Knowledge Article


คาเฟอีนในน้ำนมแม่...มีผลอย่างไรต่อทารก?


รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์
หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcS-e-DxwHRpJJgNPzuIQXfJs76t-9vWbNSzRVx5r_oHzFiwSjYa&s
99,863 View,
Since 2020-02-05
Last active: 21m ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


คาเฟอีน (caffeine) พบได้ใน เมล็ด ผล และใบจากพืชบางชนิด โดยพบมากในเมล็ดกาแฟ นอกจากนี้ยังมีการสังเคราะห์ขึ้น คาเฟอีนมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง มีการนำมาใช้ประโยชน์เพื่อกระตุ้นสมองให้ตื่นตัว ตลอดจนใช้รักษาโรคบางอย่าง เช่น โรคปวดศีรษะ โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ นอกจากนี้ทารกที่คลอดก่อนกำหนดบางรายอาจได้รับคาเฟอีนเพื่อกระตุ้นการหายใจ ส่วนด้านเครื่องดื่มพบคาเฟอีนในเครื่องดื่มหลายชนิด เช่น กาแฟ ชา โคล่า เครื่องดื่มชูกำลัง การได้รับคาเฟอีนเป็นประจำโดยเฉพาะในปริมาณมากอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ คาเฟอีนถูกขับออกทางน้ำนมได้ดังนั้นแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมตนเองหากดื่มกาแฟปริมาณมากอาจส่งผลถึงลูกได้



ภาพจาก : https://media.npr.org/assets/img/2012/04/02/coffee_wide-febd516f4cf0534bd1cfebf8d945a36ee9970aca-s800-c85.jpg

ปริมาณคาเฟอีนในเครื่องดื่มมีมากน้อยเพียงใด?

ปริมาณคาเฟอีนในเครื่องดื่มมีมากน้อยแตกต่างกันไป ขึ้นกับชนิดของเครื่องดื่มและความนิยมในการบริโภคของแต่ละท้องถิ่นหรือแต่ละคน โดยทั่วไปในรูปแบบที่เตรียมเสร็จแล้วและพร้อมสำหรับดื่มนั้น ในกาแฟจะมีปริมาณคาเฟอีนมากกว่าชาและมากกว่าช็อกโกแลต ตามลำดับ เครื่องดื่มปริมาตร 1 แก้ว (ขนาด 240-250 มิลลิลิตร) มีปริมาณคาเฟอีนในกาแฟ 60-200 มิลลิกรัม ชา 10-50 มิลลิกรัม และช็อกโกแลต 2-5 มิลลิกรัม กาแฟที่สกัดเอาคาเฟอีนออก (decaffeinated coffee) ยังคงมีคาเฟอีนหลงเหลืออยู่เล็กน้อย โดยในเครื่องดื่ม 1 แก้วอาจมีปริมาณคาเฟอีนราว 3 มิลลิกรัม

ปริมาณคาเฟอีนในน้ำนมแม่มีมากน้อยเพียงใด?

ปริมาณคาเฟอีนในน้ำนมจะมากหรือน้อยขึ้นกับปริมาณที่แม่บริโภค คาเฟอีนถูกขับออกทางน้ำนมได้ดีและรวดเร็ว พบระดับคาเฟอีนสูงสุดในน้ำนมที่เวลา 1-2 ชั่วโมงหลังจากแม่ดื่มกาแฟ ปริมาณคาเฟอีนออกมาในน้ำนม 0.06-1.5% ของขนาดที่แม่ได้รับ หรือประมาณได้ว่าทารกที่ดื่มนมแม่น่าจะได้รับคาเฟอีนราว 7-10% ของปริมาณที่มารดาได้รับเมื่อปรับค่าตามน้ำหนักตัว หากแม่ได้รับคาเฟอีนน้อยกว่า 100 มิลลิกรัม จะมีคาเฟอีนในน้ำนมต่ำมากจนวัดไม่ได้ (ต่ำกว่า 0.2 มิลลิกรัมต่อลิตร) คาเฟอีนมีค่าครึ่งชีวิตในน้ำนม 4-6 ชั่วโมง (หมายความว่าทุก ๆ ช่วงเวลาดังกล่าวปริมาณคาเฟอีนในน้ำนมจะลดลงไปครึ่งหนึ่ง)

คาเฟอีนมีผลอย่างไรต่อทารก?

แม้ว่าคาเฟอีนในน้ำนมไม่ได้ส่งผลเสียร้ายแรงต่อทารก อย่างไรก็ตามหากแม่ที่บริโภคคาเฟอีนปริมาณสูงเป็นประจำ เช่น วันละ 750 มิลลิกรัมหรือมากกว่านี้ อาจส่งผลต่อพฤติกรรมบางอย่างของทารกอันเกิดจากฤทธิ์คาเฟอีนที่กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง เช่น นอนน้อยลง ตื่นง่าย กระสับกระส่าย งอแง อยู่ไม่สุข ดูดนมได้ไม่ดี นอกจากนี้แม่ที่ดื่มกาแฟเกินกว่าวันละ 450 มิลลิลิตร (หรือ 2 แก้ว) เป็นประจำ อาจทำให้ธาตุเหล็กในน้ำนมลดลง ในระยะยาวอาจทำให้ทารกที่บริโภคนมแม่เพียงอย่างเดียวเกิดภาวะโลหิตจางได้เล็กน้อยจากการขาดเหล็ก

คาแฟอีนอยู่ในร่างกายทารกได้นานเพียงใด?

ทารกแรกคลอดและทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะไวต่อคาเฟอีน เนื่องจากกำจัดคาเฟอีนออกจากร่างกายได้ช้า ร่างกายจึงสัมผัสคาเฟอีนเป็นเวลานานและมีโอกาสได้รับผลกระทบจากคาเฟอีนสูงกว่าทารกที่อายุมากขึ้น ค่าครึ่งชีวิต (ดูคำอธิบาย “ค่าครึ่งชีวิต” ข้างต้น) ของคาเฟอีนในทารกแรกคลอดเท่ากับ 50-100 ชั่วโมง (ในทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะใช้เวลานานกว่านี้) หากอายุมากกว่า 3 เดือนจะกำจัดคาเฟอีนได้เร็วขึ้น ค่าครึ่งชีวิตของคาเฟอีนในทารกอายุ 3-5 เดือนเท่ากับ 14 ชั่วโมง หากทารกมีอายุกว่า 6 เดือนค่าครึ่งชีวิตของคาเฟอีนเท่ากับ 2.6 ชั่วโมง ซึ่งใกล้เคียงกับที่พบในผู้ใหญ่ (ค่าครึ่งชีวิตของคาเฟอีนในผู้ใหญ่เท่ากับ 3-7 ชั่วโมง)

แม่ที่ให้นมลูกจะดื่มการแฟได้มากน้อยเพียงใด?

แม่ที่ให้นมลูกจำนวนไม่น้อยติดกาแฟ หากไม่สามารถเลิกดื่มได้ควรดื่มให้น้อยที่สุด แม้ว่าคาเฟอีนในน้ำนมไม่ได้ส่งผลเสียร้ายแรงต่อทารกแต่อาจมีผลรบกวนพฤติกรรมบางอย่างดังกล่าวข้างต้นได้ โดยเฉพาะเมื่อให้นมแก่ทารกแรกคลอด ทารกที่คลอดก่อนกำหนด หรือทารกที่อายุน้อยกว่า 3 เดือน โดยทั่วไปการบริโภคคาเฟอีนในปริมาณน้อยกว่า 200 มิลลิกรัม หรือดื่มกาแฟ 1-2 แก้ว (บางแหล่งข้อมูลอาจกำหนดไว้มากกว่านี้) มักไม่ส่งผลกระทบต่อทารก อย่างไรก็ตามไม่มีการศึกษาที่สนับสนุนอย่างชัดเจนว่าแม่ที่ให้นมลูกควรกำหนดปริมาณการบริโภคคาเฟอีนไว้ไม่เกินเท่าใด ในบางประเทศเคยกำหนดปริมาณไว้ที่ 300 มิลลิกรัม แต่ต่อมาลดเหลือ 200 มิลลิกรัม

การดื่มกาแฟที่สกัดเอาคาเฟอีนออกแล้วในปริมาณมาก เช่น วันละ 1.7 ถึง 2 ลิตร อาจส่งผลกระทบต่อทารกได้โดยเฉพาะทารกแรกคลอดหรือคลอดก่อนกำหนด เนื่องจากในกาแฟที่สกัดเอาคาเฟอีนออกแล้วนั้นยังคงมีคาเฟอีนปริมาณเล็กน้อยหลงเหลืออยู่

หากเกิดผลเสียต่อทารกจะแก้ไขอย่างไร?

ฤทธิ์คาเฟอีนในตัวทารกลดลงอย่างชัดเจนภายใน 2 สัปดาห์หรือเร็วกว่านี้ หากบริโภคนมแม่ที่ไม่มีคาเฟอีน อย่างไรก็ตามแม่ที่ติดกาแฟอย่างมากหากหยุดดื่มโดยทันทีอาจเกิดการขาดคาเฟอีน ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ง่วงนอน อ่อนเพลีย ตลอดจนอาการอื่น ๆ ได้ จึงควรค่อย ๆ ลดการดื่มลงก่อนที่จะหยุดดื่ม หากไม่สามารถหยุดดื่มได้ควรดื่มให้น้อยที่สุด รอจนกว่าทารกจะมีอายุมากขึ้น และหากอาการบางอย่างในทารกเกิดรุนแรง เช่น นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย อยู่ไม่สุข อาจต้องเข้ารับการรักษาเพื่อทุเลาอาการ

เอกสารอ้างอิง
  1. McCreedy A, Bird S, Brown LJ, Shaw-Stewart J, Chen YF. Effects of maternal caffeine consumption on the breastfed child: a systematic review. Swiss Med Wkly 2018. doi:10.4414/smw.2018.14665.
  2. Anderson PO. Potentially toxic foods while breastfeeding: garlic, caffeine, mushrooms, and more. Breastfeed Med 2018. doi:10.1089/bfm.2018.0192.
  3. Kumar VHS, Lipshultz SE. Caffeine and clinical outcomes in premature neonates. Children 2019. doi:10.3390/children6110118.
  4. Drugs and lactation database (LactMed). Bethesda (MD): National Library of Medicine (US); 2006-. Caffeine [updated: June 30, 2019]. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/. Accessed: January 2020.
  5. National Health and Medical Research Council 2012, infant feeding guidelines: information for health workers [updated: 2016]. https://www.nhmrc.gov.au/about-us/publications/infant-feeding-guidelines-information-health-workers. Accessed: January 2020.
  6. Bonyata K. Breastfeeding and caffeine [updated: January 13, 2018]. https://kellymom.com/bf/can-i-breastfeed/lifestyle/caffeine/. Accessed: January 2020.
  7. Aranda JV, Collinge JM, Zinman R, Watters G. Maturation of caffeine elimination in infancy. Arch Dis Child 1979; 54:946-9.
  8. Caffeine. RxList - The internet drug index for prescription drug information. https://www.rxlist.com. Accessed: January 2020.
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.