เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


มะเร็งลำไส้ใหญ่ อาหารอะไรป้องกันโรค


รองศาสตราจารย์ วิมล ศรีศุข ภาควิชาอาหารเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: http://4cu9kbglzjq2812c7499ndc9vj.wpengi...304506.jpg
อ่านแล้ว 38,734 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 25/10/2558
อ่านล่าสุด 1 ช.ม.ที่แล้ว
https://tinyurl.com/y8ogda7z
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ https://tinyurl.com/y8ogda7z
 


มะเร็งลำไส้ใหญ่จัดเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดเป็นอันดับ 3 และเป็นสาเหตุของการตายที่สูงที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ในโลก ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา การศึกษาในประชากรกลุ่มใหญ่หรือการศึกษาอื่นๆในคน มีความพยายามที่จะเชื่อมโยงอาหารกับความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ อย่างไรก็ดี การรวบรวมข้อมูลและการเกิดโรคมะเร็งค่อนข้างใช้เวลานานและซับซ้อน สารก่อมะเร็งที่ร่างกายได้รับในรูปของอาหารหรือพร้อมกับอาหารหรือเครื่องดื่ม หากสารนั้นไม่ถูกย่อยและถูกดูดซึมในลำไส้เล็ก สารนั้นสามารถที่จะมีผลโดยตรงกับเซลที่บุผนังลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มีผู้คาดเดาว่า ร้อยละ 35 ของการตายจากมะเร็ง และ ร้อยละ 90 ของการตายจากมะเร็งของกระเพาะและลำไส้ใหญ่ อาจจะมีสาเหตุมาจากอาหาร นอกจากนั้นมะเร็งลำไส้ใหญ่อาจจะพัฒนามาจากกลุ่มโรคที่มีการอักเสบของทางเดินอาหาร (Inflammatory bowel disease) ประมาณร้อยละ 5-10 ของมะเร็งลำไส้ใหญ่มีที่มาจากพันธุกรรม ดังนั้นคนในกลุ่มที่มีพันธุกรรมดังกล่าวสามารถที่จะเกิดเนื้องอกได้ตั้งแต่อายุไม่มาก และหากทิ้งไว้ก็จะสามารถพัฒนากลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ตั้งแต่อายุเพิ่งจะ 40 ปี 
มีผู้รวบรวมข้อมูลจากการศึกษาต่างๆจนถึงปี ค.ศ. 2014 ประกอบกับข้อมูลของข้อมูลของกองทุนวิจัยโรคมะเร็งของโลกที่จัดเตรียมในปี ค.ศ. 2011 ซึ่งอาจสรุปถึงเรื่องอาหารที่ลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ดังนี้ 
1. กลุ่มที่มีหลักฐานน่าเชื่อถือ (Convincing) 
การออกกำลังกายทุกชนิด รวมถึงการออกกำลังที่ทำเป็นอาชีพ การทำงานบ้าน การเดินทาง และการออกกำลังเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ พบว่ามีผลลดความเสี่ยงร้อยละ 3-20 ทั้งนี้ขึ้นกับประเภทของการออกกำลังกาย ระยะเวลา และเพศ สำหรับการออกกำลังกายนาน 30 นาทีต่อวัน มีผลลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักได้ถึงร้อยละ 11 และมีผลลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ถึงร้อยละ 12 กลไกการลดความเสี่ยงที่คาดว่าจะเกิดขึ้น คือ การออกกำลังกายมีผลเพิ่มอัตราการเผาผลาญของร่างกาย และเพิ่มออกซิเจนเข้าไปในร่างกาย ในระยะยาวเพิ่มประสิทธิภาพและปริมาณของการเผาผลาญ ซึ่งจะมีผลต่อไขมันในร่างกาย นอกจากนี้ยังลดการอักเสบ ลดระดับอินซูลิน และสามารถนำอินซูลินไปใช้งานได้ดีขึ้น 
อาหารที่มีใยอาหาร (Dietary fiber) พบว่าอาหารที่มีใยอาหารสามารถลดความเสี่ยงได้ร้อยละ 10 เมื่อรับประทานใยอาหารเพิ่มขึ้น 10 กรัมต่อวัน กลไกการลดความเสี่ยงที่คาดว่าจะเกิดขึ้น คือ การเพิ่มน้ำหนักอุจจาระ ลดระยะเวลาการเดินทางของอาหารในทางเดินอาหาร ใยอาหารช่วยเจือจางสารก่อมะเร็งในลำไส้ใหญ่ ลดปริมาณไขมัน แบคทีเรียในลำไส้ใหญ่เปลี่ยนใยอาหารไปเป็นกรดไขมันสายสั้น (short-chain fatty acids) ซึ่งมีคุณสมบัติต้านมะเร็ง 
ธัญพืช (Whole grains) ซึ่งจัดเป็นกลุ่มอาหารที่มีใยอาหาร พบว่า เมื่อรับประทานวันละ 3 หน่วยบริโภค (servings) สามารถลดความเสี่ยงในมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักลงได้ถึงร้อยละ 21 และลดความเสี่ยงในมะเร็งลำไส้ใหญ่ลงได้ถึงร้อยละ 16 กลไกการลดความเสี่ยงที่คาดว่าจะเกิดขึ้น คือ คุณสมบัติต้านมะเร็งของใยอาหาร สารต้านออกซิเดชัน และสารเคมีจากพืช ลดไขมัน เพิ่มความไวของอินซูลิน และลดระดับอินซูลิน 
2. กลุ่มที่มีหลักฐานแสดงถึงความเป็นไปได้ (Probable) 
แคลเซียม มีผลลดความเสี่ยงร้อยละ 8 เมื่อรับประทานแคลเซียมเพิ่มขึ้น 300 มิลลิกรัมต่อวัน ในรายงานที่รวบรวมศึกษาในคนกลุ่มใหญ่นาน 6 ถึง 16 ปี พบว่ากลุ่มที่รับประทานแคลเซียมจากอาหารสูงที่สุดลดความเสี่ยงลงได้ถึงร้อยละ 14 กลไกการลดความเสี่ยงที่คาดว่าจะเกิดขึ้น คือ แคลเซียมจับกับกรดไขมันและกรดน้ำดีอิสระ ยับยั้งการแบ่งตัวของเซล ส่งเสริมการทำลายตัวเองของเซล (เพื่อไม่ให้เปลี่ยนไปเป็นเซลมะเร็ง) ยับยั้งการทำลายดีเอ็นเออันเนื่องมาจากออกซิเจน ควบคุมกลไกที่เกี่ยวข้องกับการเกิดเซลมะเร็ง 
นม มีผลลดความเสี่ยงร้อยละ 9 เมื่อดื่มนมเพิ่มขึ้นวันละ 200 กรัม และได้ผลสูงสุดเมื่อดื่มนม 500-800 กรัมต่อวัน ในรายงานที่รวบรวมการศึกษาในคนกลุ่มใหญ่นาน 6 ถึง 16 ปี พบว่า กลุ่มที่ดื่มนมปริมาณสูงสุดสามารถลดความเสี่ยงได้ถึงร้อยละ 15 
กระเทียม พบว่าสามารถลดความเสี่ยงร้อยละ 3-4 เมื่อรับประทานกระเทียมเพิ่มขึ้น 100 กรัมต่อวัน กลไกการลดความเสี่ยงที่คาดว่าจะเกิดขึ้น คือ ลดการก่อกลายพันธุ์ ลดสภาวะความเครียดออกซิเดชัน (Oxidative stress) ลดการแบ่งตัวของเซล การควบคุมการทำงานของเอนไซม์ต่างๆ 
3. กลุ่มที่มีข้อมูลจำกัดแต่มีแนวโน้มที่ดี (Limited-suggestive) 
ผักกลุ่มที่ไม่มีแป้ง (Non-starchy vegetables) พบว่าสามารถลดความเสี่ยงร้อยละ 2 เมื่อรับประทานผักเพิ่มขึ้น 100 กรัมต่อวัน ทั้งนี้ผักตระกูลกะหล่ำอาจลดความเสี่ยงลงได้ถึงร้อยละ 16 ในกลุ่มที่รับประทานสูงสุดเมื่อเทียบกับกลุ่มที่รับประทานต่ำสุด กลไกการลดความเสี่ยงที่คาดว่าจะเกิดขึ้น คือ ผักมีสารต้านมะเร็ง เช่น โฟเลต วิตามิน ใยอาหาร เกลือแร่ ฟลาโวนอยด์ และกลูโคซิโนเลตในกลุ่มผักตระกูลกะหล่ำปลี และการลดปริมาณไขมัน 
ผลไม้ พบว่าลดความเสี่ยงร้อยละ 3 เมื่อรับประทานผลไม้เพิ่มขึ้น 100 กรัมต่อวัน กลไกการลดความเสี่ยงที่คาดว่าจะเกิดขึ้น คือ ผลไม้มีสารต้านมะเร็ง เช่น โฟเลต วิตามิน ใยอาหาร เกลือแร่ ฟลาโวนอยด์ และการลดปริมาณไขมัน 
อาหารที่มีวิตามินดี พบว่าลดความเสี่ยงร้อยละ 5 เมื่อรับประทานอาหารที่มีวิตามินดีเพิ่มขึ้น 100 หน่วยสากล (IU) ต่อวัน กลไกการลดความเสี่ยงที่คาดว่าจะเกิดขึ้น คือ ฤทธิ์ต้านการแบ่งตัว ส่งเสริมการทำลายตัวเองของเซล ยับยั้งการบุกรุกและการแพร่กระจาย ยับยั้งการสร้างแขนงเส้นเลือดใหม่(ที่จะไปเลี้ยงเซลมะเร็ง) 
4. กลุ่มอาหารที่มีข้อมูลจำกัดและยังไม่สามารถสรุปได้แน่นอน (Limited-no conclusion) 
อาหารในกลุ่มนี้มีข้อมูลและหลักฐานจำกัด ยังไม่สามารถสรุปได้แน่นอนว่ามีความเกี่ยวโยงกับการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือไม่ ได้แก่ ปลา ค่าดัชนีน้ำตาล (Glycemic Index) วิตามินซี วิตามินอี ซีลีเนียม อาหารไขมันต่ำ รูปแบบของอาหารที่รับประทาน 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Song M, Garrett WS, Chan AT. Nutrients, foods, and colorectal cancer prevention. Gastroenterol 2015; 148:1244-60.
  2. World Cancer Research Fund, American Institute for Cancer Research. Continuous Update Project. Colorectal Cancer 2011 Report. Food, Nutrition, Physical Activity, and the Prevention of Colorectal Cancer.

งานประชุมวิชาการที่กำลังเปิดรับสมัคร


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


15 วินาทีที่แล้ว
ยาแก้ไอ ... มีกี่แบบ ?? 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้