เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ปลอดภัยหรือไม่ เมื่อใช้สเตียรอยด์ (steroid)


อาจารย์ เภสัชกร ธีรัตถ์ เหลืองมั่นคง ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
อ่านแล้ว 407,559 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 12/05/2556
อ่านล่าสุด 2 ช.ม.ที่แล้ว
https://tinyurl.com/y735hblx
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ https://tinyurl.com/y735hblx
 
สเตียรอยด์ (Steroid) เป็นชื่อเรียกโดยย่อของกลุ่มยาที่มีชื่อเต็มว่า corticosteroid ยา กลุ่มนี้มีฤทธิ์และข้อบ่งใช้มากมาย สามารถใช้ในโรคหรือภาวะต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย แต่สิ่งที่ทำให้ยากลุ่มนี้เป็นที่รู้จักมากที่สุดกลับเป็นผลเสียที่เกิดจากการใช้ steroid อย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้หลายคนกลัวและปฏิเสธที่จะใช้ยากลุ่มนี้ ยากลุ่มสเตียรอยด์สามารถแบ่งตามรูปแบบของการใช้ยาได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
1. สเตียรอยด์ประเภทใช้ภายนอกมีตัวสเตียรอยด์ที่ใช้เป็นยาภายนอกหลายสิบชนิดด้วยกัน แต่สามารถแบ่งตามรูปแบบของยาและตัวอย่างของโรคที่ใช้ได้เป็น
  • ยาทา (ทั้งในรูปครีม โลชัน ขึ้ผึ้ง) สำหรับรักษาผื่นแพ้ ลมพิษ ผิวหนังอักเสบ สะเก็ดเงิน
  • ยาหยอดตา ยาป้ายตา ยาหยอดหู สำหรับรักษาภูมิแพ้หรืออักเสบที่ตาและหู
  • ยาพ่นจมูก สำหรับรักษาโรคภูมิแพ้ที่มีอาการทางจมูก ริดสีดวงจมูก
  • ยาพ่นคอ สำหรับรักษาโรคหืด ภูมิแพ้ที่ทำให้เกิดอาการหอบ

สเตียรอยด์ประเภทใช้ภายนอกเหล่านี้พัฒนาขึ้นเพื่อให้ยาออกฤทธิ์เฉพาะที่ โดยไม่จำเป็นต้องกินหรือฉีดยา จึงช่วยหลีกเลี่ยงผลเสียที่อาจเกิดขึ้นจากยาได้เป็นส่วนใหญ่ เมื่อได้รับยากลุ่มนี้และใช้ตามคำแนะนำการใช้ยาอย่างเคร่งครัด เช่น ใช้ยาทาเฉพาะบริเวณที่เป็นผื่น ไม่ทาลงบนผิวหนังที่ปกติ ไม่ทาหนา ไม่ทาเป็นบริเวณกว้างและไม่ทาต่อเนื่องเป็นเวลานาน ใช้ยาหยอดตา ยาป้ายตา ยาหยอดหู เฉพาะข้างที่เป็น ด้วยจำนวนหยด จำนวนครั้งและระยะเวลาตามคำสั่งใช้ยา ใช้ยาพ่นจมูกและยาพ่นคอด้วยวิธีการพ่นยาที่ถูกต้อง ไม่พ่นบ่อยเกินกว่าที่กำหนด บ้วนปากหลังพ่นคอทุกครั้ง ถ้าใช้ยาได้อย่างถูกต้องตามคำแนะนำ ยาภายนอกเหล่านี้มักจะไม่ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง และเนื่องจากความปลอดภัยของยานี้เอง ทำให้สามารถซื้อยาใช้ภายนอกที่มีตัวยา steroid ได้ที่ร้านยาทั่วไป ภายใต้คำแนะนำการใช้ยาอย่างถูกต้องของเภสัชกร
2. สเตียรอยด์ประเภทกินและฉีด ถึงแม้จะมีสเตียรอยด์ประเภทใช้ภายนอกมากมาย แต่การรักษาโรคหรือภาวะบางอย่าง จำเป็นต้องใช้ยากินหรือยาฉีดเท่านั้น เช่น อาการแพ้บางชนิด โรคหืดชนิดรุนแรง โรคภูมิคุ้มกันไวเกิน ผู้ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ เป็นต้น เช่นเดียวกับยาใช้ภายนอก ถ้ากินหรือฉีดยาสเตียรอยด์ในขนาดน้อยๆ เพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ มักไม่ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง แต่ถ้ากินหรือฉีดต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะก่อให้เกิดผลเสียที่รุนแรงหลายประการด้วยกัน ได้แก่ ติดเชื้อโรค (ยากดการทำงานของภูมิคุ้มกันในร่างกาย) เป็นเบาหวาน (ยาทำให้น้ำตาลในเลือดสูง) บวมและความดันโลหิตสูง (ยาทำให้ขับน้ำลดลง แต่เพิ่มการสะสมไขมันที่หน้า หลังและท้อง) กระดูกพรุน (ยารบกวนสมดุลการสร้างกระดูก) รวมทั้งเป็นแผลในทางเดินอาหาร ผิวหนังเหี่ยวย่นและบาง ตาเป็นต้อ การทำงานของต่อมหมวกไตผิดปกติ รบกวนการเจริญเติบโตในเด็ก เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าวิธีการใช้ยาสเตียรอยด์เป็นสิ่งสำคัญซึ่งผู้ใช้ยาจะต้องคำนึงถึงมากที่สุด ว่าจะต้องใช้จำนวนมากน้อยเท่าใด ใช้ด้วยความถี่กี่ครั้งและใช้ต่อเนื่องนานเท่าใด เพราะเมื่อใดที่ใช้มากเกินกว่าที่ควร จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่ได้กล่าวมาทั้งหมดทันที
ประเด็นสุดท้ายและเป็นที่มาของอาการไม่พึงประสงค์จากสเตียรอยด์ที่สำคัญที่สุดคือ “การได้รับยาสเตียรอยด์โดยไม่รู้ตัว” ไม่ว่าจะเป็นจากยาชุด ยาลูกกลอน ยาสูตรสมุนไพร ยาต้ม ยาหม้อ ยาพระ รวมทั้งยาที่อวดอ้างสรรพคุณในการรักษาได้สารพัดโรค เนื่องจากยาเหล่านี้มักจะมีส่วนผสมของยาในกลุ่มสเตียรอยด์อยู่ ทำให้เห็นผลในการบรรเทาทุกอาการได้อย่างรวดเร็วโดยที่ไม่พบอาการไม่พึงประสงค์ใดๆ ผู้ใช้ยาจึงมักรู้สึกพึงพอใจกับผลของยา โดยไม่ได้มุ่งรักษาที่สาเหตุของโรคโดยตรง แต่ยิ่งใช้ยาต่อเนื่องเป็นเวลานานมากขึ้นเท่าใด อาการไม่พึงประสงค์ของ steroid ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น พร้อมกับความรุนแรงของโรคที่มากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากไม่ได้รับการรักษาที่ตรงสาเหตุอย่างทันท่วงที จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเหล่านี้โดยเด็ดขาด

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Bertram GK, eds. Basic and clinical pharmacology, 10th ed. New York: McGraw-Hill, 2007.
  2. Rang HP, Dale MM, Ritter JM, Moore PK. Pharmacology, 5th ed. Churchill Livingstone, 2003.

งานประชุมวิชาการที่กำลังเปิดรับสมัคร


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ยาบ้า 8 วินาทีที่แล้ว
วิตามินและแร่ธาตุ 11 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้