อนไหวของข้อต่อสามารถก่อให้เกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อได้เช่นเดียวกัน การยืดเหยียดกล้ามเนื้อจึงควรทำอย่างนุ่มนวลและอย่าฝืนหากมีอาการเจ็บปวดเกิดขึ้นระหว่างทำการยืดเหยียด