เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ดอกคาโมมายล์


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภญ. ณัฏฐินี อนันตโชค ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก: https://foodfreedom.wordpress.com/2011/0...rb-garden/
อ่านแล้ว 245,218 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 15/06/2559
อ่านล่าสุด 19 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

คาโมมายล์เป็นพืชในวงค์เดียวกับ ดาวเรือง ดาวกระจาย (Asteraceae หรือ Compositae) มีสองสายพันธุ์คือ เยอรมันคาโมมายล์ (Matricaria recutita L. หรือ Chamomilla recutita L. หรือ Matricaria chamomilla) และโรมันคาโมมายล์ (Chamaemelum nobile L.) แต่คาโมมายล์สายพันธุ์เยอรมันจะเป็นที่รู้จักและนิยมใช้มากกว่า ส่วนที่ใช้คือดอกซึ่งมีลักษณะเป็นดอกช่อที่มีดอกย่อยรอบนอกมีกลีบสีขาวขนาดใหญ่ ดอกย่อยตรงกลางขนาดเล็กมีกลีบดอกสีเหลือง ใช้ในอุตสาหกรรมยา อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง และน้ำหอม

ดอกคาโมมายล์ใช้เป็นสมุนไพรมานานนับพันปี ตั้งแต่ยุคอียิปต์โบราณ กรีกและโรมัน เป็นสมุนไพรที่นิยมมากในทวีปยุโรป โดยมีสรรพคุณมากมายได้แก่ ทำให้สงบ คลายกังกล ช่วยให้หลับ ลดอาการระคายเคืองทางเดินอาหาร ขับลม ลดอาการปวดเกร็งท้อง ลดการปวดประจำเดือน ต้านการอักเสบในช่องปาก คอ ผิวหนัง และช่วยสมานแผล น้ำมันจากดอกคาโมมายล์มีกลิ่นคล้ายแอฟเปิ้ลนอกจากสรรพคุณทางยาแล้วยังมีการใช้แต่งกลิ่นในอาหารและเครื่องสำอาง คาโมมายล์ปลูกมากในทวีปยุโรปเช่นประเทศเยอรมัน ฮังการี ฝรั่งเศส รัสเซีย เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบได้ในทวีป อเมริกา แอฟริกา เอเชีย ออสเตรเลีย ในประเทศไทยได้นำมาปลูกในศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโงะ ดอยสะโงะ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย และมีการจำหน่ายทั้งดอกสด และดอกอบแห้ง
ดอกคาโมมายล์ประกอบด้วยสารหลายกลุ่มคือสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ (flavonoids ได้แก่ apigenin, quercetin, patuletin, luteolin และ flavonoid glucosides) คูมารินส์ (coumarins ได้แก่ herniarin และ umbelliferone) และน้ำมันหอมระเหย (volatile oils ได้แก่ (-)-alpha-bisabolol มากกว่า 50%, chamazulene 1-15%, (-)-alpha-bisabolol oxides A และ B, cis- และ trans-en-yn-dicycloethers) นอกจากนี้พบสารอื่นๆ ได้แก่กรดฟีโนลิก (phenolic acids) และ GABA (gamma aminobutyric acid)
จากรายงานการวิจัยพบว่าดอกคาโมมายล์มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายอย่างได้แก่ฤทธิ์ต้านการอักเสบ (antiinflammatory) ป้องกันการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ (antispasmotic) คลายวิตกกังวล (anxiolytic effect) ต้านออกซิเดชัน (antioxidant) และต้านเชื้อจุลชีพ (antimicrobial)
ฤทธิ์ต้านการอักเสบ (antiinflammatory)
รายงานการวิจัยพบว่าสารสกัดดอกคาโมมายล์ด้วยน้ำ และแอลกอฮอล์ น้ำมันหอมระเหย และสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ และเทอร์พีนอยด์ที่เป็นองค์ประกอบในสารสกัดและน้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ต้านการอักเสบทั้งในหลอกทดลองและสัตว์ทดลอง โดยพบว่า สารสกัดดอกคาโมมายล์มีฤทธิ์ต้านการอักเสบในหนูที่ถูกทำให้อักเสบที่หูจากน้ำมันละหุ่ง โดยพบว่าสารสกัดจากดอกสดให้ผลยับยั้งได้ดีกว่าดอกแห้ง โดยสามารถยับยั้งการหลั่ง prostaglandin E2 จาก lipopolysaccharide-activated macrophages ในหลอดทดลอง ยับยั้งเอ็นไซม์ 5-lipoxygenase และ cyclooxygenase 2 (COX-2) โดยสารออกฤทธิ์ที่สำคัญคือ (-)-alpha-bisabolol และ apigenin นอกจากนี้ยังพบว่าสาร apigenin ที่ยังมีฤทธิ์ยับยั้ง nitric oxide synthase (NOS) ใน LPS-activated macrophages และยับยั้งการสร้าง interleukin-6 และ tumour necrosis factor-alpha เมื่อให้ทางปากใน หนู mice ที่ถูกเหนี่ยวนำด้วย LPS
การศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบที่ผิวหนังในอาสาสมัคร พบว่าครีมและขี้ผึ้งคาโมมายล์ใช้ภายนอก มีต้านการอักเสบได้ดีเมื่อเทียบกับยาขี้ผึ้ง hydrocortisone
ฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหาร ต้านการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ และรักษาแผลในทางเดินอาหาร
สารสกัดและน้ำมันหอมระเหยจากดอกคาโมมายล์ และสารที่เป็นองค์ประกอบมีฤทธิ์ต้านการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อลำไส้ของสัตว์ทดลองที่เหนี่ยวนำให้เกิดการหดเกร็งด้วยสาร acetylcholine และ histamine แต่มีฤทธิ์อ่อนกว่า papaverine
สารสกัดดอกคาโมมายล์ด้วยเอทานอลในน้ำและสาร (-)-alpha-bisabolol สามารถยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหารสัตว์ทดลองที่เหนี่ยวนำด้วย indromethacin ความเครียด และแอลกอฮอล์ โดยสามารถลดความเป็นกรดและเพิ่มปริมาณมิวซินในกระเพาะอาหาร
ผลต่อระบบประสาท คลายกังวล ฤทธิ์ทำให้สงบ ทำให้หลับ
สารสกัดดอกคาโมมายล์มีฤทธิ์คลายวิตกกังวล ทำให้สงบอ่อนๆ และทำให้นอนหลับดีขึ้นโดยพบว่าสารออกฤทธิ์ที่สำคัญคือ apigenin ออกฤทธิ์โดยการจับกับ benzodiazepine receptors นอกจากนี้ในสารสกัดยับพบสาร GABA ปริมาณเล็กน้อย ซึ่ง GABA เป็นสารสื่อกระแสประสาท (neurotransmitter) ทำหน้าที่รักษาสมดุลในสมอง ช่วยเกิดการผ่อนคลาย
การสูดดมน้ำมันจากดอกคาโมมายล์มีผลลดความเครียดในหนูที่ถูกตัดรังไข่ โดยลดระดับของฮอร์โมนอะดรีโนคอร์ติโคโทรฟิค (adrenocorticotrophic hormone : ACTH) นอกจากนี้การสูดดมน้ำมันจากดอกคาโมมายล์ร่วมกับการได้รับยาไดอะซีแพม (diazepam) จะช่วยลดระดับ ACTH โดยผลนี้ถูกยับยั้งโดยยาฟลูมาซีนิล (Flumazenil) ซึ่งเป็นยาในกลุ่ม GABA receptor antagonist ดังนั้นน้ำมันจากดอกคาโมมายล์น่าจะออกฤทธิ์เป็น benzodiazepam agonist และมีผลต่อระบบ GABA ergic ในสมอง
การทดลองทางคลินิกในประเทศญี่ปุ่นพบว่า การรับประทานเจลลี่คาโมมายล์มีผลลดอัตราการเต้นของหัวใจ ทำให้อารมณ์ดี การศึกษาในผู้ป่วยที่มีอาการวิตกกังวลระดับปานกลางและประเมินด้วยแบบวัดภาวะวิตกกังวล Hamilton Anxiety Rating Scale (HAM-A) พบว่าการรับประทานสารสกัดดอกคาโมมายล์ติดต่อกันเป็นเวลา 8 สัปดาห์ ช่วยลดอาการวิตกกังวลอย่างมีนัยสำคัญ
ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ
น้ำมันและสารจากดอกคาโมมายล์มีฤทธิ์ต้านเชื้อรา แบคทีเรีย และไวรัสก่อโรคหลายชนิด โดยพบว่าสาร (-)-alpha-bisabolol และน้ำมันคาโมมมายด์มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus, Bacillus subtilis เชื้อรา Candida albicans และน้ำมันยังมีฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสเริม (herpes simplex virus) นอกจากนี้สารสกัดคาโมมายล์ยังมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียก่อโรคหลายชนิดได้แก่ Staphylococcus aureus, Staphylococcus mutans, Staphylococcus salivarious, Bacillus megatherium, Leptospira icterohaemorrhagiae และ Campylobacter jejuni
จะเห็นว่าดอกคาโมมายล์นั้นมีประโยชน์ต่อสุขภาพทั้งภายในและภายนอก การดื่มชาชงจากดอกคาโมมายล์ ช่วยขับลม บรรเทาอาการอักเสบและแผลในทางเดินอาหาร คลายกังวล และนอนหลับดีขึ้น โดยใช้ดอกประมาณ 3 กรัม ชงด้วยน้ำร้อนประมาณ 150 ซีซี แช่ประมาณ 5-10 นาที แล้วกรองกากออก ดื่มวันละ 3-4 ครั้ง นอกจากนี้การสูดดมไอระเหยจากการแช่ดอกคาโมมายล์ด้วยน้ำร้อน หรือการกลั้วคอ และบ้วนปากด้วยชาคาโมมายล์วันละหลายๆ รอบจะช่วยลดการอักเสบของยื่อบุผิวในช่องจมูก ปากและลำคอได้ น้ำมันหอมระเหยจากดอกคาโมมายล์ยังใช้แต่งกลิ่นอาหาร เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางต่างๆ รวมถึงใช้ในสุคนธบำบัด
ผลข้างเคียงจากการใช้ดอกคาโมมายล์พบได้น้อย แต่อาจพบได้ในผู้ที่แพ้ดอกคาโมมายล์หรือพืชในตระกูลเดียวกัน (Asteraceae) ซึ่งจะมีอาการผิวหนังอักเสบ จาม น้ำมูกไหล ลิ้นและริมฝีปากบวม โดยไม่พบความเป็นพิษในสัตว์ทดลองที่ได้รับสารสกัดดอกคาโมมายล์ติดต่อกันเป็นเวลานาน และไม่พบการระคายเคืองผิวหนังจากการใช้ภายนอก นอกจากนี้มีรายงานว่าน้ำมันจากดอกคาโมมายล์มีค่า LD50 มากกว่า 5 ก./กก. น้ำหนักสัตว์ทดลอง
แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Bone K, Mills S. Principles and Practice of Phytotherapy : Modern Herbal Medicine. 2nd Ed. Edinburgh: Churchill Livingstone Elsevier, 2013.
  2. Barnes J, Anderson LA, Phillipson JD. Herbal Medicines. 3rd Ed. London: The Pharmaceutical Press, 2007.
  3. McKenna DJ, Jones K, Hughes K. Botanical Medicines: The Desk Reference for Major Herbal Supplements. 2nd Ed. NY: The Haworth Herbal Press, 2002.
  4. McKay DL, Blumberg JB. A Review of the Bioactivity and Potential Health Benefits of Chamomile Tea (Matricaria recutita L.). Phytother. Res. 2006; 20:519–530.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ดอกคาโมมายล์ 1 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้