เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ผิวแพ้ง่ายและผื่นแพ้ผิวหนังกับการดูแล


อาจารย์ ดร. ภญ. บุญธิดา มระกูล ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: http://groundupstrength.wdfiles.com/loca...-foods.jpg
อ่านแล้ว 141,961 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 08/10/2560
อ่านล่าสุด 1 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


ผิวแพ้ง่าย (Sensitive skin) เป็นภาวะที่ผิวมีความไวต่อปัจจัยกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้ง่าย เช่น เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด สารกันแดด เนื้อผ้าที่สวมใส่บางชนิด น้ำ หรือแม้กระทั่งสภาพอากาศที่แห้งและเย็น นอกจากนี้ยังมีรายงานพบว่าอาการระคายเคืองที่เกิดขึ้นในผิวแพ้ง่ายยังสัมพันธ์กับรอบประจำเดือนของสุภาพสตรีอีกด้วย อาการที่มักแสดงถึงการระคายเคืองในผู้ที่มีผิวแพ้ง่าย ได้แก่ การเกิดผดผื่นคัน ตึงผิว แสบร้อน และผิวไหม้ ซึ่งลักษณะของผื่นที่พบอาจมีลักษณะเป็นรอยแดง แห้งลอก หรือเกิดเป็นผื่นนูนขึ้นมาได้ ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่พบได้ในทุกวัยทั้งเพศชายและหญิง 
 
ภาพจาก : http://images.wisegeek.com/hand-showing-rash.jpg 
ผื่นแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis) เป็นโรคที่เกิดจากผิวหนังมีการอักเสบเรื้อรัง จากปฏิกริยาทางภูมิแพ้ ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นไม่ใช่โรคติดต่อหรือเกิดจากความสกปรก แต่เกิดมาจากร่างกายของผู้ป่วยมีภูมิที่ไวต่อการตอบสนองต่อปัจจัยกระตุ้นต่างๆ มากเกินไป โดยพบว่าผู้ป่วยที่มีอาการภูมิแพ้ผิวหนัง อาจจะมีอาการภูมิแพ้อื่นๆร่วมด้วย เช่น แพ้อากาศ เยื่อบุจมูกและเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ และหอบหืด เป็นต้น ซึ่งภาวะการดำเนินของโรคที่เกิดขึ้นจะมีลักษณะเป็นๆ หายๆ คือ มีช่วงที่ภาวะโรคกำเริบ คือเกิดผื่นผิวหนังเห่อแดงและมีอาการคัน สลับกับช่วงที่มีภาวะโรคสงบ สาเหตุของการเกิดโรคผื่นแพ้ผิวหนังยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดมาจากหลายสาเหตุร่วมกัน โดยสาเหตุหลักสาเหตุหนึ่งมาจากปัจจัยทางพันธุกรรมของตัวผู้ป่วยเองหรือจากบุคคลในครอบครัวที่มีประวัติภูมิแพ้ซึ่งมีภูมิที่ไวต่อสิ่งกระตุ้น ร่วมกับปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมภายนอกที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดผื่นที่เห่อมากขึ้น การกำเริบของผื่นที่เห่อลุกลามส่วนใหญ่จะมาจากการเกาของผู้ป่วย เนื่องจากผื่นที่เกิดขึ้นจะมีอาการเด่นคืออาการคัน เมื่อมีการเกาจะทำให้โรคเกิดการลุกลามและเห่อของผื่นมากขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นให้ผื่นมีความรุนแรงมากขึ้น ได้แก่

  1. สภาพอากาศ ยกตัวอย่างเช่น อากาศร้อน อากาศเย็น การอาบน้ำร้อน และสภาพอากาศที่แห้ง ล้วนเป็นตัวกระตุ้นให้ผื่นเกิดการเห่อรุนแรงขึ้นได้
  2. อาหารบางชนิด ได้แก่ นม ไข่ ถั่ว อาหารทะเล ซึ่งพบว่าอาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยบางรายที่มีการแพ้อาหารดังกล่าว
  3. สารระคายเคือง และสารชำระล้างทำความสะอาด เช่น น้ำหอม สบู่ ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม เป็นต้น
  4. เนื้อผ้าบางชนิดที่ระคายเคืองต่อผิว
  5. สารก่อภูมิแพ้ที่พบบ่อยในอากาศ เช่น ตัวไรฝุ่น
  6. การติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราที่ผิวหนัง จากการเกาของผู้ป่วย
  7. การพักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียด และความวิตกกังวล

อาการที่มักเกิดขึ้นของโรคผื่นแพ้ผิวหนังอักเสบ คือ ผู้ป่วยจะมีผิวที่ค่อนข้างแห้ง หรือแห้งมาก และมีอาการคันอย่างมากเป็นอาการเด่น ลักษณะการอักเสบของผิวหนังอาจแบ่งได้เป็นหลายระยะ ตั้งแต่ระยะเฉียบพลันจนถึงระยะเรื้อรัง ในระยะเฉียบพลันมักมีรอยโรคที่มีลักษณะเห่อแดงคัน อาจมีตุ่มน้ำใสเล็กๆ หรือมีน้ำเหลืองเยิ้มซึมซึ่งมีการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังร่วมด้วย ในระยะรองจากเฉียบพลันรอยโรคจะมีลักษณะเป็นขุยแห้งหรือมีสะเก็ด และระยะเรื้อรังซึ่งรอยโรคจะมีลักษณะเป็นปื้นนูน คัน มีขุย และมีการหนาตัวของผิวหนัง 
สำหรับบริเวณหรือตำแหน่งที่มีการเกิดรอยโรคจะมีความแตกต่างกันตามวัยของผู้ป่วย ยกตัวอย่างเช่น ในวัยทารกผื่นที่เกิดขึ้นมักจะเกิดบริเวณแก้ม และด้านนอกของแขนขา ข้อมือ ข้อเท้า ขณะที่วัยเด็กโตและผู้ใหญ่มักพบผื่นที่มีความหนาขึ้นที่บริเวณข้อพับต่างๆ เช่น ข้อพับแขนขา บริเวณลำคอ หรือหากมีการเกาอาจเป็นปื้นลามไปทั่วร่างกายได้ การป้องกันและรักษาผื่นแพ้ผิวหนัง และการดูแลผิวที่แพ้ง่าย มีหลักการที่สามารถทำได้ดังต่อไปนี้

  1. หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดการกำเริบของผื่นแพ้ดังที่กล่าวมาข้างต้น
  2. หลีกเลี่ยงสภาพอากาศที่ร้อนจัดหรือหนาวจัด เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวจะทำให้ร่างกายมีเหงื่อออก และสภาพอากาศที่เย็นจัดซึ่งมีความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดผื่นคันได้
  3. รักษาความชุ่มชื้นของผิวหนัง โดยการหลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่น หรือการอาบน้ำที่บ่อยจนเกินไปซึ่งอาจทำให้เกิดผิวแห้งได้ นอกจากนี้สำหรับผู้ที่มีภาวะผิวแพ้ง่ายและผิวแห้ง การป้องกันความแห้งของผิวโดยการใช้สารเคลือบผิวเป็นสิ่งที่แนะนำ สารเคลือบผิวดังกล่าวอาจเป็นครีมหรือโลชั่นบำรุงผิวที่มีความอ่อนโยนกับผิวแพ้ง่ายและปราศจากน้ำหอม หรือในกรณีที่ผิวมีความแห้งมากอาจใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเป็นน้ำมันเคลือบผิว ซึ่งผลิตภัณฑ์เคลือบผิวเหล่านี้มีการแนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์หลังการอาบน้ำและซับผิวหรือเช็ดตัวภายในระยะเวลา 3-5 นาที เพื่อให้เกิดการปกคลุมผิวในช่วงที่ผิวยังมีความชุ่มชื้นอยู่
  4. ผลิตภัณฑ์ที่เลือกใช้เพื่อการทำความสะอาดผิวและบำรุงผิว ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ไม่ก่อการระคายเคืองต่อผิวหนังและปราศจากน้ำหอม
  5. ควรเลือกสวมใส่เสื้อผ้าที่เนื้อโปร่งสบาย ระบายอากาศได้ง่าย เช่น ผ้าฝ้าย และหลีกเลี่ยงผ้าที่มีเนื้อหนาและหยาบ
  6. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้สดชื่นแจ่มใส หลีกเลี่ยงความเครียดและความวิตกกังวล รักษาสุขอนามัยส่วนตัวโดยการตัดเล็บให้สั้นและหลีกเลี่ยงการเกาบริเวณที่มีผื่นคัน
  7. เมื่อเกิดผื่นภูมิแพ้ผิวหนังขึ้นแล้ว การรักษาสามารถทำได้โดยการให้ยาทาเฉพาะที่ ได้แก่ ยากลุ่ม สเตียรอยด์ซึ่งให้ผลการรักษาที่ดีและทำให้ผื่นยุบได้เร็วมาก อย่างไรก็ตามการใช้ยากลุ่มนี้จะต้องมีความระมัดระวังในการใช้ และต้องเลือกชนิดของยาให้เหมาะสมกับตำแหน่งบริเวณที่ใช้ยานั้น เนื่องจากอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาตามมาได้หากใช้ยาไม่ถูกต้อง เช่น ผิวหนังบาง แผลแตก เกิดการติดเชื้อได้ง่าย และยาอาจดูดซึมเข้าสู่ร่างกายก่อให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติของเซลล์ต่างๆเช่นเซลล์ต่อมหมวกไต ดังนั้นก่อนการใช้ยากลุ่มนี้จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อให้การใช้ยามีประสิทธิภาพมากที่สุดและเกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุด ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการคันมากๆ อาจมีการให้ยาแก้แพ้กลุ่ม anti-histamine ชนิดรับประทานร่วมกับการใช้ยาทาเฉพาะที่ ซึ่งยากลุ่มดังกล่าวอาจส่งผลข้างเคียงทำให้เกิดการง่วงนอนได้ นอกจากนี้ยังมียากลุ่มใหม่คือกลุ่มยากดภูมิคุ้มกัน calcineurin inhibitors สามารถควบคุมการอักเสบและการกำเริบของผื่น ซึ่งถูกนำมาใช้ทดแทนยากลุ่มสเตียรอยด์เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงจากการใช้ยาต่อเนื่องเป็นเวลานาน อย่างไรก็ตามยากลุ่มดังกล่าวยังค่อนข้างมีราคาแพงในปัจจุบัน
  8. เมื่อมีผื่นเกิดขึ้นควรมีการระวังป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อนที่ผิวหนังบริเวณที่เกิดผื่น โดยหลีกเลี่ยงการเกาซึ่งอาจทำให้เกิดแผลเปิด และหากมีการติดเชื้อเกิดขึ้นแล้ว เช่นมีหนองหรือคราบน้ำเหลืองผู้ป่วยควรดูแลแผลโดยการประคบด้วยผ้าก๊อซชุบน้ำเกลือล้างแผล ซับหมาดๆและประคบลงบนผื่น 10-15 นาที วันละ 3-4 ครั้ง และมีการให้ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานหรือยาทาร่วมด้วย


 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Berardesca E, Farage M, Maibach H. Sensitive skin: an overview. Int J Cos Sci 2013; 35 (1): 2-8.
  2. Hanifin JM. Atopic dermatitis in infants and children. Pediatr Clin North Am 1991; 38 (4): 763-789.
  3. Susac A, Babic S, Lipozencic J. An overview on atopic dermatitis in children. Acta Dermatovenerol Croat 2007; 15 (3): 159-166.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


23 วินาทีที่แล้ว
1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้