เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


เมลาโทนิน (melatonin) ตัวช่วยนอนหลับยอดฮิต


นศภ.กัญญ์สิริ อภินันทนกูล นักศึกษาฝึกปฏิบัติงานคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (สอบทานความสมบูรณ์และถูกต้อง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภก. อัญชลี จินตพัฒนากิจ)


ภาพประกอบจาก: https://www.nydailynews.com/resizer/vPPy...325QRM.jpg
อ่านแล้ว 205,245 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 30/07/2563
อ่านล่าสุด 17 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


ในยุคที่การนอนหลับเป็นเรื่องที่ยากขึ้น ด้วยปัจจัยหลายประการ เช่น ความเครียด หรือพฤติกรรมต่างๆที่เปลี่ยนไป หลายคนก็เริ่มหาแนวทางเพื่อให้มีการนอนหลับที่ดีและมีคุณภาพมากขึ้น เชื่อว่าทุกคนคงเคยได้ยินผลิตภัณฑ์ที่ชื่อว่า “เมลาโทนิน (melatonin)” บทความนี้เขียนขึ้นมาเพื่อเล่าความลับของเจ้าเมลาโทนินนี้ และตอบคำถามที่ค้างคาใจใครหลายคน เช่น เมลาโทนินนั้นช่วยนอนหลับได้กับทุกคนหรือไม่ ? หรือหากสนใจจะใช้แล้ว จะต้องระวังอะไรบ้าง ? 
 
ภาพจาก : https://imagevars.gulfnews.com/2018/12/12/iStock-925672338-(Read-Only)_resources1_16a0854053b_medium.jpg 
ความลับที่ 1 เมลาโทนินคืออะไร? 
เมลาโทนินเป็นฮอร์โมนของร่างกายที่สร้างขึ้นจากต่อมไพเนียล (pineal gland) โดยมีหน้าที่สำคัญในร่างกายของเราโดยเป็นเสมือนกุญแจเปิดประตูสู่การนอนหลับ โดยร่างกายจะเริ่มหลั่งสารนี้ออกมาตั้งแต่ช่วงที่พระอาทิตย์ตกดิน และร่างกายจะมีระดับของเมลาโทนินสูงสุดในช่วงครึ่งหนึ่งของคืน (half of night) โดยความมืดจะกระตุ้นการหลั่งสารเมลาโทนิน ในขณะที่แสงจะยับยั้งการหลั่งเมลาโทนิน ในปัจจุบันมีการศึกษาพบว่าการได้รับแสงสีฟ้า เช่น แสงจากหน้าจอโทรศัพท์มือถือ จะสามารถยับยั้งหรือชะลอการหลั่งเมลาโทนินได้ นอกจากนี้การศึกษาทางคลินิกยังพบว่าผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่พบการหลั่งเมลาโทนินลดลง จึงทำให้พบภาวะนอนหลับยากที่สัมพันธ์กับอายุได้ (age-related sleep disorder)[1,2] 
ความลับที่ 2 เมลาโทนินมีรูปแบบใดบ้าง? 
ในปัจจุบันเชื่อว่าหลายคนก็เคยเห็นผลิตภัณฑ์เมลาโทนินหลากหลายรูปแบบในประเทศไทย โดยอาจสรุปได้ดังนี้

  1. เมลาโทนินรูปแบบปลดปล่อยทันที มีทั้งที่อยู่ในรูปแบบยาเม็ดหรือรูปแบบอื่น เช่น กัมมี (gummies) ความแรง 3 มิลลิกรัม, 5 มิลลิกรัม, 10 มิลลิกรัม เป็นต้น โดยรูปแบบนี้ไม่มีการขึ้นทะเบียนเป็นยาในประเทศไทย
  2. เมลาโทนินรูปแบบออกฤทธิ์เนิ่น ความแรง 2 มิลลิกรัม เป็นรูปแบบที่มีจำหน่ายเป็นยาในประเทศไทย มีข้อบ่งใช้รักษาอาการนอนไม่หลับปฐมภูมิระยะสั้นในผู้ป่วยอายุ 55 ปีขึ้นไป โดยใช้ขนาด 2 มิลลิกรัมทานก่อนเข้านอนประมาณ 1 ชั่วโมง โดยสามารถใช้สูงสุดติดต่อกันได้เป็นเวลา 13 สัปดาห์[3]

รูปแบบยาที่มีในประเทศไทยนั้นเป็นรูปแบบออกฤทธิ์เนิ่น ซึ่งมีลักษณะสำคัญคือจะมีการปลดปล่อยตัวยาออกมาทีละน้อย และสามารถเลียนแบบการหลั่งของเมลาโทนินตามธรรมชาติของร่างกายได้ดี ซึ่งจะมีการหลั่งทีละน้อยจนถึงระดับสูงสุดและค่อยๆลดลงตลอดช่วงการนอน[5] 
มีการทดลองทางคลินิกขนาดเล็ก (small clinical trial) เปรียบเทียบการออกฤทธิ์ระหว่างเมลาโทนินรูปแบบปลดปล่อยทันที และเมลาโทนินรูปแบบออกฤทธิ์เนิ่นพบว่า เมลาโทนินรูปแบบออกฤทธิ์ทันทีจะเหมาะสมในผู้ที่หลับได้ยาก (delay sleep onset) ในขณะที่รูปแบบออกฤทธิ์เนิ่น เหมาะสมกับภาวะการนอนไม่หลับแบบที่มีการตื่นกลางดึกบ่อยๆ (sleep maintainance)[6] 
ความลับที่ 3 แล้วสรุปว่าเมลาโทนินเป็นยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 
อ่านมาถึงความลับข้อที่ 3 นี้ หลายคนคงสงสัยเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมายของเมลาโทนินมากขึ้น เบื้องต้นต้องเข้าใจก่อนว่าข้อกฎหมายของแต่ละประเทศนั้นมีความแตกต่างกัน เช่นในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น เมลาโทนินมีสถานะเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (dietary supplement) ซึ่งอาจมีทั้งในรูปแบบปลดปล่อยทันทีและรูปแบบออกฤทธิ์เนิ่น อย่างไรก็ตามด้วยสถานะที่เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ข้อกำหนดในการควบคุมคุณภาพจึงเข้มงวดน้อยกว่ายา และยังส่งผลให้สามารถจำหน่ายได้ทั่วไปอีกด้วย ซึ่งต่างกับประเทศไทยที่เมลาโทนินนั้นขึ้นทะเบียนเป็นยาอันตราย[4] ส่งผลให้สามารถจำหน่ายได้ในร้านยาหรือจ่ายตามที่แพทย์สั่งเท่านั้น 
ความลับที่ 4 เมลาโทนินช่วยให้เรานอนหลับได้อย่างไร? 
หลายคนอาจเริ่มสนใจที่จะใช้เมลาโทนินมากขึ้น แต่อย่างไรก็มาพิจารณากันก่อน เพราะว่าเมลาโทนินไม่ใช่ยานอนหลับครอบจักรวาล บทบาทหน้าที่หลักของเมลาโทนินคือควบคุมการทำงานของจังหวะเซอร์คาเดียน (circadian rhythm) หรือที่เราอาจรู้จักกันในนามนาฬิกาชีวภาพ (internal biological clock) นั่นเอง ดังนั้นจึงสอดคล้องกับข้อบ่งใช้ของเมลาโทนินคือในรักษาอาการนอนไม่หลับแบบปฐมภูมิ ในผู้ป่วยอายุมากกว่า 55 ปีขึ้นไป ซึ่งคำว่าปฐมภูมินี้หมายความว่า การนอนไม่หลับนี้ไม่มีสาเหตุชัดเจน เช่นไม่ได้เกิดจากยา สภาวะทางจิต หรือสิ่งแวดล้อมอื่นใด จากการศึกษาในผู้ที่มีอายุมากกว่า 55 ปีพบว่าการใช้เมลาโทนินในรูปแบบออกฤทธิ์เนิ่นสามารถเพิ่มคุณภาพการนอนได้ เช่น พบว่าผู้ป่วยมีความพึงพอใจในการนอนหลับมากขึ้น[7] ในประเทศไทยนั้นมีรูปแบบออกฤทธิ์เนิ่นที่จำหน่ายเป็นยาจึงอาจเหมาะกับผู้ป่วยที่มีปัญหาการนอนหลับไม่ต่อเนื่องเป็นหลัก 
สำหรับการศึกษาอื่นๆ เมื่อเทียบระหว่างการใช้เมลาโทนินและยาหลอก ในการป้องกันภาวะเจ็ทแลค (jet lag) พบว่าเมลาโทนินมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยดี เมื่อใช้ในระยะสั้นเพื่อป้องกันภาวะดังกล่าว โดยขนาดยาจะใช้ในขนาด 1.5-3 มิลลิกรัม ทานก่อนเวลานอนของประเทศเป้าหมายที่เดินทางไปเล็กน้อย[3] อย่างไรก็ตามหากผู้อ่านสนใจในประเด็นนี้สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในบทความ “เจ็ทแลค (Jet lag) เพลียเพราะบินไกลกินเมลาโตนินอย่างไรให้ได้ผล” 
ความลับที่ 5 ข้อควรระวังที่ต้องรู้ก่อนใช้เมลาโทนิน 
ความลับข้อสุดท้ายนี้จะพูดถึงข้อควรระวังในการใช้เมลาโทนิน เมลาโทนินนี้เป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัยในการใช้เมื่อใช้ตามขนาดที่ระบุไว้ และ ไม่พบอาการถอนยาเมื่อหยุดใช้ยา อย่างไรก็ตามพบว่าขณะใช้ยาอาจพบอาการข้างเคียง เช่น ง่วงซึม ปวดหัว ได้ดังนั้นควรเลี่ยงการขับขี่ยาหนะ หรือทำงานที่ความเสี่ยงสูงหากมีอาการง่วงซึมขณะใช้ยานี้ 
สำหรับหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลศึกษาเพียงพอเกี่ยวกับความปลอดภัยในประชากรกลุ่มนี้[5] 
จากความลับทั้ง 5 ที่ได้กล่าวมานี้เชื่อว่าหลายคนก็คงได้รู้จักกับเมลาโทนินในแง่มุมต่างๆที่มากขึ้น อย่างไรก็ตามหากมีอาการนอนไม่หลับ และสนใจในการใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ เบื้องต้นอยากให้สังเกตแบบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆเป็นอันดับแรก โดยอาจปฏิบัติตนตามสุขบัญญัติเพื่อการนอนหลับ (sleep hygiene) เช่น พยายามนอนหลับให้เป็นเวลาเดียวกันทุกวัน แม้จะเป็นในวันหยุด และ นอนหลับอย่างเพียงพออย่างน้อย 7 ชั่วโมงต่อวัน สำหรับผู้ที่ใช้อุปกรณ์สื่อสารเป็นกิจวัตรควรปิดอุปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์อย่างน้อย 30 นาทีก่อนการเข้านอน เป็นต้น[8,9] โดยการปรับพฤติกรรมเหล่านี้จะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุและยั่งยืน อย่างไรก็ตามหากท่านมีข้อสงสัยด้านการใช้ยา ไม่ว่าจะกำลังใช้ยาเมลาโทนินนี้อยู่ หรือสนใจที่จะใช้ยาควรปรึกษาแพทย์เภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ เพื่อให้ท่านใช้ยาได้อย่างมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุด 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Claustrat B, Brun J, Chazot G. The basic physiology and pathophysiology of melatonin. Sleep medicine reviews. 2005;9:11-24.
  2. มาโนช หล่อตระกูล. ยานอนหลับและสารช่วยการนอนหลับ (Hypnotic Drugs and Sleep-Promoting Agents). วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย. 2000. 45(1): 87-97
  3. Herxheimer A, Petrie KJ. Melatonin for the prevention and treatment of jet lag (Cochrane Review). Cochrane Database Syst Rev. 2002;2:CD001520.
  4. Melatonin [internet] :สำนักยา; 2562 [เข้าถึงเมื่อ 1 กรกฎาคม 2563]. เข้าถึงได้จาก http://ndi.fda.moph.go.th/drug_detail/index/?ndrug=6&rctype=1C&rcno=5300043&lpvncd=&lcntpcd=&lcnno=&licensee_no=
  5. European medicines agency. Circadin [Internet]; 2015 [cited 2020 Jun 28]. Available from: https://www.ema.europa.eu/en/medicines/human/EPAR/circadin
  6. Jan JE, Hamilton D, Seward N et al. Clinical trials of controlled-release melatonin in children with sleep-wake cycle disorders. J Pineal Res. 2000;29(1):34-39.
  7. Lemoine P, Nir T, Laudon M, Zisapel N. Prolonged-release melatonin improves sleep quality and morning alertness in insomnia patients aged 55 years and older and has no withdrawal effects. J Sleep Res. 2007;16(4):372-380.
  8. Healthy sleep habits [Internet]: AASM; 2017 [cited 2020 Jun 28]. available from: http://sleepeducation.org/essentials-in-sleep/healthy-sleep-habits
  9. Sateia MJ, Buysse DJ, Krystal AD, Neubauer DN, Heald JL. Clinical practice guideline for the pharmacologic treatment of chronic insomnia in adults: an American Academy of Sleep Medicine clinical practice guideline. J Clin Sleep Med. 2017;13(2):307–349.
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ยาคุมกำเนิดชนิดฉีด 3 วินาทีที่แล้ว
การเดินเพื่อสุขภาพ 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2025
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้