เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


อินทผาลัม .. อินทผลัม ... ผลไม้ให้พลังงาน


ภญ.กฤติยา ไชยนอก สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก: https://thedateplacecafe.com/
อ่านแล้ว 196,960 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 10/06/2559
อ่านล่าสุด 1 วันที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

เมื่อย่างเข้าสู่เดือนมิถุนายน เพื่อนๆ ชาวมุสลิมก็ต้องเตรียมตัวสำหรับการถือศีลอด หรือที่เรียกว่า เดือนรอมฎอน กันแล้ว โดยในปีนี้ทางสำนักจุฬาราชมนตรีได้ประกาศให้วันที่ 1 ของเดือนรอมฎอน ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1437 ตรงกับวันอังคารที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2559 การถือศีลอดเป็นการฝึกและสอนให้ชาวมุสลิมมีความอดทน มีเมตตา และเห็นอกเห็นใจคนยากจนที่หิวโหย โดยการถือศีลอดจะเริ่มตั้งแต่รุ่งอรุณ (ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น) ไปจนถึงดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ตลอดช่วงกลางวันผู้ที่ถือศีลอดจะไม่สามารถกินหรือดื่มสิ่งใดๆ ได้เลยยกเว้นน้ำลาย และมีผลไม้ชนิดหนึ่งที่ชาวมุสลิมจะรับประทานหลังจากการละศีลอดในตอนค่ำ โดยเชื่อว่าผลไม้ดังกล่าวจะช่วยทำให้ร่างกายที่อ่อนเพลียจากการอดอาหารมาตลอดทั้งวันมีพละกำลังดังเดิม ผลไม้ชนิดนั้นกคือ "อินทผลัม" นั่นเอง
อินทผลัม (อ่านว่า อิน-ทะ-ผะ-ลำ ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542) หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Dates มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Phoenix dactylifera L. เป็นไม้ผลที่เจริญเติบโตได้ดีในบริเวณที่มีอากาศร้อนและแห้งแล้ง เช่นในประเทศแถบตะวันออกกลาง ผลมีทั้งขนาดเล็กและใหญ่ ออกเป็นช่อ รสหวานฉ่ำ รับประทานได้ทั้งผลดิบและผลสุก และเมื่อนำผลสุกไปตากแห้งจะสามารถเก็บไว้ได้นานหลายปี แถมยังทำให้มีรสชาติหวานจัดมากขึ้น จนมีคนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นผลไม้เชื่อมด้วย อินทผลัมเป็นผลไม้ที่ให้พลังงานได้อย่างรวดเร็วเนื่องจากมีน้ำตาลสูง ใน 100 ก. จะให้พลังงานประมาณ 282 กิโลแคลอรี่ ประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรต 75.03 ก. (เป็นน้ำตาล 63.35 ก.) โปรตีน 2.45 ก. ไขมัน 0.39 ก. นอกจากนี้ยังมีวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ สูง โดยเฉพาะโปแทสเซียม (696 มก./100 ก.) จึงช่วยให้ร่างกายสดชื่นและฟื้นฟูกำลังได้อย่างรวดเร็ว
การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของอินทผลัมมีค่อนข้างมาก โดยพบว่าผลของอินทผลัมมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ลดไขมันและน้ำตาลในเลือด ช่วยปกป้องตับ ไต หัวใจ และป้องกันการตายของเซลล์หัวใจ ซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นการศึกษาในระดับเซลล์และสัตว์ทดลอง สำหรับการศึกษาทางคลินิกพบว่า เมื่อให้อาสาสมัครสุขภาพดีรับประทานผลอินทผลัมในขนาด 100 ก./วัน นาน 4 สัปดาห์ จะทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์ลดลง โดยไม่ส่งผลเสียต่อระดับน้ำตาลในเลือด อีกทั้งยังช่วยป้องกันภาวะหลอดเลือดแข็งตัวด้วย และการศึกษาในชายที่มีภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศพบว่า สารสกัดจากละอองเกสรของอินทผลัม (Date Palm Pollen; DPP) ซึ่งอุดมไปด้วย amino acids, fatty acids, flavonoids, saponins และ estroles สามารถช่วยให้จำนวนอสุจิและการเคลื่อนที่ของอสุจิเพิ่มขึ้น รวมทั้งทำให้ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ DPP ยังช่วยป้องกันการอักเสบจากการฉายแสงรักษามะเร็งด้วย
จะเห็นได้ว่าอินทผลัมเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางอาหารสูงและมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่หลากหลาย ดังนั้นการรับประทานอินทผลัม วันละ 5 - 10 ผล แทนการรับประทานน้ำอัดลมหรือขนมขบเคี้ยวที่มีแต่แป้ง ไขมัน และน้ำตาล จึงน่าจะมีประโยชน์และดีต่อสุขภาพมากกว่า แต่เนื่องจากในผลของอินทผลัมมีโปแทสเซียมสูง จึงควรเพิ่มความระมัดระวังในการรับประทานสำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพหรือมีความบกพร่องในการขจัดโปแทสเซียมออกจากร่างกาย เช่น ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง เบาหวานและภาวะหัวใจล้มเหลว เพื่อป้องกันภาวะการมีโปแทสเซียมมากเกิน (hyperkalemia) ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
ค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
http://www.medplant.mahidol.ac.th
แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Donald C. Plumb. Plumb's Veterinary Drug Handbook, 7th edition, Ames, 2011, Blackwell
  2. รศ.สพ.ญ.ดร.วรา พานิชเกรียงไกร รศ.สพ.ญ.ดร.ศิรินทร หยิบโชคอนันต์และ รศ.สพ.ญ.ดร.ปิยะรัตน์ จันทร์ศิริพรชัย การใช้ยา A to Z สำหรับสัตวแพทย์ พิมพ์ครั้งที่ 5 2554 ทวีโชติการพิมพ์ 503 หน้า
  3. Lenny Southam และ Kate A.W. Roby. ยาหมา ยาแมว : The Pill Book Guide to Medication for your Dog and Cat เภสัชกร พิสิฐ วงศ์วัฒนะ (แปล) 2548 สำนักพิมพ์ หมอชาวบ้าน 800 หน้า
-->


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


สมุนไพรป้องกันยุง 2 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้