Knowledge Article


ยารักษาโรคกระดูกพรุน...เหตุใดจึงกินหลังตื่นตอนเช้าโดยกลืนยาทั้งเม็ดพร้อมน้ำเปล่า?


รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์
หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://www.heart.org/-/media/images/news/2019/april-2019/0425osteoporosisstroke_sc.jpg?h=600&w=800&la=en&hash=A8E0994DC3601115C49548D2BD233376106FAC34
39,460 View,
Since 2019-11-22
Last active: 9m ago
https://tinyurl.com/yyggynk3
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


ยาที่จะกล่าวถึงในที่นี้เป็นยาในกลุ่ม “บิสฟอสโฟเนต (bisphosphonates)” ซึ่งมีบทบาทมากในการรักษาโรคกระดูกพรุน ยาในกลุ่มนี้ถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารได้น้อยมาก อีกทั้งมีผลไม่พึงประสงค์ที่อาจทำให้หลอดอาหารเป็นแผล ดังรายละเอียดที่กล่าวถึงข้างล่างนี้

ตัวอย่างยารักษาโรคกระดูกพรุนในกลุ่มบิสฟอสโฟเนตชนิดรับประทาน

ยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนตที่วางจำหน่ายมีทั้งชนิดฉีดและชนิดรับประทาน ตัวอย่างยาชนิดรับประทานที่ใช้กันมากในการรักรักษาโรคกระดูกพรุน เช่น อะเลนโดรเนต (alendronate), ไอแบนโดรเนต (ibandronate), ไรเซโดรเนต (risedronate) บางชนิดมีทั้งตำรับที่เป็นยาเดี่ยวและตำรับยาสูตรผสมร่วมกับวิตามินดี ยามีหลายความแรงให้เลือกใช้ มีทั้งแบบรับประทานทุกวัน หรือทุกสัปดาห์ หรือทุกเดือน การรับประทานยาทุกสัปดาห์หรือทุกเดือนเป็นการเพิ่มความสะดวกและลดปัญหาเรื่องการลืมรับประทานยา อย่างไรก็ตามการรับประทานยาปริมาณมากในคราวเดียวอาจเกิดผลไม่พึงประสงค์ได้มากขึ้น โดยเฉพาะผลที่ทางเดินอาหาร

ยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนตมีการดูดซึมจากทางเดินอาหารได้น้อยมาก

ยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนตชนิดรับประทานไม่ว่าจะเป็น อะเลนโดรเนต ไอแบนโดรเนต หรือไรเซโดรเนต ดังกล่าวข้างต้น ล้วนถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารได้น้อยมากกล่าวคือน้อยกว่า 1% (ดูรูปที่ 1) ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับยาในกลุ่มอื่น และราว 60% ของปริมาณที่ถูกดูดซึมนี้ (หรือ 0.6% ของปริมาณที่รับประทาน) เท่านั้นที่ไปถึงยังกระดูกและสะสมอยู่ที่นั่น ที่เหลือจะถูกขับออกทางไต อย่างไรก็ตามการรับประทานยาตามขนาดที่แนะนำต่อเนื่องเป็นเวลานานนั้นเพียงพอสำหรับให้ผลในการป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุน อาหารต่าง ๆ รวมถึงยาบางชนิดลดการดูดซึมยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนตได้ โดยเฉพาะอาหารหรือยาที่มีสารไอออนชนิดประจุบวกสองหรือบวกสาม เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม อะลูมิเนียม (พบได้ในยาเม็ดแคลเซียม ยาลดกรด) จะยับยั้งการดูดซึมยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนตที่กล่าวถึงโดยสิ้นเชิง นอกจากนี้เครื่องดื่ม เช่น นม กาแฟ น้ำผลไม้ น้ำแร่ ลดการดูดซึมยาได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงแนะนำให้รับประทานยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนตขณะท้องว่าง ซึ่งควรเป็นเวลาหลังตื่นนอนตอนเช้า โดยรับประทานพร้อมน้ำเปล่าประมาณ 1 แก้ว (หรือราว 180-240 มิลลิลิตร) หลังจากนั้นไม่ควรรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มประเภทใด ๆ จนกว่าจะพ้น 30-60 นาทีไปแล้ว



ผลไม่พึงประสงค์ของยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนต

ผลไม่พึงประสงค์ของยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนตมีหลายอย่าง ชนิดที่เกิดรุนแรงพบได้น้อย โดยรวมถือเป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัย ผลไม่พึงประสงค์ที่อาจพบ เช่น ระคายทางเดินอาหาร เกิดแผลในปาก หลอดอาหารเป็นแผล หัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ กระดูกขากรรไกรตาย การหักของกระดูกต้นขาผิดแบบ ปวดกล้ามเนื้อและกระดูก รบกวนการซ่อมแซมกระดูกที่หัก ซึ่งการที่ยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนตอาจทำให้เกิดแผลในปากและหลอดอาหาร (ดูรูปที่ 2) ซึ่งการเกิดแผลในหลอดอาหาร ทำให้มีอาการแสบหรือเจ็บในลำคอ กลืนอาหารลำบาก จึงมีข้อแนะนำให้กลืนยาทั้งเม็ด (โดยไม่อม ไม่ดูด ไม่เคี้ยว และไม่บดเม็ดยา) พร้อมน้ำเปล่าจำนวนมากพอ (ประมาณ 1 แก้วหรือราว 180-240 มิลลิลิตร) และให้อยู่ในท่าที่คอและหลังตั้งตรง อาจนั่ง ยืน หรือเดิน โดยไม่ให้นอนหรือเอนหลังหรือโน้มตัว เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30-60 นาที เพื่อลดความเสี่ยงที่ยาจะไหลย้อนมายังหลอดอาหาร



สรุปเหตุผลที่ให้รับประทานยาหลังตื่นนอนตอนเช้าโดยกลืนทั้งเม็ดพร้อมน้ำเปล่า
  • หลังตื่นนอนตอนเช้าเป็นช่วงที่ท้องว่าง ยาถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ดี นอกจากนี้โดยทั่วไปแล้วภายหลังการตื่นนอน คนส่วนใหญ่จะมีการปฏิบัติกิจวัตรต่าง ๆ อาจนั่ง ยืน หรือเดิน ซึ่งคอและหลังอยู่ในลักษณะตั้งตรง จึงลดความเสี่ยงต่อผลไม่พึงประสงค์ของยาที่อาจทำให้เกิดแผลที่หลอดอาหาร ดังได้อธิบายข้างต้น
  • การกลืนยาทั้งเม็ด (โดยไม่อม ไม่ดูด ไม่เคี้ยว และไม่บดเม็ดยา) เพื่อไม่ให้เหลือยาตกค้างภายในปากหรือหลอดอาหาร ซึ่งยาทำให้ระคายเยื่อเมือกและอาจเกิดแผลได้
  • การรับประทานยาพร้อมน้ำเปล่า เนื่องจากในเครื่องดื่ม เช่น นม กาแฟ น้ำผลไม้ น้ำแร่ อาจมีสารที่จับกับตัวยาได้ จึงขัดขวางการดูดซึมยาจากทางเดินอาหาร ซึ่งยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนตถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารได้น้อยมากอยู่แล้ว
ด้วยเหตุนี้หากผู้ที่ใช้ยามีความเข้าใจถึงวิธีการใช้ยาและปฏิบัติอย่างถูกต้องจะช่วยให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการใช้ยารักษาโรคกระดูกพรุนในกลุ่มบิสฟอสโฟเนต

เอกสารอ้างอิง
  1. นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์. ยารักษาโรคกระดูกพรุนกลุ่ม Bisphosphonates. สารคลังข้อมูลยา 2560; 19(1):15-32.
  2. Bartl R, Frisch B, von Tresckow E, Bartl C, editors. Bisphosphonates. In: Bisphosphonates in Medical Practice: Actions–Side Effects–Indications–Strategies. Berlin: Springer, 2007, pp. 33-70.
  3. Ganesan K, Roane D. Bisphosphonate. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing, 2019. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK470248/. Accessed: October 2019.
  4. Skj∅dt MK, Frost M, Abrahamsen B. Side effects of drugs for osteoporosis and metastatic bone disease. Br J Clin Pharmacol 2019; 85:1063-71.
  5. Lengfeld J, Buder-Bakhaya K, Goebeler M, Wobser M. Bisphosphonate-mediated oral ulcers: a rare differential diagnosis of erosive oral lesions. Dermatology 2016; 232:117-21.
  6. Reyes C, Hitz M, Prieto-Alhambra D, Abrahamsen B. Risks and benefits of bisphosphonate therapies. J Cell Biochem 2016; 117:20-8.
  7. Ueda K, Muto M, Chiba T. A case of esophageal ulcer caused by alendronate sodium tablets. Gastrointest Endosc 2011; 73:1037-8.

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.