เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


คาเฟอีนในน้ำนมแม่...มีผลอย่างไรต่อทารก?


รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์
หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcS-e-DxwHRpJJgNPzuIQXfJs76t-9vWbNSzRVx5r_oHzFiwSjYa&s
อ่านแล้ว 99,383 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 05/02/2563
อ่านล่าสุด 2 นาทีที่แล้ว
https://tinyurl.com/yb89ngn6
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ https://tinyurl.com/yb89ngn6
 


คาเฟอีน (caffeine) พบได้ใน เมล็ด ผล และใบจากพืชบางชนิด โดยพบมากในเมล็ดกาแฟ นอกจากนี้ยังมีการสังเคราะห์ขึ้น คาเฟอีนมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง มีการนำมาใช้ประโยชน์เพื่อกระตุ้นสมองให้ตื่นตัว ตลอดจนใช้รักษาโรคบางอย่าง เช่น โรคปวดศีรษะ โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ นอกจากนี้ทารกที่คลอดก่อนกำหนดบางรายอาจได้รับคาเฟอีนเพื่อกระตุ้นการหายใจ ส่วนด้านเครื่องดื่มพบคาเฟอีนในเครื่องดื่มหลายชนิด เช่น กาแฟ ชา โคล่า เครื่องดื่มชูกำลัง การได้รับคาเฟอีนเป็นประจำโดยเฉพาะในปริมาณมากอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ คาเฟอีนถูกขับออกทางน้ำนมได้ดังนั้นแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมตนเองหากดื่มกาแฟปริมาณมากอาจส่งผลถึงลูกได้



ภาพจาก : https://media.npr.org/assets/img/2012/04/02/coffee_wide-febd516f4cf0534bd1cfebf8d945a36ee9970aca-s800-c85.jpg

ปริมาณคาเฟอีนในเครื่องดื่มมีมากน้อยเพียงใด?

ปริมาณคาเฟอีนในเครื่องดื่มมีมากน้อยแตกต่างกันไป ขึ้นกับชนิดของเครื่องดื่มและความนิยมในการบริโภคของแต่ละท้องถิ่นหรือแต่ละคน โดยทั่วไปในรูปแบบที่เตรียมเสร็จแล้วและพร้อมสำหรับดื่มนั้น ในกาแฟจะมีปริมาณคาเฟอีนมากกว่าชาและมากกว่าช็อกโกแลต ตามลำดับ เครื่องดื่มปริมาตร 1 แก้ว (ขนาด 240-250 มิลลิลิตร) มีปริมาณคาเฟอีนในกาแฟ 60-200 มิลลิกรัม ชา 10-50 มิลลิกรัม และช็อกโกแลต 2-5 มิลลิกรัม กาแฟที่สกัดเอาคาเฟอีนออก (decaffeinated coffee) ยังคงมีคาเฟอีนหลงเหลืออยู่เล็กน้อย โดยในเครื่องดื่ม 1 แก้วอาจมีปริมาณคาเฟอีนราว 3 มิลลิกรัม

ปริมาณคาเฟอีนในน้ำนมแม่มีมากน้อยเพียงใด?

ปริมาณคาเฟอีนในน้ำนมจะมากหรือน้อยขึ้นกับปริมาณที่แม่บริโภค คาเฟอีนถูกขับออกทางน้ำนมได้ดีและรวดเร็ว พบระดับคาเฟอีนสูงสุดในน้ำนมที่เวลา 1-2 ชั่วโมงหลังจากแม่ดื่มกาแฟ ปริมาณคาเฟอีนออกมาในน้ำนม 0.06-1.5% ของขนาดที่แม่ได้รับ หรือประมาณได้ว่าทารกที่ดื่มนมแม่น่าจะได้รับคาเฟอีนราว 7-10% ของปริมาณที่มารดาได้รับเมื่อปรับค่าตามน้ำหนักตัว หากแม่ได้รับคาเฟอีนน้อยกว่า 100 มิลลิกรัม จะมีคาเฟอีนในน้ำนมต่ำมากจนวัดไม่ได้ (ต่ำกว่า 0.2 มิลลิกรัมต่อลิตร) คาเฟอีนมีค่าครึ่งชีวิตในน้ำนม 4-6 ชั่วโมง (หมายความว่าทุก ๆ ช่วงเวลาดังกล่าวปริมาณคาเฟอีนในน้ำนมจะลดลงไปครึ่งหนึ่ง)

คาเฟอีนมีผลอย่างไรต่อทารก?

แม้ว่าคาเฟอีนในน้ำนมไม่ได้ส่งผลเสียร้ายแรงต่อทารก อย่างไรก็ตามหากแม่ที่บริโภคคาเฟอีนปริมาณสูงเป็นประจำ เช่น วันละ 750 มิลลิกรัมหรือมากกว่านี้ อาจส่งผลต่อพฤติกรรมบางอย่างของทารกอันเกิดจากฤทธิ์คาเฟอีนที่กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง เช่น นอนน้อยลง ตื่นง่าย กระสับกระส่าย งอแง อยู่ไม่สุข ดูดนมได้ไม่ดี นอกจากนี้แม่ที่ดื่มกาแฟเกินกว่าวันละ 450 มิลลิลิตร (หรือ 2 แก้ว) เป็นประจำ อาจทำให้ธาตุเหล็กในน้ำนมลดลง ในระยะยาวอาจทำให้ทารกที่บริโภคนมแม่เพียงอย่างเดียวเกิดภาวะโลหิตจางได้เล็กน้อยจากการขาดเหล็ก

คาแฟอีนอยู่ในร่างกายทารกได้นานเพียงใด?

ทารกแรกคลอดและทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะไวต่อคาเฟอีน เนื่องจากกำจัดคาเฟอีนออกจากร่างกายได้ช้า ร่างกายจึงสัมผัสคาเฟอีนเป็นเวลานานและมีโอกาสได้รับผลกระทบจากคาเฟอีนสูงกว่าทารกที่อายุมากขึ้น ค่าครึ่งชีวิต (ดูคำอธิบาย “ค่าครึ่งชีวิต” ข้างต้น) ของคาเฟอีนในทารกแรกคลอดเท่ากับ 50-100 ชั่วโมง (ในทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะใช้เวลานานกว่านี้) หากอายุมากกว่า 3 เดือนจะกำจัดคาเฟอีนได้เร็วขึ้น ค่าครึ่งชีวิตของคาเฟอีนในทารกอายุ 3-5 เดือนเท่ากับ 14 ชั่วโมง หากทารกมีอายุกว่า 6 เดือนค่าครึ่งชีวิตของคาเฟอีนเท่ากับ 2.6 ชั่วโมง ซึ่งใกล้เคียงกับที่พบในผู้ใหญ่ (ค่าครึ่งชีวิตของคาเฟอีนในผู้ใหญ่เท่ากับ 3-7 ชั่วโมง)

แม่ที่ให้นมลูกจะดื่มการแฟได้มากน้อยเพียงใด?

แม่ที่ให้นมลูกจำนวนไม่น้อยติดกาแฟ หากไม่สามารถเลิกดื่มได้ควรดื่มให้น้อยที่สุด แม้ว่าคาเฟอีนในน้ำนมไม่ได้ส่งผลเสียร้ายแรงต่อทารกแต่อาจมีผลรบกวนพฤติกรรมบางอย่างดังกล่าวข้างต้นได้ โดยเฉพาะเมื่อให้นมแก่ทารกแรกคลอด ทารกที่คลอดก่อนกำหนด หรือทารกที่อายุน้อยกว่า 3 เดือน โดยทั่วไปการบริโภคคาเฟอีนในปริมาณน้อยกว่า 200 มิลลิกรัม หรือดื่มกาแฟ 1-2 แก้ว (บางแหล่งข้อมูลอาจกำหนดไว้มากกว่านี้) มักไม่ส่งผลกระทบต่อทารก อย่างไรก็ตามไม่มีการศึกษาที่สนับสนุนอย่างชัดเจนว่าแม่ที่ให้นมลูกควรกำหนดปริมาณการบริโภคคาเฟอีนไว้ไม่เกินเท่าใด ในบางประเทศเคยกำหนดปริมาณไว้ที่ 300 มิลลิกรัม แต่ต่อมาลดเหลือ 200 มิลลิกรัม

การดื่มกาแฟที่สกัดเอาคาเฟอีนออกแล้วในปริมาณมาก เช่น วันละ 1.7 ถึง 2 ลิตร อาจส่งผลกระทบต่อทารกได้โดยเฉพาะทารกแรกคลอดหรือคลอดก่อนกำหนด เนื่องจากในกาแฟที่สกัดเอาคาเฟอีนออกแล้วนั้นยังคงมีคาเฟอีนปริมาณเล็กน้อยหลงเหลืออยู่

หากเกิดผลเสียต่อทารกจะแก้ไขอย่างไร?

ฤทธิ์คาเฟอีนในตัวทารกลดลงอย่างชัดเจนภายใน 2 สัปดาห์หรือเร็วกว่านี้ หากบริโภคนมแม่ที่ไม่มีคาเฟอีน อย่างไรก็ตามแม่ที่ติดกาแฟอย่างมากหากหยุดดื่มโดยทันทีอาจเกิดการขาดคาเฟอีน ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ง่วงนอน อ่อนเพลีย ตลอดจนอาการอื่น ๆ ได้ จึงควรค่อย ๆ ลดการดื่มลงก่อนที่จะหยุดดื่ม หากไม่สามารถหยุดดื่มได้ควรดื่มให้น้อยที่สุด รอจนกว่าทารกจะมีอายุมากขึ้น และหากอาการบางอย่างในทารกเกิดรุนแรง เช่น นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย อยู่ไม่สุข อาจต้องเข้ารับการรักษาเพื่อทุเลาอาการ

เอกสารอ้างอิง
  1. McCreedy A, Bird S, Brown LJ, Shaw-Stewart J, Chen YF. Effects of maternal caffeine consumption on the breastfed child: a systematic review. Swiss Med Wkly 2018. doi:10.4414/smw.2018.14665.
  2. Anderson PO. Potentially toxic foods while breastfeeding: garlic, caffeine, mushrooms, and more. Breastfeed Med 2018. doi:10.1089/bfm.2018.0192.
  3. Kumar VHS, Lipshultz SE. Caffeine and clinical outcomes in premature neonates. Children 2019. doi:10.3390/children6110118.
  4. Drugs and lactation database (LactMed). Bethesda (MD): National Library of Medicine (US); 2006-. Caffeine [updated: June 30, 2019]. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/. Accessed: January 2020.
  5. National Health and Medical Research Council 2012, infant feeding guidelines: information for health workers [updated: 2016]. https://www.nhmrc.gov.au/about-us/publications/infant-feeding-guidelines-information-health-workers. Accessed: January 2020.
  6. Bonyata K. Breastfeeding and caffeine [updated: January 13, 2018]. https://kellymom.com/bf/can-i-breastfeed/lifestyle/caffeine/. Accessed: January 2020.
  7. Aranda JV, Collinge JM, Zinman R, Watters G. Maturation of caffeine elimination in infancy. Arch Dis Child 1979; 54:946-9.
  8. Caffeine. RxList - The internet drug index for prescription drug information. https://www.rxlist.com. Accessed: January 2020.
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


วิตามินและแร่ธาตุ 7 วินาทีที่แล้ว
คอนแทคเลนส์ 1 นาทีที่แล้ว
ดอกคาโมมายล์ 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้