เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ผลแลปเลือดกับโรคไตเรื้อรัง


ภญ. ศยามล สุขขา ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: https://edc2.healthtap.com/ht-staging/us...1386671321
อ่านแล้ว 261,881 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 16/10/2559
อ่านล่าสุด 6 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


ไต คืออะไร และมีหน้าที่อย่างไร 
ไตเป็นอวัยวะที่มีรูปร่างคล้ายเม็ดถั่วแดง อยู่บริเวณบั้นเอว 2 ข้าง หน้าที่สำคัญของไตคือการกำจัดของเสีย ควบคุมสมดุลของน้ำ เกลือแร่ ควบคุมความเป็นกรด-ด่าง และช่วยในการสร้างฮอร์โมนหลายชนิด ดังนั้นหากไตทำงานบกพร่อง การทำหน้าที่ดังกล่าวก็จะมีความผิดปกติไปด้วย 
สาเหตุของโรคไตเรื้อรัง 
โรคไตเรื้อรังเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ สาเหตุส่วนใหญ่ที่พบคือ โรคเบาหวาน รองลงมาคือโรคความดันเลือดสูง สาเหตุอื่นๆ เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเองที่อาจก่อให้เกิดไตผิดปกติ ได้แก่ หลอดเลือดอักเสบ (vasculitis) เอสแอลอี (SLE) โรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะส่วนบนซ้ำหลายครั้ง (≥3 ครั้งต่อปี) ผู้ป่วยที่ได้รับยาแก้ปวดกลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยต์ (NSAIDs) หรือได้รับสารที่ทำลายไตเป็นประจำ 
 
รู้ได้อย่างไรว่ามีโรคไตเรื้อรัง 
โรคไตเรื้อรังคือ ภาวะที่ไตมีความบกพร่องในด้านการทำหน้าที่กรองของเสีย หรือเกิดจากโครงสร้างของไตมีความผิดปกติ นานติดต่อกันเกิน 3 เดือน ในทางปฏิบัติเราจะทำการตรวจเลือด เพื่อตรวจวัดค่าครีเอตินิน (serum creatinine; Scr) ซึ่งค่าปกติของชาย 4-20 ปีคือ 0.2-1.0 mg/dL, หญิง 4-20 ปีคือ 0.2-1.0 mg/dL, ชาย (ผู้ใหญ่) คือ 0.7-1.3 mg/dL, หญิง (ผู้ใหญ่) คือ 0.6-1.1 mg/dL1 ซึ่งเราจะใช้ค่าครีเอตินินนี้ในการคำนวณหาอัตราการกรองของไต (estimated glomerular filtration rate; eGFR) โดยหากอัตราการกรองของไตมีค่าสูง แสดงว่าไตมีความสามารถในการทำงานได้ดี โดยค่าปกติของอัตราการกรองของไต จะขึ้นกับอายุ เพศ และน้ำหนัก โดยทั่วไปในผู้ใหญ่อายุ 18-30 ปี จะมีค่าอัตราการกรองของไตโดยประมาณคือ 120-130 มิลลิลิตร/นาที/1.73 ตารางเมตร และจะมีค่าลดลงเรื่อยๆ ตามอายุที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามมีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้ค่าครีเอตินินมากขึ้น หรือน้อยลง โดยไม่ขึ้นกับค่าอัตราการกรองของไตได้เช่นกัน เช่น มวลกล้ามเนื้อ อาหารจำพวกโปรตีน ยาบางชนิด เป็นต้น 
นอกจากนี้ การประเมินการทำงานของไตอีกแบบหนึ่งคือ ปริมาณโปรตีนในปัสสาวะ โดยปกติแล้วไตจะมีส่วนที่มีลักษณะคล้ายเยื่อเลือกผ่าน เพื่อป้องกันไม่ให้สารขนาดใหญ่ เช่นโปรตีนหลุดออกมาในปัสสาวะได้ ดังนั้นหากตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะปริมาณมาก แสดงถึงความบกพร่องของการทำงานของไตได้ นอกจากนี้การตรวจทางรังสีวินิจฉัย หรือการเจาะชิ้นเนื้อไตก็สามารถใช้ประเมินโรคไตได้เช่นกัน 
ระยะของโรคไตเรื้อรังแบ่งได้อย่างไร 
เราใช้ค่าอัตราการกรองของไตมาเป็นตัวแบ่งระยะของโรคไตเรื้อรัง ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ระยะ โดยมีความรุนแรงจากน้อยที่สุด (ระยะ 1) จนถึงรุนแรงที่สุด (ระยะ 5 หรือเรียกว่าไตวายระยะสุดท้าย) ระยะของโรคไตเรื้อรังสามารถแบ่งได้ดังแสดงในตารางที่ 1 
 
ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคไตเรื้อรัง มักพบตั้งแต่ระยะที่ 3 และหากผู้ป่วยมีการดำเนินไปของโรคไตจนถึงโรคไตระยะที่ 5 หรือไตวายระยะสุดท้ายแล้ว ผู้ป่วยรายนั้นจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษาด้วยการทดแทนไต เช่น การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม การล้างไตทางช่องท้อง หรือการผ่าตัดปลูกถ่ายไต 
ภาวะแทรกซ้อนของโรคไตเรื้อรังคืออะไร 
ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังจะมีความบกพร่องในการกำจัดน้ำ และของเสียออกจากร่างกาย จึงมีอาการบวมน้ำได้ง่าย และหากมีของเสียสะสมในร่างกายปริมาณมาก จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการมึนงง สับสน นอกจากนี้โรคไตเรื้อรังทำให้เกิดการควบคุมสมดุลเกลือแร่ผิดปกติไป และส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะสำคัญๆ ในหลายอวัยวะ เช่น การคั่งของโพแทสเซียม (ใบรายงานผลทางห้องปฏิบัติการจะแสดงเป็นค่า K) ซึ่งมีผลต่อการทำงานของหัวใจ ความผิดปกติของแคลเซียม (ใบรายงานผลทางห้องปฏิบัติการจะแสดงเป็นค่า Ca) และฟอสเฟต (ใบรายงานผลทางห้องปฏิบัติการจะแสดงเป็นค่า P) ทำให้มีผลต่อระบบกระดูก และหัวใจได้ และเนื่องจากโรคไตเรื้อรังทำให้ความสามารถในการขับกรดลดลง โดยจะมีค่าไบคาร์บอเนตลดลง (ใบรายงานผลจะแสดงเป็นค่า CO2) ซึ่งภาวะเลือดเป็นกรดระยะเวลานานๆ จะมีผลเพิ่มการสลายกระดูกอีกด้วย 
นอกจากนี้ไตยังเป็นอวัยวะที่สร้างฮอร์โมนอีริโทโพอิติน ซึ่งทำหน้าที่กระตุ้นไขกระดูกในการสร้างเม็ดเลือดแดง ดังนั้นในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่องจึงมีภาวะโลหิตจาง ทำให้มีอาการซีด เหนื่อย และอ่อนเพลียได้ง่าย รวมทั้งโรคไตเรื้อรังยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น ความดันเลือดสูง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือหัวใจวายมากขึ้นด้วย 
 
เป้าหมายของการรักษาโรคไตเรื้อรัง 
เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไตเรื้อรังแล้ว เป้าหมายของการรักษาคือชะลอการเสื่อมของโรคไตเรื้อรัง รักษาภาวะแทรกซ้อนของโรคไตเรื้อรัง ควบคุมสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไตเรื้อรัง และป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้นผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยโรคไตเรื้อรังจะต้องทำการติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ รวมถึงปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด 
ในคนทั่วไปจำเป็นต้องได้รับการตรวจคัดกรองโรคไตเมื่อใด 
เนื่องจากอาการแสดงของโรคไตในระยะต้นมักจะไม่มีอาการ และมีอาการแสดงของโรคที่ไม่ชัดเจน ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงจึงควรได้รับการตรวจคัดกรองโรคไตเรื้อรังเป็นประจำทุกปี โดยทำการตรวจเลือด เพื่อวัดค่าครีเอตินินซึ่งแสดงถึงการทำงานของไต และการตรวจปัสสาวะเพื่อตรวจหาปริมาณโปรตีน และตรวจวัดระดับความดันเลือด โดยหากพบความผิดปกติแพทย์จะพิจารณาหาสาเหตุ และวิธีการรักษาต่อไป 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Appendix B: Common Laboratory Tests. In. Chisholm-Burns MA, Wells BG, Schwinghammer TL, Malone PM, Kolesar JM, Rotschafer JC, Dipiro JT, editors. Pharmacotherapy principles & practice. The McGraw-Hill Companies, Inc. 2008: 1545.
  2. Kidney Disease: Improving Global Outcomes (KDIGO) CKD Work Group. KDIGO 2012 clinical practice guideline for the evaluation and management of chronic kidney disease. Kidney inter., Suppl 2013; 3:1–150.
  3. สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย. คำแนะนำสำหรับการดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังก่อนการบำบัดทดแทนไต พ.ศ. 2558 (Clinical Practice Recommendation for the Evaluation and Management of Chronic Kidney Disease in Adults 2015).
  4. Kidney Disease: Improving Global Outcomes (KDIGO) CKD–MBD Work Group. KDIGO clinical practice guideline for the diagnosis, evaluation, prevention, and treatment of chronic kidney disease–mineral and bone disorder (CKD–MBD). Kidney Inter., Suppl 2009; 76:S1–130.
  5. Kidney Disease: Improving Global Outcomes (KDIGO) Anemia Work Group. KDIGO clinical practice guideline for anemia in chronic kidney disease. Kidney Inter., Suppl 2012; 2:279–335.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด



อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้