Knowledge Article


วิตามินดี แสงแดด และอาการซึมเศร้า


รศ.ดร.ภญ. จิรภรณ์ อังวิทยาธร
ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://t4.ftcdn.net/jpg/01/89/91/31/240_F_189913125_0HROudSRdPszC145D3K3Dmr37D5ecjkS.jpg
44,308 View,
Since 2018-10-19
Last active: 2h ago
https://tinyurl.com/2ffkqcwa
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


เราทุกคนล้วนเคยมีอาการเบื่อหน่ายและซึมเศร้าในบางช่วงเวลาของชีวิตกันทั้งนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมปัจจุบันซึ่งผู้คนมีแต่ความเร่งรีบและสนใจหมกมุ่นอยู่แต่เรื่องการทำมาหากินของตนเอง ทำให้คนมีอาการซึมเศร้าเพิ่มมากขึ้น ผู้ที่ทราบสาเหตุของการเกิดภาวะซึมเศร้าของตนเอง อาจหาวิธีบรรเทาอาการดังกล่าวได้ แต่หลายคนก็ไม่สามารถทำได้



ภาพจาก : https://us.123rf.com/450wm/popunderlight/popunderlight1704/popunderlight170400163/76158436-asian-man-with-sad-mood-in-the-room-sadness-portrait-concept-black-and-white-tone-.jpg?ver=6

วิธีรักษาอาการซึมเศร้ามีหลายวิธี เช่น วิธีจิตบำบัด โดยการพบแพทย์หรือนักจิตบำบัด การใช้ยาต้านอาการซึมเศร้า แต่ปัญหาที่มักจะพบ คือคนไข้ส่วนใหญ่มักไม่รับประทานยาหรือพบแพทย์อย่างต่อเนื่อง ทำให้การรักษาไม่ได้ผลเท่าที่ควร การเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตประจำวัน จากการที่อยู่คนเดียวเป็นส่วนใหญ่ หันมาสนุกสนานรื่นเริงกับญาติสนิทมิตรสหาย การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกำลังกายกลางแจ้ง ก็สามารถคลายภาวะซึมเศร้าได้ บางท่านอาจยังไม่ทราบว่าวิตามินดีจากแสงแดดเป็นยาต้านอาการซึมเศร้าได้

จากการศึกษาวิจัย พบความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญระหว่างระดับวิตามินดี (วัดจากระดับ 25-hydroxy vitamin D3 ในที่นี้จะเรียกสั้น ๆ ว่า วิตามินดี) ในกระแสเลือดกับภาวะซีมเศร้า โดยผู้ที่มีระดับวิตามินดีต่ำจะแสดงอาการของโรคซึมเศร้ามากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มคนที่มีสุขภาพปกติ ความรุนแรงของอาการจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อวิตามินดีมีระดับต่ำลงมาก กลไกที่ทำให้วิตามินดีมีความเกี่ยวข้องกับอาการซึมเศร้ายังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่มีงานวิจัยที่สนับสนุนว่าสมองส่วน hypothalamus มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะซึมเศร้า โดยผ่านกลไกของ vitamin D receptor ในร่างกายของมนุษย์จะพบ vitamin D receptor มากในส่วน hypothalamus ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำงานของต่อมไร้ท่อที่ถูกควบคุมโดยระบบประสาท (neuroendocrine system)

วิตามินดีกระตุ้นเอนไซม์ที่ใช้ในการสังเคราะห์สารสื่อประสาท (neurotransmitter) จำพวก monoamines เช่น serotonin dopamine และ norepinephrine ซึ่งสารสื่อประสาทเหล่านี้มีผลช่วยลดความเครียดและภาวะซึมเศร้าได้ นอกจากนี้วิตามินดียังมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาของสมองและเซลล์ประสาท และมีความเกี่ยวข้องกับอาการทางจิตประสาทอื่น ๆ เช่น ความผิดปกติทางอารมณ์ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล (seasonal affective disorder หรือ SAD) โรคจิตเภท (Schizophrenia) เป็นต้น

วิตามินดีในร่างกาย ปกติจะมีระดับสูงกว่า 30 ng/mL ถ้าต่ำกว่า 20 ng/mL จัดอยู่ในภาวะขาดวิตามินดี กลุ่มคนที่มักขาดวิตามินดี ได้แก่ ผู้สูงอายุ คนอ้วน ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่นโรคเบาหวาน กลุ่มคนทำงานที่ชีวิตประจำวันส่วนใหญ่อยู่แต่ในที่ทำงาน กลุ่มคนดังกล่าวจะมีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้ามากกว่าคนทั่วไป

เซลล์ผิวหนังของร่างกายสามารถสังเคราะห์วิตามินดีได้จาก cholesterol โดยมีรังสียูวีบี (ultraviolet B) จากแสงแดดเป็นตัวกระตุ้น จากการศึกษาพบว่า การออกกำลังกายกลางแจ้งในที่ที่มีแสงแดด จะช่วยลดอาการซึมเศร้าได้ดีกว่าการออกกำลังกายในที่ร่มอย่างมีนัยสำคัญ การป้องกันการขาดวิตามินดีทำได้ง่าย ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลง lifestyle จากการอยู่แต่ในบ้านหรือที่ทำงาน ควรออกมาสัมผัสแสงแดดบ้าง โดยเฉพาะแสงแดดตอนเช้า การรับประทานอาหารที่มีวิตามินดีสูง เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน หอยนางรม ไข่ และ นมที่มีการเติมวิตามินดี อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยบางราย หรือผู้ที่ได้รับแสงแดดและอาหารอุดมด้วยวิตามินดีแล้ว ก็ยังไม่สามารถทำให้ระดับวิตามินดีในร่างกายอยู่ในระดับปกติได้ การรับประทานอาหารเสริมที่มีวิตามินดีอาจเป็นสิ่งจำเป็น

ประโยชน์ของวิตามินดี นอกจากจะมีหน้าที่ช่วยการดูดซึมของแคลเซียม ทำให้กระดูกแข็งแรงและป้องกันโรคกระดูกพรุน (osteoporosis) แล้ว วิตามินดียังช่วยป้องกันโรคความดันโลหิตสูง และโรคหลอดเลือดหัวใจ พบว่าผู้ที่มีระดับวิตามินดีต่ำกว่า 15 ng/mL จะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 2 เท่า วิตามินดีช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมาก ผู้ที่ขาดวิตามินดี มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มากกว่าคนทั่วไป วิตามินดีช่วยซ่อมแซมเซลล์ที่สึกหรอจึงช่วยให้ผิวพรรณดี ช่วยเพิ่มความแข็งแรงและทนทานของกล้ามเนื้อ

ประเทศไทยของเราโชคดีที่มีแสงแดดเกือบตลอดทั้งปี คนไทยจึงไม่น่าจะอยู่ในภาวะขาดวิตามินดี แต่เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่มีผิวคล้ำ ทำให้ผิวหนังได้รับแสงยูวีน้อย อีกทั้งค่านิยมที่ไม่ถูกต้องที่ว่า คนสวยต้องมีผิวขาวเท่านั้น ทำให้คนไทยกลัวแดด ชอบหลบแดด ซึ่งต่างจากคนในประเทศที่มีอากาศหนาว ที่เมื่อเห็นแสงแดดเมื่อไร ต้องรีบออกมานั่งหรือนอนกลางแดด การกลัวว่าถ้าอยู่ท่ามกลางแสงแดดนาน ๆ จะทำให้เป็นมะเร็งผิวหนัง จึงนิยมกางร่ม ใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูง ๆ เหล่านี้มีผลทำให้ได้รับวิตามินดีไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

การลดภาวะซึมเศร้าทำได้โดยไม่ต้องพึ่งยา เพียงแค่เดินออกจากบ้านมารับแสงแดด ถ้ากลัวผิวเสีย การรับแสงแดดยามเช้าช่วงก่อน 9.00 น. หรือตอนช่วงเย็นหลัง 16.00 น. แสงแดดจะไม่ร้อนมากนัก นอกจากจะทำให้ร่างกายได้รับวิตามินดีแล้ว แสงแดดยามเช้ายังช่วยให้อารมณ์สดชื่นแจ่มใสได้ แม้ในผู้ที่ไม่ได้มีอาการซึมเศร้า เอกสารอ้างอิง
  1. Penckofer S, Kouba J, Byrn M, and Estwing Ferrans C. Vitamin D and Depression: Where is all the Sunshine? Ment Health Nurs. 2010;31(6):385–393
  2. Hoogendijk WJG, Lips P, Dik MG, et al. Depression Is Associated With Decreased 25-Hydroxyvitamin D and Increased Parathyroid Hormone Levels in Older Adults. Arch Gen Psychiatry. 2008;65(5):508-512
  3. Shi H, Wang B, Xu X. Antidepressant Effect of Vitamin D: A Literature Review. Neuropsychiatry (London). 2017;7(4):337–341
  4. https://www.vitamindcouncil.org/health-conditions/depression
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.