เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


การทำสมาธิส่งผลดีต่อสมองอย่างไร?


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยิ่งรัก บุญดำ ช่วยบุญ

ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 2,895 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 30/01/2567
อ่านล่าสุด 24 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

การทำสมาธิคืออะไร?

การทำสมาธิเป็นกิจกรรมการฝึกฝนใจรูปแบบหนึ่งที่สามารถช่วยเพิ่มความสนใจต่อสิ่งเร้าที่อยู่เบื้องหน้า หรือความตั้งอกตั้งใจในการทำกิจกรรม ณ ขณะนั้น การทำสมาธิเป็นกิจกรรมที่มนุษย์เราปฏิบัติกันมาอย่างยาวนานหลายพันปี ซึ่งสามารถปฏิบัติได้ด้วยวิธีการที่หลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น การฝึกกำหนดลมหายใจเข้า-ออก หรือการพยายามเพ่งความสนใจไปที่ร่างกาย จิตใจ และสภาพแวดล้อมรอบตัว อย่างพร้อม ๆ กัน  โดยขณะที่กำลังทำสมาธินั้น เราจะต้องพยายามควบคุมจิตใจของตนให้สนใจอยู่กับกิจกรรมที่อยู่ตรงหน้า ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะส่งผลให้เราเกิดความตระหนักรู้ ผ่านกระบวนการเรียนรู้ต่อความคิดของตนเอง ความรู้สึกที่เกิดขึ้น และการกระทำที่เกิดขึ้นขณะนั้น ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากการฝึกฝนยังสามารถนำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งจะส่งผลให้เราสามารถควบคุมความสนใจ ความเครียด และอารมณ์ของตนเองได้ดีขึ้น เมื่อเราต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยาก เราก็จะสามารถจัดการอารมณ์ความรู้สึกให้เย็นขึ้นได้อย่างไม่ง่ายดาย

การเปลี่ยนแปลงของสมองขณะทำสมาธิ

กระบวนการของสมองที่เกิดขึ้นขณะทำสมาธิ จะเกี่ยวข้องกับกระบวนการรับรู้ (cognition) ซึ่งเป็นคำที่ใช้อธิบายถึงความคิดและพฤติกรรมที่แสดงออก เช่น การเพ่งความสนใจ การตัดสินใจ การเรียนรู้ และ การจำ เป็นต้น กระบวนการดังกล่าวจะทำให้เราเข้าใจและมีความสุขกับสิ่งรอบตัวได้ดียิ่งขึ้น ในขณะที่เราทำสมาธินั้น เราได้ใช้กระบวนการรับรู้มากมาย เราต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการเพ่งความสนใจไปที่เป้าหมาย ถ้าความคิดความสนใจเกิดหลุดลอยไป เราก็จะต้องพยายามรวบรวมความคิดและจิตใจให้กลับมาเพิ่งความสนใจต่อเป้าหมายอีกครั้ง   

ความพยายามที่เกิดขึ้นดังกล่าวนั้นเป็นการออกกำลังกายสมองที่ดีมาก ทำให้สมองของเราสามารถเพ่งความสนใจต่อเป้าหมายได้นานขึ้น มีงานวิจัยที่พบการเพิ่มขึ้นของคลื่นไฟฟ้าสมองของผู้ฝึกสมาธิขณะที่ต้องเพ่งความสนใจในการทำแบบทดสอบที่น่าเบื่ออย่างยาวนาน การเพิ่มขึ้นของไฟฟ้าสมองเป็นตัวบ่งบอกว่าเซลล์ประสาทในสมองมีการติดต่อกันมากขึ้น นอกจากนี้พบว่าในช่วงที่ความคิดเราหลุดลอย และเราพยายามดึงความคิดกลับมานั้น ยังเป็นการเพิ่มทักษะความยืดหยุ่นทางความคิด (cognitive flexibility) ซึ่งเป็นทักษะในการเปลี่ยนความคิดไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การหยุดเล่นโทรศัพท์เมื่อถึงเวลาไปประชุม การทำสมาธิจะช่วยให้เซลล์สมองเปลี่ยนการติดต่อจากบริเวณหนึ่งไปยังอีกบริเวณหนึ่งได้อย่างรวดเร็ว หากเชื่อมโยงการเปลี่ยนแปลงของสมองดังกล่าวกับเรื่องของอารมณ์ จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมผู้ที่ทำสมาธิจึงสามารถปล่อยวางความคิดจากอารมณ์ที่เป็นลบ แล้วไปให้ความสนใจต่ออารมณ์ที่เป็นบวกได้อย่างไม่ยากเย็น 

อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต้องใช้ระยะเวลาในการฝึกฝน การทำสมาธิเพียงวันเดียวไม่สามารถทำให้สมองของเราเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ เราต้องฝึกทำสมาธิอย่างสม่ำเสมอ การเริ่มต้นทำสมาธินั้นอาจจะเป็นเรื่องยาก พึงระลึกว่าไม่มีใครสมบูรณ์แบบตั้งแต่วันแรก แค่เพียงการที่เราสามารถดึงความคิดที่หลุดลอยไปให้กลับมาสนใจต่อการทำสมาธิได้นั้น ก็เป็นการฝึกกระบวนการรับรู้รูปแบบหนึ่งแล้ว 

Image by Freepik

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Lutz A, Slagter HA, Rawlings NB, Francis A, Greischar LL, and Davidson RJ. 2009. Mental training enhances attentional stability: neural and behavioral evidence. J. Neurosci. 29:13418–27. 
  2. Moore A, Malinowski P: Meditation, mindfulness and cognitive flexibility. Consciousness and Cognition 2009, 18(1):176-186.
  3. Zou Y, Li P, Hofmann SG, Liu X. The Mediating Role of Non-reactivity to Mindfulness Training and Cognitive Flexibility: A Randomized Controlled Trial. Front Psychol. 2020 Jun 26;11:1053. 
  4. Simon AJ, Gazzaley A, and Ziegler DA. 2023. Digital Meditation For Improving Focus. Front. Young Minds. 11:1172810. 
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


1 วินาทีที่แล้ว
1 นาทีที่แล้ว
1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้