เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


โรคเกาต์ (gout) ดูแลอย่างไรดี


นศภ.ปณิดา ไทยอ่อน นักศึกษาฝึกปฏิบัติงานคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: http://images.medicinenet.com//images/sl...ion_s1.jpg
อ่านแล้ว 105,068 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 01/03/2560
อ่านล่าสุด 19 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

โรคเกาต์ (gout) เกิดจากการสะสมผลึกเกลือโมโนโซเดียมยูเรต (monosodium urate) ในน้ำไขข้อและเนื้อเยื่อต่างๆ สืบเนื่องจากการมีระดับกรดยูริกในเลือดสูง (hyperuricemia) ที่มีค่ามากกว่า 6 และ 7 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ในเพศหญิงและชายตามลำดับ ทั้งนี้การตรวจวินิจฉัยว่าเป็นโรคเกาต์ทำได้โดยการตรวจพบผลึกเกลือโมโนโซเดียมยูเรต จากน้ำไขข้อหรือก้อนที่เห็นเป็นตะปุ่มตะป่ำ เรียกว่าก้อนโทฟัส (tophus) อย่างไรก็ตามระดับกรดยูริกในเลือดสูงอย่างเดียวนั้น ยังไม่สามารถที่จะยืนยันว่าเป็นโรคเกาต์ได้ ต้องมีอาการปวดบวมที่ข้อ หรือพบก้อนโทฟัส (tophus) ร่วมด้วย1,2 โรคเกาต์ ถือเป็นโรคข้ออักเสบที่พบบ่อยมีอุบัติการณ์การเกิด 4.3 คนต่อประชากรไทย 100,000 คน3 พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ดังนั้นสิ่งสำคัญที่จะให้ผู้ป่วยรับมือกับโรคเกาต์ได้ คือความเข้าใจในตัวโรคและการดูแลที่ถูกต้อง 
 
ภาพจาก : http://img.webmd.com/dtmcms/live/webmd/consumer_assets/
site_images/articles/health_tools/gout_slideshow/phototake_photo_of_gout_finger.jpg 
โรคเกาต์ สามารถแบ่งได้ 3 ระยะ คือเมื่อเกิดอาการปวดข้อขึ้นมาหรือกำเริบอีกครั้ง เราเรียกว่า ระยะข้ออักเสบเฉียบพลัน (acute gouty arthritis) โดยทั่วไปสามารถหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์4 แต่ละคนอาจมีสาเหตุกระตุ้นอาการปวดข้อที่ไม่เหมือนกัน เช่น ปวดเมื่อมีอากาศหนาวเย็น5 การรับประทานอาหารที่มีพิวรีนสูง6 (เนื่องจากพิวรีนสามารถเปลี่ยนแปลงให้กลายเป็นกรดยูริกได้) การดื่มแอลกอฮอล์7,8 หรือการใช้ยาบางชนิดที่ส่งผลให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูงขึ้น2 ในขณะที่ผู้ป่วยโรคเกาต์ไม่มีอาการปวดข้อจะเรียกว่า ระยะปลอดอาการ (intercritical period) สุดท้ายหากปล่อยให้เกิดระดับกรดยูริกสูงบ่อยๆ จะนำไปสู่โรคเกาต์ ระยะเรื้อรังที่มีก้อนโทฟัส (chronic tophaceous gout) กลายเป็นข้ออักเสบเรื้อรังหลายๆ ข้อ อาการอักเสบกำเริบรุนแรงมากบ้างน้อยบ้างสลับกันไป และมีการทำลายของกระดูกข้อต่อเพิ่มมากขึ้น3 
ยารักษาโรคเกาต์กำเริบเฉียบพลัน ใช้เมื่อมีอาการปวด เพื่อลดการอักเสบภายในข้อสามารถหยุดยาได้เมื่ออาการปวดข้อดีขึ้นแล้ว1,2 ยาที่ใช้เป็นส่วนใหญ่ ได้แก่

  1. ยาโคชิซิน (colchicine) ออกฤทธิ์โดยลดการอักเสบจากผลึกของกรดยูริก และลดการทำลายข้อกระดูกจากการทำงานของเม็ดเลือดขาว9
  2. ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal anti-inflammatory drugs, NSAIDs) เช่น นาพรอกเซน (naproxen) อินโดเมทาซิน (indomethacin) ออกฤทธิ์ต้านการอักเสบทำให้อาการปวดบวมข้อทุเลาลง9
  3. ยากลุ่มสเตียรอยด์ชนิดกิน (oral glucocorticoids) เช่น ยาเพรดนิโซโลน (prednisolone) ออกฤทธิ์ต้านการอักเสบ9

ยารักษาโรคเกาต์อีกประเภทหนึ่ง คือยาลดกรดยูริก ใช้เมื่อมีข้ออักเสบกำเริบเป็นๆ หายๆ บ่อยกว่า 2 ครั้งต่อปี มีข้ออักเสบเรื้อรัง หรือมีปุ่มโทฟัสเกิดขึ้น ยาประเภทนี้มีจุดประสงค์เพื่อละลายผลึกเกลือโมโนโซเดียมยูเรตออกจากเนื้อเยื่อและป้องกันไม่ให้ตกผลึกเพิ่มขึ้น ดังนั้นผู้ป่วยจะต้องรับประทานไปตลอดชีวิต1 มีด้วยกัน 2 กลุ่ม ได้แก่

  1. กลุ่มยายับยั้งการสร้างกรดยูริก (uricostatic agents)1,2 มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ xanthine oxidaseได้แก่ อัลโลพิวรีนอล (allopurinol) เฟบบูโซสตัท (febuxostat)
  2. กลุ่มยาเร่งการขับกรดยูริกทางไต (uricosuric agents)1,2 ออกฤทธิ์โดยยับยั้งการดูดกลับของกรดยูริกผ่านหลอดไตฝอย ทำให้กรดยูริกในเลือดลดลง ได้แก่ โพรเบเนซิด (probenecid) ซัลฟินไพราโซน(sulfinpyrazone) เบนซ์โบรมาโรน (benzbromarone)

นอกจากการใช้ยาอย่างถูกต้องแล้ว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมร่วมด้วยจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษาโรคเกาต์ให้ดียิ่งขึ้น เช่น

  • ลดการรับประทานอาหารที่มีพิวรีนสูง10 ซึ่งอาหารดังกล่าว ได้แก่
    • สัตว์ปีก เช่น เป็ด ห่าน ไก่
    • เครื่องในสัตว์ เช่น เซ่งจี้ ตับหมู มันสมองวัว ตับอ่อน ไต
    • ปลาและสัตว์น้ำบางชนิด เช่น ปลาไส้ตัน ปลาอินทรีย์ ปลาซาร์ดีน ปลาดุก ไข่่ปลา กะปิ กุ้งชีแฮ หอย
    • ผักและธัญพืชบางชนิด เช่น ชะอม กระถิน ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วดำ
    • เห็ด ยีสต์
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะเบียร์ พบว่าผู้ป่วยโรคเกาต์ที่ดื่มเบียร์มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการปวดเกาต์มากขึ้นประมาณ 2.5 เท่า เนื่องจากในเบียร์มีพิวรีนปริมาณมากสามารถเปลี่ยนเป็นกรดยูริกได้8

นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคเกาต์ที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ ร่วมด้วย และยาที่ใช้บางตัวอาจส่งผลให้ระดับกรดยูริกสูงขึ้นได้ เช่น ยาขับปัสสาวะกลุ่ม thiazide ยาไซโคลสปอริน (cyclosporine) ยาแอสไพรินขนาดต่ำ (ต่ำกว่า 1 กรัมต่อวัน) จึงควรมีการติดตามระดับกรดยูริกในเลือดสม่ำเสมอ โดยสรุปแล้วการดูแลโรคเกาต์นั้นไม่ยากหากผู้ป่วยมีความเข้าใจในตัวโรค และการใช้ยาอย่างถูกต้องร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมควบคู่กันไป จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมอาการปวดข้อ ลดการรุดหน้าของโรคไม่ให้รุนแรง และทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นอีกด้วย 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. สมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย. แนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาโรคเกาต์; 2555
  2. Neogi T. Gout. N Engl J Med 2011;364(5):443-52.
  3. Global Health Data Exchange. Gout in Thailand: Statistics on Overall Impact and Specific Effect on Demographic Groups [Internet]. [cited 2017 Jan 14]. Available from: URL:http://global-disease-burden.healthgrove.com/l/77816/Gout-in-Thailand#References&s=ref.
  4. Zimmermann B. Gout [Internet]. Philadelphia: Elsevier; 2017 [cited 2017 Jan 14]. Available from:URL: https://www.clinicalkey.com/#!/content/book/3-s2.0-B978032328048800316X.
  5. Neogi T, Chen C, Niu J, Chaisson C, Hunter DJ, Choi H, et al. Relation of temperature and humidity to the risk of recurrent gout attacks. Am J Epidemiol 2014;180:372-7.
  6. Zhang Y, Chen C, Choi H, Chaisson C, Hunter D, Niu J, et al. Purine-rich foods intake and recurrent gout attacks. Ann Rheum Dis 2012;71:1448-53.
  7. Zhang Y, Woods R, Chaisson CE, Neogi T, Niu J, McAlindon TE, et al. Alcohol consumption as a trigger of recurrent gout attacks. Am J Med 2006;119:800 e13-8.
  8. Choi HK, Atkinson K, Karlson EW, Willett W, Curhan G. Alcohol intake and risk of incident gout in men: a prospective study. Lancet. 2004;363:1277-81.
  9. Micromedex? [Database on the internet]. Colorado: Thomson Reuters (Healthcare); c2016. Micromedex? solutions, colchicine, naproxen, indomethacin, prednisolone; [cited 19 Jan 2016]. Available from: http://www.micromedexsolutions.com
  10. กรมอนามัย. สำนักโภชนาการ. ปริมาณพิวรีนในอาหารชนิดต่างๆ [อินเทอร์เน็ต]. นนทบุรี: กรม; 2555 [สืบค้น 14 ม.ค. 2560]. เข้าถึงได้จาก: http://nutrition.anamai.moph.go.th/temp/main/view.php?group=1&id=606.
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ยาไอซ์ (Ice) 10 วินาทีที่แล้ว
ท้องผูกจากยา 26 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2025
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้