Knowledge Article


ยาตีกันกับความหลากหลายทางพันธุกรรม


อาจารย์ ดร.ภก. อนันต์ชัย อัศวเมฆิน
ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://media1.britannica.com/eb-media/07/145407-004-B09CC69F.jpg
12,420 View,
Since 2017-09-03
Last active: 3h ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


(คลิ๊ก .. หากต้องการอ่านบทความฉบับเต็ม)

จากคำกล่าวที่ว่า ”There is no one size fits all” หรือ “ลางเนื้อชอบลางยา” แม้เป็นยาชนิดเดียวกันแต่อาจให้ผลการรักษาที่แตกต่างกันอันเกิดจากความผันแปรของหลายปัจจัย อาทิเช่น พยาธิสภาพ สิ่งแวดล้อม พฤติกรรม (เช่น อาหาร การสูบบุหรี่ ฯลฯ) รวมถึงลักษณะทางพันธุกรรมของผู้ป่วย เช่น ความผิดแผกทางพันธุกรรมของเอนไซม์เปลี่ยนแปลงยา (metabolism) หรือความผิดแผกของความไว (sensitivity) ในการตอบสนองต่อยา ซึ่งศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางพันธุกรรมกับการตอบสนองต่อยาหรือการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยานี้ เรียกว่า เภสัชพันธุศาสตร์ (pharmacogenetics หรือ pharmacogenomics) ซึ่งในปัจจุบัน เภสัชพันธุศาสตร์เป็นศาสตร์แขนงหนึ่งที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ในการประยุกต์ใช้ข้อมูลสำหรับการเลือกยาและขนาดยาที่เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการรักษาสูงสุด ในขณะที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาน้อยที่สุด รวมถึงใช้ประโยชน์เพื่อการค้นคว้าและพัฒนายาใหม่ที่เหมาะสมเฉพาะกลุ่มประชากรมากขึ้น



ภาพจาก : http://www.newhope.com/sites/newhope360.com/files/uploads/2013/02/woman-eating-pills.jpg

การใช้ยารักษาโรคในเวชปฏิบัติอาจจำเป็นต้องได้รับยาหลายชนิดพร้อมๆ กัน ซึ่งการได้รับยาหลายตัวร่วมกันอาจนำไปสู่อาการไม่พึงประสงค์จากยาตีกันหรือปฏิกิริยาระหว่างยา (drug-drug interactions; DDIs) การเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาส่งผลเสียต่อผู้ป่วยและทำให้สูญเสียค่าใช้จ่ายทางสาธารณสุขจำนวนมาก

ปฏิกิริยาระหว่างยาเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา แบ่งตามลักษณะการเกิดออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือ
  • ปฏิกิริยาระหว่างยาที่เกิดจากปัจจัยทางเภสัชพลศาสตร์ (pharmacodynamics drug-drug interactions; PD-DDIs) ซึ่งเกี่ยวข้องกับกลไกการออกฤทธิ์ของยา
  • ปฏิกิริยาระหว่างยาที่เกิดจากปัจจัยทางเภสัชจลนศาสตร์ (pharmacokinetics drug-drug interactions; PK-DDIs) ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการแปรสภาพยาในร่างกาย โดยปัจจัยสำคัญที่เป็นสาเหตุหลักของการเกิด PK-DDIs มาจากการเปลี่ยนแปลงประสิทธิภาพในการทำงานของ cytochrome P450 (CYPs) ซึ่งเป็นกลุ่มของเอนไซม์ในร่างกายที่ทำหน้าที่ในการเมแทบอลิสมยา


ปัจจุบันมีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องความหลากหลายของลักษณะทางพันธุกรรม (polymorphism) ของ cytochrome P450 (CYP450) ที่มีผลต่อการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา (drug–gene interactions; DGIs) โดยในคนหนึ่งคนอาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยา พร้อมกันกับปฏิกิริยาระหว่างยากับยีน ซึ่งเรียกว่าปฏิกิริยาระหว่างยากับยาและยีน (drug-drug-gene interactions: DDGIs) DDGIs

Drug-Drug Interactions; DDIs

หลักการพื้นฐานในการพิจารณาความสำคัญของ DDIs กรณีไม่มีความหลากหลายทางพันธุกรรมของ cytochrome คือ ยาตัวที่ 1 ในภาวะปกติเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะถูกเปลี่ยนสภาพโดยเอนไซม์หลายชนิดเช่นใช้ cytochrome A และ cytochrome B เปลี่ยนยาได้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ 1 (metabolite 1) และผลิตภัณฑ์ที่ 2 (metabolite 2) ซึ่งอัตราส่วนที่ผ่านการทำงานของแต่ละ cytochrome เรียกว่า contribution ratio (CR) เช่นผ่าน cytochrome A ด้วยอัตราส่วน CR1 และผ่าน cytochrome B ด้วยอัตราส่วน CR2 เมื่อมียาอีก 1 ตัวที่ต้องใช้ร่วมกัน คือ ยาตัวที่ 2 จะทำให้การทำงานของ cytochrome เปลี่ยนแปลงไป ค่า CR1 และ CR2 ของยาตัวที่ 1 จะเปลี่ยนแปลง โดย cytochrome อาจถูกยับยั้งหรือทำงานมากขึ้น ซึ่งค่าการเปลี่ยนแปลงนี้เรียกว่า IX ดังนั้นในการพิจารณาถึงความสำคัญทางคลินิก อาจจะต้องใช้ค่าต่างๆ เหล่านี้เพื่อประเมินปฏิกิริยาระหว่างยาเพิ่มเติมจากการดูรายงานการเกิดปฏิกิริยาระหว่างคู่ยาด้วย

Drug-Gene Interactions; DGIs

นอกจากการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังพบว่า cytochrome ในแต่ละบุคคลมีความสามารถในการเมแทบอไลต์ยาแตกต่างกันซึ่งเกิดมาจากความหลากหลายทางพันธุกรรมของ cytochrome นั่นเอง เรียกว่า drug-gene interactions (DGIs) โดยการเกิด DGIs ส่วนใหญ่มักจะสัมพันธ์กับ cytochrome 3 ชนิด ได้แก่ CYP2D6 CYP2C9 และ CYP2C19 เนื่องจากมีหน้าที่เปลี่ยนสภาพยาสูงถึงประมาณร้อยละ 40 และ มีความหลากลายทางพันธุกรรมสูง (highly polymorphism) หรือมีความแตกต่างในแต่ละบุคคลสูง ดังนั้นอาจต้องพิจารณาปรับขนาดยาเพิ่มหรือลดขึ้นอยู่กับความหลากหลายทางพันธุกรรมของแต่ละคน

Drug-Drug Gene Interactions; DDGIs

จากพื้นฐานความรู้ในเรื่องการเกิด DDIs และ DGIs ซึ่งพบว่าการเกิดปฏิกิริยามีปัจจัยแวดล้อมหลายอย่าง ที่เข้ามามีบทบาทร่วมทั้งปัจจัยทางด้านสภาพแวดล้อม (external factors) เช่น อาหาร อายุ โรคร่วม และที่สำคัญ คือยาที่ใช้ร่วม ที่เป็นปัจจัยที่เราทราบและส่วนใหญ่สามารถควบคุมปัจจัยเหล่านี้ได้ และปัจจัยทางพันธุกรรม (internal factors) ซึ่งแตกต่างกันในแต่ละบุคคล ซึ่งอาจส่งผลต่อการเกิดความรุนแรงของการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาได้ เช่น ความผิดปกติทางพันธุกรรมของเอนไซม์ที่ทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงยา หรือความผิดแผกของความไว (sensitivity) ในการตอบสนองต่อยา จึงมีการเสนอหลักการปฏิกิริยาระหว่างยากับยาและยีน (drug-drug-gene interactions : DDGIs) ขึ้น โดย DDGIs จะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการรับประทานยาที่ถูกเมแทบอไลต์ โดยผ่าน cytochrome 2 ชนิด และรับประทานยาตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปที่สามารถยับยั้งหรือเหนี่ยวนำการเปลี่ยนสภาพยาอีกชนิดหนึ่งได้ ผ่านทาง cytochrome เพียงหนึ่งชนิด ขณะเดียวกันก็มีการเปลี่ยนแปลงด้านพันธุกรรมของ cytochrome ชนิดที่เหลือ โดยความรุนแรงของการเกิดปฏิกิริยาขื้นอยู่กับปริมาณสัดส่วนของยาที่เป็นยาตั้งต้นว่าผ่าน cytochrome ใดมากกว่ากัน

หลักการนี้มีความสำคัญในการอธิบายและทำนายผลของประสิทธิภาพยาและความปลอดภัยของยาที่แตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย แสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากทั้งปัจจัยภายนอก คือ การได้รับยาร่วมที่มีผลต่อเมแทบอลิซึมของยาที่ใช้ และปัจจัยภายใน คือ ลักษณะทางพันธุกรรมที่มีความหลากหลายในแต่ละบุคคล ดังนั้นจึงสามารถนำความรู้ DDGIs ไปใช้ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงหรือจัดการผลข้างเคียงที่เกิดจากยา โดยเฉพาะในผู้ป่วยกลุ่มที่มีลักษณะทางพันธุกรรมที่แตกต่างไปจากกลุ่มคนทั่วไป อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยที่เคยมีประวัติการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาที่รุนแรง หรือล้มเหลวในการรักษา โดยไม่สามารถอธิบายสาเหตุจากปัจจัยอื่นๆ ได้ อาจพิจารณาถึงลักษณะทางพันธุกรรมและผลของยาอื่นที่ได้รับร่วมกันตามแนวคิด DGIs มาใช้พิจารณาเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการรักษาผู้ป่วยต่อไป เช่น การเลือกยา การปรับขนาดยา เป็นต้น

(คลิ๊ก .. หากต้องการอ่านบทความฉบับเต็ม)
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.