เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


คาเฟอีน...ผลเสียต่อทารกในครรภ์


รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์
หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://www.comunicaffe.com/wp-content/uploads/2020/02/Gravidanza-Caff%C3%A8-e1520929987196.jpg
อ่านแล้ว 26,963 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 15/07/2564
อ่านล่าสุด 1 ช.ม.ที่แล้ว
https://tinyurl.com/yk2sol9k
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ https://tinyurl.com/yk2sol9k
 


คาเฟอีน (caffeine) ในธรรมชาติพบในเมล็ด ผลและใบของพืชบางชนิด โดยพบมากในเมล็ดกาแฟ มีคาเฟอีนชนิดสังเคราะห์ซึ่งนำมาใส่ในเครื่องดื่มและอาหารบางชนิด ตลอดจนนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ คาเฟอีนมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้สมองตื่นตัวและรู้สึกกระปรี้กระเปร่า กาแฟจึงเป็นเครื่องดื่มที่นิยมบริโภคกันทั่วโลก ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงผู้สูงอายุ ผู้หญิงมีครรภ์หลายคนยังคงบริโภคกาแฟอย่างต่อเนื่อง คาเฟอีนเป็นสารที่ผ่านรกได้ดีจึงเป็นที่กังวลว่าผู้หญิงมีครรภ์ที่บริโภคกาแฟเป็นประจำอาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ ในบทความนี้จะกล่าวถึงผลเสียของคาเฟอีนต่อทารกในครรภ์ พร้อมทั้งให้ข้อมูลอื่น เช่น ปริมาณคาเฟอีนในเครื่องดื่มและอาหารบางชนิด การกำจัดคาเฟอีนในผู้หญิงมีครรภ์ ปริมาณคาเฟอีนจากแม่สู่ทารกในครรภ์ และข้อแนะนำผู้หญิงมีครรภ์ให้หลีกเลี่ยงการบริโภคคาเฟอีน

ปริมาณคาเฟอีนในเครื่องดื่มและอาหารบางชนิด

ปริมาณคาเฟอีนในเครื่องดื่มมีมากหรือน้อยแตกต่างกันไป ขึ้นกับชนิดของเครื่องดื่มและความนิยมในการบริโภคของแต่ละท้องถิ่นหรือแต่ละคน โดยทั่วไปในรูปแบบที่เตรียมเสร็จแล้วและพร้อมสำหรับดื่มนั้น ในกาแฟจะมีปริมาณคาเฟอีนมากกว่าชาและมากกว่าช็อกโกแลต ตามลำดับ เครื่องดื่มปริมาตร 1 แก้ว (ขนาด 240-250 มิลลิลิตร) มีปริมาณคาเฟอีนในกาแฟ 60-200 มิลลิกรัม ชา 25-50 มิลลิกรัม และช็อกโกแลต 5-8 มิลลิกรัม กาแฟที่สกัดคาเฟอีนออก (decaffeinated coffee) ยังคงมีคาเฟอีนหลงเหลืออยู่บ้าง โดยในเครื่องดื่ม 1 แก้วอาจมีปริมาณคาเฟอีนราว 2-25 มิลลิกรัม แหล่งข้อมูลต่างกันอาจระบุปริมาณคาเฟอีนในเครื่องดื่มไว้ไม่เท่ากัน นอกจากนี้อาหารประเภทช็อกโกแลตก้อนหรือแท่งมีคาเฟอีนด้วยเช่นเดียวกัน รายละเอียดเพิ่มเติมดูตารางที่ 1



การกำจัดคาเฟอีนในผู้หญิงมีครรภ์

เมื่อบริโภคเครื่องดื่มหรืออาหารที่มีคาเฟอีน คาเฟอีนถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารได้เร็วและเกือบสมบูรณ์ (ประมาณ 99%) ภายใน 40-60 นาที การเปลี่ยนคาเฟอีนไปเป็นสารอื่นเกิดขึ้นน้อยมากเมื่อผ่านตับครั้งแรก ดังนั้นปริมาณคาเฟอีนเกือบทั้งหมดที่บริโภคจึงเข้าสู่กระแสเลือด คาเฟอีนกระจายไปยังส่วนต่าง ๆของร่างกายได้ดี พบการสะสมของคาเฟอีนในของเหลวภายในท่อนำไข่และมดลูก คาเฟอีนสามารถผ่านเข้าสู่สมองและผ่านรกไปสู่ทารกในครรภ์ได้ การเปลี่ยนคาเฟอีนไปเป็นสารอื่นเกิดขึ้นโดยเอนไซม์ในกลุ่มไซโตโครมพี 450 (cytochrome P450 หรือ CYP) ในตับ โดยเฉพาะเอนไซม์ชนิดไซโตโครมพี 450 1A2 (หรือ CYP1A2) เกิดเป็นเมแทบอไลต์ (metabolite ซึ่งหมายถึงสารที่เกิดจากกระบวนการสร้างและสลาย) ได้แก่ พาราแซนทีน (paraxanthine) 82%, ทีโอโบรมีน (theobromine) 11% และทีโอฟิลลีน (theophylline) 5% สารเมแทบอไลต์เหล่านี้เปลี่ยนแปลงต่อไปเป็นอนุพันธ์กรดยูริก (uric acid derivatives) และถูกขับออกทางปัสสาวะ คาเฟอีนมีค่าครึ่งชีวิต 3-7 ชั่วโมง (หมายความว่าทุก ๆช่วงเวลาดังกล่าวปริมาณคาเฟอีนในร่างกายจะลดลงไปครึ่งหนึ่ง) การกำจัดคาเฟอีนออกจากร่างกายจะเกิดมากหรือน้อยขึ้นกับประสิทธิภาพในการทำงานของเอนไซม์ CYP1A2 ในผู้หญิงที่ตั้งครรภ์การเปลี่ยนคาเฟอีนไปเป็นสารอื่นเกิดช้าลงตามอายุครรภ์ โดยช่วงไตรมาสแรกอัตราการเปลี่ยนแปลงคาเฟอีนเกิดพอ ๆกับผู้หญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ ช่วงไตรมาสที่สองอัตราการเปลี่ยนแปลงคาเฟอีนลดลงราวครึ่งหนึ่ง และช่วงไตรมาสที่สามอัตราการเปลี่ยนแปลงคาเฟอีนลดลงเหลือประมาณหนึ่งในสามจึงทำให้คาเฟอีนอยู่ในร่างกายนานขึ้น (ค่าครึ่งชีวิต 15-18 ชั่วโมง)

คาเฟอีนจากแม่เข้าสู่ทารกในครรภ์ได้ดี

คาเฟอีนเป็นสารที่ชอบน้ำและละลายน้ำได้ดี แต่ก็มีความชอบต่อไขมันเพียงพอที่จะผ่านเยื่อหุ้มเซลล์และกระจายสู่เนื้อเยื่อต่าง ๆได้ดี รวมถึงการผ่านรกเข้าสู่ทารกในครรภ์ ระดับคาเฟอีนในเลือดของทารกในครรภ์กับของแม่มีพอ ๆกัน หากผู้หญิงมีครรภ์บริโภคคาเฟอีนในปริมาณสูงทารกในครรภ์จะได้รับคาเฟอีนในปริมาณสูงด้วย รกและทารกในครรภ์ไม่มีเอนไซม์ที่จะเปลี่ยนคาเฟอีนไปเป็นสารอื่น การกำจัดคาเฟอีนของทารกในครรภ์ต้องอาศัยการกำจัดผ่านแม่ ในผู้หญิงมีครรภ์อัตราการเปลี่ยนคาเฟอีนไปเป็นสารอื่นเกิดช้าลงดังกล่าวแล้วข้างต้น จึงทำให้ทารกในครรภ์มีโอกาสสัมผัสคาเฟอีนในปริมาณสูงและเป็นเวลานาน มีการศึกษาพบว่าปริมาณคาเฟอีนในเส้นผมทารกแรกคลอดมีความสัมพันธ์กับปริมาณคาเฟอีนที่ผู้หญิงมีครรภ์บริโภคช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์

ผู้หญิงมีครรภ์บริโภคคาเฟอีนได้มากน้อยเพียงไร?

คาเฟอีนผ่านรกได้ดีจึงเป็นที่กังวลว่าผู้หญิงมีครรภ์ที่บริโภคกาแฟเป็นประจำจะส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ เป็นเรื่องยากที่จะกำหนดถึงปริมาณคาเฟอีนที่ปลอดภัยสำหรับการบริโภคในผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ เนื่องจากพบความหลากหลายในประสิทธิภาพของเอนไซม์ที่ใช้ในการกำจัดคาเฟอีนออกจากร่างกายและความแปรปรวนในการตอบสนองต่อฤทธิ์ของคาเฟอีนในแต่ละคน ข้อมูลส่วนใหญ่มาจากการศึกษาวิจัยโดยการสังเกต (observational study) และได้ข้อมูลมาจากการสัมภาษณ์ นอกจากนี้ปริมาณคาเฟอีนที่รายงานส่วนใหญ่เป็นการประมาณจากเครื่องดื่มหรืออาหารที่บริโภค อย่างไรก็ตามมีบางองค์กร เช่น American College of Obstetricians and Gynecologists, European Food Safety Authority, UK National Health Service มีข้อแนะนำเกี่ยวกับปริมาณคาเฟอีนที่ผู้หญิงมีครรภ์บริโภคว่าไม่ควรเกินวันละ 200 มิลลิกรัม หรือเทียบเท่าการดื่มกาแฟ 1-2 แก้ว (แก้วละ 240-250 มิลลิลิตร ดูปริมาณคาเฟอีนในเครื่องดื่มและอาหารบางชนิดได้จากตารางที่ 1) หากผู้หญิงมีครรภ์บริโภคคาเฟอีนเกินกว่าวันละ 200 มิลลิกรัมจัดว่าเป็นการบริโภคในปริมาณสูง และหากบริโภคต่ำกว่าวันละ 200 มิลลิกรัมจัดว่าเป็นการบริโภคในปริมาณปานกลาง อย่างไรก็ตามมีการศึกษาที่พบผลเสียต่อทารกเมื่อผู้หญิงมีครรภ์บริโภคคาเฟอีนในปริมาณเพียงวันละ 50 มิลลิกรัมตลอดช่วงเวลาที่ตั้งครรภ์

ผลเสียของคาเฟอีนต่อทารกในครรภ์

การศึกษาถึงผลของคาเฟอีนต่อทารกในครรภ์นั้นประเมินผลค่อนข้างยาก ข้อมูลส่วนใหญ่เป็นการศึกษาวิจัยโดยการสังเกตและเป็นการศึกษาจากเหตุไปหาผล (cohort study) การศึกษาเหล่านี้ส่วนใหญ่ (แม้ไม่ทุกการศึกษา) พบความสัมพันธ์ของการบริโภคคาเฟอีนช่วงตั้งครรภ์กับความเสี่ยงต่อการเกิดผลเสียหลายอย่างต่อทารกในครรภ์ (รูปที่ 1ก) ดังที่จะกล่าวถึงข้างล่างนี้ ซึ่งการเกิดผลเสียต่อทารกในครรภ์อาจเกิดได้แม้ผู้หญิงมีครรภ์บริโภคคาเฟอีนในปริมาณที่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่บางองค์กรกำหนดไว้ (คือไม่ควรบริโภคเกินกว่าวันละ 200 มิลลิกรัม) ดังกล่าวแล้วข้างต้น
  1. การแท้ง (miscarriage) พบว่าการบริโภคคาเฟอีนในช่วงตั้งครรภ์จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งที่เกิดขึ้นเองตั้งแต่อายุครรภ์ยังไม่มากนัก ความเสี่ยงเพิ่มตามขนาดคาเฟอีนที่บริโภค
  2. ภาวะตายคลอด (stillbirth) เป็นการให้กำเนิดทารกที่เสียชีวิตในครรภ์ ซึ่งบางการศึกษาพบว่าผู้หญิงมีครรภ์ที่บริโภคคาเฟอีนปริมาณสูงมีโอกาสเกิดได้มากกว่าผู้หญิงที่ไม่ได้บริโภคคาเฟอีนถึง 2 เท่า
  3. ทารกแรกคลอดตัวเล็ก มีการศึกษาพบว่าผู้หญิงมีครรภ์ที่บริโภคคาเฟอีนตลอดช่วงที่ตั้งครรภ์มีโอกาสให้กำเนิดทารกที่มีน้ำหนักตัวแรกคลอด ขนาดแขน ขนาดต้นขา ขนาดศีรษะและความยาวตัว น้อยกว่าผู้หญิงที่บริโภคเครื่องดื่มที่ไร้คาเฟอีนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งผลต่อน้ำหนักตัวทารกแรกคลอดที่พบว่าต่ำกว่าเกณฑ์หรือมีน้ำหนักน้อยเมื่อเทียบกับทารกที่มีอายุในครรภ์เท่ากันนั้น พบได้แม้ผู้หญิงมีครรภ์บริโภคคาเฟอีนเพียงวันละ 50 มิลลิกรัม (กาแฟประมาณครึ่งแก้ว)
  4. ผลเสียเมื่อทารกเจริญสู่วัยเด็ก มีการศึกษาวิจัยโดยการสังเกตที่เป็นการศึกษาจากเหตุไปหาผล (cohort study) หรือการศึกษาจากผลไปหาเหตุ (case-control study) พบความสัมพันธ์ของการบริโภคคาเฟอีนช่วงตั้งครรภ์กับการให้กำเนิดทารกที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหรือความผิดปกติบางอย่างเมื่อเจริญสู่วัยเด็ก เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดลิมฟอยด์ (acute lymphoblastic leukemia), การมีน้ำหนักตัวมากเกิน (overweight), การเป็นโรคอ้วน (obesity), การเรียนรู้ด้อยลง (cognitive impairment)
  5. ผลเสียอื่น อาจพบทารกแรกคลอดเกิดอาการขาดคาเฟอีน เช่น การนอนหลับผิดปกติ อาเจียน หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ การหายใจไม่สม่ำเสมอ มีอาการตัวสั่น
กรณีที่เกี่ยวกับการคลอดทารกก่อนครบกำหนด (preterm birth) นั้น ข้อมูลยังไม่ชัดเจนว่าจะมีความสัมพันธ์ของการบริโภคคาเฟอีนในช่วงตั้งครรภ์หรือไม่ เนื่องจากการศึกษาที่ผ่านมาราวครึ่งหนึ่งรายงานว่ามีความสัมพันธ์กันแต่อีกราวครึ่งหนึ่งไม่พบเช่นนั้น นอกจากนี้ยังไม่พบความสัมพันธ์ของการบริโภคคาเฟอีนในผู้หญิงมีครรภ์กับความเสี่ยงต่อการให้กำเนิดทารกพิการและไม่พบผลระยะยาวต่อพฤติกรรมเมื่อลูกเติบโตสู่วัยเด็ก



ผลเสียของคาเฟอีนต่อลูกในท้องของสัตว์ทดลอง

การบริโภคคาเฟอีนในผู้หญิงมีครรภ์ซึ่งส่งผลเสียไปสู่ทารกดังที่กล่าวข้างต้นนั้น มีผลการศึกษาในสัตว์ทดลองมาสนับสนุน ซึ่งพบว่าการให้คาเฟอีนแก่หนูที่ตั้งท้องส่งผลรบกวนตั้งแต่ก่อนที่ตัวอ่อนจะฝังตัวไปจนถึงหลังคลอด เช่น รบกวนการบีบตัวของท่อนำไข่ ความพร้อมของมดลูกที่จะรองรับการฝังตัวของตัวอ่อน การเจริญและพัฒนาการของตัวอ่อนที่ฝังตัวแล้ว ทำให้ลูกที่คลอดออกมามีจำนวนน้อยกว่าจำนวนที่ฝังตัว ทำให้ลูกมีน้ำหนักตัวแรกคลอดน้อยและมีการทำงานระบบประสาทบางส่วนผิดปกติ (รูปที่ 1ข)

คาเฟอีนทำให้เกิดผลเสียต่อทารกในครรภ์ได้อย่างไร?

ภายหลังการบริโภค คาเฟอีนกระจายไปยังส่วนต่าง ๆของร่างกายได้ดีรวมถึงการเข้าสู่สมองและผ่านรกไปสู่ทารกในครรภ์ อีกทั้งยังพบการสะสมของคาเฟอีนในของเหลวภายในท่อนำไข่และมดลูก คาเฟอีนอาจทำให้เกิดผลเสียต่อทารกในครรภ์โดยมีผลต่อแม่หรือมีผลโดยตรงต่อทารกดังนี้
  1. ผลของคาเฟอีนต่อแม่ทำให้เกิดผลเสียต่อทารกในครรภ์ คาเฟอีนและพาราแซนทีน (ซึ่งเป็นเมแทบอไลต์ตัวหลักของคาเฟอีนและมีฤทธิ์คล้ายคาเฟอีน) ส่งผลต่อร่างกายหลายอย่าง เช่น กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้สมองให้ตื่นตัว รู้สึกกระปรี้กระเปร่า มีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น นอนไม่หลับ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดผลเสียได้เนื่องจากทำให้ร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ อาจส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ นอกจากนี้คาเฟอีนกระตุ้นการหลั่งอะดรีนาลีน (adrenaline) ทำให้หัวใจทำงานเพิ่มขึ้น (หัวใจเต้นเร็วและเต้นแรงขึ้น) และหลอดเลือดหดตัว ส่งผลให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น พบว่าการบริโภคคาเฟอีน 200 มิลลิกรัมทำให้การไหลเวียนเลือดในรกลดลงประมาณ 25% จึงอาจส่งผลต่อการเจริญของทารกในครรภ์ นอกจากนี้คาเฟอีนยังเพิ่มการขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะ ดังนั้นหากบริโภคคาเฟอีนปริมาณมากเป็นประจำอาจส่งผลกระทบต่อการสร้างกระดูกของทารกได้
  2. ผลเสียของคาเฟอีนต่อทารกในครรภ์โดยตรง คาเฟอีนสามารถผ่านรกได้ดี ระดับคาเฟอีนในเลือดของทารกในครรภ์กับของแม่มีพอ ๆกัน คาเฟอีนทำให้เส้นเลือดทารกหดตัวจึงลดการไหลเวียนเลือดและทำให้หัวใจของทารกเต้นเร็ว จึงรบกวนการนำส่งออกซิเจนภายในตัวทารก นอกจากนี้การสะสมของคาเฟอีนในของเหลวภายในมดลูกและท่อนำไข่อาจมีผลต่อพัฒนาของตัวอ่อนและทารกในครรภ์ รวมถึงทารกหลังคลอด
ข้อแนะนำผู้หญิงมีครรภ์ให้หลีกเลี่ยงการบริโภคคาเฟอีน

แม้ว่าขณะนี้บางองค์กรยังคงมีข้อแนะนำเกี่ยวกับปริมาณคาเฟอีนที่ผู้หญิงมีครรภ์บริโภคว่าไม่ควรเกินวันละ 200 มิลลิกรัม หรือเทียบเท่าการดื่มกาแฟ 1-2 แก้ว แต่เนื่องจากมีข้อมูลว่าผู้หญิงมีครรภ์ที่บริโภคคาเฟอีนเพียงวันละ 50 มิลลิกรัม (กาแฟประมาณครึ่งแก้ว) ตลอดช่วงการตั้งครรภ์อาจเกิดผลเสียต่อทารกในครรภ์ โดยพบว่าเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้ทารกแรกคลอดมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์และอาจมีผลเสียอื่นอีก ด้วยเหตุนี้ผู้หญิงมีครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคคาเฟอีนโดยสิ้นเชิง

เอกสารอ้างอิง
  1. Qian J, Chen Q, Ward SM, Duan E, Zhang Y. Impacts of caffeine during pregnancy. Trends Endocrinol Metab 2020; 31:218-27.
  2. Gleason JL, Tekola-Ayele F, Sundaram R, Hinkle SN, Vafai Y, Buck Louis GM, et al. Association between maternal caffeine consumption and metabolism and neonatal anthropometry: a secondary analysis of the NICHD fetal growth studies-singletons. JAMA Netw Open 2021. doi: 10.1001/jamanetworkopen.2021.3238. Accessed: July 2, 2021.
  3. James JE. Maternal caffeine consumption and pregnancy outcomes: a narrative review with implications for advice to mothers and mothers-to-be. BMJ Evid Based Med 2021; 26:114-5.
  4. Jin F, Qiao C. Association of maternal caffeine intake during pregnancy with low birth weight, childhood overweight, and obesity: a meta-analysis of cohort studies. Int J Obes 2021; 45:279-87.
  5. Zhang Y, Wang Q, Wang H, Duan E. Uterine fluid in pregnancy: a biological and clinical outlook. Trends Mol Med 2017; 23:604-14.
  6. Galéra C, Bernard JY, van der Waerden J, Bouvard MP, Lioret S, Forhan A, et al. Prenatal caffeine exposure and child IQ at age 5.5 years: The EDEN Mother-Child Cohort. Biol Psychiatry 2016; 80:720-6.
  7. van Dam RM, Hu FB, Willett WC. Coffee, caffeine, and health. N Engl J Med 2020; 383:369-78.
  8. The American College of Obstetricians and Gynecologists. ACOG Committee Opinion No. 462: Moderate caffeine consumption during pregnancy. Obstet Gynecol 2010; 116(2 Pt 1):467-8, reaffirmed 2020.
  9. Heckman MA, Weil J, Gonzalez de Mejia E. Caffeine (1, 3, 7-trimethylxanthine) in foods: a comprehensive review on consumption, functionality, safety, and regulatory matters. J Food Sci 2010; 75:R77-87.
  10. Papadopoulou E, Botton J, Brants?ter AL, Haugen M, Alexander J, Meltzer HM, et al. Maternal caffeine intake during pregnancy and childhood growth and overweight: results from a large Norwegian prospective observational cohort study. BMJ Open 2018. doi: 10.1136/bmjopen-2017-018895. Accessed: July 2, 2021.
  11. Kumar VHS, Lipshultz SE. Caffeine and clinical outcomes in premature neonates. Children (Basel) 2019. doi: 10.3390/children6110118. Accessed: July 2, 2021.
  12. Voerman E, Jaddoe VW, Hulst ME, Oei EH, Gaillard R. Associations of maternal caffeine intake during pregnancy with abdominal and liver fat deposition in childhood. Pediatr Obes 2020. doi: 10.1111/ijpo.12607. Accessed: July 2, 2021.
  13. Frayer NC, Kim Y. Caffeine intake during pregnancy and risk of childhood obesity: a systematic review. Int J MCH AIDS 2020; 9:364-80.
  14. Baptiste-Roberts K, Leviton A. Caffeine exposure during pregnancy: Is it safe? Semin Fetal Neonatal Med 2020. doi: 10.1016/j.siny.2020.101174. Accessed: July 2, 2021.
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ขยะอาหาร (Food Waste) 1 วินาทีที่แล้ว
แกงเลียง อาหารเป็นยา 11 วินาทีที่แล้ว
21 วินาทีที่แล้ว
ยาบ้า 29 วินาทีที่แล้ว
กระเทียมดำ 32 วินาทีที่แล้ว
สมุนไพรป้องกันยุง 35 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้