เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ยาแก้ไอ ... มีกี่แบบ ??


อาจารย์ เภสัชกร ธีรัตถ์ เหลืองมั่นคง ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 992,763 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 29/09/2556
อ่านล่าสุด 14 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

อาการไอเป็นกลไกการตอบสนองของร่างกายต่อสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในระบบทางเดินหายใจ การไอจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์ แต่ในบางครั้งโรคหรือยาบางอย่างกลับมีผลทำให้เกิดอาการไอมากเกินกว่าปกติ ซึ่งอาจเพียงทำให้เกิดความรำคาญหากไอไม่รุนแรงและหายได้อย่างรวดเร็ว แต่ถ้าไออย่างรุนแรงและยาวนานอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บของระบบทางเดินหายใจ และอาจส่งผลถึงกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกายที่ต้องใช้ในการไอด้วย ซึ่งวิธีการรักษาอาการไอที่ดีที่สุดคือ การกำจัดที่สาเหตุของอาการไอ เช่น การเลิกสูบบุหรี่ การหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการแพ้ เป็นต้น 

 
หากกล่าวถึงยาที่ทำให้เกิดอาการไอ ยาสองกลุ่มสำคัญที่ควรรู้จัก ได้แก่ 
ยาลดความดันโลหิต กลุ่มเอซีอีอินฮิบิเตอร์ (ACE inhibitors) ซึ่งใช้เป็นยารักษาโรคหัวใจวายและใช้ป้องกันความเสื่อมของไตในผู้ป่วยเบาหวานอีกด้วย ยากลุ่มนี้มักทำให้เกิดอาการไอแห้งๆ ในผู้ป่วยร้อยละ 20 ซึ่งโดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องดูแลรักษาหากไอไม่มากและผู้ป่วยทนได้ แต่หากไอมากจนทนไม่ได้อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนไปใช้ยากลุ่มอื่นทดแทน ผู้ป่วยที่ใช้ยาแล้วมีอาการไอไม่ควรหยุดยาเอง เนื่องจากยามีความสำคัญต่อการควบคุมความรุนแรงของโรคที่ทำการรักษาอยู่ ควรแจ้งแพทย์เพื่อทำการปรับเปลี่ยนยาที่เหมาะสมต่อไป 
ยารักษาโรคกระดูกพรุน กลุ่มบิสฟอสโฟเนต (Bisphosphonates) ซึ่งโดยความเป็นจริงแล้ว ยา กลุ่มนี้ไม่ได้มีผลทำให้เกิดอาการไอถ้าใช้ยาอย่างถูกต้อง โดยรับประทานก่อนอาหารมื้อเช้าครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง (ขึ้นกับชนิดของตัวยา) หลังรับประทานยาห้ามเอนตัวลงนอนหรือทำกิจกรรมใดๆ ที่อาจจะทำให้เกิดการไหลย้อนของยาเข้าสู่หลอดอาหาร เนื่องจากยากลุ่มนี้มีผลระคายเคืองหลอดอาหารโดยตรง หากไม่ปฏิบัติตามวิธีข้างต้นอาจทำให้หลอดอาหารโดนทำลาย เกิดอาการแสบหน้าอก ไออย่างรุนแรงและไอเป็นเลือดได้ 
จะเห็นว่าการรักษาอาการไอที่เกิดจากตัวอย่างยาทั้งสองกลุ่มนี้ ทำได้โดยหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการไอด้วยการหยุดยาหรือปฏิบัติตัวให้ถูกต้องเมื่อจะต้องใช้ยา แตกต่างจากอาการไอที่เกิดจากอาการแพ้หรือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งอาจจำเป็นต้องได้รับยาแก้แพ้หรือยาฆ่าเชื้อร่วมด้วย เพื่อช่วยให้หายจากอาหารไอได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น แต่บางครั้งก็อาจมีความจำเป็นต้องใช้ยาแก้ไอด้วยเช่นกัน ซึ่งการจะเลือกชนิดและประเภทของยาแก้ไอได้อย่างถูกต้องนั้น จำเป็นแบ่งประเภทของอาการไอให้ได้ในเบื้องต้น ว่าเป็นอาการไอแบบมีเสมหะหรืออาการไอแห้ง เนื่องจากหากใช้ยาไม่ถูกกับประเภทของอาการไอ นอกจากยาจะช่วยบรรเทาอาการไอไม่ได้แล้ว อาจทำให้อาการไอรุนแรงมากขึ้นก็ได้ 
ยาแก้ไอสามารถแบ่งได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ด้วยกัน ได้แก่ 
ยาแก้ไอสำหรับอาการไอแบบมีเสมหะ ซึ่งอาจแบ่งย่อยออกเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ 1) ยาขับเสมหะ (Expectorants) ที่ออกฤทธิ์โดยทำให้ร่างกายสร้างสารน้ำออกมาหล่อเลี้ยงทางเดินหายใจมากขึ้น และ 2) ยาละลายเสมหะ (Mucolytics) ที่ออกฤทธิ์ต่อเสมหะโดยตรงและทำให้เสมหะข้นเหนียวน้อยลง ซึ่งยาทั้งสองกลุ่มจะช่วยให้ผู้ป่วยไอและขับเสมหะออกมาได้ง่ายขึ้น มักใช้ในอาการไอที่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น หวัด คออักเสบ หลอดลมอักเสบ โดยช่วงแรกของการรับประทานยาผู้ป่วยอาจไอถี่ขึ้น แต่จะลดลงเมื่อผู้ป่วยไอและขับเสมหะออกมาได้แล้ว ตัวยาแก้ไอหลายชนิดผสมอยู่กับยาขยายหลอดลม ซึ่งอาจมีผลทำให้ใจสั่นได้หากใช้ยามากเกินไป ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ได้แก่

ยาแก้ไอสำหรับอาการไอแบบมีเสมหะตัวอย่างชื่อการค้า
ยาขับเสมหะGuaifenesin (Glyceryl guaiacolate)Bronchonyl, Glycolate, Qualiton, Robitussin, Royalin, Salmol Expectorant, Tolbin Expectorant
ยาละลายเสมหะ  
BromhexineBisolvon, Bromcolex, Bromoson, Bromso, Bromxine, Cohexine, Disol
AmbroxolAmtuss, Mucolid, Mucosolvan, Simusol, Strepsil Chesty Cough
AcetylcysteineAcetin, Flemex-AC, Fluimucil, Mucolid-SF, Nac Long, Mysoven
CarbocysteineAmicof, Carbomed, Carsemex, Elflem, Flemex, Rhinathiol, Siflex-


หมายเหตุ – ชื่อการค้าของยาหลายชนิด เป็นยาแก้ไอที่ผสมกับตัวยาแก้ไอกลุ่มอื่น ยาลดน้ำมูกหรือยาแก้แพ้

ยาแก้ไอสำหรับอาการไอแห้ง หรือบางครั้งเรียกยากลุ่มนี้ว่ายากดอาการไอ (Antitussives) ซึ่งเป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ทำให้กลไกตอบสนองของร่างกายต่ออาการไอเกิดขึ้นน้อยลงและช่วยบรรเทาอาการไอ ยากลุ่มนี้โดยมากใช้สำหรับบรรเทาอาการไอที่เกิดจากการแพ้หรืออาการไออื่นๆ ที่ไม่มีเสมหะ เพราะหากใช้ในอาการไอแบบมีเสมหะ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เสมหะที่เหนียวข้นอยู่แล้วถูกขับออกมาจากทางเดินหายใจได้ยากขึ้น จนเกิดอาการระคายเคืองและทำให้อาการไอรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิมได้ รวมทั้งยาบางตัวอาจทำให้เกิดการเสพติด หรือก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงได้ ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ได้แก่

ยาแก้ไอสำหรับอาการไอแห้งตัวอย่างชื่อการค้า
DextromethorphanA-Tussin, Dextroral, Eifcof-G, Icolid, Lohak, Manodextro, Pusiran, Romilar, Stripsils Dry Cough, Throatsil Dex, Terco-D
CodeineCodipront, Codepect, Codesia, Ropect, Terco-C
LevodropropizineBronal, Levopront
ButamirateSinecod


หมายเหตุ – ชื่อการค้าของยาหลายชนิด เป็นยาแก้ไอที่ผสมกับตัวยาแก้ไอกลุ่มอื่น ยาลดน้ำมูกหรือยาแก้แพ้

ในการใช้ยาบรรเทาอาการไอนั้น บางครั้งอาจได้รับยาสูตรที่มีตัวยาแก้ไอหลายชนิดผสมกัน หรือบางครั้งอาจได้รับยาแก้ไอเดี่ยวๆ มากกว่าหนึ่งชนิดพร้อมกัน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว หากเป็นไปได้ควรเลือกชนิดของยาที่สอดคล้องกับลักษณะของอาการไอให้มากที่สุด เพื่อช่วยให้ใช้ยาได้ผลตรงตามประสิทธิภาพและหลีกเลี่ยงอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดจากยาโดยไม่จำเป็น หากจะใช้ยามากกว่าหนึ่งกลุ่มร่วมกัน ควรเลือกยาที่ออกฤทธิ์คนละกลไกกัน เช่น ใช้ยาขับเสมหะร่วมกับยาละลายเสมหะ หรือ ใช้ยากดอาการไอร่วมกับยาละลายเสมหะ ไม่ควรใช้ยากลุ่มเดียวกันซ้ำซ้อนกัน เพราะไม่ทำให้ประสิทธิภาพในการรักษามากขึ้น

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ยาแก้ไอ ... มีกี่แบบ ?? 1 วินาทีที่แล้ว
การเดินเพื่อสุขภาพ 22 วินาทีที่แล้ว
1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้