สุขภาพลำไส้ดี เริ่มที่รู้จักสี่ไบโอติกสำคัญ
รองศาสตราจารย์ ดร. ภญ.จิราพร เลื่อนผลเจริญชัย ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล |
|
37 ครั้ง เมื่อ 2 ช.ม.ที่แล้ว | |
2025-05-25 |
Reference: BURNS TRAUMA, Volume 11, , 2023, tkad022, https://doi.org/10.1093/burnst/tkad02
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา งานวิจัยทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ชีวภาพได้ให้ความสำคัญกับ "ไมโครไบโอมในลำไส้" (gut microbiome) ซึ่งหมายถึงกลุ่มจุลินทรีย์หลากหลายชนิดที่อาศัยอยู่ในระบบทางเดินอาหารของมนุษย์ ปัจจุบันพบว่าจุลินทรีย์เหล่านี้ไม่เพียงเกี่ยวข้องกับกระบวนการย่อยอาหารเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกัน การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด การสังเคราะห์วิตามิน ตลอดจนการส่งสัญญาณที่ส่งผลต่อสมองและอารมณ์
จุลินทรีย์ในลำไส้จะมีทั้งชนิดที่เป็นประโยชน์ (probiotic bacteria) และชนิดที่อาจก่อโรค หากระบบนิเวศของลำไส้เกิดความไม่สมดุล เช่น จากการรับประทานอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง การใช้ยาปฏิชีวนะบ่อยครั้ง หรือความเครียดเรื้อรัง จะทำให้จุลินทรีย์ชนิดไม่ดีเพิ่มจำนวน ส่งผลให้เกิดภาวะลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome: IBS) ภูมิคุ้มกันบกพร่อง และความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases: NCDs) เพิ่มขึ้น
เพื่อส่งเสริมสุขภาพของระบบทางเดินอาหารและสร้างสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ การบริโภคสารอาหารประเภท “ไบโอติก” (biotics) จึงเป็นหนึ่งในแนวทางที่ได้รับการยอมรับในแวดวงวิทยาศาสตร์ โดยสามารถแบ่งไบโอติกออกเป็น 4 ประเภทหลัก ได้แก่ โพรไบโอติก (probiotics) พรีไบโอติก (prebiotics) ซินไบโอติก (synbiotics) และโพสต์ไบโอติก (postbiotics)
1. โพรไบโอติก (probiotics)
โพรไบโอติก หมายถึงจุลินทรีย์มีชีวิต ซึ่งเมื่อบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม จะส่งผลดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค โดยเฉพาะในระบบทางเดินอาหาร ตามนิยามขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) แบคทีเรียที่จัดเป็นโพรไบโอติกที่ได้รับการศึกษาอย่างแพร่หลาย ได้แก่
จุลินทรีย์โพรไบโอติกสามารถลดการอักเสบของลำไส้ กระตุ้นการสร้างเมือกในเยื่อบุลำไส้ และแข่งขันกับเชื้อก่อโรคเพื่อป้องกันการติดเชื้อ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่สนับสนุนว่าโพรไบโอติกสามารถช่วยลดความรุนแรงของภาวะลำไส้แปรปรวน (IBS) ท้องเสียจากการใช้ยาปฏิชีวนะ และอาการภูมิแพ้บางประเภทได้อีกด้วย แหล่งอาหารที่ให้โพรไบโอติกตามธรรมชาติ ได้แก่ โยเกิร์ต (yogurt) กิมจิ (kimchi) มิโสะ (miso) คีเฟอร์ (kefir) และผลิตภัณฑ์นมหมักต่าง ๆ โดยควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่ามี “จุลินทรีย์มีชีวิต” หรือ “live active cultures”
2. พรีไบโอติก (prebiotics)
พรีไบโอติก คือสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่ร่างกายไม่สามารถย่อยได้ในลำไส้เล็ก แต่จะถูกย่อยโดยจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในลำไส้ใหญ่ ส่งผลให้จุลินทรีย์เหล่านี้สามารถเจริญเติบโตและทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างของพรีไบโอติก ได้แก่ อินนูลิน (inulin) ฟรุกโตโอลิโกแซคคาไรด์ (fructo-oligosaccharides: FOS) และกาแลคโตโอลิโกแซคกาไรด์ (galacto-oligosaccharides: GOS)
การบริโภคพรีไบโอติกอย่างเพียงพอสามารถเพิ่มปริมาณแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ เช่น Bifidobacterium และ Lactobacillus ในลำไส้ พร้อมทั้งช่วยกระตุ้นการผลิตกรดไขมันสายสั้น (short-chain fatty acids: SCFAs) อย่างบิวทิเรต (butyrate) ซึ่งมีผลต่อการลดการอักเสบและปกป้องเซลล์บุผิวลำไส้
แหล่งอาหารที่มีพรีไบโอติก ได้แก่ กล้วย (โดยเฉพาะกล้วยดิบ) กระเทียม หัวหอม หน่อไม้ฝรั่ง รากชิคอรี่ ข้าวโอ๊ต และธัญพืชไม่ขัดสี โดยควรรับประทานในรูปแบบที่ไม่ผ่านการปรุงด้วยความร้อนสูง เพื่อคงปริมาณพรีไบโอติกไว้ให้มากที่สุด
3. ซินไบโอติก (synbiotics)
ซินไบโอติก หมายถึงผลิตภัณฑ์ที่ประกอบด้วยโพรไบโอติกและพรีไบโอติกในสูตรเดียว โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการอยู่รอดและการทำงานของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในลำไส้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซินไบโอติกสามารถพบได้ทั้งในรูปของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและในอาหารฟังก์ชันบางประเภท เช่น โยเกิร์ตที่มีจุลินทรีย์ B. lactis และเติม FOS เครื่องดื่มนมเปรี้ยวที่มี L. casei พร้อม GOS แคปซูลที่ประกอบด้วย L. rhamnosus GGร่วมกับอินนูลิน หรือ ผงซองที่มี S. boulardii ผสมกับพรีไบโอติกแบบผง
การใช้ซินไบโอติกได้รับความสนใจในทางการแพทย์ เช่น การฟื้นฟูไมโครไบโอมหลังการใช้ยาปฏิชีวนะในระยะยาว การฟื้นตัวของผู้ป่วยหลังการผ่าตัดระบบทางเดินอาหาร และการบำบัดโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โดยมีหลักฐานว่าการใช้ซินไบโอติกสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของการดูแลสุขภาพลำไส้ได้มากกว่าใช้โพรไบโอติกหรือพรีไบโอติกเพียงอย่างเดียว
4. โพสต์ไบโอติก (postbiotics)
โพสต์ไบโอติก หมายถึงสารประกอบชีวภาพที่ได้จากกระบวนการหมักหรือการสลายตัวของจุลินทรีย์ เช่น กรดไขมันสายสั้น ตัวอย่างเช่น acetate, propionate, butyrate เปปไทด์ที่ออกฤทธิ์ทางชีวภาพ เอนไซม์ ตัวอย่างเช่น เบต้า-กาแลคโตซิเดส (beta-galactosidase) พอลิแซ็กคาไรด์ และสารต้านอนุมูลอิสระบางชนิด ตัวอย่างเช่น กรดฟีนอลิก (phenolic acid) แม้ว่าโพสต์ไบโอติกจะไม่ใช่จุลินทรีย์ที่มีชีวิตเหมือนโพรไบโอติก แต่ก็มีบทบาทสำคัญต่อการลดการอักเสบ กระตุ้นภูมิคุ้มกัน และส่งเสริมการฟื้นฟูเยื่อบุผนังลำไส้
การบริโภคอาหารที่ผ่านการหมักอย่างเหมาะสม เช่น มิโสะ กิมจิ (หลังผ่านการปรุงร้อน) ซุปเต้าเจี้ยวซีอิ๊วหมักธรรมชาติ ชีสที่บ่มเป็นเวลานาน (aged cheese) ตัวอย่างเช่น พาร์มีซาน และผลิตภัณฑ์จากการหมักด้วยจุลินทรีย์เฉพาะทาง อาจให้โพสต์ไบโอติกในปริมาณที่มีผลดีต่อสุขภาพ แม้จะไม่มีจุลินทรีย์มีชีวิตหลงเหลืออยู่ก็ตาม
บทสรุป
จากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พบว่าการส่งเสริมสุขภาพลำไส้ผ่านการบริโภคไบโอติกทั้ง 4 ประเภท ได้แก่ โพรไบโอติก พรีไบโอติก ซินไบโอติก และโพสต์ไบโอติก เป็นแนวทางที่มีศักยภาพสูงในการปรับสมดุลจุลชีพในลำไส้ (gut microbiota homeostasis) ลดการอักเสบเรื้อรัง เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน และสนับสนุนสุขภาพโดยรวมในระยะยาว ทั้งนี้ การเลือกบริโภคอาหารจากแหล่งที่เชื่อถือได้ มีคุณภาพดี และในปริมาณที่เหมาะสม รวมถึงการบริโภคอย่างสม่ำเสมอ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของไบโอติกแต่ละประเภทในการส่งเสริมสุขภาพ
![]() |
ปวดประจำเดือนกับยาตำรับประสะไพล 3 วินาทีที่แล้ว |
![]() |
รางจืด สมุนไพรแก้พิษและล้างพิษ 31 วินาทีที่แล้ว |
![]() |
อ่านฉลากยาดีๆ มีประโยชน์ 2 นาทีที่แล้ว |
![]() |
ยาไอซ์ (Ice) 2 นาทีที่แล้ว |
![]() |
เครื่องหมายสัญลักษณ์บนฉลากผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง มีความหมายว่าอย่างไร 3 นาทีที่แล้ว |
![]() |
เบญจอำมฤต... ตำรับยารักษามะเร็งตับ? 3 นาทีที่แล้ว |
![]() |
ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพร 3 นาทีที่แล้ว |
![]() |
คิดอย่างไร ... ไกลความเครียด 4 นาทีที่แล้ว |
![]() |
ยากับวัคซีนโควิด-19 : มีผลกระทบต่อกันอย่างไร? 6 นาทีที่แล้ว |
![]() |
ยาแก้ปวดประจำเดือน...ใช้อย่างไร 6 นาทีที่แล้ว |
![]() ![]() |
|
ที่เกี่ยวข้อง
หน่วยงานภายในคณะฯ
HTML5 Bootstrap Font Awesome