เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


กระชายดำกับสมรรถภาพทางเพศชาย


อรัญญา ศรีบุศราคัม สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: https://sc02.alicdn.com/kf/HTB1CjI9KVXXX...iflora.jpg
อ่านแล้ว 292,713 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 27/02/2560
อ่านล่าสุด 2 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

เมื่อพูดถึงสมุนไพรไทยสำหรับเพศชาย กระชายดำนับเป็นสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่เชื่อกันว่า มีสรรพคุณช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ทำให้ท่านชายฟิตปั๋งได้ จึงทำให้ในระยะหนึ่งเกิดกระแสกระชายดำฟีเว่อร์ มีการส่งเสริมให้ปลูก และทำเป็นผลิตภัณฑ์โอทอปออกมาวางจำหน่ายเป็นจำนวนมาก กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้กระชายดำเป็นหนึ่งในสมุนไพร 5 ตัว ที่เป็นโปรดักส์แชมเปียนอีกด้วย 
 
ภาพจาก : http://asianlibido.com/wp-content/uploads/2014/04/krachaidam_root.jpg 
กระชายดำเป็นพืชในวงศ์เดียวกับ กระชาย ข่า ขิง และขมิ้น (Zingiberaceae) มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Kaempferia parviflora Wall. ex Baker ชื่อภาษาอังกฤษ คือ black ginger เนื่องมีลักษณะเหง้าคล้ายขิง แต่เนื้อในมีสีออกม่วงดำ กระชายดำเป็นพืชพื้นเมืองเขตร้อนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยพบขึ้นตามธรรมชาติบนภูเขา ในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 630 ม. หรือมากกว่า ปัจจุบันมีการปลูกทั่วทุกภูมิภาคของไทย ซึ่งแหล่งปลูกที่สำคัญส่วนใหญ่อยู่ในเขตจังหวัดเลย เพชรบูรณ์ พิษณุโลก เชียงใหม่ และเชียงราย กระชายดำสามารถจำแนกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ โดยพิจารณาจากสีของเนื้อในเหง้า ได้แก่ กลุ่มที่มีเนื้อในเหง้าสีม่วง ม่วงเข้ม จนถึงม่วงดำ และกลุ่มที่มีเนื้อในเหง้าสีจาง เนื่องจากมีความเชื่อว่าสีของเนื้อในเหง้าเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพของกระชายดำ ในทางการค้าจึงมักนิยมกระชายดำมีเนื้อในเหง้าสีม่วงเข้มซึ่งเชื่อว่ามีคุณภาพดี ถ้าเนื้อเป็นสีม่วงอ่อนจะถูกคัดไปเป็นกระชายม่วงซึ่งเชื่อว่าคุณภาพด้อยกว่า 
ในเหง้ากระชายดำ ประกอบด้วยสารสำคัญต่างๆ ได้แก่ น้ำมันหอมระเหย สารฟลาโวนอยด์ (flavonoids) กลุ่มฟลาโวน (flavones) เช่น 5,7-dimethoxyflavone, 5,7,4'-trimethoxyflavone, 5,7,3', 4'-tetramethoxyflavone และ 3,5,7,3',4'-pentamethoxyflavone กลุ่มสารแอนโทไซยานิน (antho-cyanins) และสารประกอบฟีนอลิก (phenolic compounds) อื่นๆ ส่วนใหญ่แล้วพันธุ์ที่มีเนื้อในเหง้าสีเข้ม จะมีปริมาณสารฟีนอลิกรวมและสารฟลาโวนอยด์สูงกว่าพันธุ์ที่มีเนื้อในเหง้าสีจาง ส่วนพันธุ์ที่มีเนื้อในเหง้าสีจาง จะมีปริมาณน้ำมันหอมระเหยสูงกว่าพันธุ์ที่มีสีเข้ม 
สรรพคุณในตำรายาไทยของกระชายดำ ระบุว่าเป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงกาม เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ในการใช้แบบพื้นบ้าน จะนำมาทำเป็นยาลูกกลอน โดยเอาผงแห้งมาผสมน้ำผึ้ง ปั้นเป็นลูกกลอน หรือทำเป็นยาดองเหล้าและดองน้ำผึ้ง แต่ในปัจจุบันนี้จะพบเห็นผลิตภัณฑ์ของกระชายดำวางจำหน่ายในท้องตลาด ในหลากหลายรูปแบบ เช่น ชาชง ยาแคปซูล ยาน้ำ ยาเม็ด กาแฟ และไวน์กระชายดำ ซึ่งเป็นที่นิยมมาก 
สำหรับการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับฤทธิ์ทางชีวภาพและเภสัชวิทยาของกระชายดำที่สนับสนุนสรรพคุณที่เกี่ยวข้องกับสมรรถภาพทางเพศของกระชายดำ พบว่าสารสกัดเอทานอลจากเหง้ามีผลทำให้พฤติกรรมทางเพศของสัตว์ทดลองดีขึ้น และมีผลต่ออวัยวะสืบพันธุ์โดยเพิ่มน้ำหนักของท่อพักเชื้ออสุจิ ถุงน้ำอสุจิ ต่อมลูกหมาก และกล้ามเนื้อก้นของหนู 
สารสกัดจากเหง้ายังมีผลเพิ่มการไหลเวียนเลือดไปยังอวัยวะเพศของสัตว์ทดลอง มีฤทธิ์ยับยั้งการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบองคชาต (carvernosum) ของหนูแรท และกล้ามเนื้อเรียบอวัยวะเพศผู้ของคนที่ได้จากการผ่าตัดแปลงเพศ ซึ่งส่งผลให้กล้ามเนื้อคลายตัว เลือดจึงไหลเวียนเข้าสู่อวัยวะเพศได้ดี ทำให้อวัยวะเพศเกิดการแข็งตัว นอกจากนี้สารสกัดเอทานอลและสารกลุ่มฟลาโวนอยด์มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ phosphodiesterase ทำให้กล้ามเนื้อหลอดเลือดคลายตัวและขยาย เลือดจึงไหลเวียนเข้าสู่อวัยวะเพศได้ดี 
การศึกษาในอาสาสมัครเพศชายที่มีสุขภาพดี อายุเฉลี่ย 65.05±3.5 ปี ที่รับประทานแคปซูลสารสกัดเอทานอลจากกระชายดำ ขนาด 25 และ 90 มก./วัน เป็นเวลา 2 เดือน พบว่าสารสกัด ขนาด 90 มก./วัน มีผลเพิ่มการตอบสนองต่อสิ่งเร้าทางเพศ (erotic stimuli) ของอาสาสมัครได้ โดยเพิ่มขนาดและความยาวขององคชาติ ลดระยะเวลาในการหลั่งน้ำกาม และเพิ่มความพึงพอใจต่อการแข็งตัว (erection satisfaction) และผลยังคงอยู่จนถึง 2 เดือนที่ได้รับสารสกัดอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อหยุดให้สารสกัดก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่แคปซูลกระชายดำไม่มีผลต่อระดับของฮอร์โมน testosterone, FSH, LH, cortisol และ prolactin 
จากข้อมูลรายงานการวิจัยจะเห็นว่า กระชายดำมีผลเพิ่มสมรรถภาพทางเพศได้ โดยมีผลต่อพฤติกรรมทางเพศ เพิ่มการไหลเวียนเลือดไปยังอวัยวะเพศ ทำให้กล้ามเนื้อเรียบของอวัยวะเพศคลายตัว ส่งผลให้เกิดการแข็งตัวของอวัยวะเพศได้ ซึ่งเป็นข้อมูลที่มาสนับสนุนสรรพคุณพื้นบ้านของกระชายดำในการเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ กระชายดําไม่ได้เป็นยาปลุกอารมณ์ทางเพศ แต่ช่วยทำให้อวัยวะเพศชายแข็งตัวได้ง่าย และบ่อยขึ้น มีระยะเวลาในการแข็งตัวที่นานขึ้น สำหรับข้อมูลการศึกษาในคนยังมีน้อย จึงยังไม่มีคำแนะนำเรื่องขนาดที่เหมาะสมและข้อมูลเรื่องความปลอดภัย เมื่อต้องใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน แม้จะยังไม่มีข้อห้ามหรือข้อควรระวังการใช้กระชายดำ แต่มีบางรายงานที่ระบุว่ากระชายดำในรูปแบบการรับประทานทำให้ตับเกิดความผิดปกติได้ หากใช้ในขนาดสูง หรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ดังนั้นผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับตับจึงควรหลีกเลี่ยง และในคนทั่วไปก็ไม่ควรใช้ในขนาดสูงหรือติดต่อกันเป็นเวลานานเช่นกัน นอกจากนี้ไม่ควรใช้ในเด็กหรือสตรีมีครรภ์ เนื่องจากยังขาดข้อมูลด้านความปลอดภัยในการใช้ และควรระวังการเกิดอันตรกิริยากับยาแผนปัจจุบัน เช่น ยา sildenafil (ยารักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ) เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยามากขึ้น ดังนั้นอาจต้องรอผลการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อให้ใช้สมุนไพรได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยมากขึ้น 
อ่านข้อมูลเกี่ยวกับกระชายดำเพิ่มเติมได้ในจลสารข้อมูลสมุนไพรปีที่ 32 ฉบับที่ 4

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Chan GC, Tang SF. Parental knowledge, attitudes and antibiotic use for acute upper respiratory tract infection in children attending a primary healthcare clinic in Malaysia. Singapore Med J. 2006;47:266–70.
  2. Fokkens WJ, Lund VJ, Mullol J, Bachert C, Alobid I, Baroody F, et al. European Position Paper on Rhinosinusitis and Nasal Polyps 2012. Rhinol Suppl. 2012 Mar(23):1-298.
  3. ุชาดา ชุติมาวรพันธ์, บรรณาธิการ. คู่มือทักษะตามเกณฑ์ความรู้ความสามารถทางวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม สภาเภสัชกรรม. กรุงเทพ, 2554
  4. Zithromax™ (azithromycin) [prescribing information]. Thailand: Pfizer. November 2013.
  5. Omnicef™ (cefdinir) [prescribing information]. Thailand: Pfizer. April 2012.

-->

เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


9 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้