เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


มังคุด...ราชินีแห่งผลไม้


ธิดารัตน์ จันทร์ดอน สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: http://nutrawiki.org/mangosteen/
อ่านแล้ว 70,663 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 22/07/2559
อ่านล่าสุด 28 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


เมืองไทยเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพรรณและผลไม้นานาชนิด มีทุเรียนเป็นราชาแห่งผลไม้ ซึ่งมีรสชาติหวานมัน ให้พลังงานสูงทำให้ร่างกายรู้สึกร้อน และได้มีการขนานนามให้ มังคุด ซึ่งมีรสชาติหวานเย็น รับประทานแล้วรู้สึกชื่นใจ เป็นราชินีแห่งผลไม้มาคู่กัน ได้รับความนิยมทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีการส่งออกทั้งในเอเชีย จีน ญี่ปุ่น ยุโรปและตะวันออกกลาง 
 
มังคุด (Mangosteen) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Garcinia mangostana Linn. มีถิ่นกำเนิดบริเวณคาบสมุทรมลายู สำหรับประเทศไทยมีการเพาะปลูกกันมากในภาคใต้และภาคตะวันออก ในกรุงเทพมหานครมีวังสวนมังคุด ซึ่งตั้งอยู่บริเวณวังหลัง โรงพยาบาลศิริราช สันนิษฐานว่าเป็นพื้นที่สำหรับปลูกมังคุดเพื่อรับรองคณะทูตที่เดินทางมาจากเมืองอื่น ปัจจุบันถ้าใครเดินทางไปวังหลัง บริเวณทางเดินไปวัดระฆัง ยังพบเห็นกำแพงของวังสวนมังคุดปรากฏอยู่ (1) สรรพคุณตามตำรายาไทยของมังคุดระบุไว้ว่า 
ราก ทำให้ประจำเดือนมาตามปกติ รักษาโรคบิดมูกเลือด 
ต้น ใบ และดอก รักษาโรคบิดมูกเลือด 
เปลือกต้น ชะล้างบาดแผล รักษาแผล 
ผลดิบ สมานแผล แก้บาดแผล แก้ท้องร่วง แก้บิด 
เปลือกผล แก้ท้องร่วง สมานแผล แก้ท้องเสีย 
เนื้อในผล บำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย (2) 
สำหรับงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์พบว่าเนื้อมังคุดมีสารกลุ่มแคททีชินและฟลาวานอยด์ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ แต่ฤทธิ์น้อยกว่าเปลือกมังคุด ซึ่งจะพบสารกลุ่มแซนโทน ปัจจุบันมีการพัฒนาน้ำคั้นเนื้อมังคุดผสมเปลือกมังคุด โดยเน้นประโยชน์เรื่องการต้านอนุมูลอิสระ มีการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาน้ำมังคุดเข้มข้นให้เป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ รวมไปถึงการศึกษาเรื่องความเป็นพิษของการนำเปลือกมังคุดมาใช้สำหรับบริโภค ที่จำเป็นต้องคำนึงถึงขนาดที่ใช้ เนื่องจากมีรายงานความเป็นพิษต่อตับของสารกลุ่มแซนโทนที่พบในเปลือกมังคุด (3-4) สำหรับการรับประทานเนื้อมังคุดสด ถึงแม้ได้รับสารต้านอนุมูลอิสระเพียงเล็กน้อย แต่รสชาติก็หวานอร่อยถูกใจผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ควรระมัดระวังในผู้ที่ต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด นอกจากนี้ มังคุดยังมีการนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เปลือกมังคุดซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระต้านการอักเสบและต้านเชื้อแบคทีเรีย Propionibacterium acnes และ Staphylococcus epidermidis ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดสิว (5) นำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและผลิตภัณฑ์รักษาสิว (6-7) นอกจากนี้ ยังมีการศึกษานำเปลือกมังคุดมาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ลดกลิ่นปาก (8) เจลและเพสต์สำหรับป้ายปาก เพื่อใช้รักษาโรคปริทันต์และแผลในปาก เนื่องจากมีฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคในช่องปาก (9) และมีการทดลองนำครีมผสมสารสกัดเปลือกมังคุดไปรักษาแผลที่เท้าของผู้ป่วยเบาหวาน พบว่าได้ผลดี (10) อย่างไรก็ตามการนำเปลือกมังคุดมาใช้ประโยชน์ภายนอกก็ยังต้องศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเกิดการแพ้ อาการข้างเคียง และขนาดที่ปลอดภัย จะเห็นได้ว่ามังคุดนอกจากจะเป็นผลไม้ที่มีรสชาติดีแล้วยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายด้าน สมกับเป็นราชินีแห่งผลไม้ของไทยจริงๆ 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. ประวัติวังหลัง [อินเทอร์เน็ต]. 2558 [เข้าถึงเมื่อ 14 ก.พ. 2558]. เข้าถึงได้จาก: http://www.sr.ac.th/sr_thai/lesson_001.html
  2. นันทวรรณ บุณยะประภัศร. สมุนไพรไม้พื้นบ้าน เล่ม 3. กรุงเทพฯ: บริษัท ประชาชน จำกัด, 2542:823 หน้า.
  3. จริงแท้ ศิริพานิช. มังคุด: นวัตกรรมจากงานวิจัย. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), 2557:198 หน้า.
  4. สุวิมล ทรัพย์วโรบล. ผลของแซนโธนที่สกัดจากเปลือกมังคุดในเซลล์ตับอิสระที่แยกได้จากหนูขาว. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเภสัชวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2540.
  5. Chomnawang MT, Surassmo S, Nukoolkarn V, Gritsanapan W. Effect of Garcinia mangostana on inflammation caused by Propionibacterium acnes. Fitoterapia 2007;78(6):401-408
  6. Pothitirat W, Pithayanukul P, Chomnawang MT, Gritsanapan W. Physical and biological stabilities on anti-acne inducing bacteria activity of Garcinia mangostana fruit rind extract gel. Proceeding of the 7th Indochina conference on pharmaceutical sciences advancing pharmacy for Asean community; 2011, 14-16 December; Bangkok. 520-2.
  7. Chomnawang MT, Surassmo S, Nukoolkarn V, Gritsanapan W. Antimicrobial effects of Thai medicinal plants against acne-inducing bacteria. J Ethnopharmacol. 2005; 101(1-3): 330-333.
  8. Rassameemasmaung S, Sirikulsathean A, Amornchat C, et al. Effects of herbal mouthwash containing the pericarp extract of Garcinia mangostana L. on halitosis, plaque and papillary bleeding index. J Int Acad Periodontol 2007;9:19-25.
  9. พินิติ รตะนานุกูล และคณะ. การศึกษาสารสกัดจากมังคุดในการพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์. การสัมมนา เรื่อง การเผยแพร่ผลงานวิจัยด้านสมุนไพรสู่ระดับอุตสาหกรรม ครั้งที่ 2. วันที่ 19-20 มีนาคม 2552; โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น. กรุงเทพฯ.
  10. กุสุมา กำจร. การเปรียบเทียบการหายของแผลที่เท้า ระหว่างการทำแผลด้วยครีมเปลือกมังคุดกับการทำแผลเปียกด้วยน้ำเกลือนอร์มัลในผู้ป่วยเบาหวาน. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาวิชาการพยาบาลผู้ใหญ่ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2546.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด



อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2025
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้