เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ยาทาภายนอกรักษาโรคเชื้อรา : ยารักษากลากและเกลื้อน


รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์
หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/2/24/Yeartinfection.JPG/800px-Yeartinfection.JPG
อ่านแล้ว 432,642 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 29/03/2564
อ่านล่าสุด 4 นาทีที่แล้ว
https://tinyurl.com/yk3nfyxm
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ https://tinyurl.com/yk3nfyxm
 


โรคติดเชื้อราที่ผิวหนังพบได้บ่อยและส่วนใหญ่เกิดที่ผิวหนังชั้นตื้น เช่น กลาก เกลื้อน ซึ่งมักให้การตอบสนองดีต่อการรักษาด้วยยาต้านเชื้อราชนิดทาภายนอกที่มีใช้มากมาย ยาทาภายนอกสามารถแทรกซึมเข้าสู่ชั้นผิวหนังตรงบริเวณที่มีการติดเชื้อได้อย่างทั่วถึง แต่ไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่ระบบร่างกายหรือถูกดูดซึมได้น้อยมาก จึงไม่เกิดผลข้างเคียงต่อระบบร่างกาย ยาที่ใช้มีหลายรูปแบบ เช่น ครีม เจล ขี้ผึ้ง ยาน้ำใส โลชัน ยาน้ำแขวนตะกอน ซึ่งครีมเป็นรูปแบบที่ใช้กันมาก ในบทความนี้จะให้ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับโรคกลากและเกลื้อน ยาทาภายนอกที่ใช้รักษากลากที่ผิวหนังและเกลื้อน การออกฤทธิ์ของยา ผลไม่พึงประสงค์ และข้อแนะนำในการใช้ยาทารักษากลากและเกลื้อน

กลากและเกลื้อน

โรคติดเชื้อราที่เกิดกับผิวหนังชั้นตื้น (superficial fungal infection) ชนิดที่พบได้บ่อย คือ กลุ่มโรค “ทิเนีย (tinea)” ซึ่งได้แก่ “กลาก” และ “เกลื้อน” ซึ่ง “กลาก (ringworm)” เป็นชื่อเรียกกลุ่มโรคซึ่งรอยโรคมีลักษณะเป็นวง ขอบสีแดงชัดเจน อาจมีขุยหรือสะเก็ดที่ขอบ ตรงกลางมักเกลี้ยง (รูปที่ 1ก) และมีอาการคัน แม้ว่ากลากบางแห่งจะไม่เห็นเป็นวงและขอบสีแดงที่ชัดเจน กลากเกิดจากเชื้อราในกลุ่มเดอร์มาโตไฟต์ (dermatophytes) ซึ่งเจริญเติบโตโดยอาศัยเคราติน (keratin) ในหนังกำพร้าเป็นอาหาร ได้แก่ เชื้อราในสกุล (genus) Trichophyton, Microsporum และ Epidermophyton ในแต่ละสกุลมีเชื้ออยู่หลายสปีชีส์ (species) เชื้อราเหล่านี้ทำให้เกิดกลากที่ผิวหนังชั้นนอกสุด เส้นผมและเล็บ การเรียกชื่อโรคจะแตกต่างกันตามตำแหน่งที่เกิด เช่น “tinea corporis” กลากที่ลำตัว แขนและขา, “tinea unguium” กลากที่เล็บ, “tinea capitis” กลากที่หนังศีรษะและเส้นผม, “tinea pedis” กลากที่เท้าหรือโรคน้ำกัดเท้า (athlete's foot), “tinea cruris” กลากที่ขาหนีบ รอบอวัยวะเพศและทวารหนัก กลากติดต่อได้ด้วยการสัมผัสโดยตรงจากผู้ป่วยหรือสัตว์เลี้ยงที่มีเชื้อรา หรือติดต่อโดยได้รับสปอร์ราผ่านสิ่งของหรือเครื่องใช้ เช่น เครื่องนุ่งหุ่ม ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน ที่ใช้ร่วมกัน สปอร์เจริญได้ดีในสิ่งแวดล้อมที่ชื้นจึงอาจสัมผัสสปอร์ราจากสิ่งแวดล้อม

ส่วน “เกลื้อน (tinea versicolor หรือ pityriasis versicolor)” เกิดจากเชื้อราในรูปยีสต์ (มีลักษณะกลมหรือรูปไข่) ที่อยู่ในสกุล Malassezia เช่น Malassezia furfur, Malassezia globosa เป็นเชื้อที่อาศัยในหนังกำพร้าอยู่แล้ว เจริญเติบโตโดยอาศัยไขมันที่ผิวหนังและเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วเป็นอาหาร พบบริเวณผิวที่ชื้นและมีต่อมไขมันมาก ไม่ว่าจะเป็นที่หน้า คอหรือลำตัว เชื้อราในรูปยีสต์ที่เจริญเป็นเส้นใย (hyphae) จะทำให้เกิดโรค รอยโรคมีลักษณะเป็นวง ผิวหนังมีขุยละเอียด มักมีสีจางกว่าที่อื่น (เห็นเป็นวงขาว) แต่อาจพบผิวหนังมีสีเข้มขึ้นก็ได้ วงที่เกิดขึ้นมีหลายขนาด อยู่แยกกันหรือติดกันเป็นปื้น (รูปที่ 1ข) และอาจมีอาการคัน ทั้งกลากและเกลื้อนไม่ใช่โรคที่เป็นอันตราย แต่สร้างความรำคาญ รบกวนความปกติสุขและความสวยงาม ในการตรวจวินิจฉัยกลากและเกลื้อนแพทย์จะพิจารณาจากตำแหน่งที่เป็นและลักษณะรอยโรค ในรายที่สงสัยสามารถยืนยันด้วยผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (ซึ่งมีหลายวิธี เช่น ขูดผิวตรงรอยโรคและย้อมด้วย 10-20% โปแตสเซียมไฮดรอกไซด์, การเพาะเชื้อ)



ยาทารักษากลากและเกลื้อน

กลากที่ผิวหนัง (ในที่นี้หมายถึง กลากบริเวณลำตัว แขน ขา ขาหนีบและเท้า) และเกลื้อนให้การตอบสนองดีต่อการรักษาด้วยยาต้านเชื้อราที่ใช้ภายนอก ส่วนกลากที่เล็บ กลากศีรษะและเส้นผม ยาที่ใช้ภายนอกมักให้ผลการรักษาไม่เพียงพอต้องใช้ยาชนิดรับประทานร่วมด้วย ในที่นี้จึงกล่าวถึงยาทาภายนอกที่ใช้รักษากลากที่ผิวหนังและเกลื้อน โดยแบ่งเป็นกลุ่มต่าง ๆ ดังกล่าวข้างล่างนี้ สำหรับรูปแบบยา ความแรงและวิธีใช้ให้ดูตารางที่ 1
  1. กลุ่มอนุพันธ์อิมิดาโซล (imidazole antifungals) หรือกลุ่มเอโซล (azole antifungals) เป็นยากลุ่มใหญ่ มียามากมาย เช่น อีโคนาโซล (econazole), ไมโคนาโซล (miconazole), โคลไทรมาโซล (clotrimazole), ไอโซโคนาโซล (isoconazole), คีโตโคนาโซล (ketoconazole), ออกซิโคนาโซล (oxiconazole), ไบโฟนาโซล (bifonazole), ซัลโคนาโซล (sulconazole), ลาโนโคนาโซล (lanoconazole), ลูลิโคนาโซล (luliconazole), โอโมโคนาโซล (omoconazole), เซอร์ทาโคนาโซล (sertaconazole)
  2. กลุ่มอนุพันธ์มอร์โฟลีน (morpholine antifungals) เช่น อะโมรอลฟีน (amorolfine)
  3. กลุ่มเบนซิลามีน (benzylamine antifungals) เช่น บิวเทนาฟีน (butenafine)
  4. กลุ่มอัลลิลามีน (allylamine antifungals) เช่น เทอร์บินาฟีน (terbinafine), แนฟทิฟีน (naftifine)
  5. กลุ่มไทโอคาร์บาเมต (thiocarbamate antifungals) เช่น โทลนาฟเทต (tolnaftate)
  6. กลุ่มไฮดรอกซีไพริดีน (hydroxypyridine antifungals) เช่น ไซโคลพิร็อกซ์ (ciclopirox)
  7. ยาอื่น เช่น ขี้ผึ้งวิตฟิลด์ (Whitfield's ointment ซึ่งมีตัวยาสำคัญคือ กรดเบนโซอิก 6% และกรดซาลิไซลิก 3%) ใช้รักษาทั้งกลากและเกลื้อน แต่ไม่เหมาะกับผิวหนังที่บางหรืออ่อนนุ่ม, โซเดียมไทโอซัลเฟต (sodium thiosulfate) 20-25% ใช้รักษาเกลื้อน


ยาทารักษากลากและเกลื้อนออกฤทธิ์อย่างไร?

โดยทั่วไปยาทารักษากลากและเกลื้อนจัดเป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตและการเพิ่มจำนวนของเชื้อรา แม้ว่ายาในขนาดสูงหรือในความแรงที่มากขึ้นอาจออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อราได้ อีกทั้งยาบางชนิดที่มีฤทธิ์โดยตรงในการฆ่าเชื้อราได้ก็ตาม ยากลุ่มต่าง ๆ ที่กล่าวข้างต้นมีการออกฤทธิ์หลายอย่าง อาจรบกวนการสร้างหรือการทำหน้าที่ของผนังเซลล์ (cell wall) หรือเยื่อหุ้มเซลล์ (cell membrane), ยับยั้งการสังเคราะห์สารสำคัญต่อการดำรงชีพของเชื้อรา เช่น กรดนิวคลีอิก, สารเออร์โกสเตอรอล (ergosterol) เป็นต้น ซึ่งเออร์โกสเตอรอลมีบทบาทหลายอย่างต่อเซลล์ราและเป็นองค์ประกอบสำคัญของเยื่อหุ้มเซลล์ ราจะดำรงชีพไม่ได้ถ้าขาดสารนี้ การสังเคราะห์เออร์โกสเตอรอลอาศัยการทำงานของเอนไซม์หลายชนิด เอนไซม์เหล่านั้นจึงเป็นเป้าหมายในการออกฤทธิ์ของยาต้านเชื้อรา เช่น กลุ่มอนุพันธ์อิมิดาโซล (ดูรายชื่อตัวอย่างยาในกลุ่มต่าง ๆ ได้ในหัวข้อ ยาทารักษากลากและเกลื้อน) ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ลาโนสเตอรอล-14-แอลฟา-ดีเมทิเลส (lanosterol 14-alpha-demethylase), กลุ่มอนุพันธ์มอร์โฟลีนยับยั้งการทำงานของเอนไซม์สเตอรอล-เดลตา-14-รีดักเทส (sterol Δ14-reductase) และเอนไซม์สเตอรอล-เดลตา 8-เดลตา 7-ไอโซเมอเรส (sterol Δ8,Δ7-isomerase), กลุ่มอัลลิลามีน กลุ่มเบนซิลามีนและโทลนาฟเทต ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์สควาลีนโมโนออกซิจีเนส (squalene monooxygenase) หรือมีชื่ออื่นว่าสควาลีนอีพอกซิเดส (squalene epoxidase) เมื่อยับยั้งการทำงานของเอนไซม์เหล่านี้นอกจากทำให้ขาดเออร์โกสเตอรอลแล้ว ยังทำให้เกิดสะสมสารซึ่งไม่ถูกเอนไซม์นำไปใช้จนทำให้เกิดความเป็นพิษต่อเซลล์ราเนื่องจากสารเหล่านั้นได้อีกทางหนึ่งด้วย นอกจากนี้ยังมีการออกฤทธิ์อย่างอื่นด้วย เช่น ยาในกลุ่มอนุพันธ์อิมิดาโซลบางตัวมีฤทธิ์ลดการอักเสบได้โดยลดการชุมนุมของเม็ดเลือดขาว, ลดการสังเคราะห์สารก่อการอักเสบพวกลิวโคไตรอีน (leukotrienes) และพรอสตาแกลนดิน (prostaglandins), ลดการหลั่งฮีสตามีน (histamine) จากแมสต์เซลล์ (mast cells) ซึ่งฮีสตามีนทำให้หลอดเลือดขยายและยังเกี่ยวข้องกับอาการคัน

สำหรับไซโคลพิร็อกซ์มีการออกฤทธิ์ต่างออกไป คาดว่าอาจไปรบกวนการสังเคราะห์กรดนิวคลิอิกและการสังเคราะห์โปรตีน ตลอดจนอาจมีผลโดยตรงในการรบกวนคุณสมบัติของเยื่อหุ้มเซลล์จนทำหน้าที่ไม่ได้ ส่วนกรณียาขี้ผึ้งวิตฟิลด์ (มีตัวยาสำคัญคือกรดเบนโซอิกและกรดซาลิไซลิก) มีฤทธิ์หยุดการเจริญของเชื้อราและยังทำให้เคราตินอ่อนนุ่มและหลุดลอก ทำให้เชื้อราถูกขจัดได้ง่าย ส่วนการออกฤทธิ์ของโซเดียมไทโอซัลเฟตนั้นไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน คาดว่ายาค่อย ๆ ปล่อยสารกำมะถัน ซึ่งสารนี้อาจมีฤทธิ์ฆ่าหรือหยุดการเจริญของเชื้อรา อีกทั้งอาจทำให้เคราตินอ่อนนุ่มและหลุดลอกได้เช่นกัน

ยาทารักษากลากและเกลื้อนถูกดูดซึมเข้าสู่ระบบร่างกายหรือไม่?

ยาทาภายนอกจะแทรกซึมจากตำแหน่งที่ทายาลงสู่ผิวหนังชั้นล่างได้มากหรือน้อยเพียงใด รวมถึงการถูกดูดซึมเข้าสู่ระบบร่างกายหรือไม่นั้น ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น คุณสมบัติของตัวยา รูปแบบผลิตภัณฑ์ (ชนิดของเหลว ครีม เจล หรือขี้ผึ้ง) การตั้งสูตรตำรับ ความแรงของผลิตภัณฑ์ ปริมาณยาที่ทา ผิวหนังบริเวณที่ทายา ในกรณีที่มีบาดแผลจะมียาผ่านลงสู่ผิวหนังชั้นล่างได้มากขึ้น การที่หนังแท้และชั้นใต้หนังแท้มีเส้นเลือดและท่อน้ำเหลืองมาเลี้ยง จึงอาจมียาบางส่วนถูกดูดซึมเข้าสู่ภายในร่างกาย ทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายส่วนอื่นได้ สำหรับกรณีของยาทารักษากลากและเกลื้อนที่มีใช้นั้น ยาสามารถกระจายได้ดีในหนังกำพร้าชั้นนอกสุด คือ สตราตัมคอร์เนียม (stratum corneum) และบางผลิตภัณฑ์ยาเข้าถึงชั้นหนังแท้ได้ ยาอยู่ในชั้นผิวหนังได้นานหลายชั่วโมงภายหลังการทายาแต่ละครั้ง ส่วนใหญ่ยาจะถูกดูดซึมเข้าระบบร่างกายได้น้อยและไม่มีนัยสำคัญที่จะส่งผลไม่พึงประสงค์ต่อระบบร่างกาย

ยาทารักษากลากและเกลื้อนใช้นานเพียงใด?

ยาทารักษากลากและเกลื้อนจะทาวันละ 1 หรือ 2 ครั้ง (ดูตาราง) ขึ้นกับแต่ละผลิตภัณฑ์ ในการทายาควรทาบาง ๆ ทั่วรอยโรคและทากว้างออกไปโดยรอบอีกราว 2 เซนติเมตร ส่วนระยะเวลาในการใช้ยานอกจากขึ้นกับผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้ว ยังขึ้นกับชนิดของโรค (กลากและเกลื้อนเกิดจากเชื้อราต่างชนิดกัน แต่ส่วนใหญ่ยาที่นำมาใช้มีประสิทธิภาพดีต่อเชื้อราที่เป็นต้นเหตุทั้งกลากและเกลื้อน) บริเวณที่เป็นโรคและความรุนแรง โดยทั่วไปยาที่นำมาใช้เป็นยาที่หยุดการเจริญเติบโตและการเพิ่มจำนวนของเชื้อรา ในการรักษากลากที่ลำตัว แขน ขาและขาหนีบ รวมทั้งเกลื้อนใช้เวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ ส่วนกลากที่เท้า (โรคน้ำกัดเท้า) จะใช้เวลานานกว่านี้คือประมาณ 4-6 สัปดาห์ และหลังจากรอยโรคหายไปแล้วให้ทายาต่อไปอีกราว 2 สัปดาห์หรือนานกว่านี้ (ขึ้นกับผลิตภัณฑ์ที่ใช้และความรุนแรงของโรค) เพื่อกำจัดเชื้อราให้หมดและลดการกลับมาเป็นซ้ำ สำหรับยารุ่นใหม่และยาที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อราได้จะใช้เวลาสั้นกว่าที่กล่าวมา รวมถึงการใช้ภายหลังรอยโรคหายแล้วซึ่งอาจลดเหลือเพียง 1 สัปดาห์

ผลไม่พึงประสงค์ของยาทารักษากลากและเกลื้อน

ผลไม่พึงประสงค์ของยาทารักษากลากและเกลื้อนพบได้น้อย ไม่รุนแรง และเกิดตรงบริเวณที่ทายา เช่น อาการระคายผิว ผิวแห้ง ผิวแดง แสบร้อน คัน ส่วนอาการที่รุนแรง เช่น ผิวหนังอักเสบจากการแพ้ยา (allergic contact dermatitis) ผื่นขึ้น ลมพิษ เกิดตุ่มพอง พบได้ยาก หากเกิดอาการที่รุนแรงเหล่านี้ไม่ควรใช้ยาชนิดนั้นอีก

ยาต้านเชื้อราผสมสเตียรอยด์ใช้ในกรณีใด?

“ยาสเตียรอยด์” ที่เรียกกันทั่วไปนั้นเป็นยาในกลุ่มกลูโคคอร์ติคอยด์ (glucocorticoids) มีประโยชน์ทางการแพทย์กว้างขวาง ใช้ลดการอักเสบ ลดอาการแพ้ และกดภูมิคุ้มกันในโรคต่าง ๆ เมื่อใช้ภายนอกมีฤทธิ์ลดอาการคันและลดการอักเสบ ยาสเตียรอยด์ที่นำมาผสมร่วมกับยาต้านเชื้อราเพื่อใช้ภายนอกส่วนใหญ่ คือ โฮโดรคอร์ติโซน (hydrocortisone) ส่วนยาอื่นที่นำมาใช้ เช่น ไดฟลูคอร์โทโลน (diflucortolone) โดยมักผสมร่วมกับยาต้านเชื้อราในกลุ่มอนุพันธ์อิมิดาโซล ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่มียาต้านเชื้อราผสมสเตียรอยด์ เช่น ไมโคนาโซลผสมกับโฮโดรคอร์ติโซน, โคลไทรมาโซลผสมกับโฮโดรคอร์ติโซน, ไอโซโคนาโซลผสมกับไดฟลูคอร์โทโลน ยาสูตรผสมเหล่านี้ใช้ในกรณีที่โรคมีการอักเสบรุนแรง ซึ่งต้องใช้อย่างระมัดระวังและใช้เป็นเวลาสั้น ๆ เพราะการใช้เป็นเวลานานสเตียรอยด์อาจทำให้ผิวลีบ (atrophy) และยามีฤทธิ์กดภูมิต้านทานของร่างกาย จึงอาจทำให้เชื้อราที่เป็นอยู่เจริญได้ดีขึ้นหรือมีเชื้อชนิดอื่นเกิดแทรกซ้อนทำให้ยากต่อการรักษา ด้วยเหตุนี้ผลิตภัณฑ์ที่มีสเตียรอยด์ผสมกับยาต้านเชื้อราควรใช้นานที่สุดไม่เกิน 7 วัน ภายหลังการอักเสบทุเลาแล้วควรใช้เฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มียาต้านเชื้อราอย่างเดียว การใช้ตำรับที่ผสมสเตียรอยด์ชนิดที่มีความแรงสูงอย่างไม่เหมาะสมและใช้เป็นเวลานาน จะทำให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ได้มากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อทายาตรงบริเวณที่ผิวมีรอยพับซึ่งจะทำให้มียาปริมาณมากสะสมอยู่นาน

ข้อแนะนำในการใช้ยาทารักษากลากและเกลื้อน
  1. ก่อนทายา ควรทำความสะอาดบริเวณที่จะทายาและเช็ดให้แห้ง
  2. ยามีหลายรูปแบบ หากเป็นโรคบริเวณซอก การทายาครีมหรือขี้ผึ้งทั่วถึงได้ยาก อาจใช้รูปแบบอื่น เช่น ยาน้ำ กรณีที่เป็นยาน้ำให้เขย่าขวดก่อนใช้ยา
  3. การทายาไม่ว่ารูปแบบใด ควรทาบาง ๆ ให้ทั่วรอยโรคและทากว้างออกไปโดยรอบอีกราว 2 เซนติเมตร ไม่ควรทาตรงรอยถลอกหรือรอยเปิดของผิวหนัง เพราะยาจะถูกดูดซึมได้ดีขึ้น อาจเข้าสู่กระแสเลือดและเสี่ยงต่อการเกิดผลไม่พึงประสงค์ต่อระบบร่างกาย และหลังจากรอยโรคหายไปแล้วให้ทายาต่อไปอีกราว 1-2 สัปดาห์ (ขึ้นกับผลิตภัณฑ์ที่ใช้และความรุนแรงของโรค) เพื่อกำจัดเชื้อราให้หมดและลดการกลับมาเป็นซ้ำ
  4. หากเป็นกลากที่เท้า (โรคน้ำกัดเท้า) ภายหลังทายาอาจวางผ้าก๊อสหรือสำลีระหว่างนิ้วเท้าเพื่อลดความอับชื้นของซอกนิ้ว
  5. ผลิตภัณฑ์ที่มีสเตียรอยด์ผสมกับยาต้านเชื้อรา จะใช้ในกรณีที่จำเป็นเพื่อลดอาการอักเสบ และใช้นานที่สุดไม่เกิน 7 วัน ภายหลังการอักเสบทุเลาแล้วควรใช้เฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มียาต้านเชื้อราอย่างเดียว
  6. โดยทั่วไปกลากและเกลื้อนให้การตอบสนองดีต่อการรักษาด้วยยาต้านเชื้อราชนิดทาภายนอก ยกเว้นรายที่เป็นรุนแรง ครอบคลุมร่างกายเป็นบริเวณกว้าง หรือดื้อต่อการรักษาด้วยยาทาภายนอก อาจพิจารณาใช้ยาชนิดรับประทาน
  7. นอกเหนือจากการใช้ยา ควรรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล ดูแลให้ผิวแห้งไม่อับชื้น ใส่เสื้อผ้าและรองเท้าที่ระบายอากาศได้ดี ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น เครื่องนุ่งหุ่ม ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน และล้างมือให้สะอาดภายหลังสัมผัสสัตว์เลี้ยง
เอกสารอ้างอิง
  1. High WA, Fitzpatrick JE. Chapter 219. Topical antifungal agents. In: Goldsmith LA, Katz SI, Gilchrest BA, Paller AS, Leffell DJ, Wolff K, editors. Fitzpatrick's Dermatology in General Medicine, 8e. McGraw-Hill, 2012. https://accessmedicine.mhmedical.com/content.aspx?bookid=392§ionid=41138955. Accessed: March 10, 2021.
  2. Shinkai K, Fox LP. Fungal infections of the skin. In: Papadakis MA, McPhee SJ, Rabow MW, editors. Current Medical Diagnosis and Treatment 2020. McGraw-Hill. https://accessmedicine.mhmedical.com/content.aspx?bookid=2683§ionid=225034522. Accessed: March 10, 2021.
  3. Chapter 141. Tinea versicolor. In: Usatine RP, Smith MA, Chumley HS, Mayeaux EJ, Jr., editors. The Color Atlas of Family Medicine, 2e. McGraw-Hill, 2013. https://accessmedicine.mhmedical.com/Content.aspx?bookid=685§ionid=45361200. Accessed: March 10, 2021. Accessed: March 10, 2021.
  4. Poojary SA. Topical antifungals: a review and their role in current management of dermatophytoses. Clin Dermatol Rev 2017; 1:S24-9.
  5. Karray M, McKinney WP. Tinea versicolor, updated: August 10, 2020. In: StatPearls. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing, 2021. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK482500/. Accessed: March 10, 2021.
  6. Yee G, Al Aboud AM. Tinea corporis, updated: January 7, 2021. In: StatPearls. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing, 2021. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK544360/. Accessed: March 10, 2021.
  7. Pan J, Hu C, Yu JH. Lipid biosynthesis as an antifungal target. J Fungi 2018. doi: 10.3390/jof4020050. Accessed: March 10, 2021.
  8. Welsh O, Gonzalez GM. Dermatophytosis (tinea) and other superficial fungal infections. In: Hospenthal DR, Rinaldi MG, editors. Diagnosis and Treatment of Fungal Infections, Infectious Disease. Springer International Publishing, Switzerland 2015, pp. 245-60. doi 10.1007/978-3-319-13090-3_21. Accessed: March 10, 2021.
  9. Woo TE, Somayaji R, Haber RM, Parsons L. Diagnosis and management of cutaneous tinea infections. Adv Skin Wound Care 2019; 32:350-7.
  10. Kaushik N, Pujalte GG, Reese ST. Superficial fungal infections. Prim Care 2015; 42:501-16.
  11. Garg A, Sharma GS, Goyal AK, Ghosh G, Si SC, Rath G. Recent advances in topical carriers of anti-fungal agents. Heliyon 2020. doi: 10.1016/j.heliyon.2020.e04663. Accessed: March 10, 2021.
  12. MIMS drug information. https://www.mims.com/thailand/. Accessed: March 10, 2021.
  13. RxList - The Internet Drug Index for prescription drug information. https://www.rxlist.com/script/main/hp.asp. Accessed: March 10, 2021.
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


สับปะรด : ผลไม้รักษาโรค 8 วินาทีที่แล้ว
ยาลดไขมันในเลือด 25 วินาทีที่แล้ว
1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้