เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ป้องกันการแพ้ยารุนแรงด้วยการตรวจยีน


นศภ. อริสา เจนจิตศิริ นักศึกษาฝึกปฏิบัติงานคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (สอบทานความสมบูรณ์และถูกต้อง : อาจารย์ ดร.ภก. สุรศักดิ์ วิชัยโย)


ภาพประกอบจาก: https://media.self.com/photos/5c8bcd650d...ations.jpg
อ่านแล้ว 16,075 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 17/06/2563
อ่านล่าสุด 5 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


การแพ้ยา เป็นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกายที่มีต่อยา เมื่อร่างกายมองว่ายาคือสิ่งแปลกปลอมจึงต้องการกำจัด แต่หากมีการตอบสนองที่มากเกินไปอาจส่งผลเสียตามมา โดยอาการแพ้ยาบางครั้งอาจรุนแรงปานกลาง เช่น มีผื่นคันตามผิวหนัง ริมฝีปากบวม เปลือกตาบวม จนถึงอาการแพ้ที่รุนแรงมาก เช่น มีผื่นขึ้นทั่วร่างกาย ผิวหนังหลุดลอก เยื่อบุอักเสบ และเกิดความผิดปกติของอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต[1] ปัจจุบัน การศึกษาเกี่ยวกับสารพันธุกรรมของมนุษย์ได้เจริญก้าวหน้าขึ้นมาก จนสามารถพบยีนที่มีความสัมพันธ์กับอาการแพ้รุนแรงจากยาบางชนิด กล่าวคือ หากตรวจพบยีนชนิดนี้ในผู้ป่วย แพทย์มักหลีกเลี่ยงการสั่งจ่ายยาที่อาจทำให้เกิดการแพ้รุนแรงด้วยกลไกนี้ 
ยีนแพ้ยาคืออะไร 
ยีน มีองค์ประกอบสำคัญ คือ ดีเอ็นเอ (DNA = deoxyribonucleic acid) ซึ่งเป็นสารพันธุกรรมภายในเซลล์ โดยยีนทำหน้าที่ถ่ายทอดคำสั่งให้ร่างกายตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงในร่างกายน้อยกว่าปกติ เช่น มีการเสียเลือด หรือเกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตก จะเหนี่ยวนำให้ไตหลั่งฮอร์โมนชื่อว่า “อีริโทรโพอิติน (erythropoietin)” ไปกระตุ้นเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดภายในไขกระดูก (แหล่งสร้างเซลล์เม็ดเลือด) ให้มีการทำงานของยีนหลายชนิดภายในเซลล์ แล้วควบคุมให้เซลล์เหล่านี้เจริญเติบโตไปเป็นเซลล์เม็ดเลือดแดงมากขึ้น เพื่อชดเชยการสูญเสียเลือด เป็นต้น[2] 
แม้ว่าสารพันธุกรรมในมนุษย์มีความเหมือนกันถึงร้อยละ 99.5 แต่ความแตกต่างเพียงเล็กน้อยที่เรียกว่า “ความหลากหลายทางพันธุกรรม” ทำให้แต่ละคนมีลักษณะแตกต่างกัน รวมถึงอาจส่งผลให้มีประชากรบางส่วนสามารถเกิดการแพ้ยารุนแรงได้ ขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่เกิดอาการเหล่านี้ จากงานวิจัย พบว่า การกลายพันธุ์ของยีนบางชนิด เช่น ยีนที่ชื่อ “เอช-แอล-เอ-บี (HLA-B = Human Leukocyte Antigen-B)” ซึ่งทำหน้าที่สร้างโปรตีน HLA-B บนเซลล์ภูมิคุ้มกัน (เช่น เซลล์เม็ดเลือดขาว) โดยปกติโปรตีน HLA-B จะจับกับสิ่งแปลกปลอมที่เรียกรวม ๆ ว่า “แอนติเจน (antigen)” แต่หากมีการกลายพันธุ์ของยีนเป็น HLA-B*1502 ทำให้ได้โปรตีน HLA-B ที่แตกต่างออกไป ซึ่งสามารถจับกับยาหรือสารเคมีบางชนิด แล้วเป็นสาเหตุให้มีการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมากกว่าปกติจนเกิดภาวะภูมิไวเกิน (ดังแสดงในรูปภาพ)[3-4] 
 
ทำไมต้องตรวจหายีนแพ้ยา 
ในประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ. 2527-2553 พบผู้ป่วยแพ้ยาชนิดรุนแรงประมาณ 6,965 ราย และเสียชีวิต 260 ราย โดยรายการยาที่สงสัยมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ยาฆ่าเชื้อ “โคไตรม็อกซาโซล (co-trimoxazole)” ยากันชัก “คาร์บามาซีพีน (carbamazepine)” และยาลดกรดยูริกสำหรับรักษาโรคเกาต์ “อัลโลพูรินอล (allopurinol)”[5-6] 
โดยส่วนใหญ่ แนวทางป้องกันการแพ้ยา คือ ต้องทราบก่อนว่าผู้ป่วยเคยมีประวัติแพ้ยาชนิดใด แล้วอาจทำนายโอกาสการแพ้ยาตัวอื่นจากโครงสร้างของยาที่คล้ายกัน อย่างไรก็ตาม วิธีนี้มีข้อจำกัดหลายประการ เช่น ไม่สามารถรู้อย่างแน่ชัดว่าผู้ป่วยแพ้ต่อโครงสร้างส่วนใดของยา และไม่สามารถทำนายหรือป้องกันการแพ้ยาในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับยานั้นเป็นครั้งแรก จึงทำได้เพียงติดตามผลระหว่างใช้ยาและทำการรักษาเมื่อมีอาการแพ้เกิดขึ้น ซึ่งหากอาการแพ้มีความรุนแรงมาก (เช่น กรณียาคาร์บามาซีพีน) อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตและยังต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงในการรักษา[6-7] 
จากการศึกษาเกี่ยวกับสารพันธุกรรมในปัจจุบัน พบว่า ผู้ที่มียีน HLA-B*1502 เสี่ยงต่อการแพ้ชนิดรุนแรงจากยาคาร์บามาซีพีน มากกว่าปกติ 55 เท่า ซึ่งเชื่อว่าอาจเกี่ยวข้องกับกลไกดังที่กล่าวมาแล้ว (แสดงในรูปภาพ) นอกจากนี้ พบว่าผู้ที่มียีน HLA-B*5801 เสี่ยงต่อการแพ้ชนิดรุนแรงจากยาอัลโลพูรินอล มากกว่าปกติถึง 348 เท่า เป็นต้น ซึ่งการตรวจหายีนแพ้ยาเหล่านี้สามารถช่วยป้องกันการแพ้ยารุนแรงได้ตั้งแต่การใช้ยาครั้งแรก จึงมีประโยชน์ทั้งด้านความปลอดภัยและลดค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดจากการรักษาอาการแพ้ยาอีกด้วย[6-7] 
จำเป็นต้องตรวจยีนแพ้ยาในผู้ป่วยทุกคนหรือไม่ 
การตรวจหายีนแพ้ยาไม่สามารถทำได้กับยาทุกชนิด แต่ควรทำเมื่อผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ยาที่ทราบข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างยีนกับการแพ้ยารุนแรง โดยปัจจุบันรัฐบาลได้มีนโยบายสนับสนุนให้ตรวจยีนที่พบว่ามีความคุ้มค่าทางการแพทย์ ได้แก่ ยีน HLA-B*1502 ในผู้ป่วยรายใหม่ที่ได้รับยากันชักคาร์บามาซีพีน โดยเก็บตัวอย่างเลือดจากผู้ป่วยแล้วนำมาวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือทางชีวโมเลกุลและเครื่องถอดรหัสพันธุกรรม ซึ่งประชาชนที่ใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการและหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) จะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการตรวจ[7] และยีน HLA-B*5801 ในผู้ป่วยโรคเกาต์รายใหม่ที่ได้รับยาอัลโลพูรินอล ซึ่งสามารถเบิกจ่ายได้ในผู้ที่ใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการ[8] โดยผู้ป่วยรายใหม่ หมายถึง ผู้ที่ไม่เคยได้รับยาหรือได้รับยาไม่เกิน 2 เดือน เนื่องจากอาการแพ้ยาสามารถเกิดได้ทั้งแบบฉับพลัน (ภายในนาทีหรือชั่วโมงหลังจากสัมผัสยา) และแบบช้า (อาการเกิดขึ้นหลังจากได้รับยา 1-6 สัปดาห์)[9-10] ซึ่งอาการแพ้รุนแรงจากยาคาร์บามาซีพีน และยาอัลโลพูรินอล มักเกิดช้า[11-12] 
จากข้อมูลเหล่านี้ จะเห็นได้ว่าการตรวจหายีนแพ้ยาสามารถช่วยป้องกันการแพ้ยารุนแรงในผู้ป่วยรายใหม่ได้ ซึ่งปัจจุบันมีการศึกษาถึงความสัมพันธ์ของยีนและการแพ้ยาต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยหากมีข้อมูลเพิ่มมากขึ้นร่วมกับมีการประเมินความคุ้มค่าทางการแพทย์ ในอนาคตประชาชนอาจได้รับสิทธิการตรวจหายีนแพ้ยาตัวอื่น ๆ ตามมา เพื่อให้สามารถใช้ยาได้อย่างปลอดภัย 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Mayo clinic staff. Drug allergy. 2017 [cited 2020 May 22]. Available from: https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/drug-allergy/symptoms-causes/syc-20371835
  2. Mello FV, Land MGP, Costa ES, Teodosio C, Sanchez ML, Barcena P, et al. Maturation-associated gene expression profiles during normal human bone marrow erythropoiesis. Cell Death Discov 2019;5:69.
  3. Fan WL, Shiao MS, Hui RC, Su SC, Wang CW, Chang YC, et al. HLA Association with Drug-Induced Adverse Reactions. J Immunol Res 2017;2017:3186328.
  4. Nguyen DV, Chu HC, Nguyen DV, Phan MH, Craig T, Baumgart K, et al. HLA-B*1502 and carbamazepine-induced severe cutaneous adverse drug reactions in Vietnamese. Asia Pac Allergy 2015;5:68-77.
  5. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. แนะใช้วิธีตรวจสอบสารพันธุกรรมป้องกันการแพ้ยา. 2555 [เข้าถึงเมื่อ 22 พ.ค. 2563]. เข้าถึงได้จาก: https://www.thaihealth.or.th/Content/3761-แนะใช้วิธีตรวจสอบสานพันธุกรรมป้องกันการแพ้ยา.html
  6. ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช. นักวิจัยพบการตรวจยีน HLA-B*1502 ใช้ทำนายกลุ่มเสี่ยงแพ้ยารักษาลมชัก อาการชนิดรุนแรง สตีเวนส์ จอห์นสัน ในคนไทยได้สำเร็จ. 2553 [เข้าถึงเมื่อ 22 พ.ค. 2563]. เข้าถึงได้จาก: https://www.nstda.or.th/sci2pub/thaismc/september2010/FS079.pdf
  7. โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ. สปสช. เห็นชอบสิทธิประโยชน์ ‘ตรวจยีน HLA’ ลดความเสี่ยงผู้ป่วยโรคลมชักแพ้ยา. 2561 [เข้าถึงเมื่อ 22 พ.ค. 2563]. เข้าถึงได้จาก: http://www.hitap.net/news/172341
  8. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. กรมวิทย์ฯ ตรวจยีนแพ้ยาโรคเก๊าท์ฟรี 1 หมื่นรายเป็นของขวัญปีใหม่. 2562 [เข้าถึงเมื่อ 7 มิ.ย. 2563]. เข้าถึงได้จาก: https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/02/136126
  9. Warrington R, Silviu-Dan F, Wong T. Drug allergy. Allergy Asthma Clin Immunol 2018;14:60.
  10. Daniel VE. Drug Allergies. 2014 [cited 26 May 2020]. Available form: https://www.worldallergy.org/education-and-programs/education/allergic-disease-resource-center/professionals/drug-allergies
  11. Sousa-Pinto B, Correia C, Gomes L, Gil-Mata S, Araujo L, Correia O, et al. HLA and Delayed Drug-Induced Hypersensitivity. Int Arch Allergy Immunol 2016;170:163-79.
  12. Stamp LK, Barclay ML. How to prevent allopurinol hypersensitivity reactions? Rheumatology (Oxford) 2018;57:i35-i41.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


EM Ball (อีเอ็มบอล) 21 วินาทีที่แล้ว
หอมดอกปีบ 1 นาทีที่แล้ว
1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้