เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


อันตรายจากการสัก


รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.พิมลพรรณ พิทยานุกุล ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: http://i.telegraph.co.uk/multimedia/arch...41070k.jpg
อ่านแล้ว 56,074 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 20/09/2558
อ่านล่าสุด 1 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


ปัจจุบันมีผู้คนทั้งชายหญิงให้ความสนใจกับการทำแทททูหรือการสักผิวหนัง หรือการใช้เครื่องสำอางชนิดถาวร ตั้งแต่การเขียนคิ้ว ขอบตา ขอบปาก การเพิ่มสีสันด้วยภาพกราฟฟิคลงบนผิวหนังตามส่วนต่างๆของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นแขน ขา แผ่นหลัง หน้าอก เต้านม รวมทั้งหัวนม เป็นต้น 
การสัก หรือ แทททู (Tattoos) เป็นเทคนิคการใส่เม็ดสีหรือน้ำหมึกคือโลหะหนัก เช่น ไอออนออกไซด์ (Iron oxide) เข้าไปฝังใต้ผิวหนัง อุปกรณ์ที่ใช้อาจจะเป็นเข็มขนาดเล็ก หรือ อาจเป็นอุปกรณ์อีเลคโทรนิคคล้ายปืนยิงมีเข็มอยู่ที่ปลาย เม็ดสีจะถูกปลายเข็มเจาะฝังเข้าไปอยู่ใต้ผิวหนัง ขั้นตอนและเทคนิคการทำต้องถูกสุขลักษณะ ตั้งแต่เข็ม อุปกรณ์ สถานที่ และความชำนาญของผู้ที่จะลงมือสักให้ลูกค้า การฝังเข็มลงไปแต่ละครั้งก็ต้องทำให้เกิดการเจ็บปวด มีเลือดออก

  • อักเสบติดเชื้อบริเวณที่ทำ จากเข็มหรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง
  • อาการแพ้ เป็นผื่นแดง คัน บวม หรือผิวหนังไหม้ อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นทันที หรืออาจเกิดภายหลังการทำอีกนานหลายปีก็เป็นได้
  • อาจเกิดคีลอยด์ (Keloids) หรือแผลเป็นมีลักษณะเป็นเนื้อนูนที่ผิวหนัง

ในต่างประเทศพบประวัติการเกิดมะเร็งเต้านมของผู้ที่ทำสักบริเวณเต้านม และหัวนม ทั้งที่วัตถุประสงค์ของการทำเป็นเพียงการเพิ่มสีสนให้น่าดึงดูดจากเพศตรงข้ามเท่านั้น แต่หารู้ไม่ว่าอันตรายถึงชีวิตได้ เนื่องจากเม็ดสีหรือน้ำหมึกที่ถูกฝังเข้าไปใต้ผิวหนังเป็นสารแปลกปลอมของร่างกาย 
เม็ดสีที่ใช้ทำการสักมีมากมายหลากหลายเฉดสี และดูเหมือนจะมีให้เลือกมากขึ้นทุกวัน แม้ว่าเม็ดสีที่ใช้จะเป็นชนิดสีที่เป็นเกรดคุณภาพสำหรับเครื่องสำอาง แต่ก็ยังไม่มีสีชนิดใดที่ผ่านการรับรองหรืออนุญาตจากองค์การอาหารและยา หรือ อย.ให้ฉีดเข้าใต้ผิวหนังหรือผ่านเข้าร่างกายได้ อย.ของสหรัฐอเมริกาได้ออกประกาศเตือนผู้บริโภคว่าเม็ดสีหลายชนิดที่ใช้ทำการสักกันอยู่นั้นยังไม่ผ่านการรับรองให้สัมผัสกับผิวหนังด้วยซ้ำไป บางชนิดเป็นเกรดสีโรงงานสำหรับทำผ้าหมึกในงานพิมพ์หรือสีทารถยนต์ 
ในผู้บริโภคบางรายจำเป็นต้องสักเนื่องจากเป็นโรคผมร่วง ทำให้ไม่มีขนคิ้ว ในขณะที่หลายคนทำการสักเพราะเป็นแฟชั่นจากต่างประเทศ ผู้หญิงหลายคนทำเพราะไม่ต้องการเสียเวลาเขียนคิ้ว เขียนขอบตาหรือขอบปากทุกครั้งที่ต้องออกจากบ้าน บางรายสักเพื่อเสริมกับศัลยกรรมตกแต่งส่วนอื่นของร่างกาย เช่น เติมเม็ดสีให้ผิวหน้าหรือหัวนม เป็นสีชมพู เป็นต้น ไม่ว่าจะต้องการสักด้วยสาเหตุใดก็ตาม ผู้บริโภคควรตระหนักถึงอาการข้างเคียงและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นก่อนตัดสินใจทำ 
ปัญหาที่พบทั่วไปภายหลังการสัก: ความไม่พอใจกับผลที่ได้รับ 
ผู้ที่ทำการสักไปแล้วมากมายที่ไม่พอใจกับผลที่ได้รับ เช่น ไม่สวยตามที่คาดหวัง หรือบางรายก็เบื่อแล้ว ดังนั้นปัญหาตามมาคือ แผลและรอยสักที่ผิวหนังจะกำจัดออกยากมากหรือแทบจะเป็นไปได้น้อย ไม่ว่าจะเป็นคิ้ว ขอบตา รวมทั้งรอยสักอื่นๆตามส่วนต่างๆของร่างกาย 
สาเหตุความไม่พึงพอใจในรอยสักหรือเครื่องสำอางถาวรที่ทำเพราะสรีระร่างกายคนเรามีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลและแฟชั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผิวหนัง มีการขยายออกหรือหดตัวเมื่อร่างกายอ้วนหรือผอม ทำให้เม็ดสีที่ทำไว้นานแล้วแตกไม่สวยงาม และอาจเป็นสิ่งสร้างปมด้อยให้เจ้าของต้องอับอายอีกด้วยเมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป และเมื่อถึงเวลานั้นการต้องการกำจัดเม็ดสีเหล่านั้นออกไปเป็นเรื่องยาก การให้แพทย์ใช้รังสีเลเซอร์ยิงเพื่อกำจัดเม็ดสีใต้ผิวหนังออกเป็นวิธีที่ทำกันมากที่สุด แต่ต้องทำหลายๆครั้ง ค่อยเป็นค่อยไป แต่ก็ไม่สามารถกำจัดได้ทั้งหมด 
อะไรคือสักชนิดชั่วคราว ปลอดภัยกว่าหรือไม่ 
การทำสักชนิดชั่วคราว (Temporary Tattoos) หลักการโดยใช้สำลีชื้นชุบสีหรือเม็ดสีวางและกดลงบนผิวหนัง ให้เม็ดสีซึมซับลงบนตำแหน่งที่ต้องการ วิธีนี้เม็ดสีจะไม่อยู่ถาวร แต่จะค่อยๆจางลงภายหลังจากการทำเพียงไม่กี่วัน วิธีนี้จะปลอดภัยกว่าการทำการสักชนิดถาวร เม็ดสีที่ใช้ต้องเป็นชนิดที่ใช้กับเครื่องสำอางได้ (Cosmetics grade) สถานบริการบางแห่งใช้สีเฮนน่า (Henna) ซึ่ง อย.อนุญาตให้ใช้กับเส้นผมเท่านั้น ไม่ใช่กับผิวหนัง อีกประการหนึ่ง สีที่แท้จริงของเฮนน่าจากธรรมชาติแท้ต้องเป็นสีแดงน้ำตาล แต่สีที่วางจำหน่ายจะมีฉลากแสดงสีหลากหลายเฉด เช่น สีเฮนน่าดำ สีเฮนน่าน้ำเงิน เป็นต้น แสดงว่าจะต้องมีการผสมสีอื่นๆที่อาจไม่ใช่สีที่รับรองความปลอดภัยจาก อย.ได้ อาการแพ้หรืออาการข้างเคียงต่างๆก็อาจเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกับการทำการสักถาวร

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. A novel treatment for open burn management protocols. J dermatology Treat. 2009; 20(4): 2019-22.
  2. PubMed: Helix and Drugs; snails for western health care from antiquity to the present 2005.
  3. http://en.wikipedia.org/wiki/Deodorant

-->



บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


อันตรายจากการสัก 1 วินาทีที่แล้ว
ยาแก้ไอ ... มีกี่แบบ ?? 17 วินาทีที่แล้ว
โรคพยาธิหอยคัน 27 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้