เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


คะน้าเม็กซิโก…ต้นไม้แสนอร่อย


ภญ.กฤติยา ไชยนอก สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: http://www.plantasyhongos.es/herbarium/c...nsa_06.jpg
อ่านแล้ว 211,592 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 01/02/2562
อ่านล่าสุด 17 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


ผักไชยา…ผักชายา...ผักโขมต้น...ต้นผงชูรส...ต้นมะละกอกินใบ หรือก็คือชื่อเรียกอื่นๆ ของต้นคะน้าเม็กซิโกนั่นเองค่ะ เชื่อว่าหลายๆ ท่านน่าจะเคยได้ยิน หรือรู้สึกคุ้นหูกับชื่อต่างๆ เหล่านี้ ไม่ชื่อใดก็ชื่อหนึ่งเป็นแน่ หรือบางท่านอาจจะเคยรับประทานพืชชนิดนี้แล้วด้วยซ้ำ และด้วยคำบอกเล่าที่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พืชชนิดนี้มีรสชาติอร่อย เนื้อสัมผัสกรุบกรอบ ไม่มีกลิ่นเหม็นเขียว ไม่มีรสขม และมีคุณค่าทางอาหารสูง มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยามากมายมหาศาล แต่ข้อมูลดังกล่าวจะจริงเท็จแค่ไหนนั้น เรามาติดตามเรื่องราวของเจ้า “คะน้าเม็กซิโก…ต้นไม้แสนอร่อย” ไปพร้อมๆ กันเลยดีกว่าค่ะ 
 
ภาพจาก : https://i.ytimg.com/vi/EKuQmoZT5tc/maxresdefault.jpg 
คะน้าเม็กซิโก (Chaya) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cnidoscolus chayamansa McVaugh ชื่อพ้องคือ Cnidoscolus aconitifolius (Mill.) I.M.Johnst. เป็นพืชในวงศ์ EUPHORBIACEAE เช่นเดียวกับมันสำปะหลัง ยางพารา ฝิ่นต้น หนุมานนั่งแท่น สลัดได และสบู่ดำ คะน้าเม็กซิโกไม่ใช่พืชท้องถิ่นของประเทศไทย แต่เชื่อว่ามีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนของประเทศเม็กซิโก ในแถบของคาบสมุทรยูกาตัน พบมีการกระจายพันธุ์อยู่ในกัวเตมาลา และอเมริกากลาง ลักษณะทางพฤกษศาสตร์คือ เป็นไม้พุ่ม อายุหลายปี ลำต้นมีลักษณะอวบน้ำ มีความสูงของลำต้นประมาณ 2-6 ม. เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลมีน้ำยางสีขาวอยู่ภายใน ลักษณะของใบคล้ายกับใบเมเปิ้ล ขอบใบแยกออกเป็น 3-4 แฉก ดอกมีสีขาว ออกดอกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่ง ในแต่ละช่อประกอบไปด้วยดอกย่อยจำนวนมาก โดยทั่วไปมักตัดแต่งเป็นทรงพุ่มให้มีความสูงประมาณ 2 ม. เพื่อให้สะดวกต่อการเก็บเกี่ยว (1-2) 
การขยายพันธุ์คะน้าเม็กซิโก 
การขยายพันธุ์ทำได้โดยการนำกิ่งที่ค่อนข้างแก่มาตัดเป็นท่อนๆ แล้วชำลงถุงดำ ใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์กิ่งจะเริ่มแตกใบอ่อน รอให้ต้นแข็งแรงจึงย้ายลงปลูกในดิน การดูแลรักษาค่อนข้างง่าย เพราะคะน้าเม็กซิโกเป็นพืชที่ปลูกง่าย โตเร็ว และไม่ค่อยมีแมลงรบกวน (3) สำหรับต้นที่ตัดกิ่งมาปลูกทางผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าควรรอให้ต้นไม้มีอายุประมาณ 2 ปี เพื่อให้ต้นแข็งแรงเสียก่อนจึงค่อยเก็บมาบริโภค และไม่ควรเก็บใบจากต้นเกินกว่า 50% เพราะจะทำให้ต้นโทรมได้ง่ายๆ (4) 
การใช้พื้นบ้าน 
การใช้พื้นบ้านในต่างประเทศคือ ใช้เป็นยาระบาย ขับปัสสาวะ เพิ่มการไหลเวียนโลหิต ช่วยย่อยอาหาร (1-2) คุณค่าทางโภชนาการ คะน้าเม็กซิโกเป็นผักที่มีคุณค่าทางอาหารสูง ใบคะน้าเม็กซิโก 100 ก. ประกอบด้วย น้ำ 85.3%, คาร์โบไฮเดรตรวม 4.2%, โปรตีน 5.7%, ไขมัน 0.4%, ใยอาหาร 1.9% มีแร่ธาตุต่างๆ เช่น แคลเซียม 199.4 มก., โพแทสเซียม 217.2 มก., ฟอสฟอรัส 39.0 มก., เหล็ก 11.4 มก. มีวิตามิน เช่น วิตามินซี 164.7 มก. และวิตามินเอ 0.085 มก. นอกจากนี้ยังมีการรายงานว่าคะน้าเม็กซิโกเป็นผักที่มีคุณค่าทางอาหารสูงกว่าผักใบเขียวอื่นๆ 2-3 เท่า (1, 5) 
การนำมารับประทาน 
ส่วนที่นิยมนำมารับประทานคือใบและยอดอ่อน ซึ่งมีรสชาติคล้ายกับคะน้า หลังจากเด็ดยอดอ่อนมา ให้นำมาปอกเปลือก ตัดใบ แล้วแยกก้านใบทิ้งเพราะส่วนนี้จะแข็งมาก ไม่นิยมนำมารับประทาน หลังจากล้างน้ำให้สะอาดแล้วจึงนำไปประกอบอาหาร เช่นเดียวกับผักคะน้าหรือผักทั่วๆ ไป เช่น ผัดน้ำมันหอย ชุบแป้งทอด ลวกทำยำหรือจิ้มกับน้ำพริก ผัดเผ็ด ผัดน้ำมันจิ้มน้ำพริก ทำราดหน้า ผัดกับไข่ หรือเนื้อสัตว์ต่างๆ หรือทำแกงส้ม (3) แม้ในบางพื้นที่จะมีการรับประทานคะน้าเม็กซิโกแบบดิบและขณะนี้ยังไม่มีการรายงานความเป็นพิษจากการรับประทานในรูปแบบดังกล่าว แต่เนื่องจากใบและยอดของคะน้าเม็กซิโกมีสารพิษในกลุ่มไฮโดรไซยานิก ไกลโคไซด์ (hydrocyanic glycosides) หากได้รับในปริมาณมากหรือติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็อาจทำให้เกิดอาการพิษจากการได้รับสารไซยาไนด์ (cyanide) ได้ ซึ่งสารดังกล่าวสามารถถูกทำลายได้ด้วยความร้อน ดังนั้นก่อนรับประทานทุกครั้ง ควรทำให้สุกโดยการผ่านความร้อนอย่างน้อย 15-20 นาที และไม่แนะนำให้รับประทานแบบดิบ (1, 6-7) 
หลายคนอาจสับสนระหว่างคะน้าเม็กซิโกกับพืชอื่นๆ เช่น มะละกอ และฝิ่นต้น เนื่องจากมีลักษณะที่คล้ายกัน โดยที่ฝิ่นต้นนั้นเป็นพืชพิษ หากน้ำยางถูกผิวหนังจะระคายเคือง คัน บวมแดง อักเสบ ปวดแสบปวดร้อน พองเป็นตุ่มน้ำใส ถ้าโดนตาจะทำให้ตาอักเสบ อาจทำให้ตาบอดชั่วคราวหรือถาวร ถ้ารับประทานเมล็ดเข้าไปจะทำให้ปากบวมพอง น้ำลายไหล เยื่อบุแก้ม ลิ้น เพดาน และหน้าบวม ลิ้นเคลื่อนไหวลำบาก กลืนอาหารยาก พูดไม่ถนัด กระเพาะอักเสบ คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง อาจมีอาการชาตามแขนขาหรือเป็นอัมพาตชั่วคราว และหากรับประทานเมล็ดในปริมาณมากอาจทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นก่อนรับประทานควรตรวจสอบให้แน่ใจเสียก่อนว่าเป็นคะน้าเม็กซิโกไม่ใช่พืชชนิดอื่นที่เป็นพิษ 
สารสำคัญ 
สารสำคัญที่พบในคะน้าเม็กซิโกเป็นสารในกลุ่ม flavonoids และ phenolic acids นอกจากนี้ยังพบสารในกลุ่ม saponins และ alkaloids ด้วย (8-9) 
การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา 
การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่าคะน้าเม็กซิโกมีฤทธิ์ต้านจุลชีพหลายชนิด (10) มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ (11) ช่วยปกป้องหลอดเลือดและหัวใจ (11) ต้านอนุมูลอิสระ (8) (11-12) ลดน้ำตาลในเลือด (1, 9, 12-13) และลดไขมันในเลือด (14) แต่ทั้งหมดเป็นการศึกษาในรูปแบบของสารสกัดและสารสำคัญที่แยกได้จากส่วนใบ เช่น สารในกลุ่ม flavonoids, alkaloids และยังเป็นเพียงการศึกษาในระดับหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง 
การศึกษาความเป็นพิษ 
การศึกษาความเป็นพิษของสารสกัด CHCl3:MeOH (1:1) ของใบในหนูเม้าส์ พบว่าขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่งมีค่ามากกว่า 2 ก./กก. และการให้สารสกัดในขนาด 1 ก./กก. เป็นเวลานาน 28 วัน ไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษกับสัตว์ทดลอง เมื่อให้สารสกัดเข้าทางกระเพาะอาหาร (10) และขณะนี้ยังไม่มีการรายงานความเป็นพิษจากการรับประทานในรูปแบบของอาหาร แต่สำหรับผู้ที่แพ้พืชในวงศ์ EUPHORBIACEAE ควรหลีกเลี่ยงหรือระมัดระวังการรับประทานคะน้าเม็กซิโก 
บทสรุป 
คะน้าเม็กซิโกเป็นพืชที่ไม่ได้มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย แต่ปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยมและเริ่มมีการนำมาปลูกอย่างแพร่หลาย อาจเพราะเป็นผักที่มีรสชาติดีและมีคุณค่าทางอาหารสูง ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่รักสุขภาพ อย่างไรก็ตามควรระมัดระวังการรับประทานคะน้าเม็กซิโกแบบดิบ เพราะหากรับประทานในปริมาณมาก หรือรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดการสะสมของสารพิษไซยาไนด์ จนทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ ดังนั้นควรปรุงให้สุกก่อนนำมารับประทานทุกครั้งเพื่อความปลอดภัย และควรรับประทานให้ถูกต้น เนื่องจากคะน้าเม็กซิโกมีลักษณะที่คล้ายกับพืชหลายชนิด โดยเฉพาะฝิ่นต้นที่หากรับประทานเข้าไปอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ สำหรับการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา พบว่าคะน้าเม็กซิโกมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่น่าสนใจหลายอย่าง โดยเฉพาะฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด แต่ยังเป็นเพียงการศึกษาในระดับหลอดทดลองและสัตว์ทดลองเท่านั้น ยังไม่มีการศึกษาทางคลินิก แต่ก็นับว่ามีแนวโน้มที่ดีที่จะนำไปพัฒนาเป็นยา อาหาร หรือผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่อไปในอนาคต 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Kuti, J.O. and E.S. Torres. Potential nutritional and health benefits of tree spinach. In: Janick J, editor. Progress in new crops. Arlington: ASHS Press VA;1996. P.516-520.
  2. วิชาเกษตร ปลูกผัก ทำไร่ ไถนาใ คะน้าเม็กซิโก [อินเทอร์เน็ต]. 2559 [เข้าถึงเมื่อ 21 มี.ค. 2561]. เข้าถึงได้จาก: www.vichakaset.com/คะน้าเม็กซิโก
  3. organic สวนเกษตรอินทรีย์บ้านสันคู นครสวรรค์. ผักไชยา ... ผักพื้นบ้านมากคุณค่า ที่น่าปลูก (จริง..จริง ) [อินเทอร์เน็ต]. 2559 [เข้าถึงเมื่อ 20 มี.ค. 2561]. เข้าถึงได้จาก: http://baansunkoo-organic.over-blog.com/2016/12/586698b7-1ed9.html
  4. มติชนสุดสัปดาห์. มารู้จัก “ชายา” (chaya) หรือ คะน้าเม็กซิโก) [อินเทอร์เน็ต]. 2559 [เข้าถึงเมื่อ 21 มี.ค. 2561]. เข้าถึงได้จาก: https://www.matichonweekly.com/lifestyle/article_13484
  5. Kuti JO, Kuti HO. Proximate composition and mineral content of two edible species of Cnidoscolus (tree spinach). Plant Foods Hum Nutr 1999;53(4):275-83.
  6. Kuti JO, Konoru HB. Cyanogenic glycosides content in two edible leaves of tree spinach (Cnidoscolus spp.). J Food Compost Anal 2006;19(6-7):556-61.
  7. Godfrey CO, Nwankpa P, Uloneme GC, Etteh CC, Ben-Udechukwu C, Okafor PN. Toxicity evaluation of Cnidoscolus aconitifolius on female albino wistar rats. IJSER 2015;6(9):165-9.
  8. Kuti JO, Konuru HB. Antioxidant capacity and phenolic content in leaf extracts of tree spinach (Cnidoscolus spp.). J Agric Food Chem 2004;52(1):117-21.
  9. Ramos-Gomez M, Figueroa-Perez MG, Guzman-Maldonado H, Loarca-Pina G, Mendoza S, Quezada-Tristan T, et al. Phytochemical Profile, Antioxidant properties and hypoglycemic effect of chaya (Cnidoscolus chayamansa) in stz-induced diabetic rats. ?J Food Biochem 2017;41(1):e12281.
  10. Pérez-González MZ, Gutiérrez-Rebolledo GA, Yépez-Mulia L, Rojas-Tomé IS, Luna-Herrera J, Jiménez-Arellanes MA. Antiprotozoal, antimycobacterial, and anti-inflammatory evaluation of Cnidoscolus chayamansa (Mc Vaugh) extract and the isolated compounds. Biomed Pharmacother 2017;89:89-97.
  11. García-Rodríguez RV, Gutiérrez-Rebolledo GA, Méndez-Bolaina E, Sánchez-Medina A, Maldonado-Saavedra O, Domínguez-Ortiz MÁ, et al. Cnidoscolus chayamansa Mc Vaugh, an important antioxidant, anti-inflammatory and cardioprotective plant used in Mexico. J Ethnopharmacol 2014;151(2):937-43.
  12. Loarca-Pina G, Mendoza S, Ramos-Gomez M, Reynoso R. Antioxidant, antimutagenic, and antidiabetic activities of edible leaves from Cnidoscolus chayamansa Mc. Vaugh. J Food Sci 2010;75(2):H68-H72.
  13. Kulathuran Pillai K, Chidambaranathan N, Mohamed HM, Jayaprakash S, Narayanan N. Anti-hyperglycemic effect of alcoholic extracts of Cnidoscolus chayamansa in experimental diabetes and their effects on key metabolic enzymes involved in carbohydrate metabolism. IJRPC 2012;2(1):179-87.
  14. Miranda-Velasquez L, Oranday-Cardenas A, Lozano-Garza H, Rivas-Morales C, Chamorro-Cevallos G, Cruz-Vega DE. Hypocholesterolemic Activity from the Leaf Extracts of Cnidoscolus chayamansa. Plant Foods for Human Nutrition 2010;65(4):392-5.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ยาแก้ไอ ... มีกี่แบบ ?? 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้