ความจำบกพร่องหรือความจำเสื่อมเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น อายุมากขึ้น ความเจ็บป่วยจากโรค การกระทบกระเทือนรุนแรงทางกายหรือทางจิตใจ การขาดสารอาหาร การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การอดนอน นอกจากนี้ยังมีสาเหตุมาจากการใช้ยา มียาหลายอย่างที่อาจให้ผลไม่พึงประสงค์ต่อสติปัญญา การเรียนรู้และความจำ โดยเฉพาะเมื่อใช้กับผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ ผลไม่พึงประสงค์ดังกล่าวอาจแสดงออกในลักษณะที่พบว่า ความจำลดลง หลงลืมง่าย ความเอาใจใส่ในสิ่งรอบข้างลดลง เป็นต้น ในบทความนี้จะกล่าวถึงความจำบกพร่องที่มีสาเหตุมาจากการใช้ยา เพื่อให้ผู้ที่ใช้ยาและผู้ใกล้ชิดมีความเข้าใจ ช่วยให้เกิดการหาแนวทางลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ตลอดจนช่วยให้เกิดความร่วมมือในการใช้ยาอย่างเหมาะสม
ภาพจาก :
https://msra.org.au/wp-content/uploads/2017/12/brain-5.jpg
ยาใดบ้างที่ทำให้ความจำบกพร่องได้?
ยาหลายอย่างส่งผลไม่พึงประสงค์โดยทำให้เกิดความบกพร่องเกี่ยวกับการเรียนรู้และความจำได้ โดยเฉพาะหากใช้ยาในขนาดสูงเป็นเวลานาน นอกจากนี้การใช้ยาหลายอย่างร่วมกันจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดความบกพร่อง ตัวอย่างยาที่มีผลรบกวนการเรียนรู้และความจำซึ่งพบได้บ่อย แบ่งเป็นกลุ่มตามการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ดังนี้ (นอกเหนือจากชื่อยาที่ระบุไว้ข้างล่างนี้ ยังมียาอื่นอีก)
- ยาต้านความวิตกกังวลกลุ่มเบนโซไดอะซีพีน (benzodiazepine antianxiety drugs) ตัวอย่างยา เช่น ไดอาซีแพม (diazepam), คลอร์ไดอาซีพอกไซด์ (chlordiazepoxide), ลอราซีแพม (lorazepam) ยาเหล่านี้ใช้รักษาโรคนอนไม่หลับ โรควิตกกังวล ภาวะกายใจไม่สงบ (agitation)
- ยาลดโคเลสเตอรอลกลุ่มสแตติน (statin cholesterol-lowering drugs) ตัวอย่างยา เช่น ซิมวาสแตติน (simvastatin), พราวาสแตติน (pravastatin), ฟลูวาสแตติน (fluvastatin), อะทอร์วาสแตติน (atorvastatin), โรซูวาสแตติน (rosuvastatin), พิทาวาสแตติน (pitavastatin) ยาเหล่านี้ใช้รักษาภาวะไขมันในเลือดสูง
- ยารักษาโรคลมชัก (antiepileptic drugs)ตัวอย่างยา เช่น อะเซทาโซลาไมด์ (acetazolamide), คาร์บามาเซพีน (carbamazepine), กาบาเพนทิน (gabapentin), ลาโมทริจีน (lamotrigine), ลีเวไทราซีแทม (levetiracetam), โทพิราเมต (topiramate) ยาเหล่านี้นอกจากใช้รักษาโรคลมชักแล้ว ยังใช้รักษาความผิดปกติอื่น เช่น อาการปวดเส้นประสาท โรคอารมณ์แปรปรวน
- ยาต้านซึมเศร้ากลุ่ม tricyclic antidepressantsตัวอย่างยา เช่น อะมิทริปทีลีน (amitriptyline), นอร์ทริปทีลีน (nortriptyline), อิมิพรามีน (imipramine), ด็อกเซพิน (doxepin) ยาเหล่านี้นอกจากใช้รักษาโรคซึมเศร้าแล้ว ยังใช้รักษาความผิดปกติอื่น เช่น อาการปวดเรื้อรัง โรควิตกกังวล โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ผิดปกติจนทำให้ผอมเกิน
- ยาระงับปวดโอปิออยด์ (opioid analgesics)ตัวอย่างยา เช่น มอร์ฟีน (morphine), เฟนตานิล (fentanyl), ออกซีโคโดน (oxycodone) ยาเหล่านี้ใช้บรรเทาอาการปวดแบบรุนแรงที่เกิดปวดเฉียบพลันและเกิดเรื้อรัง เช่น อาการปวดจากโรคมะเร็ง อาการปวดในโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (rheumatoid arthritis)
- ยารักษาโรคพาร์กินสัน (antiparkinson drugs)ตัวอย่างยา เช่น อะโพมอร์ฟีน (apomorphine), พรามิเพ็กโซล (pramipexole), โรพินิโรล (ropinirole)
- ยาลดความดันโลหิตกลุ่มยับยั้งตัวรับเบตา (beta-blocker antihypertensive drugs) ตัวอย่างยา เช่น โพรพราโนลอล (propranolol), อะทีโนลอล (atenolol), คาร์วีดิลอล (carvedilol), เมโทโพรลอล (metoprolol), ทิโมลอล (timolol) ยาเหล่านี้ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจล้มเหลว
- ยานอนหลับกลุ่มที่ไม่ใช่เบนโซไดอะซีพีน (nonbenzodiazepine sedative-hypnotics)ตัวอย่างยา เช่น เอสโซพิโคลน (eszopiclone), ซาลีพลอน (zaleplon), โซลพิเดม (zolpidem) ยาเหล่านี้ใช้รักษาโรคนอนไม่หลับ
- ยารักษาภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ กลุ่ม anticholinergics ตัวอย่างยา เช่น ออกซีบูไทนิน (oxybutynin), โซลิเฟนาซิน (solifenacin), ดาริเฟนาซิน (darifenacin), โทลเทอโรดีน (tolterodine), ทรอสเพียม (trospium)
- ยาต้านฮีสตามีนรุ่นแรก (first-generation antihistamines)ตัวอย่างยา เช่น คลอร์เฟนิรามีน (chlorpheniramine), บรอมเฟนิรามีน (brompheniramine), ไดเฟนไฮดรามีน (diphenhydramine), ไฮดรอกซีซีน (hydroxyzine) ยาเหล่านี้ใช้รักษาโรคภูมิแพ้ชนิดต่าง ๆ ทั้งชนิดที่มีผื่นหรืออาการคันที่ผิวหนัง และชนิดที่มีน้ำมูกไหล ยาบางชนิดใช้ป้องกันอาการเมารถเมาเรือ
ยาทำให้ความจำบกพร่องได้อย่างไร?
ยาที่มีผลกระทบต่อการเรียนรู้และความจำล้วนเป็นยาที่ออกฤทธิ์ได้ในระบบประสาทส่วนกลางหรือสมอง ยาอาจออกฤทธิ์กดการนำส่งสัญญาณที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเรียนรู้และความจำ หรือออกฤทธิ์รบกวนการทำหน้าที่ของสารสื่อประสาท (neurotransmitters) ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการเรียนรู้และความจำ เช่น อะเซทิลโคลีน (acetylcholine), ฮีสตามีน (histamine), เซโรโทนิน (serotonin), นอร์อิพิเนฟรีนหรือนอร์อะดรีนาลีน (norepinephrine; noradrenaline), อิพิเนฟรีนหรืออะดรีนาลีน (epinephrine; adrenaline), โดพามีน (dopamine), กรดแกมมาอะมิโนบิวทีริก (gamma-aminobutyric acid หรือ GABA) ซึ่งการรบกวนการทำหน้าที่ของสารสื่อประสาทอาจเกิดโดยการปิดกั้นไม่ให้สารเหล่านั้นจับกับตัวรับ (receptor) หรือทำให้ความไวของตัวรับลดลง นอกจากนี้โคเลสเตอรอลในสมองมีบทบาทช่วยในการสื่อสารระหว่างเซลล์ประสาท ยาที่ทำให้ระดับโคเลสเตอรอลในสมองลดลงอาจรบกวนกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับความคิด การใช้เหตุผล การเรียนรู้และความจำได้
วิธีจัดการกับความจำบกพร่องที่มีสาเหตุจากยา
ความจำบกพร่องที่เกิดจากฤทธิ์ยานั้น หากหยุดใช้ยาที่เป็นสาเหตุ ความจำกลับสู่ปกติได้ อย่างไรก็ตามโดยทั่วไปไม่อาจหยุดใช้ยาได้ จึงต้องหาวิธีการอื่น เช่น การลดขนาดยาเหลือขนาดต่ำสุดที่ให้ผลในการรักษาหรือควบคุมอาการของโรค การใช้ยาเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ตามความจำเป็น หลีกเลี่ยงการใช้ยาหลายอย่างร่วมกันโดยเฉพาะการใช้ร่วมกับยาที่อาจทำให้ความจำบกพร่องด้วยเช่นกัน การเปลี่ยนไปใช้ยาอื่นแทน ทั้งนี้สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนั้นแพทย์ผู้ให้การรักษาจะเป็นผู้พิจารณาในการปรับขนาดยาหรือเปลี่ยนยาที่เหมาะสมให้ ผู้ที่รับประทานยาไม่ควรปรับเปลี่ยนยาเอง การลดขนาดยาหรือหยุดยาโดยทันทีอาจเกิดผลเสียจากการขาดยาฉับพลันได้
นอกจากนี้โรคหรืออาการบางอย่างหากใช้วิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมร่วมด้วย สามารถช่วยให้อาการดีขึ้นเพื่อจะได้ลดปริมาณการใช้ยาลง เช่น การฝึกสมาธิเพื่อให้กายและใจสงบในผู้ที่เป็นโรคนอนไม่หลับ การจำกัดอาหารที่มีไขมันมากและการออกกำลังกายในผู้ที่ภาวะไขมันในเลือดสูง นอกเหนือจากสิ่งที่กล่าวข้างต้นแล้วอาจช่วยเตือนความจำโดยการจัดลำดับสิ่งที่ต้องทำก่อนและหลังเตรียมไว้ล่วงหน้า การเข้าสังคมเพื่อพูดคุยกับผู้อื่น การจดบันทึกเพื่อเตือนความจำ เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
- Coupland CAC, Hill T, Dening T, Morriss R, Moore M, Hippisley-Cox J. Anticholinergic drug exposure and the risk of dementia: a nested case-control study. JAMA Intern Med 2019; 179:1084-93.
- Uddin MS, Al Mamun A, Sarwar MS, Chaity NH, Haque A, Akter N, et al. Medicine that causes memory loss: risk of neurocognitive disorders. Int Neuropsychiat Dis J 2016. doi: 10.9734/INDJ/2016/26317. Accessed: December 2019.
- Juárez-Portilla C, Molina-Jiménez T, Morin J-P, Roldán-Roldán G, Zepeda RC. Influence of drugs on cognitive functions. In: Bernal-Morales B, editor. Health and academic achievement, 2018. doi: 10.5772/intechopen.71842. Accessed: December 2019.
- He Q, Chen X, Wu T, Li L, Fei X. Risk of dementia in long-term benzodiazepine users: evidence from a meta-analysis of observational studies. J Clin Neurol 2019; 15:9-19.
- Orzechowska A, Filip M, Gałecki P. Influence of pharmacotherapy on cognitive functions in depression: a review of the literature. Med Sci Monit 2015; 21:3643-51.