Knowledge Article


บรรจุภัณฑ์บ่งชี้ร่องรอยการแกะ (Tamper-Evident Packaging) : ตอนที่ 1


บทความโดย คณาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
28,045 View,
Since 2011-06-05
Last active: 1h ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +

บทนำ

จุดประสงค์ของบทความนี้เพื่อให้ประชาชนทั่วไป ได้ทราบถึงรูปลักษณ์ของบรรจุภัณฑ์ที่ถูกต้องว่ายังมิได้มีการแอบขโมยแกะ เพื่อนำผลิตภัณฑ์ยาไปใช้หรือเพื่อที่จะปนปลอมผลิตภัณฑ์ยาโดยประสงค์ร้าย  หากมีการลักลอบเปิดผนึกจะสังเกตร่องรอยการแกะอย่างไร ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองความปลอดภัยของท่านนั่นเอง

กรณีวิกฤตการณ์ยาไทลีนอลถูกปลอมปนหรือฆาตกรรมหมู่ไทลีนอลที่นครชิคาโก เกิดขึ้นในฤดูใบไม้ร่วง เดือนกันยายน ค.ศ. 1982  มีคนเสียชีวิต 7 ราย หลังจากรับประทานยาเม็ดแคปซูลบรรเทาอาการปวดตัวนี้  จากการสอบสวนพบว่ามีการแอบใส่ผงโปตัสเซียมไซยาไนด์ชนิดแรงพิเศษ (extra-strength)ในแคปซูลยาไทลีนอล  เอฟบีไอได้ให้ชื่อรหัสการวางยาพิษนี้ว่า TYMERS1  วิกฤตการณ์ครั้งนี้ทำให้ชาวอเมริกาได้ตระหนักถึงความปลอดภัยของยาที่ไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ (OTC, over-the-counter drugs)ว่าจะต้องอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่ถูกต้อง โดยรัฐต้องมีมาตรการบังคับใช้ทางกฎหมายเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ที่สามารถบ่งชี้ร่องรอยการแกะ(tamper-evident packaging)หรือบรรจุภัณฑ์ต้านการแกะ (tamper-resistant packaging) ซึ่งคณะกรรมการอาหารและยาหรือ อย. ของ สหรัฐอเมริกา (US FDA)ได้มีการสนองตอบอย่างรวดเร็ว โดยการออกกฎหมายสำหรับ OTC drugs2 ดังปรากฏใน US FDA regulation Title 21 CFR Parts 211.132: ซึ่งเป็นข้อกำหนดของบรรจุภัณฑ์เพื่อบ่งชี้ร่องรอยการแกะสำหรับผลิตภัณฑ์ยาสำหรับมนุษย์ที่เป็นยา OTC3 ต่อมาจึงออกข้อบังคับ Parts 700.25: ซึ่งเป็นข้อกำหนดของบรรจุภัณฑ์ต้านการแกะสำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เหลวสำหรับสุขอนามัยในช่องปาก และผลิตภัณฑ์สำหรับช่องคลอด4 และ Parts 800.12: ซึ่งเป็นข้อกำหนดของบรรจุภัณฑ์ต้านการแกะสำหรับสารละลายล้างคอนแท็คเลนส์ และยาเม็ดที่ใช้เตรียมสารละลายนี้5 โดยนิยามของ US FDA นั้นบรรจุภัณฑ์บ่งชี้ร่องรอยการแกะ หรือบรรจุภัณฑ์ต้านการแกะจะหมายถึงบรรจุภัณฑ์ที่มีตัวบ่งชี้หรือตัวต่อต้านการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ หากมีการแตกแยกหรือผิดพลาดใดๆ ในบรรจุภัณฑ์เกิดขึ้น จะแสดงให้เห็นร่องรอยการแกะ  การต้านการแกะทำได้ทั้งระบบภาชนะบรรจุ/ฝาปิดปฐมภูมิซึ่งสัมผัสกับผลิตภัณฑ์ยาโดยตรง หรือระบบภาชนะบรรจุ/กล่องทุติยภูมิซึ่งมิได้สัมผัสกับผลิตภัณฑ์ยา  หรือเป็นระบบที่เสริมซึ่งกันและกัน เพื่อบูรณาการจุดประสงค์ในการขนถ่ายระหว่างการผลิต การกระจาย และการแสดงสินค้าบนหิ้ง

ตัวอย่างดังแสดงในรูปที่ 1 นั้น บรรจุภัณฑ์ต้านการแกะจะถูกออกแบบเป็นหลายชั้น เช่น กล่องใส่ภาชนะบรรจุยาซึ่งติดกาวที่ด้านบนฝาในเพื่อผนึกกับด้านล่างฝานอก แถบหดครอบฝา (shrink band)ฝาที่ออกแบบให้มีลักษณะต้านการเปิด การปิดผนึกฟอยล์บนปากภาชนะบรรจุยาซึ่งไม่สามารถนำกลับมาปิดผนึกซ้ำ คำว่าบรรจุภัณฑ์บ่งชี้ร่องรอยการแกะจะแสดงสัญญาณให้ทราบว่า หากมีการแกะหรือเปิดผนึกบรรจุภัณฑ์เกิดขึ้นเพื่อเข้าถึงหรือนำผลิตภัณฑ์ออกมาใช้ จะพบร่องรอยของการแกะหรือเปิดผนึกเกิดขึ้น ได้แก่ ร่องรอยการแกะฝากล่อง ร่องรอยแกะแถบหด  ร่องรอยที่ถูกแกะของฝา ร่องรอยการแกะผนึกฟอยล์ เป็นต้น   แม้จะไม่สามารถป้องกันการแกะได้จริง แต่จะทิ้งร่องรอยให้ผู้บริโภคเห็นได้ชัดเจนว่ามีการแกะเกิดขึ้น6 ดังนั้นคำว่าบรรจุภัณฑ์ป้องกันการแกะ (tamper-proof packaging) เป็นคำหรือนิยามที่ยังไม่เหมาะสมนัก เพราะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายของการป้องกันการแกะ หากมีการแกะเกิดขึ้น

ตัวบ่งชี้ร่องรอยที่ต้องการ จะประกอบด้วยรูปลักษณ์หรือข้อความเตือน เพื่ออธิบายถึงกลไกเฝ้าระวังแก่ผู้บริโภค  เมื่อมีการแกะเกิดขึ้นจะทำให้เกิดกลไกรักษาความปลอดภัยขึ้น2  USFDA คำนึงถึงการต้านการแกะที่ออกแบบจำเพาะ เช่น ยาฉีดพ่น (aerosol system) หรือเกราะต้านที่ทำจากวัสดุที่ออกแบบหรือทำสัญลักษณ์พิเศษที่เมื่อแกะแล้วไม่สามารถทำกลับคืนในลักษณะเดิม3-5

ตัวอย่างบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ที่เข้าข้อกำหนดของบรรจุภัณฑ์ร่องรอยการแกะหรือต้านการแกะบ่งชี้จะมีการนำเสนอในตอนต่อๆ ไป

บทความโดย:  รศ. ดร. สมบูรณ์ เจตลีลา


ภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดล

เอกสารอ้างอิง

  1. DouglasJE, Olshaker M. The anatomy of motive: The FBI's legendary mindhunter explores the key to understanding and catching violent criminals. New York: Scribner. 1999; 103–104.
  2. Croce CP, Fischer A, Thomas RH. Packaging materials science. In: Lachman L, Lieberman HA, Kanig JL. The theory and practice of industrial pharmacy. 3rd ed. Philadelphia: Lea & Febiger, 1986: 711-732.
  3. USFDA regulation Title 21 CFR Parts 211.132: Tamper-evident packaging requirements for over-the-counter (OTC) human drug products.
  4. USFDA regulation Title 21 CFR Parts 700.25: Tamper-resistant packaging requirements for cosmetic products, liquid oral hygiene products and vaginal products.
  5. USFDA regulation Title 21 CFR Parts 800.12: Tamper-resistant packaging requirements for contact lens solutions and tablets used to make these solutions.
  6. Rosette JL. Improving tamper-evident packaging: Problems, tests and solutions. Boca Raton, Fla: CRC Press; 1992.
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.