Eng |
สำหรับสตรีวัยทอง คือ ผู้หญิงในช่วงหมดประจำเดือน มักจะสืบเสาะค้นหาผลิตภัณฑ์อาหารที่จะช่วยเสริมสุขภาพในช่วงอายุนี้ อาการที่น่ารำคาญที่สุด คือ อาการร้อนวูบวาบ ผลิตภัณฑ์อาหารจากถั่วเหลืองเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความสนใจ ถั่วเหลืองเป็นพืชที่มีประโยชน์เป็นที่ยอมรับกันมานานหลายพันปีในสมัยก่อนยุคคริสตกาล เป็นที่นิยมในหมู่ชาวจีนและญี่ปุ่น ประชากรที่รับประทานถั่วเหลืองในปริมาณสูงมักจะพบโรคหัวใจและหลอดเลือด, มะเร็งเต้านม, ภาวะกระดูกพรุน น้อยกว่าประชากรที่รับประทานถั่วเหลืองในปริมาณต่ำ นอกจากนี้ยังพบว่าการรับประทานโปรตีนจากถั่วเหลืองยังมีผลลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดอีกด้วย ถั่วเหลืองประกอบด้วยกลุ่มสารประกอบสำคัญที่เรียกว่า ไอโซฟลาโวน (Isoflavones) จัดเป็น ฮอร์โมนเอสโตรเจนจากพืช (Phytoestrogen) ซึ่งชนิดหลักๆ คือ ไดอาไซน์(Daizein), เจนิสสไตน์(Genistein), ไกลซิไตน์(Glycitein)
วิธีสังเกตง่ายๆ คือ ผลิตภัณฑ์อาหารจากถั่วเหลืองที่เป็นรูปแบบของแข็งมักจะมีปริมาณไอโซฟลาโวนสูงกว่า ผลิตภัณฑ์ที่เป็นของเหลว ตัวอย่างเช่น แป้งถั่วเหลืองจะมีปริมาณไอโซฟลาโวนสูงกว่าน้ำถั่วเหลือง ปริมาณไอโซฟลาโวนในผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆจากถั่วเหลืองดังแสดงในตาราง ปริมาณไอโซฟลาโวนที่แนะนำ คือ 50-100 มิลลิกรัม/วัน หากคิดแบบคร่าวๆ เทียบเท่ากับ น้ำถั่วเหลืองประมาณวันละ 2 –4 แก้ว หรือเต้าหู้ในขนาดที่กำหนดประมาณวันละ 2 –4 ก้อน
ตาราง แสดงปริมาณถั่วเหลืองในผลิตภัณฑ์อาหารบางชนิดจากถั่วเหลือง
ผลิตภัณฑ์อาหาร | ค่าเฉลี่ยปริมาณ ไอโซฟลาโวน (มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัมอาหาร) |
ซอสปรุงรส (ซอสถั่วเหลืองที่ทำจากการย่อยสลายโปรตีนพืช) | 0.10 |
ซีอิ๊วญี่ปุ่น (ซอสที่ทำจากถั่วเหลืองและข้าวสาลี) | 1.64 |
น้ำถั่วเหลือง (Soy milk, fluid) | 9.65 |
เต้าหู้ เนื้อแน่น (Tofu, firm, prepared with calcium sulfate and nigari) | 24.74 |
เต้าหู้ เนื้ออ่อน (Tofu, soft, silken) | 29.24 |
มิโซ (เต้าเจี้ยวญี่ปุ่นบด ใช้ใส่ในซุปญี่ปุ่น) (Miso) | 42.55 |
ใยอาหารจากถั่วเหลือง (Soy fiber) | 44.43 |
ถั่วเหลืองแก่จัด ต้มสุก ไม่ใส่เกลือ | 54.66 |
โปรตีนถั่วเหลืองเข้มข้น (Soy protein isolate) | 97.43 |
ถั่วเหลืองสีเขียว แก่จัด ดิบ | 151.17 |
แป้งถั่วเหลือง (Soy flour, full fat, raw) | 171.89 |
ฟองเต้าหู้ดิบ (Soy milk skin or film, raw) | 193.88 |