เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ยาคลายเครียดกับภาระกิจช่วยเหลือหมูป่าติดถ้ำ


อาจารย์ ดร.ภก. พงศธร มีสวัสดิ์สม ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 12,755 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 18/07/2561
อ่านล่าสุด 1 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


จากข่าวตามสื่อต่างๆ เกี่ยวกับน้องๆ ทีมหมูป่าอะคาเดมี่ ที่ทุกท่านร่วมทั้งคนทั่วโลกคงได้ติดตามกันมาอย่างต่อเนื่อง ในช่วงที่ทีมช่วยเหลือกำลังจะนำน้องๆ ออกมาจากถ้ำได้มีการให้ยาบางอย่างเพื่อช่วยให้การช่วยเหลือเป็นไปได้ง่ายขึ้น ท่านอาจสงสัยว่าเพราะเหตุใดจึงต้องให้ยา และอาจสับสนว่ายาเป็นยาสลบ ยาระงับประสาท หรือยาคลายกังวลกันแน่เพราะมีการใช้คำที่แตกต่างกันไป 
 
การทำงานของสมองเมื่อมีความวิตกกังวล 
ความวิตกกังวล ความกลัว ความเครียด เป็นความรู้สึกปกติที่มีประโยชน์ทำให้เราหลีกหนีจากภยันตราย เอาตัวรอด หรือทำงานให้ลุล่วง อาการเหล่านี้เกิดจากการทำงานประสานกันของสมองหลายส่วนทั้งส่วนที่รับรู้ แปลผลความรู้สึกต่างๆ ส่วนที่ควบคุมอารมณ์ และส่วนที่ควบคุมการตอบสนองต่างๆ ของอวัยวะภายในร่างกาย เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจจะกล่าวโดยย่อคือ ปกติในร่างกายของเราจะมีสมองส่วนหนึ่งเรียกว่า อะมิกดาลา (amygdala) เป็นส่วนหนึ่งของสมองที่ควบคุมความรู้สึกและอารมณ์ เมื่อมีสิ่งกระตุ้นความกลัวต่างๆ เข้ามากระตุ้นประสาทสัมผัสของเรา ไม่ว่าจะเป็นภาพ เสียง กายสัมผัส จะกระตุ้นให้ อะมิกดาลาทำงาน และทำให้เกิดความรู้สึกในเชิงวิตกกังวล หวาดกลัว ตื่นตระหนก ตกใจ เครียด รวมทั้งยังส่งสัญญาณไปกระตุ้นสมองส่วนอื่นๆ ทำให้การเปลี่ยนแปลงในร่างกายหลายอย่างดังในรูปที่ 1 ตัวอย่างเช่น เมื่อเราเห็นงูกำลังเลื้อยเข้ามา นอกเหนือจากความรู้สึกกลัวแล้ว ร่างกายจะตอบสนองต่อสถานการณ์นี้หลายด้าน เช่น ใจสั่น แสดงสีหน้าหวาดกลัว การตอบสนองของร่างกายจะเร็วและมากกว่าปกติอย่างเด่นชัด เราอาจจะรีบวิ่งหนีอย่างทันทีทันใด วิ่งเร็วมากกว่าปกติ หรือบางครั้งสามารถกระโดดขึ้นที่สูงที่ปกติทำไม่ได้ การตอบสนองเหล่านี้เกิดจากการกระตุ้นการทำงานของอะมิกดาลา และในสถานการณ์นี้สมองส่วนอื่นๆ จะช่วยควบคุมด้วยไม่ให้เราทำสิ่งที่เสี่ยงเกินไปจนได้รับอันตราย เช่น กระโดดลงจากสะพานสูง และเมื่อรอดพ้น สมองส่วนอะมิกดาลาก็กลับมาทำงานปกติอีกครั้ง ความกลัวหรือวิตกกังวลก็จะหายไปเมื่อเหตุการณ์ผ่านไป และการตอบสนองต่อความกลัวหรือความวิตกกังวลของแต่ละคนจะแตกต่างกันไปขึ้นกับสถานการณ์ ประสบการณ์ในชีวิตที่ผ่านมา พื้นฐานจิตใจ และปัจจัยภายในสมอง ร่วมทั้งมีอาการทางกายที่แตกต่างกันเช่น บางคนอาจมีปวดท้อง หรือปัสสาวะราด 
 
ความวิตกกังวลเมื่อประสบเหตุร้าย 
หากเราลองจินตนาการว่าตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับน้องๆ ทีมหมูป่า เราอาจทำอะไรไม่ถูกไม่รู้ว่าจะมีชีวิตรอดอยู่ได้อย่างไรและยาวนานแค่ไหน จากเหตุการณ์นี้จะเห็นได้ว่าน้องๆ ทีมหมูป่าสามารถควบคุมตนเองได้ไม่ตื่นตกใจมากเกินไป ยังสามารถสื่อสารได้ดีเมื่อทีมช่วยเหลือเข้าไปพบครั้งแรก แสดงว่าได้รับการฝึกฝนทางจิตใจมาดีในระดับหนึ่ง แต่การติดอยู่ในถ้ำเป็นเวลานานอาจมีผลกระตุ้นสมองส่วนอะมิกดาลาเป็นอย่างมากจนน้องๆ เองไม่รู้ตัว และอาจไม่สามารถควบคุมความตื่นตะหนกได้โดยเฉพาะในสภานการณ์คับขัน การที่ทีมช่วยเหลือต้องนำน้องๆ ดำน้ำออกมาจากถ้ำที่มีเส้นทางคดเคี้ยวยากลำบากและซับซ้อนอาจส่งผลต่อร่างกายและจิตใจ สมองส่วนอะอะมิกดาลาอาจถูกกระตุ้นมากเกินไป จนอาจก่อให้เกิดปัญหาขณะที่ทีมช่วยเหลือดำน้ำนำตัวออกมา เช่นการหายใจอาจผิดปกติหรือหลอดลมหดเกร็งจนเกิดภาวะขาดออกซิเจนทำให้ตัวเขียวและเสียชีวิต ความตื่นตะหนกอาจทำให้ตัวแข็งทื่อหรือไม่ทำตามที่ได้ตกลงไว้ได้ โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันขณะที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งทีมช่วยเหลือที่มีวิสัญญีแพทย์ชาวออสเตรเลียร่วมทีมจึงตัดสินใจให้ยาบางชนิดโดยมีวัตถุประสงค์หลักคือลดความรู้สึกวิตกกังวล ความตื่นตะหนกและลดการตอบสนองต่างๆ ของร่างกายที่มากเกินไป หรือที่เรียกว่ายาคลายเครียดนั่นเอง ส่วนจะใช้ยาอะไรนั้นเราคงไม่สามารถก้าวล่วงไปถึงจุดนั้นได้ บทความนี้จะชี้ให้เห็นถึงยากลุ่มนี้ประเภทต่างๆ เท่านั้น 
ยาคลายความกังวลหรือยาคลายเครียด 
ยาคลายกังวลมีหลายกลุ่มมาก แต่ละกลุ่มมีที่ใช้ทางการแพทย์แตกต่างกัน แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆคือ

  • กลุ่มที่ออกฤทธิ์สงบประสาท หรืออาจถูกเรียกในชื่ออื่นๆ เช่นยากล่อมประสาทชนิดมีฤทธิ์อ่อน ยากลุ่มนี้สามารถลดการกระตุ้นสมองส่วนอะมิกดาลาได้รวดเร็ว ระดับการสงบประสาทของยากลุ่มนี้ดังแสดงในรูปที่ 2 จะเห็นได้ว่าเมื่อให้ในขนาดที่เหมาะสมยาจะลดการทำงานของสมองส่วนอะมิกดาลาลงบางส่วน ให้ผลลดความวิตกกังวล และเมื่อเพิ่มขนาดยาขึ้นเรื่อยๆ จะมีผลกดการทำงานของสมองส่วนอื่นด้วย ซึ่งอาจให้ทั้งผลการรักษาและผลข้างเคียงได้อีกหลายอย่างเช่น
    • ผลการรักษา อาจใช้รักษาอาการชักในผู้ป่วยโรคลมชัก ใช้ทำให้ผู้ป่วยง่วงซึมและสงบลงก่อนผ่าตัด หรือใช้สลบผู้ป่วยเพื่อผ่าตัด ใช้ระยะสั้นเพื่อลดผลข้างเคียงของยาอื่นที่กระตุ้นสมอง และใช้ระยะสั้นในผู้ป่วยนอนไม่หลับ
    • ผลข้างเคียงอื่นๆ เช่น เดินเซ ความจำเสื่อมชั่วคราวในช่วงที่ยาออกฤทธิ์ และหมดสติหากได้รับในขนาดสูงมากเกินไป
  • กลุ่มที่ออกฤทธิ์ปรับการทำงานของสารสื่อประสาทในสมอง กลุ่มนี้ออกฤทธิ์ช้ามากต้องรับประทานอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์กว่าจะเริ่มเห็นผลการรักษา ส่วนใหญ่จะใช้ในการปรับสภาพจิตใจในกรณีที่ผ่านเหตุการณ์เลวร้าย แต่ยังมีความวิตกกังวล กลัว เครียดจนผิดปกติ ทำให้แม้เหตุการณ์ผ่านไปนานแล้วแต่ยังมีรำลึกเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้นอยู่เช่น กลัวความมืด กลัวน้ำ กลัวที่แคบ คิดถึงหรือฝันถึงเหตุการณ์นั้นๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก หรือเรียกว่า post-traumatic stress disorder หรือ PTSD โรคนี้ยังอาจพบได้จากผู้ประสบเหตุภัยพิบัติอื่นๆ เช่น สึนามิ น้ำท่วมเฉียบพลัน หรือหลังสงคราม ยากลุ่มออกฤทธิ์ปรับการทำงานของสารสื่อประสาทในสมองนี้จะมีประโยชน์ในการรักษาโรคดังกล่าวโดยต้องรับประทานอย่างสม่ำเสมอและรับการรักษาในระยะยาว อาจใช้ร่วมกับยากลุ่มที่ออกฤทธิ์สงบประสาท และการรักษาอื่นๆ เช่น จิตบำบัด
  • กลุ่มที่ออกฤทธิ์ลดอาการทางกายจากความวิตกกังวล เช่น ลดอาการใจสั่น หรือปวดท้อง โดยที่ไม่ได้ลดความรู้สึกกลัวหรือวิตกกังวล

สรุป 
อาการวิตกกังวล กลัว เครียด สามารถเกิดขึ้นได้ แต่หากมีมากกว่าปกติ หรือในบางสถานการณ์อาจต้องได้รับการดูแลรักษา ยาที่ใช้ลดอาการเหล่านี้มีหลายกลุ่มซึ่งมีที่ใช้ในทางการแพทย์แตกต่างกัน การใช้ยาที่มีผลคลายกังวล ลดอาการตื่นตระหนกเพื่อช่วยในการลำเลียงทีมหมูป่าออกมาจากถ้ำก็เป็นตัวอย่างที่ดีของการใช้ยากล่าวคือ ยามีทั้งผลการรักษาและผลข้างเคียงเสมอ ยิ่งยามีผลข้างเคียงที่อันตรายยิ่งต้องอยู่ในความดูแลของบุคลากรทางการแพทย์ การตัดสินใจใช้ยาเพื่อให้ได้ผลการรักษาตามต้องการจะต้องบูรณาการความรู้เรื่องยาเพื่อตัดสินว่าใช้แล้วจะได้ประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง และการใช้ยาให้ถูกคน ถูกโรค ถูกขนาด ถูกวิธี และถูกเวลา อย่างที่ทีมผู้ช่วยเหลือสามารถนำทีมหมูป่าออกมาได้อย่างปลอดภัยทุกคนโดยไม่ได้รับผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยาจนเป็นอันตราย 
แม้ทีมหมูป่าทุกคนจะรอดชีวิตออดมาอย่างปลอดภัย แต่ทั้งแต่หากชุมชนและสังคมปราถนาดีและอยากมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเยียวยาและสนับสนุนอย่างเหมาะสมโดยเฉพาะทางด้านจิตใจ ทางสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยได้ให้คำแนะนำตามลิงค์ https://www.facebook.com/483246708446017/posts/1485607524876592/ 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Igreja RP. Infectious diseases associated with caves. Wilderness Environ Med 2011; 22: 115-21.
  2. ศุภกร ฟุ้งลัดดา และ พบชัย งามสกุลรุ่งโรจน์. Dimorphic fungi. ใน: จุลชีววิทยาทางการแพทย์ พบชัย งามสกุลรุ่งโรจน์ วรรณี กัณฐกมาลากุล ไอยฤทธิ์ ไทยพิสุทธิกุล และ ภัทรชัย กีรติสิน (บรรณาธิการ).พิมพ์ครั้งที่ 1. วี.เจ. พริ้นติ้ง: กรุงเทพฯ 2556.
  3. สุมาลย์ สาระยา. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน โรคระบาดที่มากับน้ำท่วม (ตอนที่ 3) โรคฉี่หนู.[ออนไลน์]. [วันที่สืบค้นข้อมูล 10 กรกฎาคม 2561]. เข้าถึงได้จาก: http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/75.
  4. คณาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน โรคพิษสุนัขบ้า ร้ายแรง แต่ป้องกันได้!. [ออนไลน์]. [วันที่สืบค้นข้อมูล 10 กรกฎาคม 2561]. เข้าถึงได้จาก: http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/12.
  5. Information center of emerging infectious diseases: WHO collaborating center for research and training on viral zoonoses. โรคสมองอักเสบจากไวรัสนิปาห์ (Nipah virus). [ออนไลน์]. [วันที่สืบค้นข้อมูล 10 กรกฎาคม 2561]. เข้าถึงได้จาก: http://www.cueid.org/content/view/45/71/.
  6. โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชสาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล. มาลาเรีย ไข้จับสั่น หรือไข้ป่า (Malaria). [ออนไลน์]. [วันที่สืบค้นข้อมูล 10 กรกฎาคม 2561]. เข้าถึงได้จาก: http://www.tm.mahidol.ac.th/hospital/hospital-malaria-th.php.
  7. สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. คำอธิบายโรค (Face sheet) เรื่อง โรคสครับไทฟัส (Scrub Typhus). [ออนไลน์]. [วันที่สืบค้นข้อมูล 12 กรกฎาคม 2561]. เข้าถึงได้จาก: http://www.thaivbd.org/n/contents/view/324691.

-->



บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


7 วินาทีที่แล้ว
โรคพยาธิหอยคัน 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้