เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ผลไม้เพื่อสุขภาพจากโครงการหลวง


ธิดารัตน์ จันทร์ดอน สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: http://www.angkhangstation.com/index.php...group=Home
อ่านแล้ว 21,972 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 24/03/2560
อ่านล่าสุด 11 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

ปัจจุบันนี้ความนิยมในการบริโภคผักผลไม้และผลิตภัณฑ์เกษตรเพื่อสุขภาพเพิ่มสูงขึ้น และด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชดำริในการจัดตั้งโครงการหลวงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเขา และดำเนินงานเพื่อการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพืชชนิดต่างๆ ทั้งไม้ยืนต้น พืชไร่ ผัก สมุนไพร ไม้ดอก รวมทั้งไม้ผลที่สามารถเพาะปลูกบริเวณภาคเหนือตอนบนของไทย ส่งผลให้ผลผลิตจากโครงการหลวงเป็นที่แพร่หลาย นอกจากเป็นแหล่งอาหารและทำรายได้ให้กับชาวเขาชุมชนต่างๆ ทางภาคเหนือแล้ว ผลไม้โครงการหลวงยังได้รับความนิยมมากขึ้นไปทั่วประเทศตลอดจนปัจจุบัน บทความนี้จึงขอนำเสนอความรู้เกี่ยวกับผลไม้ในโครงการหลวงหลากหลายชนิด รวมทั้งคุณค่าทางอาหารและงานวิจัยเกี่ยวกับสุขภาพที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ 
 
ภาพจาก : สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง 
พีช (Peach: Prunus persica (L.) Batsch) หรือ ท้อ ไม้ผลเขตหนาวที่มีถิ่นกำเนิดในจีน และสามารถพบพันธุ์พื้นเมืองเจริญได้ดีบริเวณภาคเหนือตอนบนของไทย ให้ผลผลิตออกมาจำหน่ายทำรายได้ให้แก่ชาวเขาแถบนั้น นับเป็นจุดเริ่มต้นของการวิจัยเกี่ยวกับพันธุ์พืชเขตหนาวเพื่อทดแทนการปลูกฝิ่น โดยมีการคัดเลือกและพัฒนาสายพันธุ์พีชจากต่างประเทศ รวมทั้งเนคทารีน (Nectarine: P. persica (L.) Batsch var. nucipersica) ซึ่งมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เหมือนพีชทุกประการ เพียงแต่เนคทารีนจะไม่มีขนที่ผิวผล 1, 2 ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ รสชาติดี สามารถรับประทานสดหรือนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยทั้งพีชและเนคทารีนอุดมไปด้วยสารกลุ่มโพลีฟีนอล (polyphenols) ที่มีฤทธิ์เด่นในการต้านอนุมูลอิสระ3 และมีการศึกษาในเซลล์และสัตว์ทดลองพบว่าสารสกัดจากพีชยังมีฤทธิ์ยับยั้งแองจิโอเทนซิน (angiotensin II) ซึ่งเป็นกลไกที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ (cardiovascular disease)4 และยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อะซีทิลโคลีนเอสเทอเรส (acetylcholinesterase) ซึ่งเป็นกลไกที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันโรคเกี่ยวกับระบบประสาท5 เป็นที่น่าสนใจศึกษาทางคลินิกต่อไปเกี่ยวกับประโยชน์ต่อสุขภาพของพีชและเนคทารีน 
พลัม แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ พลัมยุโรป (European plum: P. domestica L.) ถ้านำไปทำให้แห้งจะเรียกว่าพรุน (Prune: dried plum) และพลัมญี่ปุ่น (Japanese plum: P. salicina Lindl.) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ปลูกในไทย2 บางท่านอาจเรียก ลูกไหน ผลสีแดงอมม่วง ประกอบไปด้วยสารกลุ่มแอนโทไซยานิน (anthocyanins) มีฤทธิ์ลดปริมาณสารพิษมาลอนไดอัลดีไฮด์ (malondialdehyde) และช่วยเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระต่างๆ6 น้ำคั้นผลพลัมเข้มข้นที่ประกอบด้วยสารแอนโทไซยานินในปริมาณสูงมีฤทธิ์ต้านการเกิดลิ่มเลือด โดยยับยั้งกลไกการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด อาจมีผลในการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่นเดียวกับที่มีการศึกษาวิจัยในพลัมยุโรป สำหรับพรุนและน้ำพรุนมีประโยชน์ช่วยในเรื่องของการขับถ่าย และมีฤทธิ์ป้องกันภาวะกระดูกพรุนโดยเฉพาะในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน7, 8 
บ๊วย (Japanese apricot: P. mume Siebold & Zucc.) เป็นผลไม้ตระกูลเดียวกับพีชและพลัม ที่ชาวจีนเรียก เหมย (Mei) มีสรรพคุณแผนโบราณตามการแพทย์แผนจีน ใช้ผลบ๊วยในการรักษาอาการไอและลดไข้ และมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่าสารสกัดบ๊วย MK615 ซึ่งประกอบด้วยสารกลุ่มไตรเตอร์ปีนอยด์ (triterpenoids) เช่น กรดโอลีนโนลิก (oleanolic acid) และกรดเออร์โซลิก (ursolic acid) มีฤทธิ์ป้องกันการทำงานของตับโดยกลไกการต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบ มีผลในการลดระดับเอนไซม์การทำงานของตับ aspartate aminotransferase (AST) และ alanine aminotransferase (ALT) ในผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีและผู้ป่วยภาวะไขมันพอกตับที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ (non-alcoholic fatty liver disease) 9, 10 มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง11 ยับยั้งเชื้อ Helicobacter pylori แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร12, 13 และยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคในช่องปาก14 เป็นต้น 
พลับ (Persimmon: Diospyros kaki L.f.) มี 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ พลับหวาน (non-astringent) และพลับฝาด (astringent) ที่ต้องนำไปขจัดความฝาดก่อนรับประทาน รสชาติหวานหอม นิยมรับประทานผลสด และนำไปแปรรูปเป็นพลับหมาดหรือพลับแห้ง พลับทั้งผลไม่ปอกเปลือกมีใยอาหารสูง อุดมไปด้วยสารสำคัญต่างๆ มีส่วนช่วยในการบำรุงสายตาและผิวพรรณ15 นอกจากนี้ยังมีการศึกษาทางคลินิกพบว่าผลพลับอ่อนมีสารแทนนิน (tannin) สูง มีผลช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือด16 มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์อัลฟ่า-อะไมเลส (α-amylase) และชะลอการดูดซึมคาร์โบไฮเดรตในหนูทดลอง มีผลในการช่วยลดระดับน้ำตาล17 ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ในการศึกษาต่อไปเกี่ยวกับการรับประทานผลพลับเพื่อการป้องกันรักษาภาวะน้ำตาลในเลือดสูง 
สตรอว์เบอร์รี (Strawberry: Fragaria X ananassa Duch.) ผลไม้ยอดนิยมของหลายๆ ท่าน ปัจจุบันสามารถเพาะปลูกได้ดีและแพร่กระจายมากขึ้นในหลายพื้นที่ของไทย มีการคัดเลือกสายพันธุ์ใหม่ๆ เพื่อใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหาร นำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ หรือบริโภคผลสด เช่น พันธุ์พระราชทาน 80 และพันธุ์พระราชทาน 88 ที่กำลังได้รับความนิยมในการบริโภคสูงมาก สตรอว์เบอร์รีมีรูปร่างและสีสันดึงดูดใจ รสชาติเปรี้ยวจนถึงหวาน กลิ่นหอมถูกใจผู้บริโภค จัดเป็นผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง รวมทั้งอุดมไปด้วยกรดแกลลิก (gallic acid) และกรดเอลลาจิก (ellagic acid) ซึ่งพบได้มากในพืชตระกูลเบอร์รี มีประโยชน์ต่อร่างกายช่วยป้องกันและลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจได้ 18-21 
เคพกูสเบอร์รี (Cape gooseberry: Physalis peruviana L.) หรือ โทงเทงฝรั่ง เพราะมีลักษณะคล้ายกับโทงเทงไทย (P. angulata และ P. minima) ซึ่งมีรูปร่างค่อนข้างแปลก มีกลีบเลี้ยงหุ้มผลกลมๆ เล็กๆ อยู่ภายในคล้ายกับระฆัง จึงมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า ระฆังทอง (gold bell) ในต่างประเทศนิยมนำผลสุกสีเหลืองส้มที่ต้มแล้วใส่ในพาย พุดดิ้ง ไอศกรีม และแปรรูปเป็นแยมหรือเยลลี่1 มีกลิ่นและรสชาติเฉพาะตัว ปัจจุบันมีการพัฒนานำกลิ่นและน้ำมันจากผลสุกมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร22 สำหรับในประเทศไทยมีการแปรรูปเป็นนำคั้นบรรจุขวดออกมาจำหน่ายของมูลนิธิโครงการหลวง นอกจากจะรับประทานผลสดแล้ว อาจนำมาใส่สลัดบริโภคร่วมกับผักชนิดอื่นๆ ให้รสชาติหวานอมเปรี้ยว ประกอบไปด้วยวิตามินซี วิตามินเอ และวิตามินอี รวมทั้งแคโรทีนอยด์ และสารต่างๆ ที่มีบทบาทสำคัญในการต้านอนุมูลอิสระ23 
หม่อน หรือ มัลเบอร์รี (Mulberry: Morus alba L.) นิยมนำมารับประทานผลสด อบแห้ง และหมักเป็นไวน์ หรือแปรรูปเป็นแยม เป็นผลไม้ที่ให้พลังงานต่ำ อุดมไปด้วยสารกลุ่มโพลีฟีนอลช่วยในการต้านอนุมูลอิสระของร่างกาย24 และยังมีงานวิจัยพบว่าสารสกัดผลหม่อนมีฤทธิ์ช่วยในการยับยั้งเซลล์ไขมัน25 มีฤทธิ์ปกป้องระบบประสาทโดยกลไกการยับยั้งการสะสมของโปรตีนแอลฟา-ไซนิวคลีอิน (α-synuclein) ที่มีผลต่อการทำหน้าที่ของเซลล์ประสาทและเป็นสาเหตุของอาการสมองเสื่อม26 และนอกจากผลหม่อนจะมีประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว ใบหม่อนยังมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่น่าสนใจ โดยมีการศึกษาทางคลินิกระบุว่าในใบหม่อนพบสารสำคัญ 1-deoxynojirimyrin (DNJ) มีผลช่วยลดน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานและลดอัตราเสี่ยงของการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงได้27 
เสาวรส (Passion fruit) หรือ กะทกรกฝรั่ง ที่ปลูกกันทั่วไปมี 2 ชนิด คือ ชนิดผลสีเหลือง (Passiflora edulis Flavicarpa) และชนิดผลสีม่วง (Passiflora edulis Sims) มีรสชาติเปรี้ยวและกลิ่นหอมเฉพาะตัว เนื้อเสาวรสทั้งสองชนิดอุดมไปด้วยสารสำคัญรวมทั้งวิตามินต่างๆ นิยมนำมาแปรรูปเป็นน้ำผลไม้ และมีการศึกษาในผู้สูงอายุทั้งเพศหญิงและชายที่สุขภาพดี ให้ดื่มน้ำเสาวรสทั้งชนิดเปลือกสีม่วงและสีเหลือง วันละ 1 แก้ว ปริมาณประมาณ 125 มล. ติดต่อกัน 4 สัปดาห์ ผลการศึกษาโดยรวมพบว่าเสาวรสทั้ง 2 ชนิด มีผลช่วยเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระและมีฤทธิ์ยับยั้งไซโตไคน์ (cytokine) ที่กระตุ้นให้มีการอักเสบ อย่างไรก็ตามไม่ควรดื่มน้ำเสาวรสที่มีส่วนผสมของน้ำตาลในปริมาณสูงเกินไป เพราะอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพได้28, 29 
อะโวคาโด (Avocado: Persea americana Mill.) เป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (monounsaturated fatty acid) มีประโยชน์ต่อร่างกายในการลดปริมาณคอเลสเตอรอลรวม คอเลสเตอรอลชนิด LDL ไตรกลีเซอร์ไรด์ รวมทั้งมีผลเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลชนิด HDL ซึ่งเป็นผลดีต่อร่างกาย30 นอกจากนี้อะโวคาโดยังเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ น้ำตาลน้อย กลิ่นและรสชาติ รวมทั้งเนื้อสัมผัสที่นุ่มเหมาะสำหรับเป็นอาหารเสริมของเด็กทารก (infant) และเด็กวัยเตาะแตะ (toddler) ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านอาหาร (transitional feeding)31 สำหรับผู้ใหญ่การรับประทานอะโวคาโดยังช่วยในการดูดซึมวิตามินเอ เมื่อรับประทานควบคู่กับผักผลไม้ที่อุดมไปด้วยแคโรทีนอยด์ เช่น มะเขือเทศ แครอท เป็นต้น32 อย่างไรก็ตามอะโวคาโดเป็นผลไม้ที่มีวิตามินเคสูง จึงควรระมัดระวังในผู้ที่ใช้ยาวาร์ฟาริน (warfarin) เพราะอาจไปยับยั้งกลไกต้านการแข็งตัวของเลือดของยาได้33 
กีวีฟรุต (Kiwi fruit, Chinese gooseberry) มีหลายชนิด ที่มีการเพาะปลูกในไทยและให้ผลผลิตได้ดีมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Actinidia deliciosa เป็นสายพันธุ์จากประเทศนิวซีแลนด์ รวมทั้งมีการศึกษาทดลองปลูกชนิดอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น A. chinensis และ A. arguta เป็นต้น2 กีวีฟรุตมีวิตามินซีสูงมากช่วยในการต้านอนุมูลอิสระของร่างกาย 34 และมีกากใยสูงช่วยเพิ่มการเคลื่อนไหวของลำไส้ โดยมีการศึกษาในผู้ป่วยลำไส้แปรปรวนร่วมกับมีอาการท้องผูกให้รับประทานกีวีฟรุต 2 ผล/วัน เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่ามีผลช่วยปรับปรุงการทำงานของระบบทางเดินอาหารและช่วยลดอาการท้องผูกได้35 
ฟิก (Fig: Ficus carica L.) หรือ มะเดื่อฝรั่ง อาจจะเป็นผลไม้ที่ยังไม่ได้รับความนิยมสำหรับคนไทยในปัจจุบัน แต่ก็เป็นที่รู้จักมากขึ้น มีการนำเข้าผลสดและฟิกอบแห้งจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมีการทดลองปลูกในไทย ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี ผลโต รสชาติดี มีสรรพคุณแผนโบราณเป็นยาระบายอ่อนๆ ช่วยในเรื่องการขับถ่าย อุดมไปด้วยวิตามินต่างๆ รวมทั้งสารกลุ่มแอนโทไซยานิน มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบเช่นเดียวกัน36-38 
นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยังมีผลไม้ในโครงการหลวงอีกหลายชนิดซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น มะม่วง มะละกอ สาลี่ ผลไม้ตระกูลเบอร์รี เช่น บลูเบอร์รี ราสพ์เบอร์รี เป็นต้น และจากข้อมูลงานวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของผลไม้ในโครงการหลวง ถึงแม้บางงานวิจัยอาจจะยังมีข้อมูลทางคลินิกเพียงเล็กน้อย แต่อย่างไรก็ตามการรับประทานผลไม้หลากหลายชนิดในปริมาณที่เหมาะสม ทำให้ร่างกายได้รับวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายอย่างเพียงพอ มีส่วนช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรง และยังเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามปณิธานของมูลนิธิโครงการหลวงอีกด้วย 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. พีรศักดิ์ วรสุทโรสถ, สุนทร ดุริยะประพันธ์, ทักษิณ อาชวาคม, สายันต์ ตันพานิช, ชลธิชา นิวาสประกฤติ, ปรียานันท์ ศรสูงเนิน. ทรัพยากรพืชในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 2 ไม้ผลและไม้ผลเคี้ยวมัน. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชวนพิมพ์; 2544:573 หน้า.
  2. องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาที่สูงอย่างยั่งยืน [อินเทอร์เน็ต]. สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน). [เข้าถึงเมื่อ 5 ธันวาคม 2559]. เข้าถึงได้จาก: http://hkm.hrdi.or.th/knowledge
  3. Cantίn CM, Moreno MA, Gogorcena Y. Evaluation of the antioxidant capacity, phenolic compounds, and vitamin C content of different peach and nectarine [ Prunus persica (L.) Batsch] breeding progenies. J Agric Food Chem 2009;57(11):4586-92.
  4. Kono R, Okuno Y, Nakamura M, Inada K, Tokuda A, Yamashita M, et al. Peach (Prunus persica) extract inhibits angiotensin II-induced signal transduction in vascular smooth muscle cells. Food Chem 2013;139(1-4):371-6.
  5. Suh SJ, Koo BS, Jin UH, Hwang MJ, Lee IS, Kim CH. Pharmacological characterization of orally active cholinesterase inhibitory activity of Prunus persica L. Batsch in rats. J Mol Neurosci 2006;29(2):101-7.
  6. Fanning KJ, Topp B, Russell D, Stanley R, Netzel M. Japanese plums (Prunus salicina Lindl.) and phytochemicals-breeding, horticultural practice, postharvest storage, processing and bioactivity. J Sci Food Agric 2014;94(11):2137-47.
  7. Igwe EO, Charlton KE. A systematic review on the health effects of plums (Prunus domestica and Prunus salicina). Phytother Res 2016;30(5):701-31.
  8. Stacewicz-Sapuntzakis M. Dried plums and their products: composition and health effects an updated review. Crit Rev Food Sci Nutr 2013;53(12):1277-302.
  9. Hokari A, Ishikawa T, Tajiri H, Matsuda T, Ishii O, Matsumoto N, et al. Efficacy of MK615 for the treatment of patients with liver disorders. World J Gastroenterol 2012;18(31):4118-26.
  10. Beretta A, Accinni R, Dellanoce C, Tonini A, Cardot JM, Bussière A. Efficacy of a standardized extract of Prunus mume in liver protection and redox homeostasis: A randomized, double-Blind, placebo-controlled study. Phytother Res 2016;30(6):949-55.
  11. Hoshino T, Takagi H, Naganuma A, Koitabashi E, Uehara S, Sakamoto N, et al. Advanced hepatocellular carcinoma responds to MK615, a compound extract from the Japanese apricot "Prunus mume". World J Hepatol 2013;5(10):596-600.
  12. Enomoto S, Yanaoka K, Utsunomiya H, Niwa T, Inada K, Deguchi H, et al. Inhibitory effects of Japanese apricot (Prunus mume Siebold et Zucc.; Ume) on Helicobacter pylori related chronic gastritis. Eur J Clin Nutr 2010;64(7):714-9.
  13. Otsuka T, Tsukamoto T, Tanaka H, Inada K, Utsunomiya H, Mizoshita T, et al. Suppressive effects of fruit-juice concentrate of Prunus mume Sieb. et Zucc. (Japanese apricot, Ume) on Helicobacter pylori induced glandular stomach lesions in Mongolian gerbils. Asian Pac J Cancer Prev 2005;6(3):337-41.
  14. Seneviratne CJ, Wong RW, Hägg U, Chen Y, Herath TD, Samaranayake PL, et al. Prunus mume extract exhibits antimicrobial activity against pathogenic oral bacteria. Int J Paediatr Dent 2011;21(4):299-305.
  15. Gorinstein S, Zachwieja Z, Folta M, Barton H, Piotrowicz J, Zemser M, et al. Comparative contents of dietary fiber, total phenolics, and minerals in persimmons and apples. J Agric Food Chem 2001;49(2):952-7.
  16. Gato N, Kadowaki A, Hashimoto N, Yokoyama S, Matsumoto K. Persimmon fruit tannin-rich fiber reduces cholesterol levels in humans. Ann Nutr Metab 2013;62(1):1-6.
  17. Tsujita T. Persimmon-tannin, an ?-amylase inhibitor, retards carbohydrate absorption in rats. J Nutr Sci Vitaminol (Tokyo) 2016;62(3):192-7.
  18. Giampieri F, Tulipani S, Alvarez-Suarez JM, Quiles JL, Mezzetti B, Battino M. The strawberry: composition, nutritional quality, and impact on human health. Nutrition 2012;28(1):9-19.
  19. Basu A, Nguyen A, Betts NM, Lyons TJ. Strawberry as a functional food: an evidence-based review. Crit Rev Food Sci Nutr 2014;54(6):790-806.
  20. Giampieri F, Forbes-Hernandez TY, Gasparrini M, Alvarez-Suarez JM, Afrin S, Bompadre S, et al. Strawberry as a health promoter: an evidence based review. Food Funct 2015;6(5):1386-98.
  21. Giampieri F, Alvarez-Suarez JM, Battino M. Strawberry and human health: effects beyond antioxidant activity. J Agric Food Chem 2014;62(18):3867-76.
  22. Ramadan MF, Mörsel JT. Oil goldenberry (Physalis peruviana L.). J Agric Food Chem 2003;51(4):969-74.
  23. Puentea LA , Pinto-Mu?oza CA, Castroa ES, Cortésb M. Physalis peruviana Linnaeus, the multiple properties of a highly functional fruit: A review. Food Res Int 2011;44(7):1733-40.
  24. Wang Y, Xiang L, Wang C, Tang C, He X. Antidiabetic and antioxidant effects and phytochemicals of mulberry fruit (Morus alba L.) polyphenol enhanced extract. PLoS One 2013;8(7):e71144.
  25. Choi JW, Synytsya A, Capek P, Bleha R, Pohl R, Park YI. Structural analysis and antiobesity effect of a pectic polysaccharide isolated from Korean mulberry fruit Oddi (Morus alba L.). Carbohydr Polym 2016;146:187-96.
  26. Gu PS, Moon M, Choi JG, Oh MS. Mulberry fruit ameliorates Parkinson's disease related pathology by reducing α-synuclein and ubiquitin levels in a 1-methyl-4-phenyl-1,2,3,6-tetrahydropyridine/probenecid model. J Nutr Biochem 2017;39:15-21.
  27. Kimura T, Nakagawa K, Kubota H, Kojima Y, Goto Y, Yamagishi K, et al. Food-grade mulberry powder enriched with 1-deoxynojirimycin suppresses the elevation of postprandial blood glucose in humans. J Agric Food Chem 2007;55(14):5869-74.
  28. Tala Y, Anavia S, Reismana M, Samachb A, Tirosha O, Aron M, et al. The neuroprotective properties of a novel variety of passion fruit. Journal of Functional Foods 2016;23:359-69.
  29. ศุภวัชร สิงห์ทอง, เสนีย์ เครือเนตร, ศุภพงษ์ อาวรณ์. ผลของนํ้าเสาวรสต่อการต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบในผู้สูงอายุและในหลอดทดลอง. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย 2013;Project code RDG5420047.
  30. Dreher ML, Davenport AJ. Hass avocado composition and potential health effects. Crit Rev Food Sci Nutr 2013;53(7):738-50.
  31. Comerford KB, Ayoob KT, Murray RD, Atkinson SA. The role of avocados in complementary and transitional feeding. Nutrients 2016;8(5):E316
  32. Kopec RE, Cooperstone JL, Schweiggert RM, Young GS, Harrison EH, Francis DM, et al. Avocado consumption enhances human postprandial provitamin A absorption and conversion from a novel high β-carotene tomato sauce and from carrots. J Nutr 2014 ;144(8):1158-66.
  33. Wells PS, Holbrook AM, Crowther NR, Hirsh J. Interactions of warfarin with drugs and food. Ann Intern Med 1994;121(9):676-83.
  34. D'Evoli L, Moscatello S, Lucarini M, Aguzzi A, Gabrielli P, Proietti S, et al. Nutritional traits and antioxidant capacity of kiwifruit (Actinidia deliciosa Planch., cv. Hayward) grown in Italy. J Food Compos Anal 2015;(37):25–29.
  35. Chang CC, Lin YT, Lu YT, Liu YS, Liu JF. Kiwifruit improves bowel function in patients with irritable bowel syndrome with constipation. Asia Pac J Clin Nutr 2010;19(4):451-7.
  36. Barolo MI, Ruiz Mostacero N, López SN. Ficus carica L. (Moraceae): an ancient source of food and health. Food Chem 2014;164:119-27.
  37. Badgujar SB, Patel VV, Bandivdekar AH, Mahajan RT. Traditional uses, phytochemistry and pharmacology of Ficus carica: a review. Pharm Biol 2014;52(11):1487-503.
  38. Mawa S, Husain K, Jantan I. Ficus carica L. (Moraceae): phytochemistry, traditional uses and biological activities. Evid-Based Compl Alt 2013;2013:974256.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


อโรมาเธอราพี (Aromatherapy) 8 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้