เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


วิตามินดี แสงแดด และอาการซึมเศร้า


รศ.ดร.ภญ. จิรภรณ์ อังวิทยาธร ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: https://t4.ftcdn.net/jpg/01/89/91/31/240...5ecjkS.jpg
อ่านแล้ว 45,259 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 19/10/2561
อ่านล่าสุด 2 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


เราทุกคนล้วนเคยมีอาการเบื่อหน่ายและซึมเศร้าในบางช่วงเวลาของชีวิตกันทั้งนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมปัจจุบันซึ่งผู้คนมีแต่ความเร่งรีบและสนใจหมกมุ่นอยู่แต่เรื่องการทำมาหากินของตนเอง ทำให้คนมีอาการซึมเศร้าเพิ่มมากขึ้น ผู้ที่ทราบสาเหตุของการเกิดภาวะซึมเศร้าของตนเอง อาจหาวิธีบรรเทาอาการดังกล่าวได้ แต่หลายคนก็ไม่สามารถทำได้ 
 
ภาพจาก : https://us.123rf.com/450wm/popunderlight/popunderlight1704/popunderlight170400163/76158436-asian-man-with-sad-mood-in-the-room-sadness-portrait-concept-black-and-white-tone-.jpg?ver=6 
วิธีรักษาอาการซึมเศร้ามีหลายวิธี เช่น วิธีจิตบำบัด โดยการพบแพทย์หรือนักจิตบำบัด การใช้ยาต้านอาการซึมเศร้า แต่ปัญหาที่มักจะพบ คือคนไข้ส่วนใหญ่มักไม่รับประทานยาหรือพบแพทย์อย่างต่อเนื่อง ทำให้การรักษาไม่ได้ผลเท่าที่ควร การเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตประจำวัน จากการที่อยู่คนเดียวเป็นส่วนใหญ่ หันมาสนุกสนานรื่นเริงกับญาติสนิทมิตรสหาย การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกำลังกายกลางแจ้ง ก็สามารถคลายภาวะซึมเศร้าได้ บางท่านอาจยังไม่ทราบว่าวิตามินดีจากแสงแดดเป็นยาต้านอาการซึมเศร้าได้ 
จากการศึกษาวิจัย พบความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญระหว่างระดับวิตามินดี (วัดจากระดับ 25-hydroxy vitamin D3 ในที่นี้จะเรียกสั้น ๆ ว่า วิตามินดี) ในกระแสเลือดกับภาวะซีมเศร้า โดยผู้ที่มีระดับวิตามินดีต่ำจะแสดงอาการของโรคซึมเศร้ามากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มคนที่มีสุขภาพปกติ ความรุนแรงของอาการจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อวิตามินดีมีระดับต่ำลงมาก กลไกที่ทำให้วิตามินดีมีความเกี่ยวข้องกับอาการซึมเศร้ายังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่มีงานวิจัยที่สนับสนุนว่าสมองส่วน hypothalamus มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะซึมเศร้า โดยผ่านกลไกของ vitamin D receptor ในร่างกายของมนุษย์จะพบ vitamin D receptor มากในส่วน hypothalamus ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำงานของต่อมไร้ท่อที่ถูกควบคุมโดยระบบประสาท (neuroendocrine system) 
วิตามินดีกระตุ้นเอนไซม์ที่ใช้ในการสังเคราะห์สารสื่อประสาท (neurotransmitter) จำพวก monoamines เช่น serotonin dopamine และ norepinephrine ซึ่งสารสื่อประสาทเหล่านี้มีผลช่วยลดความเครียดและภาวะซึมเศร้าได้ นอกจากนี้วิตามินดียังมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาของสมองและเซลล์ประสาท และมีความเกี่ยวข้องกับอาการทางจิตประสาทอื่น ๆ เช่น ความผิดปกติทางอารมณ์ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล (seasonal affective disorder หรือ SAD) โรคจิตเภท (Schizophrenia) เป็นต้น 
วิตามินดีในร่างกาย ปกติจะมีระดับสูงกว่า 30 ng/mL ถ้าต่ำกว่า 20 ng/mL จัดอยู่ในภาวะขาดวิตามินดี กลุ่มคนที่มักขาดวิตามินดี ได้แก่ ผู้สูงอายุ คนอ้วน ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่นโรคเบาหวาน กลุ่มคนทำงานที่ชีวิตประจำวันส่วนใหญ่อยู่แต่ในที่ทำงาน กลุ่มคนดังกล่าวจะมีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้ามากกว่าคนทั่วไป 
เซลล์ผิวหนังของร่างกายสามารถสังเคราะห์วิตามินดีได้จาก cholesterol โดยมีรังสียูวีบี (ultraviolet B) จากแสงแดดเป็นตัวกระตุ้น จากการศึกษาพบว่า การออกกำลังกายกลางแจ้งในที่ที่มีแสงแดด จะช่วยลดอาการซึมเศร้าได้ดีกว่าการออกกำลังกายในที่ร่มอย่างมีนัยสำคัญ การป้องกันการขาดวิตามินดีทำได้ง่าย ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลง lifestyle จากการอยู่แต่ในบ้านหรือที่ทำงาน ควรออกมาสัมผัสแสงแดดบ้าง โดยเฉพาะแสงแดดตอนเช้า การรับประทานอาหารที่มีวิตามินดีสูง เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน หอยนางรม ไข่ และ นมที่มีการเติมวิตามินดี อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยบางราย หรือผู้ที่ได้รับแสงแดดและอาหารอุดมด้วยวิตามินดีแล้ว ก็ยังไม่สามารถทำให้ระดับวิตามินดีในร่างกายอยู่ในระดับปกติได้ การรับประทานอาหารเสริมที่มีวิตามินดีอาจเป็นสิ่งจำเป็น 
ประโยชน์ของวิตามินดี นอกจากจะมีหน้าที่ช่วยการดูดซึมของแคลเซียม ทำให้กระดูกแข็งแรงและป้องกันโรคกระดูกพรุน (osteoporosis) แล้ว วิตามินดียังช่วยป้องกันโรคความดันโลหิตสูง และโรคหลอดเลือดหัวใจ พบว่าผู้ที่มีระดับวิตามินดีต่ำกว่า 15 ng/mL จะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 2 เท่า วิตามินดีช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมาก ผู้ที่ขาดวิตามินดี มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มากกว่าคนทั่วไป วิตามินดีช่วยซ่อมแซมเซลล์ที่สึกหรอจึงช่วยให้ผิวพรรณดี ช่วยเพิ่มความแข็งแรงและทนทานของกล้ามเนื้อ 
ประเทศไทยของเราโชคดีที่มีแสงแดดเกือบตลอดทั้งปี คนไทยจึงไม่น่าจะอยู่ในภาวะขาดวิตามินดี แต่เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่มีผิวคล้ำ ทำให้ผิวหนังได้รับแสงยูวีน้อย อีกทั้งค่านิยมที่ไม่ถูกต้องที่ว่า คนสวยต้องมีผิวขาวเท่านั้น ทำให้คนไทยกลัวแดด ชอบหลบแดด ซึ่งต่างจากคนในประเทศที่มีอากาศหนาว ที่เมื่อเห็นแสงแดดเมื่อไร ต้องรีบออกมานั่งหรือนอนกลางแดด การกลัวว่าถ้าอยู่ท่ามกลางแสงแดดนาน ๆ จะทำให้เป็นมะเร็งผิวหนัง จึงนิยมกางร่ม ใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูง ๆ เหล่านี้มีผลทำให้ได้รับวิตามินดีไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย 
การลดภาวะซึมเศร้าทำได้โดยไม่ต้องพึ่งยา เพียงแค่เดินออกจากบ้านมารับแสงแดด ถ้ากลัวผิวเสีย การรับแสงแดดยามเช้าช่วงก่อน 9.00 น. หรือตอนช่วงเย็นหลัง 16.00 น. แสงแดดจะไม่ร้อนมากนัก นอกจากจะทำให้ร่างกายได้รับวิตามินดีแล้ว แสงแดดยามเช้ายังช่วยให้อารมณ์สดชื่นแจ่มใสได้ แม้ในผู้ที่ไม่ได้มีอาการซึมเศร้า

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Penckofer S, Kouba J, Byrn M, and Estwing Ferrans C. Vitamin D and Depression: Where is all the Sunshine? Ment Health Nurs. 2010;31(6):385–393
  2. Hoogendijk WJG, Lips P, Dik MG, et al. Depression Is Associated With Decreased 25-Hydroxyvitamin D and Increased Parathyroid Hormone Levels in Older Adults. Arch Gen Psychiatry. 2008;65(5):508-512
  3. Shi H, Wang B, Xu X. Antidepressant Effect of Vitamin D: A Literature Review. Neuropsychiatry (London). 2017;7(4):337–341
  4. https://www.vitamindcouncil.org/health-conditions/depression
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


มะระขี้นก 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้