เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


การคุมกำเนิดฉุกเฉินด้วยห่วงอนามัย


รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์
หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://www.businessinsider.in/thumb/msid-80679273,width-1200,height-900/img601b1ad5ee136f00183aa2e9.jpg
อ่านแล้ว 19,147 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 29/07/2564
อ่านล่าสุด 4 ช.ม.ที่แล้ว
https://tinyurl.com/ygad2wm3
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ https://tinyurl.com/ygad2wm3
 


การคุมกำเนิดฉุกเฉินเป็นการคุมกำเนิดหลังจากมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกันการตั้งครรภ์ไว้ก่อนหรือวิธีที่ใช้ป้องกันอยู่นั้นล้มเหลว วิธีที่ใช้กันมากคือการรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน ซึ่งยาคุมกำเนิดฉุกเฉินชนิดที่ใช้กันมากในบ้านเราคือยาเลโวนอร์เจสเตรล (levonorgestrel) นอกจากการรับประทานยาแล้วการใส่ห่วงอนามัยเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้ในการคุมกำเนิดฉุกเฉินได้และเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในขณะนี้ แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก อีกทั้งมีข้อจำกัดในด้านความไม่สะดวกและมีค่าใช้จ่ายมากเมื่อเทียบกับการรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน ในบทความนี้จะให้ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับห่วงอนามัย ชนิดของห่วงอนามัยที่นำมาใช้ในการคุมกำเนิดฉุกเฉิน ผู้ที่เหมาะกับการคุมกำเนิดฉุกเฉินด้วยห่วงอนามัย การออกฤทธิ์ของห่วงอนามัย ประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ ผลไม่พึงประสงค์ ตลอดถึงข้อดีและข้อเสียของการคุมกำเนิดฉุกเฉินด้วยห่วงอนามัย

การคุมกำเนิดฉุกเฉินคืออะไร?

การคุมกำเนิดฉุกเฉิน (emergency contraception หรือ post-coital contraception) หมายถึงการคุมกำเนิดที่ดำเนินการหลังจากมีเพศสัมพันธ์แล้วเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่คาดการณ์ การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน การถูกล่วงละเมิดทางเพศ การลืมรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด การคุมกำเนิดด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง การคุมกำเนิดล้มเหลว (เช่น ถุงยางอนามัยชำรุด)

การคุมกำเนิดฉุกเฉินมีวิธีใดบ้าง?

การคุมกำเนิดฉุกเฉินทำได้โดยการรับประทานยาซึ่งมีหลายชนิดและการใส่ห่วงอนามัย ดังที่จะกล่าวถึงข้างล่างนี้
  1. ยาเม็ดฮอร์โมนรวม (combined estrogen and progestin emergency contraceptive pills หรือ Yuzpe regimen) มีตัวยาที่เป็นฮอร์โมนประเภทเอสโตรเจน (estrogens) ผสมกับฮอร์โมนประเภทโพรเจสติน (progestins) ซึ่งโพรเจสตินเป็นกลุ่มฮอร์โมนที่สังเคราะห์ขึ้นและมีฤทธิ์เลียนแบบโพรเจสเตอโรน (progesterone) ในร่างกาย เดิมยาเม็ดฮอร์โมนรวมที่นำมาใช้คุมกำเนิดฉุกเฉินเป็นสูตรที่แต่ละเม็ดมีเอทินิลเอสตราไดออล (ethinyl estradiol) 100 ไมโครกรัมผสมกับนอร์เจสเตรล (dl-norgestrel) 1 มิลลิกรัม ปัจจุบันเป็นสูตรที่แต่ละเม็ดมีเอทินิลเอสตราไดออล 100 ไมโครกรัมผสมกับเลโวนอร์เจสเตรล 0.5 มิลลิกรัม รับประทานครั้งละ 1 เม็ด โดยเริ่มรับประทานภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่พึงประสงค์หรือไม่ได้ป้องกัน และรับประทานอีก 1 เม็ดห่างจากเม็ดแรก 12 ชั่วโมง (ทั้งหมดรวมเป็น 2 เม็ด) ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินชนิดฮอร์โมนรวมนี้มีใช้มานานแล้ว ปัจจุบันได้รับความนิยมลดลงเนื่องจากมีประสิทธิภาพต่ำกว่าการคุมกำเนิดวิธีอื่นและมีอาการไม่พึงประสงค์ค่อนข้างมาก
  2. ยาเม็ดที่มีฮอร์โมนประเภทโพรเจสตินอย่างเดียว (progestin-only emergency contraceptive pills) ตัวยาได้แก่ เลโวนอร์เจสเตรล ซึ่งเป็นชนิดที่ใช้กันมากในบ้านเรา ผลิตออกจำหน่าย 2 ความแรง คือ เม็ดละ 0.75 และ 1.5 มิลลิกรัม ขนาดยาที่ใช้เพื่อคุมกำเนิดฉุกเฉินคือ 1.5 มิลลิกรัม ให้เริ่มรับประทานโดยเร็วที่สุดภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่พึงประสงค์หรือไม่ได้ป้องกัน หากเป็นขนาด 1.5 มิลลิกรัมให้รับประทานเพียง 1 เม็ด หากเป็นขนาด 0.75 มิลลิกรัมให้รับประทานเม็ดที่สองห่างจากเม็ดแรก 12 ชั่วโมง
  3. ยาเม็ดชนิดต้านโพรเจสติน (emergency contraceptive pills containing an antiprogestin) ตัวยาได้แก่ ไมเฟพริสโตน (mifepristone) และยูลิพริสตัลแอซิเตต (ulipristal acetate) ยาชนิดแรกมีฤทธิ์แรงและมีการใช้เป็นยาทำแท้งในช่วงต้นของไตรมาสแรก จึงเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ยาไม่เป็นที่ยอมรับในการนำมาใช้คุมกำเนิดฉุกเฉิน ส่วนยายูลิพริสตัลแอซิเตตใช้ในขนาด 30 มิลลิกรัม ให้เริ่มรับประทานเร็วโดยที่สุดภายใน 120 ชั่วโมงหลังจากมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่พึงประสงค์หรือไม่ได้ป้องกัน มีประสิทธิภาพสูงกว่ายาเลโวนอร์เจสเตรลแต่ด้อยกว่าการใส่ห่วงอนามัยหุ้มทองแดง
  4. ห่วงอนามัย (intrauterine device หรือ IUD) ซึ่งชนิดที่นำมาใช้เพื่อการคุมกำเนิดฉุกเฉินในปัจจุบันคือห่วงอนามัยหุ้มทองแดง และเป็นชนิดเดียวกันกับห่วงอนามัยที่ใช้ในการคุมกำเนิดระยะยาว รายละเอียดเรื่องห่วงอนามัยมีกล่าวต่อไป
วิธีคุมกำเนิดฉุกเฉินที่ยอมรับให้ใช้ได้ในแต่ละประเทศอาจแตกต่างกัน สำหรับวิธีที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ยอมรับ ได้แก่ การรับประทานยา ซึ่งอาจเป็นชนิดฮอร์โมนรวมที่มีเอทินิลเอสตราไดออลผสมกับเลโวนอร์เจสเตรล หรือยาเลโวนอร์เจสเตรลอย่างเดียว หรือยายูลิพริสตัลแอซิเตต และการใส่ห่วงอนามัยหุ้มทองแดง การคุมกำเนิดฉุกเฉินด้วยวิธีที่กล่าวมานี้หากตัวอ่อนมีการฝังตัวแล้วจะไม่สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ ดังนั้นการคุมกำเนิดฉุกเฉินจึงไม่ใช่การทำแท้ง

ห่วงอนามัยคืออะไร?

ห่วงอนามัยหรือห่วงคุมกำเนิด (intrauterine device หรือ IUD) เป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กสำหรับใส่เข้าในโพรงมดลูกเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ระยะยาว แต่ห่วงอนามัยบางชนิดนำมาใช้เพื่อการคุมกำเนิดฉุกเฉินด้วย ห่วงอนามัยมีหลากหลายชนิดและมีรูปร่างแตกต่างกัน สามารถโค้งงอได้โดยไม่หัก ห่วงอนามัยที่ใช้กันมากในปัจจุบันมีรูปร่างคล้ายอักษรตัวที (T-shaped IUD), อักษรตัวยู (U-shaped IUD) หรือคล้ายร่ม และอักษรตัววาย (Y-shaped IUD) ซึ่งอาจจัดรวมเป็นว่าคล้ายอักษรตัวทีก็ได้ (รูปที่ 1) ตรงปลายแกนแนวตั้งอาจทำเป็นปุ่มเพื่อกันไม่ให้ห่วงอนามัยหลุดจากปากมดลูก และตรงปลายแกนมีเส้นไนลอนคล้ายเส้นด้ายผูกไว้ 1 หรือ 2 เส้น ชนิดที่มีรูปร่างคล้ายอักษรตัวทีมีความกว้าง 28-32 มิลลิเมตรและความยาว 30-36 มิลลิเมตร หากเป็นชนิดที่มีรูปร่างคล้ายอักษรตัวยูหรือตัววายมีความกว้าง 18-24 มิลลิเมตร ส่วนความยาวใกล้เคียงกับชนิดที่มีรูปร่างคล้ายอักษรตัวที ใส่เข้าในโพรงมดลูกโดยผ่านอุปกรณ์สอด (inserter) ห่วงสามารถใส่อยู่ในโพรงมดลูกได้พอดี โดยมีเส้นไนลอนยื่นพ้นปากมดลูกเข้ามาในช่องคลอดราว 2-3 เซนติเมตร (เพื่อช่วยในการตรวจตำแหน่งห่วงอนามัยและการเอาห่วงออกในภายหน้า) ห่วงอนามัยมีทั้งชนิดที่ไม่มีสารออกฤทธิ์ (inert IUD) และชนิดที่มีสารออกฤทธิ์ ซึ่งชนิดที่มีสารออกฤทธิ์แบ่งออกเป็น (1) ห่วงอนามัยหุ้มทองแดง (copper-containing intrauterine device หรือ intrauterine coil) ซึ่งมีสารออกฤทธิ์คือทองแดงในรูปมีประจุ (copper ions) และ (2) ห่วงอนามัยที่มีฮอร์โมน (hormonal intrauterine device หรือ intrauterine system) ซึ่งชนิดที่ใช้ในปัจจุบันมีฮอร์โมนเลโวนอร์เจสเตรลเป็นสารออกฤทธิ์



ห่วงอนามัยหุ้มทองแดงเป็นชนิดที่นำมาใช้ในการคุมกำเนิดฉุกเฉิน

แม้ว่าห่วงอนามัยที่ใช้เพื่อการคุมกำเนิดระยะยาวจะมีหลายชนิด แต่ชนิดที่องค์การอนามัยโลกยอมรับให้ใช้เพื่อการคุมกำเนิดฉุกเฉินได้ในขณะนี้คือห่วงอนามัยหุ้มทองแดง ซึ่งมีจำหน่ายหลายยี่ห้อและมีพื้นที่ผิวทองแดงแตกต่างกัน (200-380 ตารางมิลลิเมตร) อย่างไรก็ตามเมื่อเร็ว ๆนี้มีรายงานการศึกษาถึงประสิทธิภาพของห่วงอนามัยชนิดที่มีฮอร์โมนเลโวนอร์เจสเตรลขนาด 52 มิลลิกรัมในการคุมกำเนิดฉุกเฉิน โดยเปรียบเทียบกับห่วงอนามัยหุ้มทองแดงชนิดที่มีพื้นที่ผิวทองแดง 380 ตารางมิลลิเมตร ผลการศึกษาพบอัตราการตั้งครรภ์ 0.3% (1 คนจากทั้งหมด 317 คน) ในผู้ที่ใช้ห่วงอนามัยชนิดที่มีฮอร์โมนเลโวนอร์เจสเตรล เทียบกับอัตราการตั้งครรภ์ 0% (0 คนจากทั้งหมด 321 คน) ในผู้ที่ใช้ห่วงอนามัยหุ้มทองแดง การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าห่วงอนามัยชนิดที่มีฮอร์โมนเลโวนอร์เจสเตรลในขนาดดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดฉุกเฉินเช่นเดียวกัน

การคุมกำเนิดฉุกเฉินด้วยห่วงอนามัยเหมาะกับใคร?

ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ทุกรายที่ต้องการคุมกำเนิดฉุกเฉินสามารถใส่ห่วงอนามัยได้ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงมาก หรือเป็นผู้ที่มีความประสงค์จะคุมกำเนิดต่อเนื่องไปในระยะยาว ทั้งนี้ผู้ที่จะใส่ห่วงอนามัยต้องไม่มีข้อห้ามตามที่กล่าวถึงข้างล่างนี้

ผู้ที่ห้ามใส่ห่วงอนามัยเพื่อคุมกำเนิดฉุกเฉิน ได้แก่ผู้ที่อยู่ในภาวะหรือมีความผิดปกติเหล่านี้
  1. ตั้งครรภ์หรือมีความเสี่ยงว่าตั้งครรภ์
  2. แพ้ต่อส่วนประกอบใด ๆของห่วงอนามัย
  3. มีการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน หรือเป็นโรคติดเชื้อในทางเดินระบบสืบพันธุ์ เช่น ปากมดลูกอักเสบ ช่องคลอดอักเสบ หรือมีการติดเชื้อบริเวณใด ๆของระบบสืบพันธุ์ส่วนล่าง หรือมีเหตุใดก็ตามที่ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน
  4. มดลูกมีความผิดปกติมาแต่กำเนิดชนิดที่ทำให้โพรงมดลูกมีลักษณะบิดเบี้ยวจนยากต่อการใส่ห่วงอนามัย
  5. มีภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูกโดยไม่ทราบสาเหตุ
  6. เป็นโรควิลสัน (Wilson disease) ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมทำให้มีการสะสมของทองแดงมากเกินไปที่อวัยวะสำคัญหลายแห่ง
เริ่มใส่ห่วงอนามัยเพื่อคุมกำเนิดฉุกเฉินได้เมื่อไร?

การคุมกำเนิดฉุกเฉินด้วยห่วงอนามัยให้เริ่มใส่ห่วงภายใน 5 วันหรือ 120 ชั่วโมงหลังจากมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่พึงประสงค์หรือไม่ได้ป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ แม้บางการศึกษาพบว่าการเริ่มใส่ห่วงอนามัยหลังจากมีเพศสัมพันธ์เกินกว่า 5 วัน (6-14 วัน) ยังคงมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ได้ แต่ข้อมูลยังมีจำกัด อีกทั้งอาจเสี่ยงต่อการใช้เกินวัตถุประสงค์ของการคุมกำเนิดฉุกเฉิน ด้วยเหตุนี้จึงไม่แนะนำให้เริ่มใส่ห่วงเกินเวลาที่กำหนดข้างต้น

ห่วงอนามัยหุ้มทองแดงออกฤทธิ์คุมกำเนิดฉุกเฉินอย่างไร?

ห่วงอนามัยหุ้มทองแดงออกฤทธิ์ป้องกันการตั้งครรภ์ได้ทันทีที่เริ่มใส่ห่วง โดยการปล่อยทองแดงในรูปมีประจุ ซึ่งเป็นพิษต่อตัวอสุจิและไข่ ทำให้ตัวอสุจิในโพรงมดลูกเคลื่อนที่ไม่ได้และไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ นอกจากนี้ยังทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกอยู่ในสภาพที่ไม่พร้อมสำหรับรองรับการฝังตัวของตัวอ่อน ด้วยเหตุนี้แม้ว่าการปฏิสนธิเกิดขึ้นได้แต่ตัวอ่อนจะไม่สามารถฝังตัวจึงไม่เกิดการตั้งครรภ์ ทองแดงในรูปมีประจุไม่รบกวนตัวอ่อนที่ฝังตัวได้แล้วจึงไม่มีฤทธิ์ในการทำให้แท้งบุตร

ประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ของห่วงอนามัยหุ้มทองแดง

การใส่ห่วงอนามัยหุ้มทองแดงเพื่อคุมกำเนิดฉุกเฉินให้เริ่มใส่ห่วงภายใน 5 วันหรือ 120 ชั่วโมงหลังจากมีเพศสัมพันธ์แล้ว มีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ได้สูงมาก ข้อมูลจากการศึกษาพบว่าการใส่ห่วงอนามัยชนิดที่มีพื้นที่ผิวทองแดง 220, 375 และ 380 ตารางมิลลิเมตร มีอัตราล้มเหลวหรือเกิดการตั้งครรภ์ขึ้น (observed pregnancy rate) ประมาณ 0.1% หรือน้อยกว่านี้ ซึ่งคิดเป็นอัตราล้มเหลวคาดการณ์ (expected pregnancy rate) ได้น้อยกว่า 1% ส่วนการรับประทานยาเลโวนอร์เจสเตรลเพื่อคุมกำเนิดฉุกเฉินนั้น แม้บางการศึกษาที่รายงานว่าให้ประสิทธิภาพดีในการป้องกันการตั้งครรภ์ยังพบอัตราล้มเหลวหรือเกิดการตั้งครรภ์ได้ถึง 1-2% ซึ่งคิดเป็นอัตราล้มเหลวคาดการณ์ได้ประมาณ 5% ซึ่งสูงกว่าการใส่ห่วงอนามัยหุ้มทองแดง ข้อมูลด้านประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดฉุกเฉินในแต่ละการศึกษามีการรายงานค่าที่แตกต่างกัน เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของยา นอกจากนี้การศึกษาที่เกี่ยวกับประสิทธิภาพของการคุมกำเนิดฉุกเฉินวิธีต่าง ๆไม่ได้ทำการเปรียบเทียบกับยาหลอกเนื่องด้วยเหตุผลทางด้านจริยธรรม

ห่วงอนามัยเอาออกได้เมื่อไร?

การใส่ห่วงอนามัยและการเอาห่วงออกทำโดยบุคลากรทางการแพทย์ที่ผ่านการฝึก ในกรณีที่ใส่ห่วงอนามัยเพียงเพื่อการคุมกำเนิดฉุกเฉินเฉพาะคราวจะใส่ไว้เป็นเวลา 1 เดือน จากนั้นสามารถนำห่วงอนามัยออกในเวลาใดก็ได้ที่สะดวก หรือหากประสงค์จะคุมกำเนิดต่อไปสามารถใส่ห่วงไว้เช่นเดิมได้ ห่วงอนามัยหุ้มทองแดงบางชนิดใช้คุมกำเนิดระยะยาวได้นาน 10-12 ปี ซึ่งค่าใช้จ่ายเท่ากันไม่ว่าจะใส่ห่วงอนามัยเป็นเวลา 1 เดือนหรือ 12 ปี

ผลไม่พึงประสงค์ของห่วงอนามัย

ผลไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการใส่ห่วงอนามัยเพื่อคุมกำเนิดฉุกเฉินพบได้น้อย อาการผิดปกติที่อาจพบ เช่น เจ็บและมีเลือดออกเล็กน้อยเมื่อใส่ห่วงอนามัยเข้าในโพรงมดลูกหรือเอาห่วงออก ปวดเกร็งท้อง เกิดการติดเชื้อและการอักเสบของอุ้งเชิงกราน ห่วงอนามัยหลุด เกิดการบาดเจ็บในโพรงมดลูก มีประจำเดือนมากและมานานขึ้น

การใส่ห่วงอนามัยเพื่อคุมกำเนิดฉุกเฉินมีข้อดีและข้อเสียอย่างไร?

การใส่ห่วงอนามัยหุ้มทองแดงเป็นวิธีคุมกำเนิดฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในขณะนี้ มีความล้มเหลวหรือเกิดการตั้งครรภ์ในอัตราต่ำมากคือประมาณ 0.1% หรือน้อยกว่านี้ ใช้ได้กับกลุ่มคนที่หลากหลายรวมถึงแม่ที่ให้นมลูกและคนที่มีน้ำหนักตัวมากเกิน (overweight) หรือเป็นโรคอ้วน ห่วงอนามัยหุ้มทองแดงไม่มีฮอร์โมนจึงปลอดจากผลไม่พึงประสงค์รวมถึงปฏิกิริยาระหว่างยาที่พบเมื่อรับประทานยาเลโวนอร์เจสเตรลซึ่งเป็นฮอร์โมน และสามารถใส่ห่วงอนามัยต่อไปเพื่อการคุมกำเนิดระยะยาวได้ อย่างไรก็ตามมีความไม่สะดวกเนื่องจากการใส่ห่วงอนามัยหรือการเอาห่วงออกทำโดยบุคลากรทางการแพทย์ อีกทั้งมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน นอกจากนี้อาจเกิดผลไม่พึงประสงค์ เช่น อาการเจ็บและมีเลือดออกเล็กน้อยเมื่อใส่ห่วงอนามัยเข้าในโพรงมดลูกหรือเอาห่วงออก ปวดเกร็งท้อง อาจเกิดการติดเชื้อและการอักเสบของอุ้งเชิงกราน รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อดีและข้อเสียของการใส่ห่วงอนามัยเพื่อคุมกำเนิดฉุกเฉินแสดงไว้ในตารางที่ 1



เอกสารอ้างอิง
  1. Turok DK, Gero A, Simmons RG, Kaiser JE, Stoddard GJ, Sexsmith CD, et al. Levonorgestrel vs. copper intrauterine devices for emergency contraception. N Engl J Med 2021; 384:335-44.
  2. Goodman SR, El Ayadi AM, Rocca CH, Kohn JE, Benedict CE, Dieseldorff JR, et al. The intrauterine device as emergency contraception: how much do young women know? Contraception 2018. doi:10.1016/j.contraception.2018.04.009. Accessed: July 15, 2021.
  3. Black KI, Hussainy SY. Emergency contraception: oral and intrauterine options. Aust Fam Physician 2017; 46:722-6.
  4. Castleberry NM, Stark L, Schulkin J, Grossman D. Oral and IUD emergency contraception provision among a national sample of obstetrician-gynecologists. Contraception 2020; 102:406-8.
  5. Cheung TS, Goldstuck ND, Gebhardt GS. The intrauterine device versus oral hormonal methods as emergency contraceptives: a systematic review of recent comparative studies. Sex Reprod Healthc 2021. doi: 10.1016/j.srhc.2021.100615. Accessed: July 15, 2021.
  6. Shen J, Che Y, Showell E, Chen K, Cheng L. Interventions for emergency contraception. Cochrane Database Syst Rev 2019. doi: 10.1002/14651858.CD001324.pub6. Accessed: July 15, 2021.
  7. Akintomide H, Brima N, Mansour DJ, Shawe J. Copper IUD continuation, unwanted effects and cost consequences at 1 year in users aged under 30 - a secondary analysis of the EURAS-IUD study. Eur J Contracept Reprod Health Care 2021; 26:175-83.
  8. Goldstuck ND, Cheung TS. The efficacy of intrauterine devices for emergency contraception and beyond: a systematic review update. Int J Womens Health 2019; 11:471-9.
  9. Upadhya KK, Committee on Adolescence. Emergency contraception. Pediatrics 2019. doi: 10.1542/peds.2019-3149. Accessed: July 15, 2021.
  10. Michie L, Cameron ST. Emergency contraception and impact on abortion rates. Best Pract Res Clin Obstet Gynaecol 2020; 63:111-9.
  11. Dorney E, Botfield JR, Robertson S, McGeechan K, Bateson D. Acceptability of the copper intrauterine device as a form of emergency contraception in New South Wales, Australia. Eur J Contracept Reprod Health Care 2020; 25:114-9.
  12. Haeger KO, Lamme J, Cleland K. State of emergency contraception in the U.S., 2018. Contracept Reprod Med 2018. doi: 10.1186/s40834-018-0067-8. Accessed: July 15, 2021.
  13. Society of Obstetricians and Gynaecologists of Canada. Chapter 3: Emergency contraception. J Obstet Gynaecol Can 2015; 37(10 suppl):S20-S28.
  14. BakenRa A, Gero A, Sanders J, Simmons R, Fay K, Turok DK. Pregnancy risk by frequency and timing of unprotected intercourse before intrauterine device placement for emergency contraception. Obstet Gynecol 2021; 138:79-84.
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

งานประชุมวิชาการที่กำลังเปิดรับสมัคร


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด



อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้