เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ผลิตภัณฑ์ เห็ดหลินจือ ปลอดภัยหรือไม่ ??


รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: http://www.clipartkid.com/images/313/bla...lipart.png
อ่านแล้ว 150,107 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 18/12/2559
อ่านล่าสุด 3 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

เห็ดหลินจือ จัดเป็นราชาแห่งสมุนไพรจีนที่มีการใช้มานานกว่า 4,000 ปี ทั้งในประเทศจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน รวมทั้งประเทศไทย เป็นยาอายุวัฒนะและรักษาโรคต่าง ๆ จะเห็นได้ว่าปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เห็ดหลินจือในท้องตลาดมากมาย แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมีความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด?? 
 
ภาพจาก : http://www.lingzhiscientificstudies.com/ 
ผลิตภัณฑ์เห็ดหลินจือในท้องตลาด 
เห็ดหลินจือเป็นเห็ดที่พบได้ในป่าแถบทวีปเอเซีย ปัจจุบันมีการเพาะเห็ดหลินจือในหลายประเทศ การเพาะเลี้ยงเห็ดหลินจือจะต้องใช้เวลาประมาณ 5-7 เดือน จึงจะได้ดอกเห็ด ในขณะที่ความต้องการเห็ดหลินจือมีมากทำให้มีการพัฒนาการเพาะเลี้ยงเห็ดในถังหมักจะได้เส้นใย (mycelia) ซึ่งจะใช้เวลาน้อยกว่ามาก และสามารถควบคุมสภาวะการณ์ได้ ซึ่งจะทำให้ได้ปริมาณสารสำคัญมากขึ้น ซึ่งสภาวะการณ์ที่เหมาะสมคือ อุณหภูมิ 30-35oC และ pH 4-4.5 และการเติมสารอาหารกรดไขมันจำเป็น ฉะนั้นเราจะพบผลิตภัณฑ์เห็ดหลินจือในท้องตลาดที่จะได้จากส่วนต่าง ๆ ของเห็ดคือ ส่วนที่เป็นร่มหรือดอกเห็ด (fruity body) สปอร์ และส่วนที่เป็นเส้นใย ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นพบได้ทั้งในรูปแบบที่ไม่ได้สกัด และที่เป็นสารสกัด ผลิตภัณฑ์เห็ดหลินจือที่ไม่ได้สกัด เช่น ส่วนที่เป็นร่มหรือดอกเห็ด (fruity body) ฝานเป็นชิ้น หรือยังคงเป็นดอกเห็ดทั้งดอก แล้วนำไปต้มกับน้ำ หรือเป็นดอกเห็ดที่บดเป็นผงบรรจุแคปซูลหรือตอกเป็นเม็ด หรือทำเป็นชาชง ส่วนสปอร์ก็จะเป็นสปอร์ที่กระเทาะเปลือกแล้วบรรจุแคปซูล หรือเป็นผงชงกับน้ำ ส่วนที่เป็นเส้นใยจะนำมาตากแห้งแล้วนำไปปรุงเป็นอาหาร ทำเป็นซุป หรือทำเป็นผงบรรจุแคปซูลหรือตอกเป็นเม็ด ส่วนผลิตภัณฑ์ที่เป็นรูปสารสกัด จะเป็นการสกัดจากส่วนดอกเห็ดหรือเส้นใยด้วยน้ำร้อน หรือแอลกอฮอล์ แล้วทำให้แห้งบรรจุแคปซูลหรือตอกเป็นเม็ด ปัจจุบันมีการพัฒนาการสกัดโดยใช้วิธี supercritical fluid CO2 extraction ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้อุณหภูมิที่ต่ำ ไม่ต้องใช้ตัวทำละลาย (solvent) เป็นวิธีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 
ตามที่ทราบกันดีว่าสารสำคัญในเห็ดหลินจือจะเป็นสารกลุ่ม polysaccharides, terpenes, และสารกลุ่ม glycoproteins (อ่านรายละเอียดในบทความ "เห็ดหลินจือ…จากงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์") สารเหล่านี้จะพบได้ในปริมาณที่ต่างกันในแต่ละผลิตภัณฑ์ มีงานวิจัยสำรวจผลิตภัณฑ์เห็ดหลินจือที่ขายในฮ่องกงพบว่า ผลิตภัณฑ์ที่เป็นสารสกัดจากดอกเห็ดจะมีปริมาณสาร polysaccharides 1.1-15.8 % และสาร terpenes ปริมาณ 0.44-7.58% ซึ่งเป็นข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าปริมาณสารสำคัญจะขึ้นกับผลิตภัณฑ์ของแต่ละบริษัท 
การศึกษาความปลอดภัย 
มีรายงานวิจัยเกี่ยวกับความปลอดภัยของเห็ดหลินจือทั้งการทดลองในสัตว์และในคน งานวิจัยที่ทดสอบความเป็นพิษในหนูพบว่าสารสกัดเห็ดหลินจือที่ฉีดเข้าช่องท้องมีค่า LD50 สูงถึง 38 กรัม/กิโลกรัม สารสกัดน้ำ มีค่า LD50 มากกว่า 5 กรัม/กิโลกรัม ไม่ก่อเกิดพิษต่อระบบเลือด ตับและไต การให้สารสกัดแอลกอฮอล์แก่หนูในขนาด 1.2 และ 12 กรัม/กิโลกรัม ทุกวัน เป็นเวลา 30 วัน ไม่พบพิษต่อตับและการเจริญเติบโต การให้สารสกัดแอลกอฮอล์แก่สุนัขในขนาด 12 กรัม/กิโลกรัม ทุกวัน เป็นเวลา 15 วัน และขนาด 24 กรัม/กิโลกรัม ทุกวัน เป็นเวลา 13 วัน ไม่พบพิษ การศึกษาในผู้ป่วยชายโรคทางเดินปัสสาวะจำนวน 88 คน รับประทานสารสกัดเห็ดหลินจือขนาด 6 มิลลิกรัม ทุกวัน เป็นเวลา 12 สัปดาห์ พบว่าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นกว่ากลุ่มควบคุม และไม่พบผลข้างเคียงและความเป็นพิษต่อระบบเลือด ตับและไต แสดงว่าสารสกัดเห็ดหลินจือ (ส่วนดอก) มีความปลอดภัยในการรับประทานเป็นระยะยาว ส่วนการศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลันของสปอร์เห็ดหลินจือพบว่าค่า LD50 มากกว่า 10 กรัม/กิโลกรัม และไม่พบความเป็นพิษต่อยีน (พันธุกรรม) และอสุจิ การศึกษาในหนูพบว่าการป้อนสปอร์เห็ดหลินจือขนาด 4.5 กรัม/กิโลกรัม เป็นเวลา 30 วัน ไม่ก่อเกิดพิษ 
การก่อการแพ้ 
การรับประทานเห็ดหลินจือไม่พบการก่อการแพ้ แต่สปอร์ของเห็ดอาจจะทำให้แพ้ได้เช่นเดียวกับสปอร์ของเห็ด ราในอากาศ มีรายงานพบว่าผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้จะแพ้สปอร์มากกว่าดอกเห็ด 
ผลข้างเคียง 
การรับประทานสารสกัดเห็ดหลินจือขนาด 1.5-9 กรัม/วัน ไม่พบผลข้างเคียงอย่างรุนแรง แต่อาจจะพบว่า มีอาการง่วงนอน กระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อย เหงื่อออก อุจจาระเหลว หรือมีผื่นแพ้ 
ข้อควรระวัง

  • การรับประทานสารสกัดเห็ดหลินจือขนาด 2-10 กรัม/วัน ร่วมกับวิตามินซี ขนาด 6-12 กรัม/วัน จะทำให้ถ่ายอุจจาระเหลว
  • ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิต้านทาน ทั้งนี้เพราะเห็ดหลินจือมีฤทธิ์เพิ่มภูมิต้านทาน
  • ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยที่ได้รับประทานยากลุ่มป้องกันการเกาะกลุ่มของเกร็ดเลือด เช่น ยา aspirin หรือยา warfarin ทั้งนี้เพราะเห็ดหลินจือมีฤทธิ์เสริมยาดังกล่าว
  • สารสกัดน้ำเห็ดหลินจือมีฤทธิ์เสริมยาต้านจุลชีพ cefazolin ต่อเชื้อ Klebsiella oxytoca ATCC 8724, Bacillus subtilis ATCC 6603, Staphylococcus aureus ATCC 25923, Escherichia coli ATCC 25933 และ Salmonella typhi ATCC 6509


สรุป 
จะเห็นได้ว่าผลิตภัณฑ์เห็ดหลินจือที่ไม่ได้สกัดทั้งที่ได้จากส่วนดอก สปอร์ และเส้นใยมีความปลอดภัยในการรับประทาน ในขนาด 1.87 กรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม/วัน เป็นเวลา 26 สัปดาห์ หรือเทียบเท่ากับขนาดการรับประทาน 112.2 กรัม ต่อวัน ของผู้ใหญ่น้ำหนักตัว 60 กิโลกรัม เป็นเวลา 4 เดือน แต่การรับประทานผลิตภัณฑ์เห็ดหลินจือจะต้องระวังในผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยที่เปลี่ยนถ่ายอวัยวะที่ต้องรับประทานยากดภูมิต้านทาน และผู้ป่วยที่รับประทานยาป้องกันการเกาะตัวของเกร็ดเลือด ส่วนผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้จะต้องระวังการแพ้สปอร์ของเห็ด 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Benzie IFF, Wachtel-Galor S, editors. Herbal Medicine: Biomolecular and Clinical Aspects. 2nd edition. Boca Raton (FL): CRC Press/Taylor & Francis; 2011. https://www.mundoreishi.com/en/blog-en/422-contraindications-of-the-reishi
  2. Figlus D, Curvetto N. Medicinal mushroom reishi (Ganoderma lucidum) main toxicity and allergenicity studies. dosage, posology and side effects.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ว่านชักมดลูก 26 วินาทีที่แล้ว
Long COVID-19 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2025
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้