Knowledge Article


กระชายดำกับสมรรถภาพทางเพศชาย


อรัญญา ศรีบุศราคัม
สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://sc02.alicdn.com/kf/HTB1CjI9KVXXXXbrXFXXq6xXFXXXs/
Genuine-HPLC-standardized-Black-Ginger-Kaempferia-parviflora.jpg
247,389 View,
Since 2017-02-27
Last active: 15m ago
https://tinyurl.com/y8hw7x2u
Scan to read on mobile device
 
A - | A +
เมื่อพูดถึงสมุนไพรไทยสำหรับเพศชาย กระชายดำนับเป็นสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่เชื่อกันว่า มีสรรพคุณช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ทำให้ท่านชายฟิตปั๋งได้ จึงทำให้ในระยะหนึ่งเกิดกระแสกระชายดำฟีเว่อร์ มีการส่งเสริมให้ปลูก และทำเป็นผลิตภัณฑ์โอทอปออกมาวางจำหน่ายเป็นจำนวนมาก กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้กระชายดำเป็นหนึ่งในสมุนไพร 5 ตัว ที่เป็นโปรดักส์แชมเปียนอีกด้วย



ภาพจาก : http://asianlibido.com/wp-content/uploads/2014/04/krachaidam_root.jpg

กระชายดำเป็นพืชในวงศ์เดียวกับ กระชาย ข่า ขิง และขมิ้น (Zingiberaceae) มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Kaempferia parviflora Wall. ex Baker ชื่อภาษาอังกฤษ คือ black ginger เนื่องมีลักษณะเหง้าคล้ายขิง แต่เนื้อในมีสีออกม่วงดำ กระชายดำเป็นพืชพื้นเมืองเขตร้อนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยพบขึ้นตามธรรมชาติบนภูเขา ในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 630 ม. หรือมากกว่า ปัจจุบันมีการปลูกทั่วทุกภูมิภาคของไทย ซึ่งแหล่งปลูกที่สำคัญส่วนใหญ่อยู่ในเขตจังหวัดเลย เพชรบูรณ์ พิษณุโลก เชียงใหม่ และเชียงราย กระชายดำสามารถจำแนกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ โดยพิจารณาจากสีของเนื้อในเหง้า ได้แก่ กลุ่มที่มีเนื้อในเหง้าสีม่วง ม่วงเข้ม จนถึงม่วงดำ และกลุ่มที่มีเนื้อในเหง้าสีจาง เนื่องจากมีความเชื่อว่าสีของเนื้อในเหง้าเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพของกระชายดำ ในทางการค้าจึงมักนิยมกระชายดำมีเนื้อในเหง้าสีม่วงเข้มซึ่งเชื่อว่ามีคุณภาพดี ถ้าเนื้อเป็นสีม่วงอ่อนจะถูกคัดไปเป็นกระชายม่วงซึ่งเชื่อว่าคุณภาพด้อยกว่า

ในเหง้ากระชายดำ ประกอบด้วยสารสำคัญต่างๆ ได้แก่ น้ำมันหอมระเหย สารฟลาโวนอยด์ (flavonoids) กลุ่มฟลาโวน (flavones) เช่น 5,7-dimethoxyflavone, 5,7,4'-trimethoxyflavone, 5,7,3', 4'-tetramethoxyflavone และ 3,5,7,3',4'-pentamethoxyflavone กลุ่มสารแอนโทไซยานิน (antho-cyanins) และสารประกอบฟีนอลิก (phenolic compounds) อื่นๆ ส่วนใหญ่แล้วพันธุ์ที่มีเนื้อในเหง้าสีเข้ม จะมีปริมาณสารฟีนอลิกรวมและสารฟลาโวนอยด์สูงกว่าพันธุ์ที่มีเนื้อในเหง้าสีจาง ส่วนพันธุ์ที่มีเนื้อในเหง้าสีจาง จะมีปริมาณน้ำมันหอมระเหยสูงกว่าพันธุ์ที่มีสีเข้ม

สรรพคุณในตำรายาไทยของกระชายดำ ระบุว่าเป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงกาม เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ในการใช้แบบพื้นบ้าน จะนำมาทำเป็นยาลูกกลอน โดยเอาผงแห้งมาผสมน้ำผึ้ง ปั้นเป็นลูกกลอน หรือทำเป็นยาดองเหล้าและดองน้ำผึ้ง แต่ในปัจจุบันนี้จะพบเห็นผลิตภัณฑ์ของกระชายดำวางจำหน่ายในท้องตลาด ในหลากหลายรูปแบบ เช่น ชาชง ยาแคปซูล ยาน้ำ ยาเม็ด กาแฟ และไวน์กระชายดำ ซึ่งเป็นที่นิยมมาก

สำหรับการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับฤทธิ์ทางชีวภาพและเภสัชวิทยาของกระชายดำที่สนับสนุนสรรพคุณที่เกี่ยวข้องกับสมรรถภาพทางเพศของกระชายดำ พบว่าสารสกัดเอทานอลจากเหง้ามีผลทำให้พฤติกรรมทางเพศของสัตว์ทดลองดีขึ้น และมีผลต่ออวัยวะสืบพันธุ์โดยเพิ่มน้ำหนักของท่อพักเชื้ออสุจิ ถุงน้ำอสุจิ ต่อมลูกหมาก และกล้ามเนื้อก้นของหนู

สารสกัดจากเหง้ายังมีผลเพิ่มการไหลเวียนเลือดไปยังอวัยวะเพศของสัตว์ทดลอง มีฤทธิ์ยับยั้งการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบองคชาต (carvernosum) ของหนูแรท และกล้ามเนื้อเรียบอวัยวะเพศผู้ของคนที่ได้จากการผ่าตัดแปลงเพศ ซึ่งส่งผลให้กล้ามเนื้อคลายตัว เลือดจึงไหลเวียนเข้าสู่อวัยวะเพศได้ดี ทำให้อวัยวะเพศเกิดการแข็งตัว นอกจากนี้สารสกัดเอทานอลและสารกลุ่มฟลาโวนอยด์มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ phosphodiesterase ทำให้กล้ามเนื้อหลอดเลือดคลายตัวและขยาย เลือดจึงไหลเวียนเข้าสู่อวัยวะเพศได้ดี

การศึกษาในอาสาสมัครเพศชายที่มีสุขภาพดี อายุเฉลี่ย 65.05±3.5 ปี ที่รับประทานแคปซูลสารสกัดเอทานอลจากกระชายดำ ขนาด 25 และ 90 มก./วัน เป็นเวลา 2 เดือน พบว่าสารสกัด ขนาด 90 มก./วัน มีผลเพิ่มการตอบสนองต่อสิ่งเร้าทางเพศ (erotic stimuli) ของอาสาสมัครได้ โดยเพิ่มขนาดและความยาวขององคชาติ ลดระยะเวลาในการหลั่งน้ำกาม และเพิ่มความพึงพอใจต่อการแข็งตัว (erection satisfaction) และผลยังคงอยู่จนถึง 2 เดือนที่ได้รับสารสกัดอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อหยุดให้สารสกัดก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่แคปซูลกระชายดำไม่มีผลต่อระดับของฮอร์โมน testosterone, FSH, LH, cortisol และ prolactin

จากข้อมูลรายงานการวิจัยจะเห็นว่า กระชายดำมีผลเพิ่มสมรรถภาพทางเพศได้ โดยมีผลต่อพฤติกรรมทางเพศ เพิ่มการไหลเวียนเลือดไปยังอวัยวะเพศ ทำให้กล้ามเนื้อเรียบของอวัยวะเพศคลายตัว ส่งผลให้เกิดการแข็งตัวของอวัยวะเพศได้ ซึ่งเป็นข้อมูลที่มาสนับสนุนสรรพคุณพื้นบ้านของกระชายดำในการเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ กระชายดําไม่ได้เป็นยาปลุกอารมณ์ทางเพศ แต่ช่วยทำให้อวัยวะเพศชายแข็งตัวได้ง่าย และบ่อยขึ้น มีระยะเวลาในการแข็งตัวที่นานขึ้น สำหรับข้อมูลการศึกษาในคนยังมีน้อย จึงยังไม่มีคำแนะนำเรื่องขนาดที่เหมาะสมและข้อมูลเรื่องความปลอดภัย เมื่อต้องใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน แม้จะยังไม่มีข้อห้ามหรือข้อควรระวังการใช้กระชายดำ แต่มีบางรายงานที่ระบุว่ากระชายดำในรูปแบบการรับประทานทำให้ตับเกิดความผิดปกติได้ หากใช้ในขนาดสูง หรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ดังนั้นผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับตับจึงควรหลีกเลี่ยง และในคนทั่วไปก็ไม่ควรใช้ในขนาดสูงหรือติดต่อกันเป็นเวลานานเช่นกัน นอกจากนี้ไม่ควรใช้ในเด็กหรือสตรีมีครรภ์ เนื่องจากยังขาดข้อมูลด้านความปลอดภัยในการใช้ และควรระวังการเกิดอันตรกิริยากับยาแผนปัจจุบัน เช่น ยา sildenafil (ยารักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ) เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยามากขึ้น ดังนั้นอาจต้องรอผลการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อให้ใช้สมุนไพรได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยมากขึ้น

อ่านข้อมูลเกี่ยวกับกระชายดำเพิ่มเติมได้ในจลสารข้อมูลสมุนไพรปีที่ 32 ฉบับที่ 4
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.