เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


น้ำมันหอมระเหย...ชีวิตนี้ขาดเธอไม่ได้


รองศาสตราจารย์ ดร. อ้อมบุญ วัลลิสุต ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 39,253 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 01/06/2557
อ่านล่าสุด 7 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

ตื่นเช้าขึ้นมาลุกขึ้นไปแปรงฟันได้ความสดชื่นเย็นซ่าจากยาสีฟัน ทำให้ไปทำงานได้อย่างตาสว่าง ความรู้สึกนี้มาจากอะไรนะ ลองดูที่หลอดจะเห็นส่วนประกอบเหล่านี้ เมนทอล น้ำมันเปปเปอร์มินท์ น้ำมันเสปียรมินท์ น้ำมันกานพลู น้ำมันคาโมไมล์ น้ำมันส้ม อื่นๆอีกมากมาย เสร็จแล้วก็ไปอาบน้ำ จะเลือกใช้สบู่ก้อนหรือสบู่เหลวดี ตอนที่ซื้ออย่างแรกคือดมกลิ่นก่อน ชอบหรือไม่ แล้วจึงดูราคาถ้าเว่อไปก็คงเลือกกลิ่นอื่นที่ชอบรองลงมา แต่ก็ไม่แน่เพราะบางคนมีความสุขที่ได้สูดดมกลิ่นนี้ เท่าไรก็จ่าย กลิ่นที่ใช้กันอาจเป็นกลิ่นสังเคราะห์ หรือจากน้ำมันหอมระเหยแท้ๆจากธรรมชาติ ซึ่งแบบหลังนี้จะมีราคาแพงกว่าและให้กลิ่นหอมอ่อนๆของดอกไม้หรือส่วนอื่นๆของต้นไม้ บางคนต้องสระผมตอนเช้าด้วย แน่นอนเราเลือกแชมพูที่กลิ่นเช่นกัน เพราะมันจะอยู่บนผมของเราตลอดวัน คงไม่มีใครอยากเข้าใกล้ถ้าผมเรามีกลิ่นควันบุหรี่จากการไปดริ๊งเมื่อคืนที่ผ่านมา หรือถ้าแต่งกลิ่นด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคก็คงไม่น่าชื่นชมนักสำหรับผู้ร่วมงานผู้ประกอบการจึงสรรหากลิ่นนานาชนิดซึ่งมักจะไม่ใช่กลิ่นเดี่ยวมาผสมเพิ่มคุณค่าของผลิตภัณฑ์ของตน จนบางชนิดเป็นกลิ่นเอกลักษณ์ เช่น สบู่ก้อนรีๆสีเขียวที่ผู้เขียนเคยใช้ตั้งแต่อนุบาลก็จำได้ติดจมูก คือได้กลิ่นก็รู้ รวมทั้งภาพในวัยนั้นสื่อถึงความสัมพันธ์ระหว่างกลิ่นและความทรงจำ เมื่ออาบน้ำเสร็จที่จะขาดไม่ได้คือโรลออนที่มีกลิ่นเหมาะกับบุคคลิกและวัตถุประสงค์ ในอดีตใช้สารส้มกัน แต่ปัจจุบันมีวิวัฒนาการไปมากเป็นโรลออนสำหรับผู้หญิง ผู้ชาย นักกีฬา และหลากหลายอารมณ์ บางกลิ่นเตะจมูก เป็นที่ชื่นชอบมากถึงกับมีผู้หญิงวิ่งตามดังในโฆษณา เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของกลิ่นที่มีต่อมนุษย์ นอกจากจะมีผลต่อความรู้สึกแล้ว กลิ่นธรรมชาติที่ได้จากพืชที่เรียกว่าน้ำมันหอมระเหย หรือ Essential Oil ยังมีสรรพคุณอื่นๆเมื่อใช้สูดดม หรือ ร่วมกับการนวด ที่รู้จักกันดีในนามสุคนธบำบัด หรือ อะโรมาเธอราพี : Aromatherapy ในทางวิทยาศาสตร์เมื่อเราสูดดมกลิ่นหอม โมเลกุลของกลิ่นหอมจะผ่านเข้าไปทางจมูกและกระตุ้นเซลล์ประสาทรับความรู้สึกด้านกลิ่นที่อยู่ในโพรงจมูก ทำให้เกิดกระแสประสาทวิ่งไปยังศูนย์รับรู้กลิ่นในสมองแล้วผ่านไปยังส่วนของสมองที่เรียกว่า limbic system ซึ่งเป็นศูนย์ควบคุมการเรียนรู้ ความจำ อารมณ์ ความหิว และอารมณ์ทางเพศ กลิ่นที่เข้ามากระตุ้น limbic system จะทำให้สมองปล่อยสารเอ็นดอร์ฟิน : endorphins, encephaline และ serotonin ออกมา endorphins ช่วยลดความเจ็บปวด encephaline ช่วยส่งเสริมให้มีอารมณ์ดีและ serotonin ช่วยทำให้สงบ เยือกเย็นและผ่อนคลาย กลิ่นยังส่งผลต่อสมองส่วนที่เรียกว่า ไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ซึ่งควบคุมสารเคมีและฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับต่อมเพศ สมองส่วน Frontal Lobe ควบคุมความตั้งใจ สมาธิ และความจำ รวมทั้ง reticular system ซึ่งช่วยผสมผสานการทำงานของร่างกายและจิตใจ 
มีการศึกษาพบว่า กลิ่นโรสแมรีช่วยลดคลื่นสมองชนิดอัลฟาซึ่งเป็นปฏิกิริยาของร่างกายเหมือนกับอาการที่เกิดจากการได้รับสิ่งกระตุ้น ขณะที่ลาเวนเดอร์ทำให้คลื่นอัลฟาในสมองเพิ่มขึ้นมีผลทำให้ร่างกายมีการผ่อนคลายเพิ่มมากขึ้น กลิ่นที่ให้ผลทำนองเดียวกันกับลาเวนเดอร์คือ มาจอแรม และกลิ่นดอกส้ม (Neroli) ทั้งสามกลิ่นนี้จึงใช้บำบัดอาการเครียด นอนไม่หลับ กังวล โกรธ รำคาญ และความดันโลหิตสูง กลิ่นหอมเหล่านี้ทำให้ร่างกายผลิตเซโรโทนินจึงช่วยให้สงบเยือกเย็นและผ่อนคลาย เด็กที่มีพฤติกรรมรุนแรงหรือต่อต้านสังคมจะมีการผลิตสารเซโรโทนินน้อย 
กลิ่นที่ทำให้สุขใจ เช่น กลิ่นกุหลาบและ คลารี เสช เป็นต้น จะไปกระตุ้นทาลามัสและการผลิต encephalin จึงช่วยผ่อนคลายอารมณ์ที่ตึงเครียด สำหรับกลิ่นเปปเปอร์มินท์ และโรสแมรี จะกระตุ้นการผลิตอดรินาลินซึ่งทำให้มีพลังงานมากขึ้น และลดการเหนื่อยล้าทั้งร่างกายและจิตใจ 
มีการทดลองให้ผู้ที่ทำงานกับคอมพิวเตอร์ตลอดเวลาได้รับกลิ่นเปปเปอร์มินท์ และ ลิลลี ออฟ เดอะ วัลเลย์ พบว่าทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยมีข้อผิดพลาดลดลง 25% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับกลิ่นทั้งสองชนิดนี้ กลิ่นมะนาวก็ทำให้ประสิทธิภาพของผู้ที่ทำงานภายในสำนักงานเพิ่มมากขึ้นด้วย 
กลิ่นเจอราเนียม ช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนในร่างกาย ช่วยให้จิตใจเป็นปกติ จึงใช้ในสตรีวัยทองที่มีอารมณ์ปรวนแปรและหดหู่ 
อย่างไรก็ดีการตอบสนองต่อกลิ่นของแต่ละบุคคลยังขึ้นอยู่กับประสบการณ์ชีวิตที่ได้รับ เช่น กลิ่นลาเวนเดอร์มีผลทำให้คนส่วนมากมีอารมณ์เยือกเย็น ผ่อนคลาย แต่สำหรับบางคนที่มีความทรงจำที่ไม่ดีเกี่ยวกับกลิ่นลาเวนเดอร์ ก็อาจจะไม่ได้รับผลเช่นคนอื่นๆ มนุษย์แต่ละคนล้วนมีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน ส่งผลให้มีความพึงพอใจต่อกลิ่นต่างกัน มีความเฉพาะตัว

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. มนตรี ถนอมเกียรติ. สารปรุงแต่งในผลิตภัณฑ์เจล. ใน: ปลื้มจิตต์ โรจนพันธุ์, พรรณวิภา กฤษฎาพงษ์, วราภรณ์ จรรยาประเสริฐ, กอบธรรม สถิรกุล, บรรณาธิการ. การพัฒนาผลิตภัณฑ์เจล: ตำรับยาทาผิวหนังและเครื่องสำอาง. กรุงเทพฯ: คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. 2535: 155-162.
  2. Pounikar Y, Jain P, Khurana N, Omray LK, Patil S. Formulation and characterization of aloe vera cosmetic herbal hydrogel. International Journal of Pharmacy and Pharmaceutical Sciences 2012; 4, Suppl 4: 85-86.
  3. Feuch CL, Patel DR. Analgesics and anti-inflamatory medications in sports: use and abuse. Pediatric Clinics of North America 2010; 57(3): 751-774.
  4. Wright E. Musculoskelatal disorders. In: Barardi RR, Ferreri SP, Hume AL, eds. Handbook of nonprescription drugs, 16th ed. Washington, DC: American Pharmacists Association; 2009: 95-113.

-->



บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ยาหอม กับคนวัยทำงาน 1 วินาทีที่แล้ว
ยาแก้ไอ ... มีกี่แบบ ?? 4 วินาทีที่แล้ว
27 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้