Loading…

วิธีปฏิบัติตัวเบื้องต้นเพื่อป้องกันผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19

วิธีปฏิบัติตัวเบื้องต้นเพื่อป้องกันผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19

รองศาสตราจารย์ ภญ.บุษบา จินดาวิจักษณ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภก.ศุภทัต ชุมนุมวัฒน์ ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วันที่รวบรวมข้อมูล: 26 เมษายน พ.ศ. 2564

22,992 ครั้ง เมื่อ 1 ช.ม.ที่แล้ว
2021-05-03


วัคซีนสำหรับโรคโควิด-19 เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยลดปัญหาการแพร่ระบาดของโรค ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบบมีอาการรุนแรงหรือโอกาสเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ปัจจุบันในประเทศไทย (ข้อมูล ณ วันที่ 26 เมษายน 2564) มีวัคซีนที่ได้รับการจัดสรรเพื่อการฉีดให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคเรื้อรังต่างๆ ผู้ที่มีภาวะอ้วน และบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานในด่านหน้า จำนวน 2 ชนิดด้วยกัน คือ วัคซีนโคโรนาแวค หรือ ซิโนแวค (CoronaVac หรือ Sinovac COVID-19 vaccine) และวัคซีนป้องกันโควิด-19 แอสตร้าเซเนกา (COVID-19 Vaccine AstraZeneca)1 สำหรับวัคซีนชนิดอื่นๆ ที่มีทั่วโลกนั้นอยู่ในระหว่างกระบวนการจัดหาโดยกระทรวงสาธารณสุขเพื่อการเข้าถึงวัคซีนที่เหมาะสมสำหรับการทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย 
 
ภาพจาก : https://static.timesofisrael.com/www/uploads/2021/04/F210204CL02.jpg 
ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 มีอะไรบ้าง 
ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยทั่วไปมักไม่รุนแรงและหายเองได้ภายใน 2-3 วัน อาการส่วนใหญ่ที่พบภายหลังการฉีด1 ได้แก่

  • ปวดบริเวณที่ฉีด
  • มีไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย
  • คลื่นไส้ อาเจียน (น้อยกว่า 5 ครั้ง)

ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 25 เมษายน 2564 พบรายงานอาการข้างเคียงข้างต้นหรืออาการอื่นๆ ที่มีความรุนแรงที่ได้รับการยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญของกรมควบคุมโรคทั้งหมด 13 ราย จากการฉีดทั้งหมด 1.15 ล้านโดส และไม่พบการเสียชีวิตที่มีสาเหตุมาจากวัคซีนที่ได้รับการรายงาน2 อย่างไรก็ตามในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมามีรายงานการเกิดผลข้างเคียงทางระบบประสาท เช่น แขน-ขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว คล้ายอัมพฤกษ์-อัมพาต หลังจากการฉีดวัคซีน และทำให้เกิดความกังวลใจสำหรับผู้ที่วางแผนหรือกำลังจะได้รับวัคซีนตามที่ลงทะเบียนไว้ ผลข้างเคียงทางระบบประสาทนี้อาจเกิดได้จาก 2 สาเหตุหลัก3-5 ได้แก่

  1. การเกิดหลอดเลือดในสมองอุดตันจากภูมิคุ้มกันภายหลังได้รับวัคซีน มักเกิดขึ้นหลังจากได้รับวัคซีนไปแล้ว 4-30 วัน และมักพบในผู้หญิงอายุน้อยกว่า 55 ปี นอกจากนี้ยังอาจพบการอุดตันของหลอดเลือดที่ปอด ทางเดินอาหาร หรือขาได้เช่นกัน โดยปัญหานี้มีข้อมูลการรายงานว่าอาจจะสัมพันธ์กับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนกา, และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (Johnson & Johnson)6 อย่างไรก็ตาม อุบัติการการเกิดผลข้างเคียงนี้อยู่ในช่วง 1-8 คนจากทั้งหมด 1 ล้านคนที่ได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งถือว่าต่ำกว่าอัตราการเกิดหลอดเลือดอุดตันโดยทั่วไป
  2. การตอบสนองจากความเครียดที่เกิดจากการฉีดวัคซีน หรือ Immunization Stress Related Response (ISRR อ่านว่า ไอ-เอส-อาร์-อาร์) ซึ่งเป็นกลุ่มอาการหรืออาการแสดงที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาของการฉีดวัคซีนใดๆ (ไม่จำเพาะกับวัคซีนป้องกันโควิด-19) และยังไม่ทราบกลไกที่แน่ชัด แต่อาจเป็นผลมาจากความเครียดหรือความวิตกกังวล เช่น ความเครียดจากการถูกฉีดวัคซีน (หรือบางรายอาจจะกลัวเข็มฉีดยา) ความวิตกกังวลต่อผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการเกิดลิ่มเลือดอุดตันแต่อย่างใด อาการของ ISRR ที่พบมีตั้งแต่ ใจสั่น หน้ามืด เป็นลม ไปจนถึงอาการทางระบบประสาท เช่น ปวด เสียว ชา หรือแปล๊บๆ ตามแขนขา ชารอบปาก พูดไม่ชัด การเคลื่อนไหวผิดปกติชั่วคราว อ่อนเพลีย มึนศีรษะ ตามัว ซึ่งในประเทศไทยพบรายงานอาการในลักษณะนี้ภายหลังการฉีดวัคซีน Sinovac เป็นหลัก แต่ไม่ได้พบในคนทุกรายที่ได้รับการฉีดวัคซีน โดยอาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นภายใน 30 นาทีหลังจากการได้รับวัคซีน และเกิดเพียงชั่วคราว ส่วนใหญ่สามารถหายเองได้ใน 3 วัน3

อาการผิดปกติทางระบบประสาททั้งสองสาเหตุแม้จะมีอาการแสดงออกที่คล้ายคลึงกัน และการเกิดอาจจำเพาะกับชนิดวัคซีนที่ได้รับ แต่มีความแตกต่างด้านระยะเวลาในการเกิดปัญหา และการจัดการปัญหา ดังนั้นผู้ที่เข้ารับวัคซีนควรปฏิบัติตามคำแนะนำของบุคลากรทางการแพทย์ ณ สถานพยาบาลรับการฉีดวัคซีนอย่างเคร่งครัดเพื่อให้เกิดการจัดการที่เหมาะสมและทันท่วงที 
ควรปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อลดความเสี่ยงหรือผลกระทบจากผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เมื่อตัดสินใจเข้ารับการฉีดวัคซีนและได้รับนัดหมายเรียบร้อยแล้ว ผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนอาจปฏิบัติตัวในเบื้องต้นดังนี้

  • ก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน 
    - พักผ่อนให้เพียงพอเพื่อลดความเครียดของร่างกายและจิตใจก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน 
    - ดื่มน้ำอย่างเพียงพอเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
  • วันที่เข้ารับการฉีดวัคซีน 
    - สวมใส่เสื้อผ้าที่สบาย ระบายอากาศได้ดี ไม่คับแน่นจนเกินไปจนทำให้ร้อน หรือยากต่อการฉีดวัคซีน 
    - แจ้งบุคลากรทางการแพทย์เกี่ยวกับประวัติโรคประจำตัว ประวัติแพ้ยา อาหาร หรือสารเคมีต่างๆ และหากมีบัตรแพ้ยา ควรพกติดตัวไปด้วย 
    - เมื่อได้รับการฉีดวัคซีนควรพักรอที่สถานพยาบาลอย่างน้อย 30 นาที เพื่อการติดตามเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีน แพ้วัคซีน และรับการประเมินจากแพทย์อย่างเหมาะสมได้ทันท่วงที 
    - หากมีอาการอ่อนเพลียหรือง่วงหลังจากฉีดวัคซีน ควรหลีกเลี่ยงการขับรถทางไกลหรือใช้เครื่องจักรที่ต้องใช้สมาธิสูง
  • หลังจากการฉีดวัคซีน 
    - ในช่วง 30 วันหลังฉีดวัคซีน (ทั้งเข็มที่ 1 และ 2) ควรสำรวจตนเองว่ามีอาการของหลอดเลือดอุดตัน (โดยเฉพาะผู้ที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนกา) เช่น ปวดศีรษะรุนแรง แขนขาชา/อ่อนแรง หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด ชัก ตามัว เห็นภาพซ้อน เหนื่อยง่าย หายใจลำบากหรือติดขัด เจ็บแน่นหน้าอก ปวดท้องหรือปวดหลังรุนแรง ขาบวมแดง หรือ ซีด เย็น4หากมีอาการดังกล่าวให้รีบมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อรับการประเมินและจัดการที่เหมาะสม 
    - หากผลข้างเคียงหลังจากฉีดวัคซีน เช่น ปวด ไข้ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน หรืออาการชา นั้นแย่ลงหรือไม่มีแนวโน้มจะดีขึ้นภายใน 72 ชั่วโมง ควรมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล 
    - หากมีอาการปวดบริเวณที่ฉีด อาจรับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล เพื่อบรรเทาอาการได้

สรุป 
วัคซีนป้องกันโควิด-19 ช่วยลดโอกาสในการมีอาการติดเชื้อรุนแรงหรือเสียชีวิตจากการติดเชื้อ และช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่เพื่อลดการระบาดของโรค อีกทั้งผลข้างเคียงโดยทั่วไปมักไม่รุนแรงและหายได้เอง กรณีของผลข้างเคียงที่รุนแรงนั้นพบได้น้อยและบางส่วนสามารถติดตามอาการและจัดการได้หากบุคลากรทางการแพทย์ได้รับข้อมูลอย่างทันท่วงที ตลอดจนเมื่อผู้รับการฉีดวัคซีนทราบวิธีปฏิบัติตัวที่เหมาะสม ดังนั้น ในภาพรวมจึงอาจพิจารณาว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 มีประโยชน์มากกว่าผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหรือโอกาสเกิดความเจ็บป่วยที่รุนแรงหรือเสียชีวิตหากมีอาการติดเชื้อ ทั้งนี้การตัดสินใจเข้ารับการฉีดวัคซีนหรือไม่ก็อาจขึ้นกับวิจารณญาณของแต่ละบุคคลต่อข้อมูลที่ได้รับและบริบทของตนเอง 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. กรมควบคุมโรค. แนวทางการให้วัคซีนโควิด 19 ในสถานการณ์การระบาด[อินเทอร์เน็ต]. กุมภาพันธ์ 2564 [เข้าถึงเมื่อ 26 เมษายน 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://ddc.moph.go.th/uploads/files/1729520210301021023.pdf.
  2. กองโรคติดต่อทั่วไป. รายงานความก้าวหน้าการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด 19 โดย คณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการให้วัคซีนโควิด 19 ประจำวันจันทร์ที่ 26 เมษายน 2564 [อินเทอร์เน็ต]. 25 เมษายน 2564 [เข้าถึงเมื่อ 26 เมษายน 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://ddc.moph.go.th/uploads/files/1825020210426072355.jpg.
  3. กรมควบคุมโรค. แนวทางการปฏิบัติหลังเกิดอาการทางระบบประสาทภายหลังการได้รับวัคซีนโควิด 19 [อินเทอร์เน็ต]. 23 เมษายน 2564 [เข้าถึงเมื่อ 26 เมษายา 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://ddc.moph.go.th/uploads/ckeditor2//files/3.%20%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5.pdf.
  4. สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย. คำแนะนำการดูแลรักษาผู้ป่วยที่เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ที่กระตุ้นการเกิดหลอดเลือดอุดตันจากภูมิคุ้มกันภายหลังได้รับวัคซี [อินเทอร์เน็ต]. 12 เมษายน 2564 [เข้าถึงเมื่อ 26 เมษายน 2564]. เข้าถึงได้จาก: http://tsh.or.th/Activity/Detail/275.
  5. World Health Organization. Immunization stress related responses [Internet]. 20 December 2019 [Accessed on 26 April 2021]. Available from: https://www.who.int/publications/i/item/978-92-4-151594-8.
  6. Cines DB, Bussel JB. SARS-CoV-2 vaccine-induced immune thrombotic thrombocytopenia. N Engl J Med. 2021. doi: 10.1056/NEJMe2106315.

บทความที่ถูกอ่านล่าสุด

ตัวจี๊ด พยาธิตัวอันตรายที่มากับความอร่อย 1 วินาทีที่แล้ว
ยาลดไขมัน...ผลไม่พึงประสงค์ต่อกล้ามเนื้อ 5 วินาทีที่แล้ว
ยาแก้วิงเวียน ระวัง! อย่าใช้พร่ำเพรื่อ 15 วินาทีที่แล้ว
กินอะไร เลี่ยงอะไร ในโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (rheumatoid) 25 วินาทีที่แล้ว
ประโยชน์ของการบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน 27 วินาทีที่แล้ว
การปฐมพยาบาลด้วยสมุนไพร: สมุนไพรสำหรับอาการภายนอก 35 วินาทีที่แล้ว
ยาหอม กับคนวัยทำงาน 38 วินาทีที่แล้ว
ยาในน้ำนมแม่ ตอนที่ 1 : ยาลดความดันโลหิต 39 วินาทีที่แล้ว
กลูต้าไธโอน (glutathione) ทำให้ขาวจริงหรือ?? 44 วินาทีที่แล้ว
พลาสติกแบบไหนที่สามารถเข้าไมโครเวฟได้ 46 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด

เกี่ยวกับคณะเภสัชศาสตร์
คลังความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
คณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
Copyright © 2021 - 2025
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
การใช้และการจัดการคุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา